Skip to main content
sharethis

                


 


ประชาไท - 8 มี.ค.49        กรีนพีซเปิดรายงานการปนเปื้อนพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ที่ออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงการลักลอบปลูกอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากหลายประเทศยังไม่มีนโยบายเปิดรับพืชจีเอ็มโอ และแวดวงวิทยาศาสตร์ก็ยังถกเถียงกันถึงความปลอดภัยระยะยาวในมนุษย์


 


รายงานฉบับนี้จัดทำโดยกรีนพีซ และกลุ่ม GeneWatch UK โดยสรุปกรณีการปนเปื้อนที่ถูกปกปิดเผยแพร่ทางเวบไซต์ www.gmcontaminationregister.org


 


เว็บไซต์นี้มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวของการปนเปื้อนจีเอ็มโอทั่วโลก เช่น การลักลอบจำหน่ายเนื้อหมูจีเอ็มโอแก่ผู้บริโภค, พืชปกติถูกปนเปื้อนด้วยพืชจีเอ็มโอที่ใช้ผลิตยา, การแพร่กระจายและปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอซึ่งมีสารต้านยาปฎิชีวนะซึ่งถือว่าผิดกฎหมายไปทั่วโลก, การปลูกพืชจีเอ็มโอที่ลักลอบนำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย, การผสมพืชจีเอ็มโอที่ไม่ได้รับการอนุมัติในอาหาร รวมถึงอาหารบรรเทาทุกข์, การผสมข้ามพันธุ์ของพืชจีเอ็มโอหลายชนิดเข้าด้วยกันโดยไม่ได้ตั้งใจ แม้กระทั่งในแปลงทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง


 


รายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยกรณีตัวอย่างของการปนเปื้อนจีเอ็มโอถึง 113 กรณี ใน 39 ประเทศทั่วโลก  ความถี่ของการปนเปื้อนจีเอ็มโอเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตกกังวล เฉพาะในปี 2548 ตรวจพบการปนเปื้อนจีเอ็มโอใน 11 ประเทศทั่วโลก การปนเปื้อนเกิดขึ้นแม้กระทั่งในประเทศที่คิดว่ามีการควบคุมอย่างระมัดระวังดีแล้ว เช่นในสหราชอาณาจักร


 


ดอกเตอร์ ซู เมเยอร์ จาก GeneWatch UK ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสืบสวนการปนเปื้อนกล่าวว่า ข้อมูลนี้อาจเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการจดบันทึกการปนเปื้อนของจีเอ็มโออย่างเป็นทางการทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ การปนเปื้อนของจีเอ็มโอมักถูกเก็บเป็นข้อมูลลับของบริษัทและหน่วยงานราชการ


 


กรีนพีซเรียกร้องให้ตั้งระบบบันทึกข้อมูลการปนเปื้อนจีเอ็มโอในระดับสากล พร้อมกับให้บังคับใช้มาตรฐานสากลในการบ่งชี้และติดฉลากการขนส่งพืชจีเอ็มโอระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งเบเนดิก แฮร์ลิน จากกรีนพีซสากลกล่าวว่า หากไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ  สังคมโลกจะไม่มีโอกาสสืบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของสินค้าและเรียกคืนสินค้าจีเอ็มโอที่อันตรายได้ การมีมาตรฐานสากลนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง


 


ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวตีพิมพ์เพียงไม่กี่วันก่อนการประชุมพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพที่กำลังจะมีขึ้นในบราซิล โดยในการประชุมจะมีผู้แทนจาก 132 ประเทศทั่วโลกที่ลงนามในพิธีสารคาร์ตาเฮน่า ซึ่งเป็นพิธีสารที่สร้างมาตรฐานว่าด้วยความปลอดภัยและข้อมูลของพืชจีเอ็มโอในการค้าอาหารสำหรับมนุษย์และอาหารสัตว์ทั่วโลก


 


กรีนพีซแสดงความไม่พอใจการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วที่บราซิลและนิวซีแลนด์ ได้คัดค้านข้อตกลงที่เกือบจะบรรลุแล้ว โดยมีประเทศผู้ส่งออกพืชจีเอ็มโอรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา อาร์เจนติน่า และแคนาดา ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของพิธีสารนี้หนุนหลังอยู่ โดยประเทศเหล่านี้ต้องการให้ระบุแค่คำว่า "อาจมีจีเอ็มโอ" ในการขนส่งพืชจีเอ็มโอระหว่างประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นการระบุที่ไม่มีความหมายใดเลย


 


เบเนดิก แฮร์ลินกล่าวอีกว่า ประเทศเหล่านี้มีกฎหมายระดับประเทศที่ปกป้องตัวเองจากการนำเข้าจีเอ็มโอที่ผิดกฎหมาย แต่กลับกีดกันไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับสิทธิและระดับการรับรู้ข้อมูลที่เท่าเทียมกัน ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพระดับประเทศ และไม่มีช่องทางบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้น


 


สำหรับประเทศไทยซึ่งเพิ่งเข้าเป็นภาคีของพิธีสารคาร์ตาเฮาน่า และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพระดับประเทศนั้น


 


นางสาวภัสน์วจี ศรีสุวรรณ เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรมของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หวังว่าในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนของประเทศไทยจะสนับสนุนข้อตกลงที่จะทำให้ประเทศเรามีสิทธิปกป้องตัวเองจากจีเอ็มโอ และได้รับข้อมูลที่เพียงพอเหมือนกับประเทศอื่นๆ


 


นอกจากนี้ กรีนพีซยังเรียกร้องให้ ประเทศไทยออกกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยจากชีวภาพภายในประเทศ โดยยึดหลักการป้องกันไว้ก่อนอีกด้วย เนื่องจากในประเทศไทยมีการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอจากแปลงทดลองของรัฐสู่ไร่นาเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งทั้งกรีนพีซ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำการตรวจสอบจนมั่นใจว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่สามารถจัดการกับการปนเปื้อนให้หมดไปได้จนปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net