Skip to main content
sharethis


โดย นิตยสารรายสัปดาห์ 'พลเมืองเหนือ'


 


 


เสียงปี่กลองของการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 กับเสียงโห่ร้องให้พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออก เกิดขึ้นพร้อมกันอยู่เวลานี้ เพราะมุมต่อการเมือง ประชาธิปไตย และอำนาจของประชาชนมีความหมายแตกต่างกัน


 


การเมืองแบบมีตัวแทนคือสิ่งที่พรรคไทยรักไทยยึดมั่น  แต่สำหรับพรรคฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมที่สนามหลวง มองถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าการเมืองยุคนี้มิได้หมายถึงการกระจายการเลือกตั้ง  แต่เนื้อหาแล้วคือการเมืองภาคประชาชนที่หมายถึงภาคสังคมจะต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบของประเทศ มิใช่ถูกริดรอน  และสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่บนท้องถนนก็เป็นครรลองประชาธิปไตยหนึ่ง มิใช่การใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย


 


. นิธิ   เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเคยพูดไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นหัวใจสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยที่ปรากฎขึ้นมาทั่วทั้งโลก ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของประชาชนใดๆก็แล้วแต่ เพื่อที่จะมีความสามารถหรืออำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้โดยตรง โดยไม่ต้องไปผ่านตัวระบบพรรคการเมืองก็ตาม โดยไม่ผ่านการไปร้องขอต่อระบบราชการก็ตาม การกระทำเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ถือว่าเป็นการเมืองภาคประชาชน  


 


.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาคนเดือนตุลา เขียนรายงานการวิจัยเรื่อง "บทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย"  เมื่อปี 2547 ระบุบทบาทความสำคัญเชิงปฏิบัติของ การเมืองภาคประชาชน ในฐานะแม่กุญแจที่อาจมีศักยภาพจะช่วยไขปัญหาสำคัญของการเมืองไทยปัจจุบัน อันได้แก่ปัญหาประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย  ปัญหาหนึ่งรัฐสองสังคม และ  ปัญหาการใช้อำนาจรัฐโดยขาดฉันทานุมัติจากประชาชน 


 


อ.เสกสรรค์ให้คำนิยาม การเมืองภาคประชาชนไว้คือการเคลื่อนไหวอย่างมีจิตสำนึกทางการเมืองของกลุ่มประชาชน เพื่อลดฐานะครอบงำของรัฐ รวมทั้งเพื่อโอนอำนาจบางส่วนมาให้ประชาชนใช้ดูแลชีวิตตนเองโดยตรง  และคือปฏิกิริยาโต้ตอบการใช้อำนาจของรัฐ และเป็นกิจกรรมถ่วงดุลอิทธิพลการครอบงำของระบบตลาดเสรีในภาคประชาชน  


 


เนื้อแท้ของการเมืองภาคประชาชนคือประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐ    การถ่วงดุลอำนาจรัฐด้วยประชาสังคมโดยไม่ยึดอำนาจพร้อมกันนั้นก็ถ่วงดุลอำนาจของพลังตลาดหรือทุนซึ่งสังกัดประชาสังคมไปด้วยโดยช่วงชิงกับฝ่ายทุนเพื่อลดทอนและกำกับบทบาทของรัฐ    แย่งกันโอนอำนาจบางส่วนที่เคยเป็นของรัฐมาเป็นของประชาชน(แทนที่จะตกเป็นของฝ่ายทุน) เพื่อใช้มันโดยตรงและไม่ต้องผ่านรัฐดังก่อน    ผลักดันให้รัฐใช้อำนาจที่เหลือสนองเจตนารมณ์ประชาชน (แทนที่จะสนองผลประโยชน์ของฝ่ายทุน)  ดำเนินการต่อสู้ด้วยวิธีขยายสิทธิประชาธิปไตยออกไป และย้ายจุดเน้นจากการเมืองแบบเลือกตั้งผู้แทนมาเป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วม (ขณะที่ฝ่ายทุนใช้ตลาดเสรีเป็นฐานที่มั่นสำคัญ)


 


ซึ่งนิยามที่อาจารย์เสกสรรค์ได้ระบุไว้ในรายงานนั้น สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้


 


5 ปีของการขึ้นสู่ตำแหน่งของ พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 19 ล้านเสียง  เก้าอี้ส..ในสภามีจำนวนมากจนปิดทางการอภิปรายของระบอบ  เหมือนหันมามองถึงองค์กรอิสระที่ล้มเหลว  ย้ำด้วยเหตุการณ์ขายหุ้น 73,000 ล้านของครอบครัวที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมผู้นำ  มิหน้ำซ้ำเมื่อทางออกคับแคบลง การเลือกใช้วิธียุบสภาแต่มีติ่งของข้อแม้ที่บีบรัดให้จัดการเลือกตั้งอย่างกระชั้น ลามไปสู่การบอยคอตผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้าน  ยิ่งทวีให้เกิดความต้องการการเมืองภาคประชาชนยิ่งขึ้น


 


อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ตัวแทนเครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย(เชียงใหม่) แถลงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณายุติบทบาทตนเอง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดยกล่าวว่าการเมืองภาคประชาชนที่ขยายวงกว้างสู่ท้องถนนเป็นเพราะการแสดงความเห็นในระบอบสภาไม่สามารถทำงานได้ เพราะมีพรรคการเมืองผูกขาด  และการประกาศยุบสภาโดยพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาต่อรองก็ยิ่งปรากฏให้เห็นว่าปัญหาการเมืองไทยต้องเร่งปฏิรูป


 


"การเมืองในเวลานี้ ถือว่ามาถึงจุดที่เป็นทางตัน เพราะการกำหนดจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม..2549 นั้น เป็นการเร่งรัดเกินไป และยังเป็นการเลือกตั้งของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่อาจจะมีพรรคการเมืองเล็กๆ เข้าร่วมเท่านั้น รวมทั้งก็ไม่ได้เป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองในเวลานี้ด้วย  ทั้งนี้ เพราะสิ่งที่สังคมเรียกร้อง คือ การปฏิรูปทางการเมืองที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ซึ่งการหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อยู่ที่การตัดสินใจของ พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย"


 


.ธเนศวร์เห็นว่าทางออกที่สง่างามที่สุดคือ พ...ทักษิณ น่าจะยุติบทบาททางการเมืองของตัวเอง


แล้วเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ทั้งภาคการเมือง ภาคประชาชน และทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมหารือ ว่า จะทำการปฏิรูปการเมืองอย่างไร และดำเนินการปฏิรูปให้แล้วเสร็จเสียก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง


"ทางออกนี้จะเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยให้รุดหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง และทำให้ พ...ทักษิณ ลงจากตำแหน่งอย่างสง่างาม พร้อมกับการได้รับบันทึกว่าเป็นนักการเมือง หรือผู้นำประเทศ ที่มีความจริงใจต่อการพัฒนาประเทศ โดยภายหลังจากการปฏิรูปการเมืองและภายใต้กติกาใหม่ หาก พ...ทักษิณ จะกลับเข้ามาเล่นการเมืองอีกก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้"


อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์พันธ์ นักวิชาการนิติศาสตร์ มช.หนึ่งในเครือข่าว กล่าวว่า ประชาธิปไตยที่กำลังมีการเรียกร้องกันอยู่ในเวลานี้เป็นประชาธิปไตยเชิงคุณภาพที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะจัดให้มีขึ้นแล้วทำให้เสร็จๆ ไปเท่านั้น เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่นำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ไม่เช่นนั้นแล้วการเลือกตั้งที่มีขึ้นจะนำไปสู่หนทางที่ตีบตันทางการเมืองมากกว่านี้


"การเลือกตั้งต้องนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นการเรียกร้องของภาคประชาชนต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากขณะนี้การเมืองวิกฤตแล้วและนักวิชาการไ้ด้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลเห็นแล้วว่าถ้ายังเลือกให้มีการเลือกตั้งจะยิ่งเดินไปสู่ทางตันมากขึ้น รัฐบาลควรเปิดให้มีการพูดคุยกันในวงกว้างมากกว่านี้ ต้องมีเวทีให้เกิดบทบาทของฝ่ายต่างๆ มากกว่านี้"


 


ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี  นักวิชาการจากคณะสังคมศาสตร์ ม..กล่าวว่า คุณหญิงสุดารัตน์บอกว่าการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ เป็นเพียงแค่หยิบมือเดียว    ฝ่ายการเมืองพยายามทำให้เห็นแค่ว่าต้องแก้ปัญหาทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่  


 


กลับมาที่บทวิจัยของอาจารย์เสกสรรค์ อีกครั้งในแง่ของปัญหาหนึ่งของการเมืองไทยประเด็นปัญหาฉันทานุมัติทางการเมือง ซึ่งคือการใช้อำนาจรัฐที่ฝืนมติประชาชน แม้จะโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่จะนำไปสู่ความไม่ยอมรับ ไม่พอใจ ตึงเครียด ขัดแย้ง และเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับประชาชนกลุ่มต่างๆ เสมอ


 


เมื่อปราศจากฉันทานุมัติของประชาชนแต่ยังคงดันทุรังจะใช้อำนาจดำเนินนโยบายให้ได้ รัฐบาลก็ย่อมต้องหันไปใช้กำลังรุนแรงเข้าบังคับขืนใจ และละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนพลเมืองกลุ่มต่างๆ มากขึ้นทุกที             


 


อาจารย์เสกสรรค์เล็งผลว่าหากทิ้งไว้ต่อไปจะนำไปสู่ภาวะอนาธิปไตย  เว้นแต่ว่าจะริเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ต่อตัวระบอบประชาธิปไตย ในประเด็นสำคัญ 3 ประการคือ


1)      ลดลักษณะประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง เพิ่มขยายประชาธิปไตยทางตรงแบบประชาชนมีส่วนร่วมใช้อำนาจด้วยตัวเองมากขึ้น 


2)       สร้างกระบวนการแสวงหาฉันทานุมัติแบบต่อเนื่อง(continuous consensus) ไม่ใช่เอาแต่เลือกตั้งสี่ปีครั้ง


3) เปิดอนาคตประเทศไทยให้แก่วิถีทางพัฒนาและดำเนินชีวิตอันหลากหลาย รัฐต้องไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์บังคับยัดเยียดวิถีพัฒนาเดียว วิถีชีวิตเดียวให้ผู้คนอันแตกต่างหลากหลายในประเทศอย่างไม่จำแนกและไม่เคารพศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีภาพในการเลือกของผู้คน


 


แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลของพ...ทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะใช้วิธีเดินหน้า "เลือกตั้ง" และย้ำว่านี่คือกติกาประชาธิปไตย


 


เมื่อการเมืองไทยมาถึงจุดนี้


 


วันที่ 5 มีนาคม 2549 จึงเป็นวันนัดหมายของการเมืองภาคประชาชนบนท้องถนนที่น่าระทึกยิ่ง !!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net