นักเรียนไทยในต่างแดนร่อน จม. ค้านกำหนดเลือกตั้ง กกต.

กลุ่มประชาชนและนักเรียนไทยในต่างประเทศ ออกจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีและคัดค้านการกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีเนื้อความ ดังนี้

 

0 0 0

 

จดหมายเปิดผนึก ถึง ประชาชนชาวไทย

คัดค้านการตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรี

และคัดค้านการกำหนดการเลือกตั้ง  ส.ส.นอกราชอาณาจักร

ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

โดย กลุ่มประชาชนและนักเรียนไทยในต่างประเทศ

 

1 มีนาคม 2549

ภายหลังจากที่ ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศยุบสภา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง สส. นอกราชอาณาจักรในวันที่ 17 - 26 มีนาคม 2549 และกำหนดวันปิดรับสมัครการลงทะเบียนขอเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักร ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ (ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมงหลังการประกาศยุบสภา และเป็นวันเสาร์อันถือเป็น วันหยุดราชการ) โดยให้ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ซึ่งผลจากกำหนดการดังกล่าวส่งผลต่อสิทธิเลือกตั้งของชาวไทยนอกราชอาณาจักร ข้าพเจ้าประชาชนไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรปรากฏตามรายชื่อ และที่อยู่ท้ายจดหมายนี้ มีข้อคิดเห็นและข้อคัดค้าน ดังต่อไปนี้


  1. การกำหนดการเลือกตั้งดังกล่าวส่งผลให้ ชาวไทยนอกราชอาณาจักร ซึ่งมิได้ขอลงทะเบียนเป็นผู้ใช้สิทธิ เลือกตั้ง ส.ส. นอกราชอาณาจักรในปี 2548 ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 ถูกตัดสิทธิจากการเลือกตั้ง สส. นอกราชอาณาจักร

ในทางปฏิบัติการเลือกตั้งจะต้องเปิดโอกาสให้ชาวไทยในต่างประเทศมีเวลาในการเตรียมตัวใช้สิทธิอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ และต้องมีการประกาศกำหนดการวันสุดท้ายของ การขอใช้สิทธิให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และโดยหลักการทางการปกครองแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถออกคำสั่งให้มีผลบังคับย้อนหลังได้

ดังนั้นข้าพเจ้าและผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องเสียสิทธิทางการเมืองในด้านต่าง ๆ เช่น ไม่มีสิทธิลงชื่อถอดถอนผู้แทน, ไม่มีสิทธิลงสมัครเป็นผู้แทนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เป็นเวลาอย่างน้อยสี่ปี ซึ่งย่อมไม่เป็นธรรม เพราะพวกข้าพเจ้ามิได้มีความประสงค์เช่นนั้น และมิใช่ความผิดของประชาชน


  1. การกำหนดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ระหว่าง วันที่ 17 - 26 มีนาคม 2549 ซึ่งเป็นระยะเวลา 20 วัน หลังการประกาศยุบสภา และ 7 วันหลังวันปิดประกาศรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลทำให้ประชาชนไทย นอกราชอาณาจักรมีเวลาเพียง 7 วัน ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของผู้สมัคร นโยบาย และลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

โดยการกำหนดเวลาซึ่งกระชั้นชิดดังกล่าวยังส่งผลโดยตรงต่อ การจัดเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควรในการจัดการประชาสัมพันธ์และการระยะเวลาในการติดต่อ สื่อสารทางไปรษณีย์โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งห่างไกลจากที่ตั้งของสถานทูตไทย ในประเทศดังกล่าว

นอกจากนั้นการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 เมษายน โดยผ่านความเห็นชอบของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพียงคนเดียวโดยมิได้ผ่านการประชุมของคณะกรรมการยังส่งผลต่อความชอบธรรมของการเลือกตั้ง ความชอบธรรมของการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งและประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้ง

จึงขอเสนอให้ทบทวนกำหนดวันเลือกตั้ง โดยอาจกำหนดให้เป็นในวันที่ 23 เดือนเมษายน 2549

3. กลุ่มประชาชนและนักเรียนไทยในต่างประเทศ เห็นว่าการประกาศยุบสภาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำมิชอบ ทั้งนี้เพราะสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากความประพฤติที่ไม่โปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อนของนายกรัฐมนตรีในฐานะนายกรัฐมนตรีและเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ต้องการขายหุ้นเพื่อผลกำไรสูงสุด อีกทั้งยังถูกกล่าวหาในเรื่องการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้รัฐ ซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น สามารถแก้ไขได้ง่ายโดยการลาออกของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมในการแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวและสามารถกลับมาบริหารประเทศได้อย่างสง่างาม แทนที่จะและผลักภาระให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยที่รัฐต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลในการจัดการเลือกตั้งกล่าว

4. กลุ่มประชาชนและนักเรียนไทยในต่างประเทศ จึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และขอยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ถึงการตัดสินใจและการทำงานอันไม่เป็นกลางของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งส่งผลต่อสิทธิในการเลือกตั้งของชาวไทยนอกราชอาณาจักรและประสิทธิภาพต่อการดำเนินการเลือกตั้ง

 










ชื่อ-สกุล


ที่อยู่


ประเทศ


1. ศราวุฒิ ประทุมราช


Permata Senayan Apt.Jl.Palmerah Selatan No.20A-21,Jakarta Pusat


INDONESIA


2. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล Kanokrat Lertchoosakul


London School of Economics and Political Science


UK


3. นฤมล ทับจุมพล


School of Politics and International Studies, University of Leeds


United Kingdom


4.ปริยากร ปุสวิโร


Digital Media in Education

Center for Computing Technologies (TZI)

Informatik, University of Bremen


Germany


5.


 


 

 

จากจดหมายปิดผนึกฉบันนี้จึงขอเชิญชวนผู้สนับสนุนการคัดค้านการตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีและคัดค้านการกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมลงรายชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 1 - 9 มีนาคม 2549 ผ่านอีเมล์ของผู้ประสานงานชั่วคราวดังรายชื่อด้านล่าง เพื่อเสนอยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครอง ในวันที่ 10 มีนาคม 2548

 

โดยในวันที่ 10 มีนาคม 2549 ตัวแทนชาวไทยในต่างประเทศจะยื่นฟ้องการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อศาลปกครองที่ประเทศไทย พร้อมกับตัวแทนชาวไทยในสหราชอาณาจักรจะนำเสนอชื่อที่รวบรวมได้เบื้องต้นยื่นผ่านสถานทูตไทยในสหราชอาณาจักร     

 

คณะผู้ประสานงานชั่วคราว

1. นฤมล ทับจุมพล, PhD Candidate, University of Leeds, UK ipint@leeds.ac.uk

2. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, PhD Candidate, London School of Economics and Political Science, UK k.lertchoosakul@lse.ac.uk

3. ศราวุฒิ ประทุมราช, Lawyer /Human Rights Activist, Senior API Fellow, Asian Public Intellectual , Indonesia   tuactive@yahoo.com

4. Sirote Klampaiboon, PhD Candidate, University of Hawaii, USA, sirotek@hotmail.com

5. ปริยากร ปุสวิโร, PhD Candidate, University of Bremen, Germany pusawiro@tzi.de

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท