Skip to main content
sharethis


โดย อิสระ ชูศรี


 


 


 


               


 


                                                                        


ผมรู้สึกชื่นชมเว็บประชาไท ที่เพิ่งนำเสนอภาพถ่ายสวยๆ ของหลายครอบครัวที่หอบลูกจูงหลานไปร่วมชุมนุมทางการเมืองพร้อมกันที่สนามหลวง


 


หยุดก่อน! อย่าเพิ่งคิดว่าเอาอีกแล้ว เจอบทสรรเสริญการชุมนุมที่นำโดยพันธมิตรฯ เข้าอีกแล้ว...ไม่ใช่อย่างนั้นเลย


 


ผมเพียงอยากจะบอกว่า ความงามที่ได้เห็นผ่านภาพเหล่านี้ก็คือ อย่างน้อยครอบครัวในภาพคงไม่ต้องรู้สึกแตกแยกกันเพราะพ่อเชียร์ทักษิณ แม่เชียร์ฝ่ายไล่ทักษิณ หรือพ่อแม่เคืองลูก เพราะไม่ให้ไปชุมนุม แต่ก็ยังขืนไป


หรือการที่พ่อต้องโทรบอกลูกว่า "ไม่มีอะไรหรอกลูกๆ เดี๋ยวพ่อก็กลับบ้าน" อย่างที่บางครอบครัวอาจกำลังประสบอยู่


 


สิ่งที่ผมอยากจะร่วมแลกเปลี่ยนด้วยก็คือ ความพยายามส่วนตัวที่จะมองสถานการณ์ปัจจุบันอย่างสร้างสรรค์


ไม่มองอย่างเอาชนะคะคาน เพราะยิ่งอยากเอาชนะรุนแรง ก็อาจทำให้รู้สึกพ่ายแพ้อย่างรุนแรงมากขึ้นไปด้วย หากไม่เป็นดังหวัง


 


ผมอยากเก็บอะไรดีๆ ติดตัวกลับมาบ้างเมื่อเลิกจากการชุมนุมที่สนามหลวง พยายามคิดถึงสิ่งดีๆ ที่ได้รับ และสิ่งดีๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในชีวิต ไม่ใช่เอากลับมาแต่ความเครียด ความผิดหวัง และความเจ็บปวดเคียดแค้นจนปวดแสบปวดร้อนอยู่ในใจ


 


เอาหละ เกริ่นจนยาวเชียว เข้าเรื่องเป้ใบนั้นกันเสียที


 


เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา บริเวณกลางสนามหลวงพอดิบพอดี


 


มันล่วงเลยเวลาอาหารค่ำเล็กน้อย และพื้นที่ตรงนั้นก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คน เรียกว่า หากลุกออกไปเข้าห้องน้ำแล้วก็อาจจะหาทางกลับมานั่งที่เดิมได้ยากยิ่ง


 


เราไปปูแผ่นพลาสติกนั่งติดกับน้าชายคนหนึ่งที่ดูออกว่า มาจากต่างจังหวัด เพราะแกมีสัมภาระติดตัวมาด้วย แต่ด้วยพื้นที่เหลือน้อยเราเลยต้องปูผ้าเกยทับกัน


 


แกรูปร่างผอมผิวคล้ำสวมเสื้อซาฟารีสีเข้ม กางเกงจำสีไม่ได้ ส่วนใบหน้านั้น ผมก็จำไม่ถนัดอีกเช่นกัน


เพราะมัวแต่สนใจเวทีปราศรัย และจดจ่อคอยจังหวะโบกธง (ยาวๆ ครับพี่น้อง) หรือตะโกน ...ออกไป - Get out อยู่ (ฮา)


 


จู่ๆ น้าชายคนนั้นก็บอกว่า ฝากกระเป๋าหน่อยจะไปเข้าห้องน้ำ แล้วแกก็เอาธงชาติเหน็บไว้กับสายสะพายเป้


 


เรายังคุยกันว่า แกออกไปแล้วจะกลับมาที่เดิมได้ยังไง คนแน่นออกยังงั้น สักพักเราก็ล้อเล่นกันอีกว่า มีระเบิดหรือเปล่าไม่รู้


 


ผมเล่นต่อว่าของแก จะใช้รีโมทหรือนาฬิกานะ พลางเอามือกดกระเป๋าเล่นแล้วก็พบว่า ข้างในมันนิ่มๆ


น่าจะเป็นเสื้อผ้า


 


น้าชายหายไปเป็นชั่วโมง ผมไม่ห่วงเรื่องระเบิดจริงๆหรอก เพราะถ้าเป็นระเบิด คงโดนตำรวจตรวจพบที่ทางเข้าแล้ว ที่ห่วงคือ แกอาจจะกลับมาที่นั่งไม่ถูกมากกว่า แล้วตอนนั้นก็ใกล้เวลาออกเดินกันแล้ว ถ้าแกกลับมาไม่ถูกจะทำอย่างไรกับเป้ใบนั้น


 


สักพักก็ได้ยินเสียงคนข้างหลังพูดเล่นขึ้นบ้างว่า "ระเบิดรึเปล่าเนี่ย?" แล้วก็แว่วเสียงคนคุยกันเรื่องนี้ต่อ


 


ผมเริ่มหันหน้าหันหลังคอยมองเผื่อว่าจะเห็นแกบ้าง


 


สุดท้ายแกก็กลับมา


 


คนที่เคยไปชุมนุมที่สนามหลวง คงทราบว่า บางครั้งเดินมาอยู่ใกล้กันแล้ว ก็อาจจะมองไม่เห็นเพื่อนที่มาด้วยกัน


เพราะคนแน่น แถมคนที่นั่งอยู่เป็นพืดก็ดูคล้ายกันทั้งสีเสื้อ ผ้าพันคอ-โพกหัว และธงชาติ-ธงกษัตริย์ในมือ


 


ผมโบกมือให้น้าคนนั้น แกรีบเข้ามา แล้วบอกว่าเดินหลงหาที่นั่งอยู่หลายรอบ พอแกกลับเข้ามานั่ง ผมถึงเห็นว่าแกไม่ได้ไปแค่ห้องน้ำ มือทั้งสองของแกพะรุงพะรังไปด้วยถุงใส่กล่องโฟมบรรจุอาหารและขวดน้ำดื่มจนเต็มพิกัดที่สองแขนจะรับได้ แล้วแกก็แจกจ่ายน้ำและอาหารไปยังเสื่อข้าง


 


เราขอบคุณเมื่อรับขวดน้ำ แต่อาหารนั้นเราบอกว่า เรียบร้อยมาแล้ว


 


มีบางคนบอกน้าชายว่า ทีหลังไปไหน อย่าทิ้งกระเป๋าไว้


 


ก่อนที่เราจะออกเดินสู่ราชดำเนิน น้าคนนั้นก็หายไปแล้ว


 


มองเผินๆ นี่ก็เป็นแค่เรื่องขำๆ เรื่องหนึ่ง ท่ามกลางบริบททางการเมืองทั้งในกรุงเทพมหานครและสามจังหวัดภาคใต้ ที่มีทั้งข่าวการวางระเบิดที่เกิดขึ้นถี่ๆ และการข่มขู่ว่าประชาชนจะเสียเลือดเสียเนื้อกันเพราะมือที่สามสอดเข้ามาป่วนการชุมนุม


 


หลังจากออกเดินแล้ว เราคุยกันว่า น้าคนนั้นอุตส่าห์เอาอาหารและน้ำมาแจก ไม่น่าไปนึกหรือพูดล้อกันเรื่องระเบิด "ในจินตนาการ" ที่อยู่ในเป้เก่าๆนั้นเลย


 


ลึกๆ แล้ว ผมรู้สึกว่า การล้อเล่นเช่นนั้นสะท้อนความระแวงสงสัยระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ระหว่างคนที่ไม่ได้มีความรู้สึกโกรธแค้นกันเป็นส่วนตัวแม้แต่น้อย


 


สังคมของเราตั้งอยู่บนสมมติฐานบางๆ ว่า พวกเราจะไม่ทำอันตรายกันโดยไร้เหตุผล และไม่หลอกลวงกันจนเกินไป เราอาจเอารัดเอาเปรียบกันบ้างเท่าที่กติกาอนุญาต แต่โดยพื้นฐานแล้วเราควรเชื่อได้ว่าเราจะซื่อสัตย์ต่อกัน และไม่เบียดเบียนกัน คนที่ไม่ประพฤติเช่นนั้นเป็นนิจศีลก็จะได้ชื่อว่าขาดจริยธรรม


 


บางคนบอกว่า สิ่งที่ผู้ก่อการร้ายทั้งแบบที่ฆ่าและไม่ฆ่าตัวเองทำก็คือ การบอกคนในสังคมว่า ไม่มีใครหรืออะไรที่จะมารับประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ใครได้ทั้งสิ้น และคนที่อยู่ข้างๆ คุณ ก็อาจจะลุกมาฆ่าคุณได้โดยที่คุณไม่รู้ตัว


 


ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีจึงไม่ใช่เลือดเนื้อกระดูกในตัวของแต่ละคน หรืออิฐหินเหล็กที่ประกอบเป็นอาคารสถานที่ แต่เป็นสายใยทางสังคมอันละเอียดอ่อนที่ถักทอพวกเราเข้าด้วยกัน ทำให้เรากลัวกันและกัน


 


เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดได้แก่ความกลัวนั่นเอง และความกล้าไม่ใช่ความไม่กลัว แต่หมายถึงการสามารถล้อมความกลัวไว้ในมุมจำกัดมุมหนึ่งในใจ และกระทำการต่างๆ ต่อไปได้ตามที่เห็นสมควร


 


ก็อะไรเล่าที่ทำให้ "แฮร์รี่ พอตเตอร์" เป็นพระเอกในดวงใจของผู้อ่านหลายวัย เพราะฉลาดหรือ??


 


ไม่น่าใช่ เพราะเฮอร์ไมโอนี่ฉลาดกว่าหลายเท่า


 


เพราะความมั่นคงต่อเพื่อนหรือ? คงไม่ เพราะรอนซื่อสัตย์มั่นคงกว่า


 


เพราะจิตใจดีงามหรือ? ไม่ใช่แน่ เพราะหลังๆ ผมรู้สึกว่าจิตใจของแฮร์รี่ "ดาร์ก" ขึ้น โกรธแค้นและอิจฉาริษยาชัดเจนขึ้น


 


แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนในตัวแฮร์รี่ก็คือความกล้า


 


คำถามก็คืออะไรทำให้แฮร์รี่กล้าหาญ? ผมคิดว่าแฮร์รี่กล้าเพราะเขา "เชื่อ" เขาเชื่อในดัมเบิลดอร์ เขาเชื่อรอนและเฮอร์ไมโอนี่ และที่สุดแล้ว เขาเชื่อว่าการสู้กับ "โวลเดอมอร์" เป็นสิ่งที่ควรทำทั้งที่กลัวจับจิต


 


ผมชอบแฮร์รี่เพราะผมเองก็ไม่ชอบความกลัวและชื่นชมคนกล้าเหมือนกัน และผมก็คิดว่ารสนิยมนี้คงตรงกับแฟนของแฮร์รี่อีกหลายคน


 


จากความเห็นที่ผู้อ่านหลายท่านแสดงต่อท้ายบทความชิ้นก่อน ทำให้ผมทราบว่า มีคนชอบ "ฮอบบิต" กันไม่น้อย


และสิ่งที่หลายคนชอบนั้นก็ดูจะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือความสามารถของคนขี้กลัวที่จะ "จัดการกับความกลัว" ในใจและหันมาสู้กับสิ่งที่กลัวได้อย่างองอาจ


 


ผมไม่ได้กำลังเสนอว่า พวกเราจงมาทำตัวไร้เดียงสาทางการเมือง จนขาดความระมัดระวังกันเถิด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย


 


ผมเพียงแต่อยากชวนพวกเราคิดว่า ถึงที่สุดแล้วความเกลียดชังและความกลัวโดยตัวของมันเองแล้ว ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้เลย


 


การเชื่ออย่างมีเหตุผลต่างหากที่อาจช่วยเราได้


 


คำถามก็คือ แล้วเราจะเชื่ออะไรได้บ้าง?


 


อันนี้ก็ต้องตอบกวนแล้วหละครับว่า... up to you! ตัวผมเองตอบได้แต่เพียงว่า ผมเชื่ออะไรเท่านั้น


 


โนม ชอมสกี้ นักทฤษฎีภาษาศาสตร์และนักเขียนแนวอนาธิปัตย์ชาวอเมริกันกล่าวไว้คราวหนึ่งว่า


เหตุที่เขามองโลกในแง่ดีและเชื่อในความมีเหตุมีผลอันพอเพียงของมนุษย์ในการปกครองตนเองนั้นก็เพราะว่า


มันสมเหตุสมผลกว่าที่จะเชื่อ


 


เพราะถ้ามันไม่มีอยู่จริงเขาก็ไม่สูญเสียอะไร แต่ถ้ามันมีอยู่จริงแล้วเขาเกิดไม่เชื่อ เขาก็จะกลายเป็นฝ่ายที่สูญเสีย


 


ผมเชื่อว่าเขาพูดประมาณนี้นะครับ หากคลาดเคลื่อนนิดหน่อยก็ขออภัย เพราะผมอาศัยยืนอ่านเอาขี้ปากเขามาเล่าต่อเท่านั้น ไม่ได้ซื้อหนังสือของเขามาเก็บเอาไว้ด้วย


 


ที่ผ่านมาผมอาจจะสนใจการปราศรัยหรือการแสดงงิ้วบนเวทีมากไปหน่อย จนไม่ค่อยได้สังเกตแง่มุมดีๆ ของพี่น้องที่ปูแผ่นพลาสติกอยู่ข้างๆ หรือพี่น้องที่เดินไปด้วยกันช้าๆ บนท้องถนน เพราะถ้ามองดีๆ ผมอาจเห็นคนขายข้าวต้มร้านเจ้าประจำ เห็นเพื่อนเก่าที่ห่างเหินกันไปนาน เห็นอาจารย์คนโปรดที่ตอนนี้ผมท่านบางไปเยอะ ฯลฯ


 


ผมไม่ได้เชื่อผู้นำพันธมิตรฯมากไปกว่าที่ผมเชื่อคนที่มาร่วมชุมนุมด้วยกันเลย


 


ผมเชื่อว่า แทบทุกท่านมาด้วยจิตใจที่อยากเห็นปัญหาของบ้านเมืองคลี่คลายไป ไม่ใช่เพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นชิ้นๆ อันๆ หรือเป็นใบๆ


 


ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนมีสิทธิ์เก็บรับความรู้สึกยินดีในภราดรภาพนี้ เพราะมันคือรางวัลที่เราทุกคนควรได้รับไม่ว่าคุณทักษิณจะไปเร็วหรือไปช้า


 


ที่สำคัญจงอย่าปล่อยให้ความเกลียดชังเปลี่ยนหัวใจร่าเริงเสียสละแบบฮอบบิต ให้กลายเป็นเมือกเหนียวดำคล้ำเหมือนผิวกอลลัม หรือฮอบบิตที่ไม่รู้จักการให้ และเอาแต่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นเจ้าของ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net