Skip to main content
sharethis


 


ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศคอสตาริกา ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2549 โดยผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ออสการ์ เอเรียส เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2530 และเคยเป็นประธานาธิบดีในปีพ.ศ. 2529-2533 มาก่อน  


 


ชัยชนะของประธานาธิบดีเอเรียสทำให้กลุ่มผู้สนับสนุน ออตตัน โซลิส ผู้สมัครอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมาจากพรรคพีเอซี (Citizen Action Party) หวั่นวิตกว่าพิธีการลงนามในสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกากลาง หรือคาฟตา (CAFTA: Central America Free-Trade Agreement) จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นในทันทีที่ประธานาธิบดีเอเรียสเข้ารับตำแหน่ง


 


คะแนนที่ทำให้เอเรียสเอาชนะโซลิสไปได้มีทั้งหมด 12,063 เสียง ซึ่งถือเป็นคะแนนที่มีส่วนต่างไม่มากนัก และทำให้เกิดการนับคะแนนซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2549 ในที่สุด โซลิส ก็ออกมาแถลงการณ์ยอมรับความพ่ายแพ้ของตัวเองแต่โดยดี


 


ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการลงนามในสนธิสัญญาคาฟตาเป็นนโยบายสำคัญที่แสดงถึงจุดยืนที่แตกต่างระหว่างผู้สมัครทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเอเรียสประกาศสนับสนุนให้รัฐบาลลงนามในสนธิสัญญาคาฟตา โดยมุ่งหวังว่าการลงนามในสัญญาดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจของคอสตาริกาดำเนินไปด้วยดี ในขณะที่โซลิสเสนอให้มีการประวิงเวลาลงนามในสัญญา และขอพิจารณาต่อรองข้อตกลงที่เป็นธรรมในสัญญาคาฟตานั้นเสียก่อน เหตุผลดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้โซลิสได้คะแนนความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก จนสามารถทำให้คะแนนความนิยมนำมาจนเกือบจะเทียบเท่าเอเรียสซึ่งเป็นนักการเมืองเก่าแก่ได้


 


อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเอเรียสก็กลายเป็นฝ่ายได้รับชัยจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนที่ให้การสนับสนุนโซลิส จึงประกาศอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่านโยบายของเอเรียสที่จะร่วมลงนามในสัญญาคาฟตาจะดำเนินไปอย่างไร


 


แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นกิจการภายในของประเทศคอสตาริกา แต่ประชาชนในแถบทวีปอเมริกาทั้งหมดต่างก็ให้ความสนใจต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากประเทศที่เข้าร่วมลงนามในสัญญาคาฟตาก่อนหน้านี้ ล้วนประสบกับความเสียเปรียบและไม่เท่าเทียมทางการค้า เพราะสหรัฐอเมริกาเสนอข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจในแต่ละประเทศเท่านั้น


 


กลุ่มประเทศที่ลงนามในสัญญาคาฟตาไปแล้ว ได้แก่ เอลซัลวาดอร์ นิคารากัว กัวเตมาลา สาธารณรัฐโดมินิกัน และฮอนดูราส์ ซึ่งหลังจากนั้น ประเทศที่ร่วมลงนามทั้งหมดเริ่มประสบกับปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราการตกงานของประชาชนในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และการสูญเสียที่ดินทำกินของประชาชน เนื่องจากรัฐบาลเวนคืนที่ดินเพื่อนำไป "พัฒนา" เป็นพื้นที่ของบรรษัทหรืออุตสาหกรรมข้ามชาติต่างๆ


 


นอกจากนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคาฟตา (Stop CAFTA Organization) ได้รวบรวมผลกระทบที่กลุ่มประเทศในอเมริกากลางได้รับ หลังจากที่มีการลงนามในสัญญา โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงในสัญญาคาฟตามีช่องโหว่และก่อให้เกิดผลเสีย 7 ประการ คือ


 


(1)    ขาดกลไกหรือองค์กรที่จะมาต่อรองเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินงาน


(2)    สนธิสัญญาคาฟตาคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มทุนมากกว่าความถูกต้องทางกฎหมายและประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายในบางประเทศถูกแก้ไข เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้าไปมีบทบาทในการลงทุนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย


(3)    ก่อให้เกิดช่องว่างทางรายได้มากกว่าเดิมหลายเท่า


(4)    เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทำให้ประชาชนต้องเสียเงินแพงกว่าเดิมในการเข้าถึงสวัสดิการเบื้องต้นที่ควรจะเป็นของรัฐบาล


(5)    ก่อให้เกิดการว่าจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากอัตราการแข่งขันในระบบธุรกิจเป็นไปอย่างดุเดือด


(6)    ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภาคเกษตรกรในแต่ละประเทศ เนื่องจากกลไกในตลาดโลกถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติไม่กี่กลุ่ม ทำให้เกษตรกรไม่มีอำนาจในการต่อรองที่เท่าเทียม


(7)    ทำลายสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนในแต่ละประเทศ


 


หากคอสตาริการ่วมลงนามในสัญญาคาฟตาเป็นประเทศสุดท้าย จะทำให้กลุ่มประเทศในอเมริกากลางทั้งหมดขาดอำนาจในการต่อรอง และหมดโอกาสที่จะแก้ไขข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาคาฟตาทันที และเมื่อนั้นคอสตาริกาอาจถูกกล่าวถึงในฐานะ "ประเทศสุดท้าย" ที่ทำลายโอกาสในการต่อรองให้เกิดการค้าเสรีที่มีความยุติธรรมมากกว่านี้ก็เป็นได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net