เปิดทางหลวงแนวใหม่ 2 พันล้าน เชื่อมเมืองแฝดเชียงใหม่ - ลำพูน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในที่สุดแนวเส้นทางในการพัฒนาทางหลวงแนวใหม่ ระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ตามโครงการของกรมทางหลวง ก็ได้แนวเส้นทางที่เหมาะสมแล้ว 2 เส้นทางคือ

1.โครงการทางหลวงแนวใหม่สายเชียงใหม่-ลำพูน (แนวเหนือ-ใต้) ระยะทางรวม 22 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ 8 ตำบล ได้แก่ ต.ป่าแดด ต.สันผักหวาน ต.สบแม่ข่า ต.บ้านแหวน ต.ขัวมุง ต.สันทราย ต.ประตูป่า และ ต.เหมืองง่า

2.โครงการทางหลวงแนวใหม่สายลำพูน-สันป่าตอง (แนวตะวันออก-ตะวันตก) ระยะทางรวม 18 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.สันกลาง ต.หารแก้ว ต.สันทราย ต.ประตูป่า และ ต.เหมืองง่า

โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วยบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด  บริษัท เอเชียน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ใช้งบประมาณในการศึกษาทั้งหมดประมาณ 20 ล้านบาท โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง บริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ส่วนระยะที่ 2 เป็นการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ

นายศุภชัย ตั้งศรีวงศ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่-ลำพูน บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เปิดเผยว่า การดำเนินงานระยะที่ 1 ได้ศึกษาเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของแนวเส้นทางที่ได้รับการคัดเลือกและผ่านความเห็นชอบจากกรมทางหลวงแล้ว ซึ่งจากแนวเส้นทางทั้งหมด 7 แนว ได้ศึกษาและคัดเลือกแนวที่เหมาะสมที่สุดเหลือเพียง 2 แนวคือ 1.โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่-ลำพูน (แนวเหนือ-ใต้)หรือ NS-3 และ2.โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายลำพูน-สันป่าตอง (แนวตะวันออก-ตะวันตก) หรือ EW-1

สำหรับโครงการทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่-ลำพูน (NS-3) จุดเริ่มต้นและแนวเส้นทางจะมีจุดเริ่มต้นจากถนนมหิดล (ทางหลวงหมายเลข 1141) ซึ่งเป็นวงแหวนชั้นในสุด จนถึงบริเวณ ต.สบแม่ข่าและตัดข้ามทางหลวงชนบทสาย อ.หางดง-.สารภี และถนนวงแหวนรอบนอก ก่อนจะข้ามแม่น้ำปิง โดยแนวเส้นทางจะเบนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเข้าบรรจบและสิ้นสุดที่ทางเลี่ยงเมืองลำพูน (แยก ค1-2) ด้านทิศเหนือของ จ.ลำพูน แนวเส้นทางเลือกนี้จะพาดผ่านพื้นที่ 8 ตำบล ได้แก่ ต.ป่าแดด ต.สันผักหวาน ต.สบแม่ข่า ต.บ้านแหวน ต.ขัวมุง ต.สันทราย ต.ประตูป่า และ ต.เหมืองง่า มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 22 กิโลเมตร

ส่วนโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สายลำพูน-สันป่าตอง (EW-1) จุดเริ่มต้นจะอยู่ด้านทิศเหนือของ อ.สันป่าตองบนทางหลวงหมายเลข 108 โดยแนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศตะวันออกขนานกับทางหลวงหมายเลข 1015 และตัดข้ามแม่น้ำปิงบริเวณตำบลหารแก้ว ก่อนจะเข้าทับซ้อนกับแนวเส้นทางเลือกที่ 3 (NS-3) เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ไปจนถึงจุดสิ้นสุดที่บรรจบกับทางเลี่ยงเมืองลำพูน (1-2) ด้านทิศเหนือของจังหวัดลำพูน ซึ่งแนวเส้นทางเลือกนี้จะพาดผ่านพื้นที่ 5 ตำบล คือ ต.สันกลาง ต.หารแก้ว ต.สันทราย ต.ประตูป่า และ ต.เหมืองง่า ระยะทางรวมประมาณ 18 กิโลเมตร

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาภาพรวมทุกด้านของโครงการทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่-ลำพูนพบว่าแนวเส้นทาง (NS3) มีความเหมาะสมที่จะนำไปศึกษาความเหมาะสมในขั้นรายละเอียดต่อไป เพราะมองในแง่เศรษฐกิจและการลงทุนถือว่ามีมูลค่าการลงทุนน้อยที่สุดและมีผลประโยชน์ที่ดีกว่าแนวอื่น ๆ ส่วนในแง่วิศวกรรมและจราจรก็สามารถตอบสนองการเดินทางได้ดีกว่าเส้นทางอื่น ๆ เนื่องจากปริมาณการเดินทางและประสิทธิภาพโครงข่ายก็ดีกว่าแนวเส้นทางอื่น ๆ เช่นกัน ขณะที่ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ถือว่ามีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ที่สำคัญคือ เป็นแนวเส้นทางที่จะเชื่อมโยงพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนในแนวเหนือ-ใต้ สามารถตอบสนองการเดินทางระหว่างพื้นที่และส่งเสริมยุทธศาสตร์เมืองแฝด เชียงใหม่-ลำพูน ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายลำพูน-สันป่าตอง โดยหลักการแล้วจะพิจารณาเป็นส่วนประกอบของโครงการสายเชียงใหม่-ลำพูน โดยที่สายเชียงใหม่-ลำพูน จะเป็นโครงข่ายหลักที่มุ่งตอบสนองต่อยุทธศาสตร์เมืองแฝด เชียงใหม่-ลำพูน และมีสายลำพูน-สันป่าตอง เป็นโครงข่ายเสริม เพื่อรองรับปริมาณจราจรในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทั้งนี้ แนวเส้นทาง (EW-1) เป็นแนวเส้นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำไปศึกษาความเหมาะสมต่อไป เนื่องจากมีค่าการลงทุนน้อย ตอบสนองต่อปริมาณจราจรสูงสุด รวมทั้งมีประสิทธิภาพโครงข่ายดีที่สุด กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางเสริมโครงข่ายแนวเหนือ-ใต้ ของแนวเส้นทางเลือก NS-3 ในลักษณะของทางแยกเข้าพื้นที่ (Spur Road) เชื่อมพื้นที่ด้านตะวันตกและตะวันออก ซึ่งในอนาคตก็สมารถที่จะต่อโครงข่ายในลักษณะเป็นวงแหวนอีกชั้นหนึ่งของพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเดินทางระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

            สำหรับมูลค่าการลงทุนของทางหลวงใหม่ทั้ง 2 เส้นทาง คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยภายในเดือนเมษายน 2549 จะมีการประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง จากนั้นคาดว่าจะสรุปผลโครงการทั้งหมดของทั้ง 2 โครงการให้กรมทางหลวงพิจารณาเป็นครั้งสุดท้ายภายในเดือนมิถุนายน 2549 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท