Skip to main content
sharethis



บรรยากาศผู้ฟังศาลจำลอง


 


ประชาไท—9 มี.ค. 2549 การไต่สวนของศาลจำลองครั้งที่ 3 โดยศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วานนี้ (8 มี.ค.) ยังคึกคักท่ามกลางผู้เข้าฟังผังประมาณ 600 คน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิชาการที่ถูกขึ้นบัญชีขาประจำเป็นพยานแฉ 3 วิธี กลเม็ดผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้ออาทรธุรกิจครอบครัว


 


การไต่สวนในวันนี้ น.พ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นโจทก์ยื่นฟอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ศาลจำลองไต่สวนในประเด็น "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้อำนาจโดยมิชอบเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องจริงหรือ"


 


มีพยานโจทก์ 3 ปากคือ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษ และนายชัยยันต์ ตันติวัสดาการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


สำหรับผู้พิพากษาวันนี้ ขึ้นบัลลังก์ครบองค์คณะ 3 คน ประกอบด้วย นายเสงี่ยม บุญจันทร์ นายทะเบียน รองเลขาธิการ และรองโฆษกสภาทนายความ นายขวัญชัย โชติพันธุ์ รองประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ และว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน กรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ


 


โดยผู้ทำหน้าที่ทนายโจทก์วันนี้มี 2 คนได้แก่ นายดนัย อนันติโย อุปนายก และนายปราโมทย์คริษฐ ธรรมคุณากร จากสภาทนายความ


 


น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา โจทก์ กล่าวว่าสิ่งที่ยากสำหรับประชาชนในการดำเนินการเอาทางกฎหมายกับนายกรัฐมนตรีนั้นคือการไม่ได้รับข้อมูลเอกสารที่ชัดเจน ดังนั้นเองจึงอยากจะให้นายกฯ ตอบให้ชัดในเรื่องของกรณีเลี่ยงภาษี


 


"ผมไม่อยากให้ท่านตอบว่าถูกกลั่นแกล้งเพราะนั่นเป็นเรื่องของอารมณ์ ไม่ใช่ข้อมูล"


 


ทั้งนี้ ศาลได้ซักถามโจทก์ว่ามีเหตุจูงใจอะไรให้เชื่อว่าจำเลยมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เอื้อประโยชน์แก่ครอบครัวและพวกพ้อง


 


น.พ.นิรันดร์ ตอบว่า พ.ต.ท.ทักษิณสร้างระบบอำนาจที่ผูกขาดและทำลายกระบวรการตรวจสอบทุกองค์กร แม้แต่รัฐสภาเองก็กลายเป็นการทำงานเพื่อรับใช้ตัวท่านายกฯ ทักษิณ การใช้ช่องว่างที่มีอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญไปปิดช่องทางการตรวจสอบ แม้แต่กระบวนการทางรัฐสภาเองก็ไม่สามารถตรวจสอบนายกฯ ได้เป็นการผูกขาดอำนาจ ผูกขาดผลประโยชน์ ไปทำลายความชอบธรรมของระบบรัฐสภา และในวุฒิสภาเองก็มีข้อมีประจักษ์ชัดเจน โดยรองประธานวุฒิสภาเองก็ยังกล่าวยอมรับว่าในวุฒิสภาก็มีการรับเงินในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอำนาจ เพราะฉะนั้นสังคมไทยก็กำลังตกอยู่ภายใต้การครอบงำและแทรกแซงโดยระบอบทักษิณ


 


สมเกียรติ ฉะ 3 วิธีเอื้ออาทรธุรกิจครอบครัว


 


ภายหลังการเบิกความของโจทก์แล้ว นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยซึ่งเป็นพยานปากแรกของคดีนี้ ได้ชี้แจงต่อศาลถึงรายละเอียดของการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของครอบครัวนายกฯในรูปแบบสัมปทาน


 


โดยนายสมเกียรติกล่าวว่าจะอธิบายเฉพาะกรณีใหญ่ ๆ เนื่องจากการเอระโยชน์ต่อครอบครัวนายกฯ นั้นหากจะพูดกันจริง ๆ ทุกกรณีแล้ว พูดกัน 3 วันก็ไม่จบ


 


จากนั้นนายสมเกียรติได้อธิบายถึงวิธีดำเนินการเอาประโยชน์ให้กับบริษัทในเครือญาติของตนเองว่าใช้วิธี มี 3 วิธีหลักคือ เมื่อบริษัทได้กำไรก็หลีกเลี่ยงภาษีโดยไปขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เมื่อบริษัทขาดทุนก็ปรับสัญญาใหม่ และเมื่อไม่สมารถดำเนินการตาม 2 วิธีแรกได้ก็เปลี่ยนกติกาและกฎหมายเสียใหม่


 


นายสมเกียรติกล่าวว่า สัมปทานที่บริษัทชินคอร์ปได้จากรัฐประกอบไปด้วย


 


เอไอเอส                                     ได้รับสัมปทานระหว่างปี 2533-2558


เทเลอินโฟ                                  ได้รับสัมปทานระหว่างปี 2539-2548


แอดวานซ์เพจจิ้ง                           ได้รับสัมปทานระหว่างปี 2532-2537


ชินแซท                                      ได้รับสัมปทานระหว่างปี 2535-2564


ดีพีซี(โทรศัพท์มือถืออีกยี่ห้อหนึ่ง)    ได้รับสัมปทานระหว่างปี 2540-2556


ไอทีวี                                         ได้รับสัมปทานระหว่างปี 2548-2568


 


 


นายสมเกียรติกล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้นสลับซับซ้อนมาก "เรื่องเล็ก ๆ ประเภทรัฐบาลอนุญาตให้ข้าราชการสามารถใช้โทรศัพท์มือถือแล้วไปเบิกค่าใช้จ่ายจากรัฐได้โดยอ้างว่าเป็นนโยบายของซีอีโอ เรื่องอย่างนี้ผมจะไม่พูดถึงนะครับ เรื่องเล็ก ๆ ประเภทใช้อำนาจในการอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทคนใกล้ชิดของตนเอง ผมก็จะไม่พูดนะครับ เนื่องจากเวลาจำกัด"


 


"เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นมีได้หลายมาตรากรนะครับ มีตั้งแต่การออกกฎหมายเพื่อเอื้อกับธุรกิจของตัวเอง มีการแจกเงินแจกทองโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น ใช้บีโอไอส่งเสริมการลงทุน เรื่องการให้เงินกู้กับรัฐบาลต่างประเทศโดยใช้เงินของประเทศไทย เรื่องการพานักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับตัวเองไปเยือนต่างประเทศและอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับตัวเองไปเจรจาค้าขาย


 


"ธุรกิจทีเกี่ยวข้องกับครอบครัวตัวเองมีปัญหาไม่ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานของรัฐก็จะมีการละเว้นไม่ปฏิบัติตามสัญญา บางกรณีก็ใช้การแก้สัญญาสัมปทานเพื่อเอื้อกระโยชน์ให้กับธุรกิจตัวเอง ถ้าธุรกิจไหนไปไม่ได้ก็แก้สัญญาให้รัฐมาอุ้ม


 


"เรื่องการชะลอการเปิดเสรีการโทรคมนาคมจนกว่าตัวเองจะขายกิจการ การออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ธุรกิจของตัวเองผูกขาดได้ มีสารพัด"


 


พร้อมกันนี้นายสมเกียรติได้อธิบายความหมายของสัมปทานว่า สัญญาสัมปทานจะเกี่ยวข้องกับคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือผู้ให้สัมปทานฝ่ายรัฐ และอีกฝ่ายหนึ่งคือเอกชนผู้รับสัมปทาน แนวคิดของสัญญาสัมปทานคือแนวคิดสัญญาต่างตอบแทน


 


สิ่งที่รัฐให้เอกชนก็คือการให้สิทธิในการประกอบการ สิทธิในการปฏิบัติในการผูกขาดหลักสัญญาช่วงต้น ๆ เช่นห้ามคนอื่นเข้าดำเนินกิจการแข่งขัน


 


การอำนวยความสะดวกให้ใช้อาคารสถานที่ ให้ใช้ถนนหนทางและที่ราชพัสดุต่าง ๆ ให้ใช้เลขหมายโทรคมนาคม ให้ใช้สัญญาณดาวเทียม


 


เอกชนต้องตอบแทนรัฐอย่างน้อย 2 เรื่องคือ คือต้องให้ค่าสัมปทานตอบแทน คือรายได้ซึ่งต้องมีส่วนที่เป็นค่าสัมปทานขั้นต่ำ และอีกประการหนึ่งคือต้องมีการให้บริการแก่ประชาชน


 


เอไอเอส ตัวอย่างใหญ่แก้กฎหมายเลี่ยงภาษี


 


ตัวอย่างของสัมปทานเอไอเอสได้สัมปทานไปตั้งแต่ 2533-2558 ต้องจ่ายค่าตอบแทน 15 เปอร์เซ็นต์ให้กับรัฐ แล้วก็ค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และกำลังจะต้องจ่ายถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในอีกไม่กี่ปีที่จะถึง รวมทั้งต้องจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำด้วย


 


เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2546 รัฐบาลทักษิณได้ออกพระราชกำหนดให้จัดเก็บภาษีจากบริการโทรคมนาคม 2 ประเภทคือ บริการโทรศัพท์มือถือและบริการโทรศัพท์บ้าน โดยให้เก็บโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่งว่าหลังจากนั้น ในวันที่ 11 ก.พ. 2546 ก็มีมติคณะรัฐมนตรีอีกฉบับหนึ่งออกมาซึ่งเป็นประเด็นว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ โดยมติครม. ดังกล่าวระบุว่า


 


"กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องชำระภาษีโดยคำนวณค่าภาษีสรรพสามิตจากรายรับและต้องจ่างผลประโยชน์ขั้นต่ำ แต่ว่าเมื่อชำระแล้วให้เอาภาษีที่ชำระไปหักออกจากค่าสัมปทานได้"


 


ผลก็คือก่อนหน้านี้บริษัทเอไอเอสนั้นต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับองค์การโทรศัพท์ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่างตอบแทนเมื่อองค์การโทรศัพท์ให้ใช้เลขหมาย เอกชนก็ต้องจ่ายผลประโยชน์ต่างตอบแทน


 


แต่เมื่อมีพระราชกำหนดจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เอไอเอสก็ควรต้องจ่ายภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2546 บอกว่าการจ่ายภาษีนี้แล้วสามารถเอาไปหักลบกับค่าสัมปทาน ดังนั้นเอไอเอสจึงจ่ายค่าสัมปทานจริงแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน มติคณะรัฐมนตรีไปจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ จึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย


 


"คนที่ได้รับสัมปทานซึ่งควรจะเป็นผู้เสียภาษีสรรพสามิตก็กลายเป็นไม่ต้องเสียเพราะเอาไปหักจากค่าสัมปทานได้ แต่ถ้าเป็นคนอื่น เช่นมีบริษัทโทรศัพท์มือถือใหม่เข้ามาก็จะถูกหักภาษีเต็ม ๆ ไม่สามารถไปหักจากสัมปทานได้ ดังนั้นธุรกิจมือถือจึงถูกผูกขาดโดยครอบครัวของนายกรัฐมนตรี"


 


ให้รัฐค้ำประกันเงินกู้พม่า การันตีบริษัทตัวเองไม่ขาดทุน


 


นายสมเกียรติกล่าวต่อไปถึงกรณีเงินกู้พม่า โดยนายให้ข้อมูลว่ากระทรวงการสื่อสารของพม่ามาขอเงินกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและการลงทุน (เอ็กซิมแบงก์) โดยระบุว่าจะทำ 2 อย่างคือ เครือข่ายทางไกลและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง


 


"ศาลที่เคารพครับ คนไทยที่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงกับไฮสปีดอินเตอร์เน็ตยังมีเป็นส่วนน้อยนะครับ แต่วันดีคืนดี ประเทศพม่าซึ่งโทรศัพท์ธรรมดายังไม่มีใช้ อยากจะใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้นมา"


 


จากนั้นประเทศพม่าได้มาขอกู้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลไทยก็ได้มีมติครม. ค้ำประกันเอ็กซิมแบงก์ หมายความว่าหากรัฐบาลพม่ากู้แล้วไม่มีเงินจ่าย รัฐบาลไทยจะควักเงินจ่ายให้ จากนั้นเอ็กซิมแบงก์ก็ปล้อยเงินกู้จำนวน 4,000 ล้านบาทให้กับรัฐบาลพม่าด้วยอัตราดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ โดยกำหนดระยะเวลายากมาก


 


"พม่าเป็นประเทศที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำมาก คือไม่มีเครดิตเลย ไปขอกู้ที่ไหนก็ไม่มีใครให้ การได้เงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเสี่ยงมาก"


 


จากนั้นรัฐบาลพม่าจึงปล่อยเงินกู้ให้กับกระทรวงสื่อสารพม่าซึ่งนำเงินกู้นั้นมาซื้อสัญญาณดาวเทียมจากบริษัทชินแซท ซึ่งครอบครัวของนายกฯ เป็นเจ้าของ


 


ด้วยเหตุนี้คนที่ได้ก็คือบริษัทชินแซทฯ เนื่องจากมั่นใจได้ว่าหนี้ของตนเองไม่สูญ หากหนี้สูญก็เป็นภาระของรัฐบาลไทย


 


ขอสนุบสนุนการลงทุนจากบีโอไอ อีกมาตรการเลี่ยงภาษี


นายสมเกียรติเบิกความต่อไปว่า การประคบประหงมบริษัทดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเลี่ยงภาษี โดยที่โดยผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวก็พูดว่าเพียงปีเดียวเท่านั้นบริษัมจะคืนทุน และเนื่องจากบริษัทจะคืนทุนก็ต้องเสียภาษี ก็มีวิธีหนึ่งที่จะไม่ต้องเสียภาษีก็คือการไปขอการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กำไร 24,000 ล้าน ก็ไม่ต้องส่งเสริมการลงทุนก็ได้ ทำไมต้องส่งเสริมเพราะกำไรอยู่แล้ว แต่บีโอไอก็ตัดสินใจส่งเสริมการลงทุนแค่ 16,459 ล้านไม่ส่งเสรอมทั้งหมด 24ม000 ล้าน เพราะกฎของบีโอไอก็คือ กิจการใหญ่แค่ไหนส่งเสริมแค่นั้น


 


กรณีนี้บริษัทลงทุนแค่ 16,459 ล้าน ก็ส่งเสริมได้แค่ 16,549 ล้าน และปีต่อ ๆ ไป ถ้าบริษัทมีกำไรก็ไม่ต้องเสียภาษี


 


"เวลาที่ท่านนายกฯ บอกว่าครอบครัวของท่านเสียภาษีมาเยอะแยะขนาดไหนแต่ท่านไม่ได้พูดว่าแล้วที่ท่านยหลีกเลี่ยงภาษีนั้นเยอะแค่ไหน ใหญ่กว่าที่ท่านจ่ายไปแค่ไหน"


 


และไม่ใช่เฉพาะโครงการนี้เท่านั้น กรณีสายการบิน และดาวเทียมดวงใหม่อีกดวงหนึ่งก็มีข่าวว่าจะไปขอรับการส่งเสริมการลงทุนเหมือนกัน


 


"นี่แปลว่ากำไรก็ไม่ต้องเสียภาษี ประเด็นคือว่าถ้าธุรกิจกำไรอยู่แล้ว มีนักลงทุนที่ไหนจะไม่ไปลงทุน เพราะกำไรเห็น ๆ การส่งเสริมการลงทุนจึงไม่ได้เพิ่มการลงทุนเลย


 


"การส่งเสริมการลงทุนของไทยจึงเป็นนโยบายที่แปลกมากคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนเพื่อจะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพราะแม้จะลงทุนเพิ่มก็ไม่ได้ ดาวเทียมก็ลงทุนเพิ่มไม่ได้ เพราะวงโคจรมีจำกัด ถือเป็นการโยกเงินที่ควรจะเข้ากระทรวงการคลังไปยังผู้ถือหุ้น และเหตุการณ์ครั้งนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน เพราะขณะนั้นท่านเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยตำแหน่ง"


 


นายสมเกียรติระบุด้วยว่า หลังจากมีข่าวเรื่องนี้อออกมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ไม่เผยแพร่ข้อมูลเรื่องการส่งเสริมการลงทุนอีกเลย


 


ด้าน ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษ ให้การว่า การประเมินทรัพย์สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก่อนการแปรรูปนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากมีการประเมินมูลค่าของเขื่อนต่าง ๆ ที่การไฟฟ้าฯ มีอยู่กว่าทั้งสิ้น 21 เขื่อนซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 13,000 ล้านหน่วย มีมูลค่ารวมกันกว่า 1.8 ล้านล้านบาท แต่การกลับถูกประเมินราคาเพียง 9400 ล้านบาท โดยคิดคำนวณจากที่ดินและสิ่งก่อสร้างเท่านั้นไม่เอากำลังผลิตไฟฟ้ามารวมด้วย


 


ดังนั้นหากมีการขายหุ้นในตลาดหุ้นได้ คาดว่าผู้ถือหุ้นจะมีกำไรกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และคาดว่าในอนาคตหุ้นของ กฟผ. ก็จะตกอยู่ในมือของสิงคโปร์เช่นกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อแปรรูป ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ปรากฏว่ามี 2 กองทุนจากสิงคโปร์ที่ช้อนซื้อหุ้นของปตท. โดยนายวุฒิพงษ์กล่าวว่าสำหรับกรณีกฟผ. นั้นถือว่าสวรรค์ยังมีตา เนื่องจากศาลปกครองได้มีคำสั่งชั่วคราวระงับขายหุ้น กฟผ. ไปก่อน


 


ศาลชี้ คดีมีมูล คดีถัดไปนัดไต่สวนที่หอประชุมใหญ่ มธ.      


 


ทั้งนี้ เมื่อเวทีการไต่สวนยุติ ศาลจำลองได้อ่านคำสั่งว่า "ศาลได้ร่วมกันพิจารณาครบองค์คณะ จากพยาน 3 ปาก เห็นว่าคดีมีมูล ให้นำสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป"


 


จากนั้นพิธีกรประกาศว่าการไต่สวนคดีที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายจะย้ายไปจัดการไต่สวนที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทีนายเสนาะ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จะเป็นโจทก์เบิกความคดี "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โกงบูรณาการ (โกงเพื่อมีอำนาจ และโกงเมื่อมีอำนาจ) จริงหรือ"


 


โดยจะมีพยาน 4 ปากคือ นายประมวล รุจนเสรี อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีต ส.ส.พรรคชาติไทย นายปาน พึ่งสุจริต รองหัวหน้าพรรคมหาชน และ พล.ต.ท. สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ทั้งนี้ การไต่สวนจะเริ่มเวลา 13.30 น. ในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค.นี้


 

เอกสารประกอบ

การแปรสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม ของรัฐบาลทักษิณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net