Skip to main content
sharethis

วันที่ 4 มีนาคม เสื้อกั๊กขาประจำ "ธีรยุทธ บุญมี" อาจารย์คณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกโรงเตือนภาคประชาชนต้องมุ่งมั่นและมีสติ จึงจะล้มล้างคนชั่วได้ เสนอแนวคิดใหม่ "มั่นคง ยืดเยื้อ ไม่รวบรัดปิดบัญชี" ชี้ช่องควรชุมนุมใหญ่อีกครั้งวันเลือกตั้ง


 


"ประชาไท" คิดว่าคนไม่รักทักษิณควรอ่าน คนรักก็ควรอ่านยิ่งกว่า เพื่อให้ได้อรรถรสเต็มที่จึงขอนำเสนอชนิด "คำต่อคำ"


 


0000000000000000000000


 


ภาคประชาชนต้องมุ่งมั่นและมีสติ จึงจะล้างคนชั่วโกงเมืองได้


 


จะไม่พูดว่านายก ทักษิณ ลาออกหรือไม่ แต่จะพูดสนับสนุนการต่อสู้ของภาคประชาชน ภาคสังคมโดยตรงว่าต้องมุ่งมั่นในสติ จึงจะล้างคนชั่วโกงได้


 


บทเรียนการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ผ่านมาตลอดเกือบ 40 ปีในบ้านเราพบว่า ผู้นำซึ่งถือว่าโกงบ้านโกงเมืองจะไม่ยอมลาออก เพราะอำนาจผลประโยชน์มีมาก เคยได้ยินฉายาคุณหญิงพจมาน แห่งบ้านกาวทองหรือไม่ หมายความว่าอำนาจและเงินแม้แต่บาทเดียวก็ไม่ให้กระเด็น


 


ไม่เพียงแต่ผลประโยชน์ของทักษิณเอง ยังมีของญาติ ของพวกพ้องอีกเยอะ เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าการลงจากอำนาจจึงเป็นไปได้ยาก พลังประชาชนก็ต้องมุ่งมั่นสู้ต่อไป จึงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่าต้องเป็นการต่อสู้แบบมีสติเพราะสังเกตการต่อสู้ของภาคประชาชนครั้งนี้จะเห็นว่าต่างจากเดิมใน สมัย 14 ตุลา หรือพฤษภาคม มากพอสมควร


 


ที่ต่างในประการแรกคือ เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารฉะนั้นจึงคิดว่าการต่อสู้ในระนาบของข่าวสาร ของความคิดเห็น ของเหตุผล ของข้อมูลจะค่อนข้างสูงมาก ความต้องการการต่อสู้ในด้านนี้อีกมากพอสมควร


 


ประการที่สองคือ สังคมเป็นสังคมซับซ้อน มีความหลากหลายกลุ่มอาชีพ ตัวละครเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีเด็กเล็กๆ มีคนอาชีพต่างๆเพิ่มมากขึ้น ทัศนะก็จะมีหลากหลายช่วงเวลาของการต่อสู้คงต้องยาวนานกว่าเดิม


 


ประการที่สาม รูปแบบคงจะไม่ใช้การชุมนุมเป็นหลักอย่างเดียว การชุมนุมมีความสำคัญมาก แต่รูปแบบการต่อสู้จะเป็นรูปแบบของการแข็งขืนแบบอารยะ (civil disobedience) ถ้าประชาชนกลุ่มต่างๆใช้สิทธิในมโนสำนึกของตัวเอง จากความรู้สึกที่ถูกกดขี่ ถูกลิดรอนสิทธิ ภายใต้การปกครองที่ดูไม่เป็นธรรม ไม่มีศีลธรรม การลุกขึ้นมาต่อสู้จะมีหลายรูปแบบมาก จุดสุดท้ายก็คือการแข็งขืนกับอำนาจของทักษิณแล้วก็ล้มอำนาจของทักษิณไปได้ในที่สุด


 


หนทางผ่าทางตันการเมืองไทย


 


ทางออกของวิกฤติทักษิณอยู่ที่ว่าเราจะเลือกประชาธิปไตยนอมินี หรือว่าประชาธิปไตยคุณธรรม ขอสรุปง่ายๆว่าการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณต่างอ้างกติกาประชาธิปไตย ซึ่งถูกทั้งคู่เพราะประชาธิปไตยมีกติกาอยู่ร้อยแปด พันประการ


 


แต่นอกเหนือจากการอ้างกติกาแล้วประชาชนควรดูที่ต้นเหตุและผลด้วย ต้นเหตุเกิดจากการที่ทักษิณไม่ยอมเสียภาษี และมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการขายหุ้นชิน ดังนั้นต้องแก้ที่ต้นเหตุ ส่วนผลก็คือการแตกแยกของบ้านเมือง มีความเสียหายมหาศาล


 


ทักษิณตัดไม่พ้นผลประโยชน์ มองประชาธิปไตยเป็นเพียงกติกา เป็นเพียงเครื่องมือ(means) เป็นประชาธิปไตยนอมินี ก็คือ รัฐบาล องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้งหน่วยงานราชการเช่น สรรพากร  เป็นหุ่นเชิดหรือตัวแทนสร้างผลประโยชน์


 


ส่วนอีกฝ่ายมองประชาธิปไตยเป็นทั้งเครื่องมือและจุดหมาย คือเคารพกติกาประชาธิปไตย แต่ต้องให้กติกานั้นเกิดผลดีกับประชาชนด้วย


 


ทางเลือกการผ่าทางตันต้องเลือกทางที่ถูกต้อง ก็คือหนทางที่สองแล้วก็ผลักดันต่อสู้จนกว่าหนทางนั้นจะชนะ


 


ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อครั้งนี้จะจบลงอย่างไร


คำตอบนั้นเห็นว่าชัยชนะจะเป็นของภาคประชาชน ด้วยเหตุผลว่า


 


ข้อแรกมองว่าแม้การต่อสู้ครั้งนี้จะเกิดจากคุณสนธิ แต่ที่จริงแล้วมันเข้ามาสู่แนวทางที่ถูกต้อง เป็นแนวทางของการผลักดันสู่การพัฒนาอีกขั้น เป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 มันจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทย พอเป็นเช่นนี้ยังไงก็ผลักไปสู่หนทางที่ดีขึ้น เพราะพลังที่เคยร่วมต่อสู้ตั้งแต่ 14 ตุลา หรือพฤษภา มาถึงภาพอันนี้ก็ต้องผลักกระบวนการต่อสู้เพื่อการเมืองของเราต่อไป ซึ่งเป็นพัฒนาขั้นที่ 3 ของประชาธิปไตยของไทย


 


ขั้นที่ 1 เป็นประชาธิปไตยตัวแทน เกิดจาก 14 ตุลา 2516 ข้อเสียของประชาธิปไตยตัวแทนก็คือเหมือนทอดเต๋าแบบถ่วงตะกั่ว คือสักพักหนึ่งมีการซื้อเสียงมากที่สุดแต่ก็ต้องแก้ไขกันไป พอขั้นที่ 2ก็เป็นประเด็นการตรวจสอบจากการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ แต่เราก็มีปัญหาว่ามันไม่ทำงาน เพราะถูกทุนไปกำกับรัฐและไปแทรกแซงองค์กรอิสระ จึงเกิดวิกฤติคราวนี้ขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยคุณธรรมที่มีมิติของคุณธรรม จริยธรรมขึ้นมา คิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง


 


ไม่มีประเทศไหนให้ผู้ปกครองซึ่งโกงกิน ซึ่งเลว ซึ่งกลิ้งกลอกเป็นผู้ปกครองประเทศไปได้ ประเทศซึ่งเกิดจากคนจำนวนมากซึ่งมีวุฒิภาวะ ขนบธรรมเนียมประเพณีมารยาท คุณธรรมในสังคม


 


ดังนั้นประชาธิปไตยในประเทศของเราก็ต้องมีกฎเกณฑ์คุณธรรม และขอเน้นคำว่ามีส่วนร่วมไปด้วย เพราะเราเน้นกันมากว่าให้ชาวบ้าน ประชาชนมีสิทธิมีสียงมากขึ้นเรื่อย


 


ในขั้นที่ 3 ประชาธิปไตยคุณธรรมแบบมีส่วนร่วม มุ่งให้ระบบตรวจสอบมีความเป็นอิสระ ถึงแม้คำนึงถึงคุณธรรม แต่สิ่งสำคัญการตรวจสอบที่ไม่ทำงานต้องทำงานด้วย ส่วนทำอย่างไรต้องให้นักวิชาการช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ แล้วก็ต้องเร่งทำงาน เนื้อหาในการปฏิรูปการเมืองจะทำอย่างไร ประชาธิปไตยต้องมีคุณธรรม ยุติธรรม จริยธรรม เนื่องจากเป็นระบบที่ดีขึ้นคาดว่าจะได้รับชัยชนะ


 


ข้อสอง มองว่าทักษิณชะตาการเมืองขาดแล้ว และจะถูกสังคมส่วนต่างๆลอยแพจนเหลือตัวคนเดียวในที่สุด มองขนาดนี้เพราะว่าขนาด คุณทักษิณต่อสู้กับ "กุ๊ยการเมือง" อย่างคุณสนธิ หรือว่าคนที่แข็งทื่อ "สแคว์ เฮด" หมายถึงคำล้อคุณจำลอง แต่หัวแกสแคว์จริงๆนะ คุณทักษิณก็ยังถอยร่นไม่เป็นขบวนต้องยุบสภา และตอนนี้ต้องมาต่อสู้กับประชาชนกลุ่มต่างๆเกือบทั้งสังคม คิดว่าคงทานไม่ไหว


 


คนที่มาชุมนุมกันเยอะๆอย่างเช่นเมื่อวันที่  3 มีนาคม ประมาณแสนกว่าคน ถ้าเข้าสู่ภาวะที่ถอยร่นจริงๆจะเหลือไม่กี่พันคน เพราะว่าเป็นการจัดตั้ง ตามประเพณีทางเหนือมีพิธีสืบชะตาควรทำด้วยการเว้นวรรคหรือลาออกแต่ไม่ยอมทำ ฝืนสู้กระแสด้วยการเมืองประชานิยม


 


ตอนนี้มีการเมืองอยู่สองส่วน คือการเมืองประชานิยม กับการเมืองปฏิรูป การเมืองปฏิรูปฝ่ายประชาชนอยากจะทำจริงจังไม่ใช่แค่ทำด้วยคำพูดกลับไปกลับมาแบบที่คุณทักษิณทำ ซึ่งคุณทักษิณต้องการทำการเมืองประชานิยม  คือเอาผลประโยชน์ เงิน อำนาจเข้าหว่านเพื่อรักษาฐานเสียงของตัวเอง ก็ทำอย่างผิวเผิน


 


ผลก็คือมันจะเปลืองเงิน เศรษฐกิจก็จะถูกกัดกร่อน นโยบายก็เป็นนโยบายแบบผิวเผิน ไม่เกิดผลจริงๆ ถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อจะก่อตัวเป็นลัทธิทักษิณ (Taksinism) แบบเดียวกับลัทธิเปรองส์ และเป็นต้นตอของสงครามกลางเมืองถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อ เหมือนประเทศอาร์เจนตินา ชิลี เม็กซิโก ฟิลิปปินส์


 


อย่างไรก็ตามประเมินว่า ทักษิณจะฝืนชะตาไม่ได้ เพราะมีพลังหลัก 3 พลังคัดค้าน หนึ่งพลังจารีตประเพณี ได้แก่ พลังรักชาติ รักสถาบันและพลังคุณธรรม สองพลังประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพลังสมัยใหม่และเป็นพลังใหญ่ในสังคมปัจจุบัน มีการต่อสู้มายาวนาน พลังนี้ก็จะทุ่มเทให้กับการต่อสู้คัดค้านทักษิณมากขึ้น สามคือพลังภาคธุรกิจเศรษฐกิจสมัยใหม่ซึ่งจะเริ่มปรากฏชัดจนมากขึ้น    


 


ข้อสามมองภาพรวมทั้งหมดเกิดจากทักษิณไม่ต้องการเสียภาษีจากการขายหุ้น 73,000 ล้านบาทแม้แต่บาทเดียว แต่ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก สังคมแตกแยกทุกๆด้าน ถ้าสังคมตั้งสติจะมองเห็นชัดเจนว่าปัญหามันเกิดจากอะไร สรุปว่าทักษิณบริหารประเทศไม่ได้


 


ส่วนพลังธุรกิจจะมีข้อสรุปในใจคือแบบนั้นด้วย แต่ยังรีรอเพราะว่าห่วงองค์กร ผลประโยชน์ของตัวเอง ธุรกิจในสังคมไทยมีความไม่มั่นใจสูง เนื่องจากวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงลังเลเรื่องการต่อสู้ แต่มายาภาพการเป็นซูเปอร์ซีอีโอของทักษิณถูกทำลายหมดสิ้นลงแล้วอย่างนโยบาย 30 บาท ธรรมศาสตร์ก็เลิกไปแล้วเพราะว่าทนขาดทุนไม่ไหว จะเห็นได้ว่านโยบายหลายอย่างของทักษิณล้มเหลว แล้วทักษิณก็กลายเป็นคนที่บริหารความเสี่ยงไม่เป็น การบริหารประเทศต่อไปอาจจะสูญเสียทั้งหมดได้


 


สังเกตดูว่าเขาไม่อยากจะจ่ายภาษีซึ่งเป็นเงินไม่ได้เยอะนักถ้าเทียบกับที่มี แต่ตอนนี้กลับจะต้องเสียทั้งหมด เขาไล่บี้พรรคฝ่ายค้านทั้งที่ฝ่ายค้านเสียเปรียบ สัตยาบันเปลี่ยนชื่อเป็นสัญญาประชาคม คือจะเอากินรวบทั้งหมด ไม่ยอมเสียแม้แต่นิดเดียวแต่ก็พลิกกลับถูกบอยคอตการเลือกตั้งจนเสียทั้งหมดเช่นกัน สิ่งที่คุณทักษิณทำคือการบริหารความเสี่ยงไม่เป็นจนอาจถึงขั้นสูญเสียทั้งหมดได้(total risk total loss) ภาคธุรกิจเศรษฐกิจจะไม่ค่อยชอบใจ


 


ในอนาคตการเลือกตั้งโจ๊กหรือนอมินี สภาเป็นสภาโจ๊กหรือนอมินี รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลโจ๊กหรือนอมินี จะถูกต่อต้านคัดค้านอย่างไม่จบสิ้น อันนี้ก็เป็นสิทธิของประชาชนไม่มีใครอยากให้ยืดเยื้อแต่คิดว่าถ้ามโนสำนึกของประชาชนเขารู้สึกว่าถูกกดขี่ ใช้ความรุนแรง ใช้อำนาจเผด็จการ การที่เอาศีลธรรมที่ไม่ดี การที่เอาความชั่วร้ายการโกงกินไปปกครองก็คือการกดขี่ ไม่ใช่เผด็จการแบบต้องเอาปืนมาจี้ ถ้าเขารู้สึกว่าเขาอยู่ใต้อำนาจเผด็จการแบบนี้ไม่ได้ มันจะยืดเยื้อและขยายผลไปเรื่อยๆ


 


รัฐบาลที่มองเห็นภาพแบบพรรคเดียวก็บริหารประเทศต่อไปไม่ได้ มันจะเป็นเรื่องโจ๊กเรื่องตลก เสียภาพพจน์ เสียในเรื่องเศรษฐกิจอย่างมาก ไม่มีใครแก้ไขได้ยกเว้นคุณทักษิณต้องจากไป ในเบื้องต้นทุกส่วนจะลอยแพคุณทักษิณมากขึ้น


 


ข้อเสนอแนะต่อพันธมิตรประชาธิปไตย


 


ขอเสนอว่าควรใช้ยุทธศาสตร์มั่นคง ยืดเยื้อ ไม่รวบรัดปิดบัญชี แต่ขยายความมีเหตุมีผล เพื่อล้างคนชั่วครองเมือง


 


หนึ่ง การต่อสู้ของประชาชน แม้จะเริ่มจากสนธิ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่พอใจทักษิณเป็นการส่วนตัว หรือจำลองซึ่งมีลักษณะแข็งกร้าว แต่คนเริ่มยอมรับในคุณประโยชน์การเคลื่อนไหวมากขึ้น เพราะว่าได้พัฒนาขยายเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการ สื่อ และพลังภาคประชาชนอื่นๆ ได้ช่วยสร้างประสิทธิภาพดุลยภาพการตรวจสอบได้ดีขึ้นจนสามารถบีบให้รัฐบาล 375 เสียงที่อหังการในอำนาจ ไม่ยอมรับกลไกตรวจสอบ ต้องยอมยุบสภาหลังอยู่ในอำนาจเพียงหนึ่งปี ผลพวงจากการต่อสู้ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี บางคนอาจจะไม่ชอบหน้าคุณสนธิ คุณจำลองเป็นส่วนตัว แต่ผลที่ได้มันดี


 


สอง เวลาไม่ได้อยู่ข้างทักษิณ อย่างเรื่องคุณทักษิณพาคนมาเยอะๆ คิดว่าภายในสองสามวันคนก็เข้าใจหมดว่าเป็นการจัดฉาก เป็นการใช้เงินของรัฐ  ใช้งบประมาณส่วนต่างๆ  ใช้อำนาจส่วนต่างๆลงไป  จากเดิมคุณทักษิณสามารถหันเหความสนใจของคนได้เป็นหลายๆเดือนต่อไปนี้คงได้ไม่เกินสามวันหรืออาจจะน้อยกว่านั้น   ดังนั้นทุกรูปแบบที่นำมาเสนอจะไม่สามารถดึงความสนใจของสังคม สื่อ ประชาชนที่ว่าคุณทักษิณสร้างความเสียหาย เพราะฉะนั้นต้องออกไป


 


แต่อย่างไรก็ตามวิเคราะห์แล้ว คุณทักษิณดูแล้วคล้ายเป็นเด็กกลับกลอก พูดอะไรก็ได้ อยากพูดอะไรก็ได้ แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ พันธมิตรฯจึงต้องเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ น่าจะใช้ยุทธศาสตร์ที่มั่นคง แต่ยืดเยื้อ ไม่รวบรัด มั่นคงจำเป็นต้องช่วยกันสนับสนุนว่า คนออกมาแสดงเจตน์จำนงในการขับไล่ทักษิณ ให้คนเยอะหนักแน่นแต่อย่าใจร้อน เพราะถ้าคนหนักแน่นและมีเยอะพอสมควรก็จะยืนหยัดอยู่ได้


 


ข้อต่อมา เรื่องการแข็งขืนแบบอารยะ (civil disobedience) ซึ่งก็คือการใช้สิทธิของคนกลุ่มน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นเรื่องที่ในสังคมประชาธิปไตยต้องยอมรับแม้เสียงส่วนใหญ่หรือคนส่วนใหญ่จะเชื่อไปอีกอย่างแต่คนส่วนน้อยก็มีสิทธิจะรักษามโนสำนึกของตนไว้


 


ส่วนมากทำโดยยอมเสียสละ ยอมเจ็บปวด หรือแม้กระทั่งยอมสละชีวิตได้ การแข็งขืนแบบอารยะไม่ได้ถืออำนาจรัฐ ทหาร หรือตำรวจเป็นศัตรู ตรงนี้ย้ำ แต่ถือการล้มอำนาจของทักษิณเป็นเป้าหมาย


 


การแข็งขืนแบบอารยะ คือการทำให้อำนาจของทักษิณไม่สามารถทำงานได้ จนในที่สุดคนจะไม่ยอมรับทักษิณ สามารถทำได้หลายรูปแบบมาก เช่น การชุมนุม หรือการเดินขบวนเป็นส่วนหนึ่งของการไม่ยอมรับอำนาจทักษิณ ถ้าจะเดินขบวนในวันพรุ่งนี้(วันที่ 5 มีนาคม) ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ คือไปปิดล้อมสัญลักษณ์อำนาจของทักษิณ เช่นทำเนียบหรือสภาย่อมทำได้


 


แต่ไม่ควรไปบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งจะเป็นการเผชิญหน้าเชิงบุคคลมากไป และเป็นเป้าทางอารมณ์ และอาจตกหลุมพรางทักษิณที่ต้องการประกาศภาวะฉุกเฉินได้ ตอนนี้คุณทักษิณมีอำนาจเงิน อำนาจรัฐ ปลุกเร้าคน แต่ยังขาดอำนาจฉุกเฉินอยู่ จึงต้องระวังอย่าให้ได้ใช้


 


การแข็งขืนโดยส่วนอื่นๆ เช่น การประท้วงของสหภาพแรงงาน การแต่งชุดดำของครูอาจารย์ การตั้งศาลจำลอง การไต่สวนสาธารณะ การประท้วงเชิงวัฒนธรรม  คิดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในช่วง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้งนี้ เพราะคนที่ถูกบีบคั้นมักมีพลังสร้างสรรค์มาก


 


แนะนำว่าพันธมิตรฯยังไม่ควรสร้างการเผชิญหน้าจนต้องปิดบัญชีในขณะนี้ แต่ควรรุกแล้วผ่อน คือเดินขบวนแล้วกลับมาชุมนุมไปเรื่อยๆ ทั้งนี้เพื่อให้การเคลื่อนไหว 3 ส่วนของพรรคฝ่ายค้าน พันธมิตรประชาธิปไตยและการแข็งขืนอารยะของภาคสังคมสอดคล้องประสานกันมากขึ้น ให้มีประเด็นความเสียหายที่ทักษิณก่อขึ้นเป็นที่ชัดเจนต่อสังคม ยืดเวลาให้พลังชนชั้นกลางและภาคธุรกิจก้าวเข้ามาร่วมปฏิเสธทักษิณ


 


ที่สำคัญที่อยากจะชี้คือฝ่ายกำลัง คาดว่าในอนาคตจะมีพวกอดีตนายทหารที่เกษียณออกไปแล้วออกมาคัดค้านทักษิณมากขึ้น จะเป็นเครื่องบ่งชี้จากกลุ่มที่เคยมีบทบาทในอดีตว่าทนไม่ไหวกับระบบที่กร่าง อหังการ์อยู่กับผลประโยชน์ของตัวเอง ตรงนี้จะเป็นดัชนี้ชี้วัดที่ชัดเจนขึ้นว่าเวลาทักษิณใกล้หมดแล้ว


 


อีกข้อพันธมิตรฯควรปรับกระบวนตัวเอง รวมทั้งขยายความเป็นเหตุเป็นผลของการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมมากขึ้น ดังนี้คือ เพิ่มบุคคลที่มีภาพอหิงสาเป็นแกนนำเพิ่มเติมอีก 2-4 คน เช่น ส.ว.โสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.เตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น อ.สุริชัย หวันแก้ว ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.ขวัญสรวง อติโพธิ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านสันติวิธีให้กับประชาชนอีกชั้นหนึ่ง


 


ยุทธวิธีใหม่อีกด้านหนึ่งคือ รณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ แต่ไม่เลือกผู้สมัครจนได้คะแนนน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในเขตภาคใต้น่าจะทำได้และจะส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก สะท้อนว่าประชาชนไม่ยอมรับอำนาจทักษิณซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นระบอบทักษิณจะไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้อีก


 


ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังอยากใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งพันธมิตรฯและทุกฝ่ายควรยอมรับแต่ชวนชี้ให้ประชาชนเห็นว่า สิทธิประชาธิปไตยมีหลากหลายและสำคัญพอๆกัน เรามีกติกาเลือกตั้ง และเรามีกติกาว่า ประชาชนมีสิทธิอยู่ในระบบที่มีคุณธรรมและศีลธรรมที่ดี ถ้าผู้ปกครองฉ้อฉล โกงเมือง แม้จะเพิ่งได้รับเลือกเข้ามาก็ต้องถูกขับไล่ได้อีก พันธมิตรฯจึงอาจใช้ยุทธศาสตร์รุกแล้วผ่อน จนถึงวันเลือกตั้งซึ่งอาจเรียกชุมนุมใหญ่เพื่อตัดสินชะตากรรมของคนชั่วโกงเมืองอีกครั้ง


 


ใครจะบอกว่าใช้สิทธิแล้วขับไล่ทักษิณไม่ได้ไม่ถูกต้อง คนที่เลือกตั้งเพราะอยากรักษาระบบไว้ก็มี เลือกตั้งเพราะต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มี เพราะชอบบุคคลเช่น จาตุรนต์ สุวัจน์ สมคิด ก็มี ปัจจัยจึงหลากหลายไม่ใช่ว่าไปเลือกตั้งเพราะสรุปว่าคุณทักษิณไม่โกง เป็นคนละประเด็นกัน


 


ขั้นสุดท้าย การแข็งขืนแบบอารยะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการโค่นล้มทรราชย์ ซึ่งสิทธินี้เป็นที่ยอมรับในปรัชญาการเมืองตะวันตกเกือบทุกประเทศ มีปรากฏในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาและเป็นประเพณีในประเทศไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535


 


ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้มีพระราชวินิจฉัยให้ใช้มาตรา 7 แต่ที่จริงแล้วมาตรา 7 โดยพฤตินัยเป็นอำนาจของประชาชน  นั่นคือ  เมื่อประชาชนไม่อาจอดทนต่อการฉ้อฉลผลประโยชน์และอำนาจได้  พวกเขาก็พร้อมจะเสียสละแม้กระทั่งชีวิตตนเองเพื่อขับไล่คนชั่วไล่คนโกงเมืองออกไป ลูกหลานไทยที่เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาคมและพฤษภาคม  ไม่ใช่พวกก่อความรุนแรง แต่เป็นผู้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องสิทธิและมโนสำนึกพื้นฐานของสังคม  ในอดีตเผด็จการมักใช้มาตรา 17 กับประชาชน  แต่ปัจจุบันประชาชนจะใช้มาตรา 7 กับทักษิณ  คือยอมสละชีวิตเพื่อขัดขืนล้มล้างอำนาจทักษิณ  แล้วปล่อยให้กลไกอำนาจของสังคมดำเนินไปตามครรลองของมันแต่นี่เป็นหนทางสุดท้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด


 


แง่คิดถึงชนชั้นนำประเทศไทย


                                   


วิกฤตการเมืองทุกหนของบ้านเรา  ประชาชนเป็นผู้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อ  จากนั้นเทคโนแครตชนชั้นนำของสังคมไทยจะเข้ามามีบทบาท  เป็นกลไกคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม แต่ที่ผ่านมาชนชั้นนำเรามักประนีประนอมกับความชั่วมากเกินไปขอเตือนไว้ล่วงหน้าในกรณีวิกฤติคลี่คลายแล้ว


 


หลัง 14 ตุลา 16 พฤษภาคม 35  เกือบไม่มีการจัดการกับคนชั่วโกงเมือง  การรัฐประหาร  รสช. ทำท่าว่าจะยึดทรัพย์นักการเมืองเกือบร้อยคนแต่ในที่สุดไม่มีการยึดทรัพย์ใคร  ผลโดยรวมก็คือ หนึ่ง ระดับศีลธรรมคุณธรรมของประเทศเสื่อมลงไปเรื่อยๆ สอง เมื่อเกิดวิกฤติแก้กันไม่ได้ขยายตัวนำไปสู่จุดแตกหักต้องรบกวนถึงเบื้องยุคลบาททุกครั้ง  สาม ครั้งนี้ถ้าเกิดเหตุการณ์ยืดเยื้อเป็น1-2 ปี  ประเทศจะสูญเสีย  เพราะความขัดแย้ง  ภาวะสงครามกลางเมืองอย่างสุดคณานับ


           


ดังนั้นทักษิณไม่ควรประสบชะตากรรมคนเดียว  แต่รัฐมนตรีโกงเมืองและทักษิณบริกรทั้งหลายควรถูกสะสางความผิดอย่างจริงจังด้วย


 


ตอบคำถามสื่อเปรียบทักษิณเป็นเศรษฐีโรคจิต


เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรกับท่าทีที่ดูอ่อนลงมามากของนายกรัฐมนตรี


 


นายธีรยุทธ ตอบกลับว่า "รู้สึกว่า คุณทักษิณเป็นเศรษฐีโรคจิต เมืองไทยเรามีประเภทตบหัวแล้วลูบหลัง แต่แกเป็นโรคจิตประเภทลูบหลังแล้วตบหัว เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยแกก็จะไปลูบหลังลูบไหล่แล้วบอกว่ามาช่วยกันปฏิรูปการเมืองนะ เราจะทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน เสร็จแล้วแกก็ตบหัวบอกไม่ทำแล้ว หน้าโง่หลอกมาตั้งกี่รายแล้วไม่รู้จักจำ


 


แล้วก็ไปลูบหัวอาจารย์มหาวิทยาลัยว่ามาทำกรรมการสมานฉันท์กันนะ บ้านเมืองจะได้ประโยชน์ แล้วแกก็ตบหัว ไอ้หน้าโง่ หลอกมาเป็นชุดที่สาม สี่ ห้าแล้วไม่รู้จักจำ


 


พูดว่าจะอยู่ในตำแหน่งสมัยเดียวก็เคย เร็วๆนี้พูดกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่าจะอยู่สามสมัย หรือจะอยู่ยี่สิบปีก็เคยพูด เสร็จแล้วแกก็ตบหัวทุกคนว่า ไอ้หน้าโง่มาเชื่อกูอยู่ได้ ถึงที่สุดแล้วแกจะตบหัวไปทุกคน เหลือคนสุดท้ายคือตัวแก ไม่มีใครให้ตบแกก็ตบตัวแกเอง ไอ้หน้าโง่ กูหลอกมากี่คนแล้ว มึงเป็นที่เท่าไหร่ยังเชื่อกูอีก เพราะฉะนั้นคำพูดแกเชื่อไม่ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net