Skip to main content
sharethis

10 เหตุผล ระบอบทักษิณ สิ้นความชอบธรรม


 


 


1. ขายประเทศ โกงภาษี และหลบเลี่ยงกฎหมาย กรณีการขายกลุ่มบริษัทชิน


การขายบริษัทชินคอร์ปซึ่งครอบครองดาวเทียมจำนวน 4 ดวง สถานีโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และบริษัทสายการบินต้นทุนต่ำกว่า มูลค่า 73,000 ล้านบาท แก่กองทุนเทมาเส็กซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นการขายกิจการสัมปทานของชาติที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลลุแก่อำนาจโดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับ การขายหุ้นให้ต่างชาติได้เกิน 25% เพียงวันเดียวก่อนทำการขาย เห็นดีเห็นงามกับการตั้งบริษัทบังหน้า เพื่อให้ต่างชาติถือครองหุ้นส่วนใหญ่โดยผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งหาช่องทางไม่ต้องเสียภาษีการซื้อขายแม้แต่สักบาท ผู้นำประเทศกลายเป็นแบบอย่างให้เกิดพฤติกรรมโกงภาษี และเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามายึดครองกิจการสำคัญๆ ของประเทศ


 


2. เอาชีวิตของเกษตรกร การเข้าถึงยาและได้รับการรักษาของคนไทยทุกคน แลกกับผลประโยชน์ของบริษัทครอบครัวและกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชินกับรัฐบาล กรณีทำเอฟทีเอ


การลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกผักผลไม้เมืองหนาว และเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อโคนมรวมกันกว่า 5 ล้านคน การเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่านั้นหลายเท่า เพราะต้องเปิดเสรีการลงทุน กิจการขนาดเล็กของคนไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พันธุ์พืชถูกจดสิทธิบัตร ทรัพยากรธรรมชาติถูกครอบครอง ระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบได้รับผลกระทบ และประชาชนไทยต้องซื้อยาในราคาแพง นักลงทุนต่างชาติได้สิทธิฟ้องรัฐ  ยอมรับกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแทนการขึ้นศาลไทย แลกกับผลประโยชน์ของกลุ่มกิจการโทรคมนาคมของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มบริษัทรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งล้วนแล้วแต่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่นับการแก้ไขกฎหมายในหลายฉบับเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ


 


3. การแทรกแซงองค์กรอิสระ และการทำลายกลไกการตรวจสอบ


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจทางการเมืองและอำนาจเงินครอบงำวุฒิสภา แทรกแซงกระบวนการสรรหา การได้มา และการทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ เช่น คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กลไกและกระบวนการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญถูกทำลายลงแทบหมดสิ้น แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ ดังที่ได้ปฏิเสธที่จะพิจารณากรณีการซุกหุ้นภาค2 ของนายกรัฐมนตรี จากการเสนอของสมาชิกวุฒิสภา 27 คนเมื่อเร็วๆ นี้ การขาดกลไกการตรวจสอบทำให้อำนาจการบริหารอยู่ในมือของผู้นำอย่างเบ็ดเสร็จ เกิดการคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร และเปิดทางให้ตระกูลชินวัตรและบริวารสืบทอดอำนาจในการบริหารประเทศเยี่ยงทรราช


 


4. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อประโยชน์พวกพ้องและบริษัทต่างชาติ


เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยการเปิดขายหุ้นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) นั้น หุ้นทั้งหมดถูกขายเกลี้ยงในเวลาเพียง 1 นาที 17 วินาที หุ้นส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของนักการเมืองพรรคไทยรักไทยและเครือญาติ มีการใช้อำนาจรัฐขยายสัดส่วนการถือหุ้นของเอกชนจาก 25% เป็น 49% และกำหนดอัตราราคาแกสที่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในราคาที่สูง ดันให้ผลกำไรของปตท.ในปี 2548 สูงถึงกว่า 80,000 ล้านบาท ผลประโยชน์ดังกล่าวถูกแจกจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นและบริษัทต่างชาติ รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ยังเดินหน้าแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยการขายเลหลังราคาถูกในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ประเทศชาติเสียหายมากกว่า 3.3 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังคงกุมการผูกขาดและไม่มีกลไกการกำกับดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ประชาชนต้องเสียค่าไฟฟ้าในราคาแพงเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในรัฐบาลและบริษัทต่างชาติในสิงคโปร์ ทั้งนี้ ไม่นับแผนการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เป็นต้น


 


5. การยึดครองและควบคุมสื่อ กรณีไอทีวี มติชน และคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน-นักกิจกรรมทางสังคม


บริษัทของครอบครัวของนายกรัฐมนตรีได้เข้าซื้อกิจการของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีซึ่งเป็นดอกผลการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ใช้อำนาจรัฐลดภาษีสัมปทาน เปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้เพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิงกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดยังได้พยายามเข้าไปยึดครองกิจการของหนังสือพิมพ์มติชน และเข้าไปถือครองในกิจการสื่อต่างๆ มีการใช้งบประมาณของรัฐและงบประชาสัมพันธ์ของธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเพื่อควบคุมสื่อมวลชน สื่อมวลชนและนักกิจกรรมที่หาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนับพันล้านบาท เสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนไทยภายใต้ระบอบทักษิณตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา


 


6. การละเมิดสิทธิมนุษยชน การหายตัวไปของทนายสมชาย และความรุนแรงของปัญหาสามจังหวัดภาคใต้


นับตั้งแต่ปี 2477-2546 มีผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษให้ประหารชีวิตเพียง 323 เท่านั้น แต่ช่วงเวลาเพียง 3 เดือน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2545 ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวดนั้นมีผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับคดียาเสพติดถูกฆ่าตายกว่า 2,000 ราย การใช้การปราบปรามแบบเหวี่ยงแห และการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร การกระทำการอย่างทารุณกับผู้ชุมนุมกรณีตากใบ รวมทั้งการส่งทหารไทยไปยังอิรักตามร้องขอของรัฐบาลสหรัฐฯ คือ สาเหตุสำคัญของการลุกลามของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดจากระบอบทักษิณ


 


7. การตั้งรัฐอิสระ เปิดเสรีโดยลดทอนกฎหมายภายใน และทำลายการปกครองของท้องถิ่น กรณีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ


พร้อมๆ กับการทำเอฟทีเอและแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเร่งรีบ รัฐบาลชุดนี้ยังได้ผลักดันร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้อำนาจฝ่ายบริหารในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น ให้อำนาจนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศอย่างไร้ขอบเขต ทั้งด้านอุตสาหกรรม บริการ หรือแม้แต่กิจการบ่อนกาสิโน เพิกถอนสภาพที่สาธารณสมบัติ เช่น เขตธรณีสงฆ์ ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ รวบอำนาจการบริหารจากองค์กรท้องถิ่น เสมือนการจัดตั้งรัฐอิสระที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใดๆ ของประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว


 


8. ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา ปัญหาการโอนย้ายการศึกษาไปสู่องค์กรส่วนท้องถิ่น


การปฏิรูปการศึกษาไม่มีความคืบหน้าใดๆ มาตรฐานการศึกษาในทุกระดับตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การเปิดเสรีการศึกษาจะทำให้การศึกษากลายเป็นการค้า เป็นการทำลายเป้าหมายของการศึกษาและกีดกั้นประชาชนยากจนออกไปจากระบบการศึกษาในท้ายที่สุด ปัญหาการโอนย้ายการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ เครื่องชี้วัดความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา โดยการใช้อำนาจรัฐมากกว่ากระบวนการมีส่วนร่วม และสะท้อนให้เห็นว่ามิได้มีการสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นทั้งต่อสถาบันการศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอด 5 ปีที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในอำนาจ


 


9. ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ช่องว่างคนรวยคนจน ความเป็นจริงและผลกระทบการแจกจ่ายเงินไปสู่ชนบท


เป้าหมายของรัฐบาลคือ การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของตลาดหุ้นโดยไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างคนร่ำรวยกับคนยากจน หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 103,940 บาท/ครัวเรือน (พ.ศ.2547) สถิติผู้บริโภคที่เป็นหนี้บัตรเครดิตถือจำนวนบัตรเครดิตสูงสุดเพิ่มจาก 16 ใบเป็น 30 ใบ เงินที่รัฐบาลแจกจ่ายไปให้ชนบทในรูปกองทุนหมู่บ้านเป็นการนำเงินที่ควรจะเป็นของท้องถิ่นกลับไปให้ท้องถิ่นแค่เพียงเศษเงิน งานวิจัยพบว่ามีการนำเงินจากกองทุนหมู่บ้านไปซื้อโทรศัพท์มือถือ 400 เครื่องต่อหนึ่งหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เป็นเงินถึง 480,000 บาท/ปี (ไม่นับค่าซื้อเครื่อง) ต้องเอาเงินนอกระบบมาใช้หนี้กองทุน เอาเงินกองทุนไปใช้หนี้นอกระบบ กลายเป็นวงจรอุบาว์ของหนี้อมตะ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนเพิ่มมากขึ้นทุกทีจนอยู่ในระดับเดียวกับเม็กซิโก โคลัมเบีย และอาร์เจนตินา ปัญหาทั้งหมดรอวันประทุเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง


 


10. ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาโครงสร้างการจัดการทรัพยากร กรณีพ.ร.บ.ป่าชุมชน และการปฏิรูปที่ดินเพื่อความยากจน


 


รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มิได้ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ข้อเรียกร้องของประชาชนในการปฏิรูปการจัดการทรัพยากร เช่น การผลักดันร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน การบริหารน้ำโดยท้องถิ่น และการผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนถูกขัดขวางโดยรัฐบาล ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลยังได้สนับสนุนส่งเสริมให้มีการลงทุนที่ทำลายวิถีชีวิตของชุมชน เช่น การโครงการเหมืองแร่โปรเตช โครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ผู้นำชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นถูกฆ่ามากกว่า 20 คน รวมทั้งพระสงฆ์นักอนุรักษ์


 


การหยุดยั้งระบอบทักษิณ เป็นก้าวสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม พัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  


 


 


 


 


ร่างข้อเสนอเครือข่ายองค์กรประชาชนต่อการปฏิรูปการเมืองรากหญ้า


 


การเปิดเสรีทางการค้า การแปรรูปประเทศไทย การจัดทำโครงการขนาดใหญ่ การรวบอำนาจการจัดการทุกเรื่องไว้ที่รัฐ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและขาดกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ต่อสิทธิของประชาชนและชุมชนและการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรซึ่งเป็นทุนสำคัญในการพัฒนาประเทศ


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ที่อำนาจและผลประโยชน์กระจุกตัวที่กลุ่มทุน และนักการเมือง ในขณะที่ประชาชนยังไม่มีอำนาจแท้จริง เพราะกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนไม่เคยได้รับการปฏิบัติ การเรียกร้องของประชาชนที่ผ่านมาแม้จะมีข้อตกลง กรรมการ กลไก งบประมาณ แต่ปัญหาไม่ได้แก้เพราะติดขัดกับปัญหาโครงสร้างทางกฎหมาย การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนทำได้ยาก


 


การปฏิรูปการเมืองรอบสอง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำโดยเร่งด่วนเพื่อเพิ่มอำนาจภาคประชาชนและลดอำนาจรัฐในการบริหารจัดการประเทศ


 


 


 


หลักการของการปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนรากหญ้า




  1. มุ่งแก้ไขระบอบทักษิณซึ่งทำให้เกิดการเมืองผูกขาด เศรษฐกิจผูกขาด แปรรูปประเทศ และวิสาหกิจ ข้อตกลงทาสและแนวนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนที่ไม่แตะต้องการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการจัดสรร จัดการทรัพยากร


  2. มุ่งลดอำนาจรัฐ สร้างอำนาจและเสริมความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน ต้องยอมรับสถานะ การเมืองภาคประชาชนเท่ากับองค์กรอิสระและรัฐสภา


  3. ยอมรับกฎเกณฑ์ตามจารีตประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น

 


 


 


ข้อเสนอหลัก


 


1. แก้ไขปรับปรุงโครงสร้างการจัดสรร และการจัดการทรัพยากรที่เป็นสาเหตุสำคัญของความยากจน




  • รัฐต้องปฏิรูปที่ดินโดยจัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชน


  • หลักการว่าด้วยสิทธิชุมชน ต้องเป็นสิทธิทางธรรมชาติ ไม่ต้องรอให้กฎหมายบัญญัติ


  • แก้ไขมาตรา 46 ตัดข้อความ "ทั้งนี้ตามที่กฎหมาบัญญัติ" ออก


  • กำหนดเงื่อนเวลาในการแก้ไขกฎหมายเดิม หรือออกกฎหมายลูกให้ชัดเจน เช่น ภายใน 5 ปี ถ้าไม่แก้ก็ถือว่าข้อความส่วนใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับใช้


  • เพิ่มเติมสิทธิที่อยู่อาศัย

 


2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง




  • เพิ่มเติมสิทธิประชาชนในหมวด 3 สิทธิในการกำหนดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และการได้รับผลจากการพัฒนา


  • กำหนดหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน้าที่ที่รัฐต้องสนับสนุนเพื่อให้ปฏิบัติได้จริง


  • การใช้อำนาจองค์กรท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วน อปท.ต้องจัดการเอง และในส่วนที่รัฐส่วนกลางเข้าไปจัดการ จะต้องอยู่บนหลักการสำคัญคือ



  1. อปท.ต้องรับฟังความเห็นขององค์กรชุมชนและผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือผู้ได้รับผลกระทบ


  2. กระบวนการตัดสินใจ ต้องมีส่วนร่วม คนนอกมีส่วนร่วมตรวจสอบได้



  • มาตรา 59 สิทธิในการได้รับข้อมูล คำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐ



  1. ควรกำหนดข้อมูลด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นข้อมูลสาธารณะ


  2. กำหนดหน้าที่รัฐในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน



  • การเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 170 ให้กำหนดให้ผู้แทนผู้เสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา หรือกรรมาธิการร่วมจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3  ผู้เสนอกฎหมาย เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการหนึ่งในสาม


  • การพิจารณากฎหมายตามมาตรา 190 การพิจารณาร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรให้ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด


  • เพิ่มเติมมาตรา 190 ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

 


3. ส่งเสริมการจัดตั้งรวมตัวและเสริมความเข้มแข็งองค์กรประชาชน




  • เพิ่มเติม ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งรวมตัว การศึกษาและงบประมาณแก่องค์กรประชาชน


  • พัฒนาและเสริมสร้างกลไกภาคประชาชนที่จะควบคุมการใช้อำนาจหลังเลือกตั้ง


  • ปรับปรุงจากอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สามารถเสนอความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายต่อรัฐบาลได้ด้วย


  • ส่งเสริมการรวมตัวกันอย่างเป็นอิสระของสหภาพแรงงาทั้งในระบบและนอกระบบ

 


4. สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้




  • ปฏิรูปโครงสร้างภาษี เก็บภาษีจากคนรวยให้อัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน เป็นต้น


  • จัดสวัสดิการสังคม และการบริการสาธารณะโดยทั่วถึง และเท่าเทียม โดยกระบวนการบริหารจัดการที่ประชาชนมีส่วนร่วม

 


 


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net