นักวิชาการลงชื่อ ต้านข้อเสนอรัฐบาลพระราชทาน

นักวิชาการหลายสำนักร่วมลงชื่อค้านนายกฯ พระราชทาน ระบุปฏิรูปการเมืองเป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม

 

 

ประชาไท - 2 มี.ค. 2549 นักวิชาการหลายสำนักร่วมลงชื่อค้านนายกฯ พระราชทาน ระบุปฏิรูปการเมืองเป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ภายหลังกระแสเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานกระเส็นกระสายออกมาจาก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ ส.ว. บางคน วันนี้ นักวิชาการหลายสำนักร่วมกันลงชื่อคัดค้านแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ได้ออกมาประกาศจะแขวนคอตายทันทีหากไม่มีการเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากประชาชน


โดยนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อคัดค้านแนวทางนายกฯ พระราชทานเริ่มต้นขึ้นจาก กลุ่มนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ "ไปให้พ้นจากระบอบทักษิณและอำนาจนอกระบบ"


โดยข้อความในแถลงการณ์ฉบับนี้ระบุว่า กระแสการต่อต้าน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางในขณะนี้ เป็นการเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญต่อการสร้างพลังและความหมายให้กับการเมืองภาคประชาชนเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่าการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ตัวนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่อาจจำกัดไว้เพียงประเด็นปัญหาเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แน่นอนว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจมองข้ามความจริงไปด้วยว่า โครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดช่องให้เกิดระบอบทักษิณขึ้นมาในสังคมไทย ดังนั้น ลำพังแต่เพียงการขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ จะไม่เป็นการแก้ไขปัญหาของการเมืองไทยในระดับพื้นฐานได้แต่อย่างใด

สำหรับปัญหาที่หมักหมมและเป็นรากฐานของสังคมไทยก็คือ อำนาจในทางการเมืองที่ถูกผูกขาดไว้ในมือของบุคคลเพียงบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นนำโดยปราศจากการตรวจสอบและกำกับจากสังคม ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือกำหนดความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆ แต่อย่างใด ซึ่งการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้ได้สร้างปัญหาทางสังคมและความไม่เป็นธรรมอย่างกว้างขวางในสังคม

เช่น การใช้ความรุนแรงในนโยบายต่างๆ ของรัฐ, การดำเนินนโยบายที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม แต่สร้างความเดือดร้อนและหายนะแก่ประชาชนระดับรากหญ้า, การบัญญัติและใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์กับตนและพรรคพวก เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังที่กล่าวมา ก็มิใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณและพรรคไทยรักไทย หากเป็นสิ่งที่ปรากฏและสืบเนื่องมาในระบบการเมืองของไทยโดยตลอดในทุกรัฐบาล เพียงแต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เห็นอย่างชัดเจนและท้าทายต่อความรู้สึกของสาธารณชนเท่าที่เกิดขึ้นในระบอบทักษิณ ดังนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ในระยะยาวจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองให้เกิดขึ้น แต่การปฏิรูปการเมืองต้องไม่มีความหมายแคบๆ เพียงแค่การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ด้วยกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของสังคมที่เกิดขึ้นบนฐานของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผย ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ของสังคมต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างกว้างขวาง แม้จะเป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลาและความอดทน แต่ก็เป็นกระบวนการที่เกิดจากการมีส่วนร่วม การโต้แย้ง และการตระหนักถึงอำนาจของผู้คนในสังคม อันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงอยู่และแก้ไขปัญหาร่วมกันของผู้คนในสังคมประชาธิปไตย

การปฏิรูปการเมืองจึงต้องเกิดขึ้นโดยการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้คนในสังคมต่อปัญหาที่นำมาสู่วิกฤตในครั้งนี้ การปฏิรูปการเมืองที่จะตอบสนองต่อคนทุกๆ กลุ่มไม่อาจเกิดขึ้นได้จากอำนาจนอกระบบ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดของรัฐธรรมนูญรับรองไว้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดอำนาจโดยทหาร หรือการเรียกร้องรัฐบาลพระราชทาน ก็ล้วนแต่จะเป็นรัฐบาลซึ่งประชาชนไม่อาจตรวจสอบและกำกับได้ จึงไม่เป็นหลักประกันใดๆ ต่อการสร้างสังคมที่เข้มแข็งในระยะยาว ดังที่ได้ปรากกฎมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เพราะฉะนั้น นอกจากการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและพันธมิตรนักวิชาการ ขอเรียกร้องต่อสังคมไทยให้ร่วมกันยืนหยัดและผลักดันในประเด็นดังต่อไปนี้

1.การปฏิรูปการเมืองที่จะบังเกิดขึ้นต้องไม่ใช่เพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป้าหมายหลักต้องอยู่ที่การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนในสังคมไทย ด้วยการให้อำนาจแก่ประชาชนในการเข้าถึงและใช้อำนาจได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการสร้างกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพโดยสังคม

2. การปฏิรูปการเมืองต้องดำเนินไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย โดยขอปฏิเสธอำนาจนอกระบบทุกประเภทว่า มิใช่ทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้

ทั้งนี้ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยังได้เสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อผ่าทางตันทางการเมือง ได้แก่ ให้นายกทักษิณลาออก และเว้นวรรคทางการเมือง, ให้พรรคไทยรักไทย และพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านลงเลือกตั้ง และเลือกนายกรัฐมนตรีโดยอิสระ, ให้ดำเนินการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพลัน, ให้ยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่

ส่วนสาระในการปฏิรูปการเมืองนั้น ประกอบไปด้วย ให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีสิทธิและศักดิ์ศรีที่จะดูแล ปกป้อง และเข้าถึงทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเป็นธรรม, แก้ไขการแทรกแซงองค์กรอิสระ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมรัฐบาล ข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, สนับสนุนองค์กรภาคประชาชนเข้ามาคานอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยไม่ถูกรอนสิทธิ์โดยกฎหมายต่ำศักดิ์

สำหรับรายชื่อนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และนักวิชาการทั่วประเทศที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้ มีจำนวนประมาณ 60 คน ประกอบไปด้วย

 

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

รศ. วารุณี ภูริสินสิทธิ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ผศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ชัชวาล ปุญปัน (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ไพสิฐ พาณิชย์กุล (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

นัทมน คงเจริญ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

เกรียงศักดิ์ เชษฐ์พัฒนวานิช (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ชาญกิจ คันฉ่อง (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ศ.สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ (นักวิชาการอิสระ)

ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ศ.อานันท์ กาญจนพันธ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม (นักวิชาการอิสระ)

ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ดร.วิลาสินี พิพิธกุล (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ฉลาดชาย รมิตานนท์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

วิระดา สมสวัสดิ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

อำพล วงศ์จำรัส (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ปรานี วงศ์จำรัส (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.พรพิมล ตั้งชัยสิน (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.ชูศักดิ์ วิทยภักดิ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

สมปอง เพ็งจันทร์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

เอกมล สายจันทร์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.จิราพร วิทยศักดิ์พันธุ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

อ.ราม โชติคุต(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ดร.วรรณภา ลีระศิริ(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

อ.มาลินี คุ้มสุภา(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

อ.บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

ผศ.ประสาท มีแต้ม (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

ผศ.ปิยะ กิจถาวร (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

ดร.อุทัย ดุลยเกษม(มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

ดร.เลิศชาย ศิริชัย (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

ดร.โอภาส ตันติฐากูร (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

ศิริพร สมบูรณ์บูรณะ (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

ทิพยวัลย์ สุทิน (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)         

ฐิรวุฒิ เสนาคำ (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

สุชาดา ทวีศิลป์ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

เสนาะ เจริญพร (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ธวัช มณีผ่อง (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

พลวิเชียร ภูกองชัย (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ธีรพล อันมัย (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ศรัณย์ สุดใจ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)         

สุรสม กฤษณะจูฑะ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

จินตนา วัชระสินธุ์ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ (จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย)

ผศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ (จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย)

อ.วิทยากร เชียงกูล (มหาวิทยาลัยรังสิต)

อ.วิภา ดาวมณี (มหาวิทยาลัยรังสิต)

โคทม อารียา (นักวิชาการอิสระ)

อุทัยวรรณ กาญจนกามล (นักวิชาการอิสระ)

อ.สังคม ทองมี (นักวิชาการอิสระ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท