Skip to main content
sharethis


 


โดย ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง


 


ภาพเหตุการณ์บ้านเมืองไทยยามนี้ ทำให้นึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากแผ่นดินบอสเนีย...


 


ผมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศบอสเนีย เฮอเซโควินา ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา  ประเด็นหลักที่ได้ไปเรียนรู้คือ ปัญหา ผลกระทบ และการฟื้นฟูความขัดแย้งรุนแรงจากสงครามกลางเมืองบนแผ่นดินยูโกสลาเวีย(เดิม)  ซึ่งปัจจุบันได้แก่ ประเทศบอสเนีย โครเอเชีย และเซอร์เบียฯ


 


สิ่งได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ ทำให้ผมนึกถึงแผ่นดินไทยด้วยความรู้สึกเย็นเฉียบหัวใจ


 


เดิม "บอสเนีย" อยู่บนแผ่นดินในชื่อประเทศ "ยูโกสลาเวีย"  จนกระทั่งเมื่อสิบกว่าปีมานี้เอง  ประเทศยูโกสลาเวียก็แตกสลาย เกิดความขัดแย้งทางการเมือง  เกิดเป็นประเทศบอสเนียและประเทศอื่นๆ และเกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้ออย่างรุนแรง


 


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นปัญหามาจากการขัดแย้งทางการเมืองเป็นหลัก  โดยเมื่อตั้งประเทศขึ้นมาใหม่ ก็มีกลุ่มผลประโยชน์และคนที่มีอำนาจในขณะนั้น ต่างพยายามแย่งชิงอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ กระทั่งมีการปลุกปั่นสังคม และแบ่งแยกประชาชนในประเทศให้เป็นฝักเป็นฝ่ายขึ้นมาสนับสนุนหรือเป็นฐานอำนาจและความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง


 


นักการเมืองและนักการทหารที่อยากยึดครองอำนาจ ได้ใช้ "เชื้อชาติที่แตกต่าง" และ "ศาสนาที่แตกต่าง" เป็นเครื่องมือในการสร้างขุมกำลังของตนเอง  แบ่งแยกประชาชน และสร้างความแตกแยกให้แก่ประชาชนที่เคยอยู่ร่วมกันมา  เกิดเป็นกลุ่มต่างๆ ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีเชื้อชาติโครแอต  กลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม  และกลุ่มชาวเซิร์บฯ


 


ต่อมา  นักการเมืองและนักการทหารที่ต้องการอำนาจ ก็ได้ใช้กองทัพฝ่ายที่สนับสนุนตน และปลุกระดมให้ประชาชนที่ถูกแบ่งแยกให้เข้ากลุ่มเป็นพวกของตนแล้วนั้น  ลุกขึ้นมาประหัตประหาร เข่นฆ่ากัน ยิงกันกลางเมือง ฆ่ากันกลางภูมิประเทศที่สวยงาม


 


ในที่สุด ประชาชนธรรมดาทั่วๆ ไป ก็ถูกติดอาวุธ ให้กลายเป็นทหารของประชาชน(ฝ่ายของตน)  ลุกขึ้นมาฆ่าคนที่เคยอยู่ร่วมเมืองกันเอง เคยอยู่ร่วมถนน เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เพียงแต่มีเชื้อชาติหรือนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน 


 


สงครามกลางเมือง ที่ประชาชนลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันเอง  ทำให้ประเทศบอสเนีย ที่เคยมีคนราว ๔.๕ ล้านคนก่อนสงคราม เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ ๒-๓ ล้านคน เพราะจำนวนหนึ่งตายไปในสงคราม และคนที่เหลือก็อพยพหนีภัยสงคราม  หญิงจำนวนมากเป็นหม้าย  เด็กจำนวนมากกลายเป็นลูกกำพร้า และพ่อแม่จำนวนมากสูญเสียลูกชายและลูกสาวไปในระหว่างสงคราม


 


ปัจจุบัน ในบอสเนีย โดยเฉพาะที่เมืองหลวง "ซาราเยโว" และเมือง "มอสทาร์"  เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่มีรอยกระสุนปืนกัดกินผนังตึกอยู่โดยทั่วไป  ตึกจำนวนมากถูกระเบิดทำลาย ถูกไฟเผา เหลือเป็นซากตึก 


 


น่าสะเทือนใจที่สุด คงเป็น "สุสาน" ที่ฝังศพของคนตายในสงคราม  ทั้งผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และผู้ที่มีเชื้อชาติโครแอต โดยในเมืองมีสุสานอยู่เกือบทุกย่าน บ้านจำนวนมากมีหลุมฝังศพอยู่หน้าบ้าน


 


หากมองอย่างเกิดสติ  ก็จะเข้าใจว่า  ที่นี่ คนตายไปยังคงอยู่ อยู่เพื่อตักเตือนคนเป็นว่า อย่าได้ใช้ความรุนแรงต่อกันอีกเลย


 


ปัจจุบัน การเมืองในบอสเนีย ยังต้องมีประธานาธิบดีถึง ๓ คน  เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละฝ่ายที่แตกแยกกันในสงครามกลางเมือง 


 


ผมสนทนากับผู้แทนของสหภาพยุโรปในบอสเนีย เขาระบุยืนยันชัดเจนว่า ความขัดแย้งและความไม่สงบในบอสเนียมีสาเหตุมาจากการเมือง การแย่งชิงอำนาจเป็นเรื่องหลัก โดยที่มีการใช้ "ศาสนา" และ "เชื้อชาติ" เป็นเครื่องมือเท่านั้น  และเตือนด้วยความห่วงใยว่า ขออย่าให้ปัญหาบ้านเราซ้ำรอยอย่างนั้น


 


ทุกวันนี้  สงครามผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว  แต่ "บาดแผล" ของสงครามกลางเมืองในบอสเนียก็ยังไม่ลบเลือน


 


ผมเขียนข้อเขียนนี้  ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงบ้านเมืองของเราอย่างยิ่ง...


 


แม้สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราในอนาคตอันใกล้ จะยังไม่ปรากฏชัด แต่การบ้านการเมืองยามนี้ กำลังส่อว่าจะนำไปสู่ความแตกแยกของคนในสังคม  เมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ทักษิณ-ผู้มีอำนาจ  ในขณะเดียวกัน ในฝ่ายของ "ทักษิณ" ที่ยึดกุมอยู่ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน  เกิดการปลุกปั่นและจัดตั้งมวลชนขึ้นมาปะทะคะคานกับฝ่ายที่ต่อต้านการอยู่ในอำนาจของทักษิณ


 


เกิดกระบวนการบิดเบือนประเด็นปัญหาของสังคม  โดยพยายามจะแอบอ้างเอาผลการเลือกตั้งขึ้นมาใช้แทนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาของประชาชนผู้ขับไล่ทักษิณ  โดยไม่คำนึงว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับทักษิณโดยตรงนั้น  ล้วนเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ ตัดสินและลงโทษด้วยหลักการ  หลักความถูกต้อง  หลักกฎหมาย และหลักจริยธรรมของสังคม  ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตัดสินด้วยการลงมติว่าใครพวกมากกว่าหรือน้อยกว่า


 


น่าเป็นห่วงว่า  ความกลัวที่จะออกจากอำนาจของคนๆ เดียว  กลัวว่าจะถูกยึดทรัพย์  กลัวว่าจะถูกขุดคุ้ยสอบสวนเอาผิด  จะนำไปสู่ขบวนการปลุกระดมประชาชนขึ้นมาขัดแย้งกันเอง  สร้างกระแสด้วยความคิดที่คับแคบว่าถ้าขาดทักษิณแล้วใครจะมาดูแลบ้านเมือง  จัดซื้อจัดจ้างและระดมประชาชนเข้ามาสนับสนุนด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้า   และในอนาคต จะนำพาบ้านเมืองเข้าไปสู่สถานการณ์แบบใด


 


ผมไม่อยากจะนึก


 


วันนี้  จึงขอแค่นึกถึงอนุสติจากบอสเนีย และเล่าสู่กันฟังเพียงเท่านี้ก่อนครับ


 


หากเหตุการณ์ในประเทศไทยลุกลาม จากการที่คุณทักษิณผู้มีอำนาจนายกรัฐมนตรีปลุกกระแสผู้คนขึ้นมาเป็นสองฝ่ายเพื่อเอาชนะ   แล้วเกิดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงอย่างเช่นประเทศบอสเนีย เฮอเซโควินา


 


ทักษิณ พจมาน ชินวัตร และพรหมินทร์ เลิศสุริยเดช จะต้องเป็นคนรับผิดชอบ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net