Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมขอให้ใครที่สามารถทำได้ กรุณาหาทางถ่ายทอดข้อความต่อไปนี้ ผ่านไปยัง สนนท. ถึง สนนท. ผมขอเสนอให้ สนนท. ถอนตัวออกจาก "พันธมิตรประชาธิปไตย" ทันที ไม่ว่า จังหวะก้าวต่อไปของ "พันธมิตร" จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าการชุมนุมวันที่ 26 จะยังคง "เดินหน้าต่อไป" หรือ ยกเลิก หรือ ชุมนุมเพียงคืนเดียว ฯลฯ เพราะสิ่งที่ "พันธมิตร" ได้กำหนดไป ตั้งแต่ก่อนการประกาศยุบสภา (แสดงออกใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2") เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้ ประการแรก การประกาศความคิดชี้นำว่า "ไม่ชนะ ไม่เลิก" เป็นความคิดที่อันตรายและเขลาอย่างยิ่ง การต่อสู้ทางการเมืองไม่เกมส์ที่ "ผู้ชนะ" ได้ถ้วย หรือเงินไป การรณรงค์ที่ไม่สำเร็จในแง่ข้อเสนอ จึงสามารถถือได้ว่า เป็นการรณรงค์ที่มีคุณค่าได้ ("ชนะ" ในความหมายอีกแบบหนึ่ง) "ไม่เลิก จนกว่าจะชนะ" ? "ไม่เลิก" แม้แต่ว่า หากเกิดสถานการณ์ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ร่วมชุมนุม ต่อประชาชนวงกว้าง และต่อประชาธิปไตย? "ไม่เลิก" แม้ว่า จะนำไปสู่สถานการณ์ให้กลุ่มอำนาจอื่นฉวยโอกาสเอาประโยชน์? คนที่ประกาศเช่นนี้แต่ต้น และยึดถือความคิดนี้เป็นตัวชี้นำ นอกจากอันตราย ขาดความรับผิดชอบแล้ว ยังเป็นการแสดงความเขลาในแง่นักยุทธวิธีทางการเมืองด้วย คำขวัญนี้ โดยเฉพาะในการตีความของกลุ่มสนธิ-จำลอง เป็นการคิดที่อันตราย ที่นำไปสู่ความคิด "ชัยชนะไม่ว่าด้วยราคาอะไร" (victory at any price) ผมเชื่อว่า คนเหล่านี้ พร้อมจะทำสิ่งที่เป็นผลร้ายต่อผู้ร่วมชุมนุม ต่อประชาธิปไตย เพียงเพื่อให้ข้อเรียกร้องของตนเป็นจริง (เหตุผลประการที่สอง ที่กำลังจะกล่าวถึงข้างล่าง ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในการชุมนุมวันที่ 4 ที่สนธิเรียกร้องให้ทหารออกมาจัดการกับทักษิณ ก็เช่นกัน คือ ขอให้ "ชนะ" วิธีการอย่างไรก็ได้ ไม่เช่นนั้น "ไม่เลิก") (หลังเหตุการณ์ พฤษภา 35 เมื่อมีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจของกลุ่มจำลองที่นำขบวนเคลื่อนออกไปจากสนามหลวงในคืนวันที่ 16 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากนักศึกษาปัญญาชนที่ร่วมนำขบวนขณะนั้น หลังเหตุการณ์ได้มีผู้จัดสัมนาวงเล็กๆครั้งหนึ่ง (ปาจารยสาร เป็นเจ้าภาพ) โดยมี ชัยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม เข้าร่วมด้วย ทั้ง 2 คนนี้ เป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนขบวนของจำลองอย่างเต็มที่ เมื่อถูกตั้งคำถามเชิงวิจารณ์มากๆ ครูประทีปได้ พูดประโยคหนึ่ง ซึ่งผมยังจำได้ดี ทำนองนี้ "ดิฉันเป็นคนเกิดในสลัม โตในสลัม ประสบการณ์ชีวิตของดิฉัน ทำให้ดิฉันเป็นคนที่ ถ้าไม่สำเร็จแล้วไม่ทำ ถ้าทำต้องทำให้สำเร็จให้ได้" แม้จะเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่น่านับถือในแง่การดำเนินชีวิต แต่ในแง่การเมือง ผมเห็นว่า เป็นวิธีคิดที่น่ากลัว) ประการที่สอง ใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" กลุ่ม "พันธมิตร" ได้เรียกร้องให้มีการตั้งนายกฯพระราชทานอย่างเปิดเผย (แม้จะยังไม่กล้าใช้คำนี้ตรงๆ) นี่เป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก มากพอจะให้ถอนตัวออกมา ก่อนการเข้าร่วมกับกลุ่มสนธิ ตัวแทน สนนท. และ ครป. จะได้ประกาศว่า ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ "คืนพระราชอำนาจ" แต่ข้อเสนอที่ให้ตั้งนายกฯพระราชทานนี้ ในทางเป็นจริง ก็คือการ "คืนพระราชอำนาจ" นั่นเอง คำว่า "นิติประเพณี" ที่ใช้ใน "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" นั้น เป็น "คำแฝง" ที่กลุ่มสนธิ ใช้มานาน หมายถึง "พระราชอำนาจ" นั่นเอง (ดูหนังสือของประมวล รุจนเสรี) นี่เป็นข้อเรียกร้องที่ผิด และยังเป็นการ "ผิดคำพูด" ที่ สนนท. เคยประกาศไว้เองด้วย มายาเรื่อง "นายกฯพระราชทาน" ผมไม่มีเวลา และคงไม่ใช่โอกาส ที่จะอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้อย่างละเอียด แต่อยากจะยืนยันว่า การตั้ง "นายกฯพระราชทาน" โดยหวังว่า จะให้เป็นผู้ "ปราศจากการครอบงำ แทรกแซง จากอิทธิพลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด" ฯลฯ เป็นมายา (illusion) ผมเพียงขอพูดอย่างสั้นๆในที่นี้ว่า "นายกฯพระราชทาน" ในประวัติศาสตร์หาได้เป็นอย่างที่ภาพมายาวาดไว้แต่อย่างใด เช่น สัญญา ธรรมศักดิ์ ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตย และช่วยเหลือประชาชน (ตัวอย่างเดียว : ขบวนการชาวนาสมัยใหม่ ที่เริ่มต้นด้วยการตั้ง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศ ก็เก็ดขึ้นเพราะความผิดหวัง ในนโยบายของ "นายกฯพระราชทาน" คนนี้เอง) และ ผมคงไม่จำเป็นต้องเตือนว่า "นายกฯพระราชทาน" อย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้แสดง "ความสามารถ" ในการบริหารงานอย่างไร? หรือ มีนโยบายอย่างไรต่อประชาธิปไตย (การจับเหวี่ยงแหผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ภัยสังคม" ทั่วประเทศ ไม่ต้องพูดถึงมาตรการเผด็จอำนาจแบบสุดขั้วอื่นๆ) หรือแม้แต่กรณีเปรม หรือกรณีอานันท์ ปัญยารชุนเอง เมื่อเป็นนายกฯ ที่ปัจจุบันมีการพยายามจะโฆษณาให้เชื่อว่า เป็นตัวอย่างของนายกฯพระราชทานที่ดี ซึ่งล้วนเป็นการสร้างมายา ทั้งสิ้น ที่สำคัญ ความคิดนี้ ขัดแย้งอย่างลึกซึ้ง ต่อประชาธิปไตย ต่อเจนารมณ์ 2475, 14 ตุลา 6 ตุลา ซึ่งขบวนการนักศึกษาเป็นผู้รับมรดกสืบทอด ประการสุดท้าย ในกลุ่มผู้ตัดสินใจสูงสุดของการชุมนุมวันที่ 26 (และหลังจากนั้น?) ทำไมไม่มีตัวแทน สนนท.เลย? มองในแง่การมี "ฐานที่แท้จริง" (เป็นตัวแทนของคนอื่นมากกว่าตัวเอง) แม้จะรู้กันว่า สนนท.จะไม่ใช่องค์กรมวลชนจริงๆ แต่อย่างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอย่าง สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ หรือสมศักดิ์ โกศัยสุข หรือ พิภพ ธงไชย ไม่สามารถพูดได้หรือว่า สนนท. ยังมี "ฐาน" ที่เป็นจริง หรือ "ความชอบธรรมในฐานะการเป็นตัวแทน" มากกว่าคนเหล่านั้น? (ไม่น้อยกว่าแน่นอน) เหตุที่ไม่มี ตัวแทน สนนท. เพราะอะไร? ระบบอาวุโส? ในความเป็นจริง "แถลงการณ์ฯฉบับที่ 2" ได้แสดงให้เห็นว่า "พันธมิตรประชาธิปไตย" ได้เป็นเพียง "ฉากบังหน้า" ให้กับกลุ่มสนธิ-จำลอง เท่านั้น การเข้าร่วมของ สนนท. เพียงแต่ "สร้างภาพ" ให้กับการเคลื่อนไหวของ สนธิ-จำลอง ซึ่งมีวาระ, เนื้อหา, และจุดมุ่งหมาย ที่แอนตี้ประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งเท่านั้น ได้โปรดถอนตัวออกจาก "พันธมิตรประชาธิปไตย" แต่บัดนี้ หากต้องการเคลื่อนไหวคัดค้านทักษิณ สร้างขบวนการของตัวเอง หรือหากจะร่วมมือ ก็ร่วมมือกับผู้อื่นที่มีความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย ที่มีความห่วงใยและ เคารพต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net