Skip to main content
sharethis




คนเมืองมักไม่มีสำนึกผูกพันกับ "สายน้ำ" อาจเพราะสังคมเมืองสัมผัสเพียงสายน้ำเล็กกระจิดริด...จากก๊อก  อย่างดีที่สุดจึงทำได้เพียงซึมซับรับรู้สภาพน้ำแล้ง น้ำล้นขั้นโคม่าของประเทศนี้เอาจากข่าวสารข้อมูล ซึ่งก็แล้วแต่ช่องไหน หัวไหนจะสนใจนำเสนอ



 


เลยอนุมานเอาว่าหลายคนคงไม่ตั้งแง่กับเมกะโปรเจ็คท์ด้านน้ำของรัฐบาลที่เปิดตัวด้วยวงเงิน 200,000 ล้านสักเท่าไร ทั้งอาจจะรู้สึกอุ่นใจที่ตอนหลังรัฐบาลเปิดให้ต่างชาติร่วมแบ่งเค้ก เอ๊ย ร่วมพัฒนาชาติไทยให้ทันสมัย โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างมโหฬารด้วย (Thailand : Partnership of Development)


 


แต่หันมองด้านชาวบ้าน พวกเขากลับเซ้นสิทีฟกับเรื่องนี้น่าดู คงเพราะเจอปัญหา "น้ำ" กับตัวจนเข็ดขยาด ทั้งจากภัยธรรมชาติ หรือภัยโครงการรัฐ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า กระทั่งอดไม่ทัน กลั้นไม่อยู่ ตำหนิรัฐบาลกันกลางวงสัมมนาเรื่องน้ำของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ สรุปรวบรวมความได้ว่ารัฐนี้ช่าง "….." ใส่เกียร์ห้าเดินหน้าลูกเดียว ไม่มีเหลียวหลังกับปัญหาที่ทับอกชาวบ้าน


 


หากคัดกรองความกราดเกรี้ยวออกไป เราจะเห็นปัญหาเดิมๆ ผุดออกมาอย่างสุขุมคัมภีรภาพ ไม่ว่าจะเป็น โครงการนำร่องระบบท่อส่งน้ำ 10 โครงการที่ทำไปแล้วท่อแตกใช้งานไม่ได้ ชาวบ้านไม่มีปัญญาจ่ายค่าไฟ ค่าปั๊มน้ำ, โครงการโขง ชี มูล โครงการชลประทานที่ใหญ่สุดในอีสานที่ค้างเติ่ง นอกจากไม่ได้ใช้ประโยชน์ยังเกิดผลเสียหายกับฐานทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนมากมาย, โครงการสร้างฝายกั้นแม่น้ำชี ฝายราศีไศล ทำน้ำท่วมพื้นที่สำคัญทางเกษตร จ่ายน้ำไม่ได้ตามเป้า แถมยังทำเอาเกลือผุดมีปัญหาดินเค็มแพร่กระจายไปทั่ว ฯลฯ


 


ไม่มองหลังอย่างเดียวไม่ว่า แต่พอมองไปข้างหน้าก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาอีก


 


เมกะโปรเจ็คท์ด้านน้ำ มีโครงการหลักคือยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำแบบบูรณาการเพื่อจัดการปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และกระจายน้ำให้ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ตอนนี้อนุมัติกรอบวงเงินทั้งหมดไปแล้ว 196,320 ล้านบาท (2549-52) คิดเป็น 12% ของงบประมาณเมกะโปรเจ็คท์ทุกด้าน (ประกอบด้วย ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน, คมนาคม, ที่อยู่อาศัย, ทรัพยากรน้ำ การศึกษา, สาธารณสุข, อื่นๆ รวมวงเงิน 1,701พันล้านบาท) อนุมัติจริงผ่านงบประมาณปี 2549 ไปราว 30,000 ล้านบาท และผ่านมติครม.อีกราว 17,000 ล้านบาท 


 


นโยบายมาแล้ว กรอบวงเงินมาแล้ว แต่กลับไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน นักพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำหลายสำนัก พากันวิ่งวุ่นพยายามหารายละเอียดของข้อมูลว่าจะสร้างอะไร ที่ไหน ยังไง เท่าไร ซึ่งท้ายที่สุดยังได้แค่กรอบกว้างๆ ที่เน้นการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง ผันน้ำ ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารยังสาหัสนักในแผ่นดินนี้ และการบริหารจัดการน้ำยังเป็นไปในแนวเดิมคือ โครงการก่อสร้างที่เน้นการจัดหาน้ำอย่างเดียว


 


มนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ วิเคราะห์ปัญหาไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า เมกะโปรเจ็คท์เป็นเพียงโครงการตัดแปะ และสร้างมายาคติใหม่ๆ เพื่อกีดกันกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน แค่เพียงการตั้งชื่อก็รู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการของทุน เทคโนโลยี ชนิดที่ตาสีตาสาคงจะร่วมคิดด้วยยาก ทั้งที่จริงแล้วแค่กวาดเอาโครงการก่อสร้างย่อยๆ แบบที่เคยทำมารวมกันเป็นก้อนใหญ่ โดยโครงการขนาดยักษ์จริงๆ มีเพียง 2-3 โครงการ


 


ไม่เพียงเรื่องการมีส่วนร่วม แต่ความใหญ่และความเร่งด่วนตามสไตล์ท่านผู้นำยังทำให้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ความโปร่งใส ถูกลดทอน โดยมีรูปธรรมตัวอย่าง เช่น มีมติครม.ไปผลักดันให้หน่วยงานเจ้าของโครงการไปเร่งรัดขออนุมัติโครงการจากหน่วยคัดกรองอย่างสภาพัฒน์ฯ และเร่งรัดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) กับสผ.ทั้งยังมีแผนจะให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นผู้พิจารณาอีไอเอแทนสผ.เสียเลย จนคำท้วงติงถึงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนดังระงม


 


นอกจากนี้ยังยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ เกี่ยวกับการประชาพิจารณ์ ให้เหลือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแทน ขณะที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมก็ออกกฎถอยหลังลงคลองให้มีการยกเว้นการทำอีไอเอในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลได้ เช่น บ้านเอื้ออาทร


 


นี่ยังไม่นับรวมความวิตกกังวลเรื่องการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ ที่มีเสียงบ่นด้วยความเป็นห่วงแล้วว่ารัฐบาลจะให้ความคุ้มครองในระดับเดียวกับที่ปรากฏในข้อเสนอของสหรัฐ ในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นคงต้องคุ้มครองกันสุดๆ เมื่อต่างชาติลงทุนแล้วรัฐจะมาออกนโยบายไม่เสมอภาคกับทุนในประเทศไม่ได้ หรือกระทำการใดๆ ขัดขวางธุรกิจก็ไม่ได้ แม้จะเป็นนโยบายเพื่อสาธารณะก็ตาม ไม่ใช่เช่นนั้นเอกชนจะฟ้องร้องรัฐได้ผ่านอนุญาโตตุลาการ


 


ต่อคำถามเรื่องนี้ ลดาวัลย์ คำภา จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลภาพรวมเมกะโปรเจ็คท์ และคัดกรองโครงการกล่าวว่า การลงทุนของต่างชาติในเมกะโปรเจ็คท์ ไม่เหมือนนิยามการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุนในเอฟทีเอ หากแต่จะเป็นไปตามระเบียบสำนักนายรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินโครงกรลงทุนพิเศษของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ.2549 และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535


 


"เอาเข้าจริงเรื่องนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะออกมายังไง อาจไม่มีใครสนใจเสนอโครงการเลยก็ได้ ต้องรอดูวันที่ 28 เมษานี้ หรือถ้าเสนอมาแล้วไม่เวิร์คเราไม่รับก็ได้ แต่เราจะได้รู้ข้อมูล ได้เห็นไอเดียของเขาโดยที่ไม่ต้องเสียอะไร" ลดาวัลย์กล่าว


 


จริงหรือไม่ ต้องรอดูวันที่ 28 เม.ย.นี้ ที่เป็นกำหนดให้มีการยื่นรายละเอียดโครงการ โดยในส่วนของทรัพยากรน้ำ มีข่าวว่าเอกชนต่างชาติสนใจ 259 ราย แบ่งเป็นประเทศ จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล และเยอรมนี ในส่วนของจีนซึ่งชำนาญการสร้างเขื่อนพบว่ามีบริษัทเอกชนให้ความสนใจมากกว่า 1 บริษัท อิสราเอลมีมากถึง 35 บริษัท


 


อย่าลืมดูต่อไปด้วยว่าต่างประเทศที่ทั้งไฮเทคและเขี้ยวลากดินนั้นจะยอมให้เราล้วงไอเดีย ความรู้ฟรีๆ ได้หรือไม่


 


กระนั้นก็ดี ห้วงเวลาไล่เลี่ยกันก็มีกระแสการจัดการน้ำรูปแบบอื่นนอกเหนือจากเมกกะโปรเจ็คท์ให้เห็น  เช่นการที่นักวิชาการหลายคนนำเสนอการจัดการน้ำแบบที่เน้นการจัดสรรน้ำ การพัฒนา หรือจัดหาแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดงบแล้วยังแก้ปัญหาได้ถูกจุดยิ่งกว่า เรื่องนี้ได้รับการขานรับไปบางส่วน เช่นในลุ่มน้ำยม ที่โครงการแก่งเสือเต้นถูกพับไป แล้วแทนที่ด้วยการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วไป


 


หรือแม้แต่กลุ่มภาคตะวันออกที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มช่วยกันสถาปนาอำนาจในการคิด ทำโครงการต่างๆ ของตนเอง หลังจากเจ็บปวดจากการขายน้ำของบริษัทเอกชนอย่างอีสต์วอร์เตอร์ หรือการจัดการน้ำของรัฐที่เน้นแต่ป้อนนิคมอุตสาหกรรม พวกเขาลุกขึ้นมาสร้างแผนงานต้นแบบในการจัดการลุ่มน้ำภาคตะวันออก ที่ตั้งอยู่บนการเคารพสิทธิชุมชน รับรู้และร่วมปฏิบัติ มีภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง และวิทยาการสมัยคอยเสริม เริ่มต้นกันที่ลุ่มน้ำนครนายก เป็นแห่งแรก  


 


"ต่างชาติอาจจะรู้จักความเป็นเราดีกว่าเรา แต่ไม่มีทางมีเจตนาดีเท่าเรา" ตัวแทนเครือข่ายสภาประชาชนเพื่อการจัดการน้ำภาคตะวันออกกล่าว


 


ท้ายที่สุด ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ซึ่งได้ร่วมในเวทีสัมมนา ได้ให้ข้อคิดสำคัญว่า โครงการเมกะโปรเจ็คท์ดูเป็นเจตจำนงที่ดีของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รุดหน้า แต่สิ่งที่ไทยขาดจริงๆ คือ ทิศทางนโยบายเรื่องน้ำระยะยาวที่ผ่านการวิเคราะห์ศึกษาอย่างครบถ้วน รอบด้าน และมีการวางแผนร่วมกันประชาชนในพื้นที่ เป็นนโยบายที่จะไม่เปลี่ยนไปตามรัฐบาล หรือรัฐมนตรี นโยบายที่ชัดเจนว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคยังไง อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากจะชดเชยให้กับส่วนอื่นยังไง


 


"เรื่องเทคโนโลยีหรือความรู้ก็สำคัญ และความรู้มีอยู่เยอะแยะทั่วโลก แต่ถ้าไม่มีทิศทางที่ชัดเจนของประเทศเสียแล้วก็ไม่มีความหมาย โครงการที่ดีถ้าเป็นไปได้ไม่ควรมีใครต้องเสียสละ ยิ่งคนนจนยิ่งไม่ต้องเสีย แต่ความเป็นจริงมันมักตรงกันข้าม" ศ.ดร.มิ่งสรรพ์กล่าว


 


"ต้องใส่เครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ในเรื่องที่บอกว่าต่างชาติจะมาให้ความรู้เรา เพราะบทเรียนที่ผ่านมามีไม่น้อยเลยที่ต่างชาติมาลงทุนและออกแบบผิดพลาดจนได้รับความเสียหาย" ดร.กัมนาท ภักดีกุล คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าว


 


นี่คือเสียงรบกวนกระแสเมกะโปรเจ็คท์ ที่รัฐบาลจะต้องเร่งกำจัดออกไปโดยการตอบคำถามจนเป็นที่กระจ่างว่า เมื่อเปิดให้ประเทศพันธมิตรเข้ามาร่วมพัฒนาชาติให้ทันสมัยแล้ว คนไทยจะไม่ต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่า......


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net