ชาญวิทย์ ตอบ : ทางสองแพร่งของสังคมไทย ลาออก หรือ ไม่ลาออก

ถาม

เรียนอาจารย์ชาญวิทย์

วันนี้ (3 มีค. 49)

 

(หนึ่ง) ผมได้เข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรี พบเอกสารแจกฉบับหนึ่ง คือ "หนังสือพิมพ์กู้ชาติ" มีลักษณะแท็บลอยด์ ขนาดเท่าๆ กับหนังสือพิมพ์กีฬา อ้างคำของอาจารย์ปรีดีที่หน้าหนึ่งว่า

 

-    "ประชาธิปไตย มิใช่ อนาธิปไตย"

- "ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่

 

-   "ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย อนาธิปไตยเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ"

 

ปรีดี พนมยงค์

7 พ.ค.2489

..........

 

(สอง) โดยส่วนตัวของผม รู้สึกว่าการโค้ดคำเช่นนี้อันตรายครับ และดูเหมือนรัฐบาลต้องการจะอาศัยและใช้คำของอาจารย์ปรีดีเพื่อที่จะบอกว่า ผู้คัดค้านนั้นกำลังทำให้เกิดภาวะอนาธิปไตย

 

ซึ่งถ้าอ่านให้ดี ผมว่าเขาลืมเน้น และครุ่นคิดเกี่ยวกับคำว่า "ศีลธรรม" "ซื่อสัตย์" และ "ตามกฎหมาย"

 

ซึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกฯ นั้นพลาดในเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น จนทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องมีการเล่นนอกระบบเพื่อเอาศีลธรรมและความซื่อสัตย์กลับคืนมา

 

(สาม) ช่วงนี้ผมสับสนสถานการณ์อยู่พอสมควร...อีกประเด็นหนึ่งที่ติดใจก็คือ สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ควรจะใช้มาตรา 7 หรือไม่ควรครับ

 

(สี่) ผมข้องใจหรือเกินกับคนที่เสนอใช้ประเด็นนี้ ถ้าใช้จะทำให้บ้านเมือง "ถอยหลัง"

หรือไม่ อยากกลับเป็นนักศึกษา และยกมือถามอาจารย์อีกครั้งหนึ่งครับ

 

ตอบ

(หนึ่ง) เวลาอ้างบุคคลสำคัญที่ล่วงลับไปแล้ว คนอ้างก็จะอ้างให้เข้ากับประโยชน์ และการตีความของตนเอง นี่ก็เป็นกรณีหนึ่ง ครับ

 

อ.ปรีดี อ.ป๋วย ก็จะถูกอ้างแบบนี้มาเรื่อยๆ หรือไม่ก็ถูกทำให้แปรเปลี่ยนไป อย่างกรณีของ อ.ปรีดี มีบทความวิเคราะห์ว่า จาก "การขุดค้น การปฏิสังขรณ์ การสร้างภาพลักษณ์"

 

ตอนนี้ ท่านก็เลยถูกย้ายมาอยู่ทางด้าน "ขวา" ของ ปวศ. การเมิองไทยไปแล้วก็มี (ดูบทความในวารสารธรรมศาสตร์)

 

(สอง) เรื่องการใช้ ม. 7 ของรัฐธรรมนูญนั้น ผมไม่เห็นด้วยครับ (ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วอาจจะออกมาอย่างนั้น ก็ตาม)

 

ในด้านหนึ่ง นี่ก็คือ "รัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ" (constitution coup) เหมือนๆกับในรูปแบบของพระยามโนฯ เมื่อปี 2476 จะตีความว่าเป็นการ "ถอยหลังเข้าคลอง" ก็ได้ แต่ผมก็คิดว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น

 

ผมเห็นด้วยกับประเด็นว่า นรม. ควร (ต้อง) ลาออก และให้เป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติ ของการพัฒนาทางการเมืองประชาธิปไตย ที่ประชาชนได้มีประสบการณ์และการเรียนรู้ ครับ ผมไม่เห็นด้วยกับการบีบบังคับให้ใช้อำนาจนอกเหนือกระบวนการ ครับ

 

(สาม) จำได้ไหม ในวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรามักอ้างกันเสมอๆ โดยอิงกับกรมพระยาดำรงฯ ว่าสังคมไทย "วิหิงสา และประสานประโยชน์" คิดว่าใครๆ ก็คงอยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะดูดีมีอุดมคติ มีอุดมการณ์ น่าพึงประสงค์

 

แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็สอนให้เรารู้ว่า หลังปฏิวัติ 2475 ก็ตามมาด้วย "รัฐประหารในรัฐสภา 2476" ของพระยามโนฯ

 

ตามมาด้วยรัฐประหารของพระยาพหล/หลวงพิบูล 20 มิถุนา 2476

 

ตามมาด้วย "สงครามกลางเมือง" หรือ "กบฏบวรเดช" ตุลา 2476

 

และก็ตามมาด้วยการสละราชสมบัติของ รัชกาลที่ 7 ปี 2477/78

 

ทั้งหลายทั่งปวงนั้น หาได้เป็น "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ไม่มีความรุนแรง การใช้กำลังอาวุธของทหารและตำรวจ มีผู้คนถูกทำลายชีวิตมากต่อมาก

 

ปวศ. สอนเราอีก 60 ปีที่แล้ว 2489 หลังกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ก็ตามมาด้วยรัฐประหาร 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ

 

ตามมาด้วย "กบฏวังหลวง 2492" ของปรีดี พนมยงค์

 

ตามมาด้วย "กบฏแมนฮัตตัน 2494" ของกลุ่มทหารเรือ

 

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น หาได้เป็น "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ไม่มีความรุนแรง การใช้กำลังอาวุธของทหารและตำรวจ มีผู้คนถูกทำลายชีวิตมากต่อมาก

 

ใกล้ตัวเรา คือ ความรุนแรง ที่ขาด "วิหิงสา และประสานประโยชน์" ดังเช่นในกรณีของ 14 ตุลา 2516

และที่เลวร้ายอย่างมากมายมหาศาลคือ "6 ตุลา 2519" ที่ครบรอบ 30 ปีในปีนี้

 

และไม่ช้าไม่นาน ก็คือ "พฤษภาเลือด 2535"

 

(ไม่ใช่พฤษภาทมิฬ นะครับ ทมิฬเป็นชาติพันธุ์หนึ่ง อยู่ตอนใต้ของอินเดีย ในรัฐทมิฬนาดู เขาและเธอเกือบ 20 ล้านคนที่นั่น ไม่รู้เรื่องของความไม่วิหิงสา และไม่ประสานประโยชน์ หรือการฆ่าฟันกันเองของเราคนไทยแต่อย่างใด ไม่ควรจะไปป้ายสีสาดโคลนเขาและเธอ "ชนชาติทมิฬ" ครับ)

 

ทั้งหลายทั่งปวงนี้ เช่นกัน หาได้ "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ปราศจากความรุนแรง หรือการใช้กำลังอาวุธของทหารและตำรวจไม่ มีผู้คนถูกทำลายชีวิตมากต่อมาก เช่นกัน

 

(สาม) บัดนี้ เราก็มาถึงทาง 2 แพร่งอีกครั้งหนึ่ง ปีนี้ 2549 สังคมไทยของเราจะ "ฝ่าข้ามไป" โดย "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ได้หรือไม่

 

ดูจากประวัติศาสตร์ของ "ความรุนแรง" (ส่วนใหญ่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ) เราอาจหนีความเจ็บปวด เลือด น้ำตาและความสูญเสีย นี้ไม่ได้

 

แต่ดูจากประวัติศาสตร์ ดูจากอดีต เราก็เคยมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นตัวอย่าง เป็นบรรทัดฐาน "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ของปัจจุบัน ดังเช่น

 

การลาออกของ นรม. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

 

การไม่รับอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกของ นรม. เปรม ติณสูลานนท์

 

การยุบสภาฯ แบบตรงไปตรงมาของ นรม. ชวน หลีกภัย

 

การลาออกของ นรม. ชวลิต ยงใจยุทธ

 

(สี่) ดังนั้น ณ ทาง 2 แพร่งนี้ นรม. ทักษิณ ได้ยืนยันที่จะตอบว่า NO ไม่ใช่ YES ที่จะลาออก

 

ครับ ในบางครั้งคนเราต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ในชีวิต ที่จะบอกว่า YES หรือ NO ผู้ที่พร้อมและสามารถจะตอบว่า YES ได้นั้น ก็ก้าวข้ามไปสู่เส้นทางแห่งเกียรติยศและความเชื่อมั่นของตน

 

แต่ สำหรับคนที่ตอบว่า NO และหาได้เสียใจต่อการกระทำของตนไม่ แม้นว่าถูกถามอีก ก็ยังตอบว่า NO อีก

 

คำว่า NO นั้น จะบดขยี้เขา/เธอไปตราบชั่วชีวิต

 

(ห้า) ผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ นรม. ทักษิณ ชินวัตร กำลังเผชิญอยู่ YES ลาออก หรือ NO ไม่ลาออก ครับ

ขอส่งคำคมว่าด้วย YES และ NO ของมหากวีกรีกนาม Cavafy (1911) มาอภินันทนาการด้วย ดังนี้ ครับ

 

-To certain people there comes a day when they must say the great YES or the great NO.

-He who has the YES ready within him reveals at once, and saying it he crosses over to the path of honor and his own conviction.

 

-He who refuses does not repent. Should he be asked again, he would say NO again.

-And yet that NO - the right NO - crushes him for the rest of his life.

 

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ลานโพธิ์ ท่าพระจันทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท