Skip to main content
sharethis

โดย วิทยากร เชียงกูล


วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต


 


ประชาชนไทยกำลังถูกสถานการณ์แบ่งเป็น 2 ขั้ว ระหว่างผู้ที่เรียกร้องให้คุณทักษิณลาออก และผู้ที่ชอบ/เชียร์คุณทักษิณ ถ้าสังคมไทยมีใจกว้าง และอดกลั้นพอที่จะอภิปรายโต้แย้งกันด้วยเหตุผล น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ประชาชนสนใจ และเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจการเมืองมากขึ้น แต่ความเป็นจริงทางการเมืองคือ คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดจากผลประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้น และใช้อารมณ์ความรู้สึก มากกว่าการคิดวิเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์ สภาพเช่นนี้มีแนวโน้มจะนำไปสู่การปะทะกันของกลุ่มคนที่เชื่อแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง มากกว่าการที่ประชาชนจะได้เรียนรู้และฉลาดขึ้น


 


ประเทศไทยผ่านการปะทะกันอย่างรุนแรงของกลุ่มที่เชื่อแบบ 2 ขั้ว สุดโต่งมาหลายครั้งแล้ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษา และข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ การศึกษามีแต่สอนให้ท่องจำ ไม่สอนให้คนคิดวิเคราะห์เป็น ข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่ครอบงำโดยรัฐบาลนี้ซึ่งเก่งในเรื่องการสร้างภาพมากได้แต่โฆษณาให้คนเชื่อตามด้านเดียวว่า รัฐบาลนี้ เก่งทุกอย่าง ดีทุกอย่าง แม้แต่กรณีซุกหุ้น และถ่ายเทหุ้น 7.3 หมื่นล้านบาท เพื่อเลี่ยงภาษี 2 หมื่นล้านบาท ก็จะมีคำอธิบายว่าเป็นเรื่องที่ใครๆเขาก็ทำกัน โดยไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารที่เร้าอารมณ์มากกว่าเหตุผลว่า นักการเมืองก็โกงด้วยกันทั้งนั้น แต่คนที่ทำงานเก่ง ย่อมดีกว่าคนที่ทำงานไม่เป็น


 


ประชาชนควรได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร 2 ด้านว่า นโยบายการบริหารแบบทักษิณในรอบ 5 ปีที่ว่าทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟูได้ ประชาชนได้กู้ยืมมีเงินจับจ่ายใช้สอยกันคล่องมือในระยะสั้นๆนั้น มีข้อเสียอะไรบ้าง ทั้งในระยะกลางและระยะยาว เพราะถ้ามองแต่ข้อดีระยะสั้นด้านเดียว ก็จะหลงทางแน่ๆ ระบอบทักษิณ (หรือนโยบายการบริหารแบบทักษิณ) ไม่ใช่มีความผิดพลาดเฉพาะแค่เรื่องการซุกหุ้น เลี่ยงภาษี ขาดคุณธรรม จริยธรรม ในฐานะผู้นำเท่านั้น


 


แต่นโยบายการบริหารประเทศแบบทักษิณที่เน้นการเปิดเสรี เอื้อประโยชน์การลงทุน และการค้าให้กับทุนข้ามชาติ และทุนขนาดใหญ่อย่างกอบโกยล้างผลาญนั้น กำลังทำให้ประเทศเสียหายอย่างน้อย 7 ประเด็น คือ


 


1. การที่ตระกูลชินวัตรปกปิด โยกย้ายถ่ายเท และขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป 73000 ล้านบาท โดยเลี่ยงการเสียภาษีที่อาจต้องจ่ายถึง 30% ถ้าเป็นกรณีที่บริษัทหนึ่ง ขายให้อีกบริษัทหนึ่งส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงหลักการว่าผู้ได้ประโยชน์จากแผ่นดินควรเสียภาษีให้แผ่นดินส่วนรวม ไม่คำนึงถึงจริยธรรม และความรับผิดชอบในฐานะผู้นำประเทศ แม้แต่นักธุรกิจทั่วไปก็ควรรับผิดชอบเรื่องการเสียภาษีในฐานะพลเมืองดี ยิ่งเป็นผู้นำประเทศ ยิ่งควรมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่านักธุรกิจทั่วไป ไม่ใช่อ้างว่าใครๆเขาก็ทำกัน


 


2. การขายกิจการทั้งบริการดาวเทียม และสถานีโทรทัศน์ให้กับต่างชาติทั้งๆที่เป็นกิจการเกี่ยวกับสาธารณสมบัติที่สงวนไว้สำหรับคนไทย เพราะเกี่ยวพันกับทั้งความมั่นคง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ของประเทศ เป็นการมุ่งหากำไรส่วนตัว จนลืมคิดประเด็นที่ว่า นี่เป็นการทำลายสาธารณะสมบัติ และผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งผู้นำไม่ควรทำเช่นนั้น แม้แต่นักธุรกิจที่รักชาติโดยทั่วไปก็ไม่ควรทำ


 


3. หาผลประโยชน์ทับซ้อนจากการใช้อำนาจหน้าที่การเป็นเจ้าหน้าที่ไปเอื้ออำนวยผลประโยชน์ส่วนตัวของตนทุกวิถีทาง เช่น ลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทเอไอเอส ที่รับสัมปทานคลื่นโทรศัพท์ด้วยการออกกฎหมายให้เปลี่ยนจากการจ่ายสัมปทานตามส่วนแบ่งกำไรเป็นการจ่ายภาษีสรรพสามิต (ซึ่งเป็นการกีดกันคู่แข่งรายใหม่ไปในตัว) ลดภาษีอุปกรณ์ดาวเทียมให้ชินแซทเทลไลท์ ลดค่าสัมปทาน และปรับผังรายการไอทีวี  บีบการบินไทยให้ขาดทุนเพื่อเปิดทางให้สายการบินแอร์เอเซียทำกำไรเพิ่มขึ้น ให้สินเชื่อแก่รัฐบาลพม่าเพื่อให้มาซื้อบริการของชินแซทเทลไลท์ รีบเปิดเจรจาการค้าเสรีกับบางประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจโทรคมนาคม รถยนต์ และกิจการอื่นๆของบริษัทตนเอง และพรรคพวก ทำให้บริษัทของตนเอง และพรรคพวกมีทั้งผลกำไร และทรัพย์สินจากราคาหุ้นเพิ่มหลายเท่าในรอบ 5 ปีที่ได้เป็นรัฐบาล


 


4. ใช้อำนาจหน้าที่การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ การเงิน การธนาคาร การซื้อขายที่ดิน การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ด้วยวิธีการใช้อภิสิทธิรู้ข้อมูลภายใน ฉ้อฉล หาคอมมิชชัน และกำไรเกินควร การหาผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยวิธีการต่างๆแบบใช้เล่ห์เหลี่ยมสูง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย หรือเลี่ยงกฎหมาย แต่เป็นผลเสียหายทั้งในแง่ความไม่เป็นธรรม และการไม่ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพ และการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้เกิดตัวอย่างที่เลวต่อภาคธุรกิจเอกชน ดึงให้นักธุรกิจต้องวิ่งเข้าหาอำนาจรัฐ และกลั่นแกล้งธุรกิจที่ไม่ยอมสยบให้ หรือแบ่งผลประโยชน์ให้น้อย ก่อให้เกิดความปั่นป่วน  ความไม่มีหลักเกณฑ์ที่โปร่งใส การขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ


 


5. ดำเนินนโยบายโครงการประชานิยมแบบสร้างภาพ หาเสียง และหมุนเงินให้ไหลกลับมาให้ตัวเอง และพวก ทั้งที่เป็นงบประมาณจากภาษีของประชาชน และการกู้ยืม และออกพันธบัตรเพื่อเอาเงินอนาคตมาใช้ แต่วิธีการจ่าย และการประชาสัมพันธ์ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคุณทักษิณ และพรรคไทยรักไทย โครงการส่วนใหญ่ เป็นโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภค และการลงทุนแบบเร่งผลิตสินค้ามาขาย เพื่อให้เงินหมุนเวียนกลับมาสู่ธุรกิจค้าขายของตน และพรรคพวก (เช่นโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ บริษัทเงินทุนปล่อยสินเชื่อ ฯลฯ) และเพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมแบบฉาบฉวย ไม่ได้มุ่งพัฒนาคน และชุมชน ให้มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการ  มีการรวมกลุ่ม เพิ่มความเข้มแข็งที่จะมีอำนาจต่อรอง กับระบบพ่อค้าผูกขาดได้อย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้แต่บริโภค และเป็นหนี้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการเพิ่มของรายได้ที่แท้จริง ทั้งยังติดนิสัยพึ่งพาอยู่ภายใต้อุปถัมภ์นักการเมือง และรัฐบาล โดยไม่ตระหนักว่า งบประมาณโครงการเหล่านั้นมาจากภาษี และการถลุงสาธารณะสมบัติของประชาชนเอง


 


6. การอ้างว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายแบบ 2 ทางไปพร้อมกัน คือ ทั้งส่งเสริมการลงทุน และการค้ากับต่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น เป็นความจริงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เพราะรัฐบาลใช้งบประมาณ และกำลังคนส่วนใหญ่ทุ่มเทด้านส่งเสริมการลงทุน และการค้ากับต่างประเทศ ทำให้ต่างชาติ ทั้งสิงคโปร์และประเทศอื่นเข้ามายึดครองกิจการในไทยร่วมกับนายทุนใหญ่ กลุ่มรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปี การค้าระหว่างประเทศเริ่มกลับมาขาดดุลการค้า เพราะนโยบายและโครงสร้างการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมแบบประกอบรูป คือเงื่อนไขที่ยิ่งทำให้ส่งออกมาก ก็ต้องสั่งเข้าเครื่องจักร น้ำมัน วัตถุดิบมาก และยิ่งการลงทุนเป็นของต่างชาติมากขึ้น พวกเขาก็จะสั่งซื้อจากบริษัทเครือข่ายของเขามากขึ้น ดังนั้นเงินที่ไหลเข้ามาจึงเป็นของชั่วคราว แต่ต่อไปเงินจะไหลออกนอกประเทศมากขึ้น ขณะที่ทรัพยากรในประเทศถูกทำลาย แรงงานถูกเอาเปรียบทั้งรัฐบาลภาคธุรกิจ และประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น


 


7. นโยบายการบริหารประเทศทั้งหมดของรัฐบาล เป็นการพัฒนาที่เน้นความเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลชนแบบกอบโกย (ผลประโยชน์ส่วนตัว) และล้างผลาญ (ทรัพยากรส่วนรวม)ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยสิ้นเชิง นโยบายที่มุ่งแปลงทุกอย่างเป็นสินค้า ทำลายทรัพยากรส่วนรวมอย่างมหาศาล รวมทั้งการขายทรัพย์สมบัติสาธารณะ เช่น รัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนทั้งต่างชาติและนายทุนใหญ่ นโยบายที่เน้นแต่เรื่องการค้า การลงทุน การบริโภค และใช้สื่อโหมเรื่องนี้ตลอดเวลา ทำให้ประชาชน และโดยเฉพาะเยาวชนถูกครอบงำเรื่องการบริโภค การเป็นหนี้ การแสวงหาเงินทองทุกวิถีทาง จนเกิดปัญหาสังคม และความเสื่อมเสียทางด้านจริยธรรม ศีลธรรมไปทั่วประเทศ เป็นความเสียหายร้ายแรงทั้งด้านทรัพยากร และจิตใจของผู้คน ซึ่งไม่อาจแก้ไขแบบแยกส่วน เช่น เพิ่มงบประมาณให้พระ หรือ โรงเรียนอบรมศีลธรรมเพิ่มขึ้นได้ เพราะตัวนโยบายการบริหารแบบทักษิณ คือตัวการสร้างปัญหาความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมให้เยาวชน และประชาชนทั้งประเทศ


 


ความเสียหายอย่างน้อย 7 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงกว่าเรื่องการซุกหุ้น และการเลี่ยงภาษี ประชาชนที่ตื่นตัว รู้ข้อมูลข่าวสารดีต้องช่วยกันศึกษา และอธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า คนที่เชื่อว่า คุณทักษิณทำให้เศรษฐกิจดี นั้นเป็นเพียงการเร่งรัดถลุงทรัพย์สินของชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตระยะสั้น และกลุ่มนายทุนที่เป็นพวกรัฐบาลได้กำไรสูงกว่าประชาชนหลายร้อยเท่า การยุบสภาเป็นเพียงยุทธวิธีที่จะฟอกตัวคุณทักษิณเท่านั้น ถ้าประเทศไทยยังไม่รู้จักเปลี่ยนนโยบายการบริหารแบบทักษิณเป็นนโยบายทางเลือกอื่น เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ระบบสหกรณ์ ทุนนิยมที่มีการแข่งขันเป็นธรรม และรัฐสวัสดิการแล้ว ประเทศไทยมีโอกาสเกิดวิกฤติรอบ 2 ได้ในไม่ช้า และเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำไปเป็นประเทศเมืองขึ้นสมัยใหม่ที่มีความขัดแย้งและปัญหาสังคมเลวร้ายกว่าที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้อีกหลายเท่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net