Skip to main content
sharethis


ข้อค้นพบจากงานวิจัยของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล เรื่อง "ลิขสิทธิ์กับการเข้าถึงความรู้" ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

 



  1. กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย ยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อนุญาตให้มีการน้ำเข้างานอันมีลิขสิทธิ์จากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำได้ เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากการอนุญาตดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา สามารถซื้อหนังสือตำราในราคาถูกได้ การอนุญาตดังกล่าวเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเพิ่มการเข้าถึงความรู้ในประเทศกำลังพัฒนา

 



  1. ประเทศไทยได้กำหนดให้มีการบังคับใช้สิทธิได้กับการดัดแปลงและจัดพิมพ์งานที่เป็นสิ่งพิมพ์เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน และการวิจัย แต่ประเทศไทยยังไม่ได้บังคับใช้สิทธิกับการผลิต และตีพิมพ์หนังสือเพื่อให้สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอน หรือการใช้ในชั้นเรียน

 



  1. ทั้งข้อตกลง Berne และ TRIPS ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ ต่างก็ไม่ได้ห้ามการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งเล่มเพื่อการถ่ายทอดความรู้ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย ไม่อนุญาตให้ครูทำสำเนาหนังสือทั้งเล่ม แล้วนำมาแจกจ่ายแก่นักเรียน แม้จะไม่ได้ทำไปเพื่อจุดประสงค์ทางการค้าก็ตาม

 



  1. พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของไทย ระบุว่า การคัดลอกข้อความบางส่วนจากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นจะต้องเป็นการคัดลอก "ตามสมควร" และเพียง "บางส่วน" เท่านั้น ในขณะที่ข้อตกลง Berne และ TRIPS ไม่มีการระบุไว้

 



  1. การแพร่ภาพแพร่เสียง เป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ดังนั้นจึงควรอนุญาตให้มีการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ได้อย่างเสรี ในการกระจายเสียงเพื่อการศึกษา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของไทยไม่ได้ระบุในข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ให้สามารถแพร่ภาพแพร่เสียงของงานอันมีลิขสิทธิ์ในโรงเรียนได้

 



  1. พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของไทย ให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์เกินกว่าระยะเวลาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ภายใต้ Berne Convention และ TRIPS ระยะเวลาในการคุ้มครองลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพถ่าย และศิลปประยุกต์ ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงทั้งสอง เท่ากับ 25 ปีนับจากการสร้างสรรค์งานนั้น แต่กฎหมายไทยให้การคุ้มครองงานภาพถ่าย 50 ปี ศิลปประยุกต์ 25 ปีนับจากการสร้างสรรค์งาน หรือ 50 ปีนับจากการโฆษณาครั้งแรก ถ้างานนั้นได้รับการตีพิมพ์ในช่วง 25 ปีดังกล่าว

 



  1. กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังมีความคลุมเครือในเรื่องขอบเขตของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ประชาชนทั่วไปจึงยังค่อนข้างกังวลเมื่อทำสำเนา แม้จะเพื่อจุดประสงค์ทางการศึกษาและวิจัย เพราะขาดความเข้าใจเรื่องข้อยกเว้นดังกล่าว

 



  1. ในประเทศไทย สื่อการสอนที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ มีราคาสูงมาก เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งครูและนักเรียน เมื่อมีการพิจารณาราคาโดยคำนึงถึง GDP ของคนในประเทศ พบว่านักเรียนไทยจ่ายค่าหนังสือในราคาที่แพงกว่านักศึกษาในสหรัฐอเมริกาหลายเท่า

 


      เช่น หนังสือ The Pharmacological Basis of Therapeutics ราคาในประเทศไทย คือ 65.23 


      เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศแล้วคิดเป็น 2.83% ของจีดีพี หากนำเปอร์เซ็นต์


      เดียวกันนี้ไปเทียบเป็นราคาหนังสือในสหรัฐ ควรจะเป็น 1,065 เหรียญสหรัฐ แต่ราคาจริงของ


      หนังสือในสหรัฐนั้นเพียง 139 เหรียญสหรัฐ


 


.....................................


จากเอกสารแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net