เอกสารประกอบการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องในศาลจำลอง

 

 

วันพุธ ที่ 8 มีนาคม 2549

 

โดย อาจารย์ ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ 1

 

1. การใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อเอื้อเฟื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง (ผลประโยชน์ทับซ้อน) (วันที่ 8 มีนาคม 2549)

1.1 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) ..2549

1.2 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมติให้บริษัท ชิน แซทแทลไลท์ เป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ส่งผลให้ได้การยกเว้นภาษี 8 ปี และสามารถผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมได้

1.3 สายการบินแอร์เอเชีย

1.4 สถานีโทรทัศน์ ไอทีวี (สัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางการปกครอง)

 

1.1 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) ..2549

            พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) ..2549 มีหลักการและเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติว่า "เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กิจการโทรคมนาคมบางลักษณะหรือบางประเภทเป็นกิจการที่ต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมากในการดำเนินการและต้องใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งปัจจุบันการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศยังมีความจำเป็น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการคมนาคมแบบที่สองและแบบที่สามโดยให้มีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้านั้นเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการระดมทุนจากผู้ลงทุนต่างประเทศ หรือหากจะร่วมทุนกับต่างประเทศก็จะติดขัดปัญหาสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวดังกล่าวส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตทั้งรายเดิมและรายใหม่ไม่สามารถพัฒนาโครงข่ายหรือเทคโนโลยีโทรคมนาคม เพื่อจัดการให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพได้เท่าที่ควร สมควรแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นเสียใหม่เพื่อเอื้อต่อการระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้การกำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บเงินอื่นที่มีลักษณะเป็นการเรียกเก็บล่วงหน้า นอกจากการห้ามเรียกเก็บเงินประกัน อาจทำให้เกิดความเข้าใจว่า ห้ามเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าด้วยทั้งที่มิใช่เป็นเงินประกัน อันอาจมีผลกระทบต่อการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าซึ่งเป็นบริการที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านการตลาดสูงมาก เนื่องจากผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ สมควรกำหนดห้ามผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บเฉพาะเงินประกันและเงินอื่นที่มีลักษณะเป็นเงินประกันเท่านั้น ประกอบกับปัจจุบันการสื่อสารแห่งประเทศไทยและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานะไปแล้วตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ จึงอาจก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติตามมาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ..2544 สมควรกำหนดให้หน่วยงานทั้งสองดังกล่าว หมายความถึงบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นเพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"

 

            การแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว มีผู้สงสัยเป็นจำนวนมากว่าจะเป็นการแก้กฎหมายเพื่อที่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ ประเด็นสำคัญในพระราชบัญญัติฉบับนี้คือการแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้น ให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวกับเรื่องการโทรคมนาคมได้มากขึ้นจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 ซึ่งสอดรับกันพอดีกับที่ทางกลุ่มชินให้ขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ จึงเป็นที่กังขาเป็นการทั่วไปว่ากรณีนี้นั้นเป็นกรณีที่เป็นการใช้อำนาจรัฐโดยเฉพาะอำนาจในทางนิติบัญญัติเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องใช่หรือไม่

 

1.2 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมติให้บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ เป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมให้ได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปี และสามารถผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมได้

 

            ข้อเท็จจริง

            รัฐบาลพ...ทักษิณ ชินวัตร ได้กำหนดนโยบายให้การส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หลังจากนั้นก็มีกรณีของการที่บริษัทชินฯ ได้มีกำหนดที่จะส่งดาวเทียม ไอพีสตาร์ ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงที่ 4 ขึ้นสู่วงโคจร

            ต่อมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้มีมติให้ธุรกิจนี้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน เป็นระยะเวลา 8 ปี ซึ่งส่งผลให้บริษัทชินได้รับการยกเว้นภาษีอากรรายได้ที่ได้รับเป็นระยะเวลานานถึงแปดปี และตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนนั้นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จะสามารถที่จะกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นในการเข้ามาแข่งขันกันอย่างเสรีกล่าวคือในการด้านโทรคมนาคมนี้ก็จะไม่มีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปี

            กรณีดังกล่าวมีผู้ตั้งข้อสังเกตดังนี้

(1)กรณีนี้จะทำให้รัฐขาดรายได้จากกิจการที่ดำเนินการในรูปของภาษีอากรเป็นจำนวนมากทั้งที่ผู้บริหารของชินเองยังระบุเองว่า กิจการนี้จะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ในระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ดังนั้นระยะเวลาที่เหลืออยู่อีก 7 ปี ทำให้รัฐขาดรายได้เป็นจำนวนมหาศาล

(2)รัฐควรที่จะเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในกิจการด้านโทรคมนาคม โดยเฉพาะถ้าหากมีกทช. แล้วองค์กรนี้ก็ควรที่จะทำหน้าที่ให้มีการเปิดเสรีในด้านนี้โดยเร็ว แต่ในปัจจุบันนี้มีการเปิดเสรีเพียงในด้านของโทรศัพท์พื้นฐานเท่านั้น

ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเจรจาทำ FTA นั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะอธิบายว่าที่ไม่สามารถเปิดการค้าเสรีในด้านกิจการการโทรคมนาคมนั้นเพราะต้องเป็นไปตามกรอบขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่กำหนดไม่ให้มีการเปิดเสรีในกิจการโทรคมนาคม โดยเฉพาะการใช้ดาวเทียม คลื่นมือถือ ส่วนคำถามที่ว่า ทำไม WTO ไม่ต้องการให้มีการเปิดเสรีในด้านนี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามของคนในรัฐบาลเองที่ไปเจรจากับ WTO เพื่อไม่ให้มีการเปิดเสรีในกิจการประเภทนี้

ในเรื่องการเปิดเสรีในกิจการด้านโทรคมนาคมนั้นก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป เช่น

ทางด้าน TDRI เห็นว่าการเปิดเสรีจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคมากกว่า เพราะจะมีทางเลือก มีดาวเทียมดวงใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ราคาในการใช้เทคโนโลยีก็จะถูกลง

ในอีกด้านเห็นว่า การเปิดเสรีในกิจการประเภทนี้จะเป็นการเปิดช่องทางให้ต่างชาติเข้ามายึดกิจการด้านโทรคมนาคมที่เป็นกิจการที่มีความสำคัญของประเทศ ทำให้รัฐไม่สามารถเข้าไปดูแล หรือควบคุมได้ เพราะกลไกราคาถูกกำหนดโดยต่างชาติ และหากเปิดเสรีในระยะเริ่มแรกเลยนั้นจะทำให้ผู้ประกอบการของไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ กิจการนี้จึงเป็นกิจการที่ยังสมควรได้รับการส่งเสริมการลงทุนและไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี

.....................................

1.3 สายการบินไทยแอร์เอเชีย

            ข้อเท็จจริง

            สายการบินไทยแอร์เอเชีย เดิมหุ้นสายการบินไทยแอร์เอเชีย ถือหุ้นโดยกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ร้อยละ 50 นายทัศพล แบเรเว็ล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยแอร์เอเชียถือหุ้นร้อยละ 1 และส่วนที่เหลือร้อยละ 49 ถือหุ้นโดยสายการบินแอร์เอเชีย ประเทศมาเลเซีย

            ต่อมา บริษัทไทยแอร์เอเชียได้ทำการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจการบินของคนต่างด้าว พ.. 2542 และกฎหมายการบินพาณิชย์ของไทย ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจการบินภายในประเทศ ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทยตั้งแต่ร้อยละ 51 ขึ้นไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหม่ ภายใต้ชื่อสายการบินไทยแอร์เอเชีย เช่นเดิมนี้ ประกอบด้วย สายการบินแอร์เอเชียร้อยละ49 นายทัศพลร้อยละ 1 และนิติบุคคลใหม่ภายใต้ชื่อ เอเชีย เอวิเอชั่น ในสัดส่วนอีกร้อยละ 50 และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปในสัดส่วนผู้ถือหุ้นของเอเชีย เอวิเอชั่น เพื่อให้ครบถ้วนตามกฎหมายไทย พบว่า เอเชีย เอวิเอชั่น ถือหุ้นโดยกลุ่มชินคอร์ป ร้อยละ 49 และที่เหลือร้อยละ 51 ถือหุ้นโดย นายสิทธิชัย วีระธรรมนูญ ซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย

            ในประเด็นของการขายหุ้นครั้งนี้ มีผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากการขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น ให้แก่กองทุนเทมาเส็คของสิงคโปร์นั้น ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยแอร์เอเชียนั้นมีผู้ถือหุ้นในบริษัทเป็นต่างชาติเกินกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และขัดต่อกฎหมายการบินพาณิชย์ของไทย ดังนั้น ทางออกของบริษัทชินฯที่ต้องการให้มีสายการบินแอร์เอเชียต่อไปนั้น ก็คือการขายหุ้นให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคนไทยให้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 51 ขึ้นไป ซึ่งในกรณีดังลก่าว บริษัทชินฯ ได้ขายหุ้นให้แก่บริษัทเอเชียอินวิเตชั่น ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่า บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SHIN) แจ้งต่อตลท.ว่า ได้ดำเนินการขายหุ้นบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ให้แก่บริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยขายจำนวน 20 ล้านหุ้นๆ ละ 20 บาท รวมมูลค่า 400 ล้านบาท ทั้งนี้จำนวนหุ้นที่ขายดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (สำหรับบริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัดนั้น มีผู้ถือหุ้น 2 รายคือ SHIN และนายสิทธิชัย วีระธรรมนูญ โดยแบ่งสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 49 และร้อยละ 51 ตามลำดับ)

            ต่อกรณีดังกล่าวมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ของสายการบินแอร์เอเชียนั้นสิ้นสุดลงตั้งแต่การที่บริษัทชินฯ ขายหุ้นให้แก่กองทุนเทมาเส็คของสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.. 2549 แล้ว ดังนั้นบริษัทไทยแอร์เอเชียจึงต้องถูกยกเลิกสิทธิการบินภายในประเทศตั้งแต่ขณะนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามความพยายามในการที่จะให้สายการบินไทยแอร์เอเชียได้รับสิทธิการบินต่อไป ก็คือความพยายามขายหุ้นให้กับบุคคลธรรมดาที่เป็นคนไทยดังกล่าว

            ในกรณีดังกล่าวนั้นมีผู้ตั้งข้อสงสัยต่อความพยายามในการขายหุ้นดังกล่าวว่า แท้ที่จริงแล้วผู้ถือหุ้นใหญ่ในไทยแอร์เอเชียยังเป็นใคร เพราะบุคคลที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่นน่าจะเป็นบุคคลใกล้ชิดกับผู้บริหารของชินฯ นั่นเอง ดังนั้น จึงเป็นที่สงสัยต่อไปได้ว่า ผู้ถือหุ้นในเอเชีย เอวิเอชั่นดังกล่าว เป็นตัวแทนในการถือหุ้นให้แก่ผู้ใดหรือไม่ เพราะลำพังบุคคลดังกล่าว (สิทธิชัย วีระธรรมนูญ) ไม่น่าจะสามารถเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทซึ่งมีราคามหาศาลเช่นนี้ได้

            นอกจากนี้ตามรายงานข่าว รายงานว่า จากการที่นางรสนา ได้พาผู้สื่อข่าวไปตรวจดูสถานที่ตั้งของบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่นนั้นพบว่า ที่ตั้งตามที่จดทะเบียนไว้นั้นเป็นสถานที่ที่มีสภาพเป็นห้องร้าง ไม่มีการทำงานจริงตามที่กล่าวอ้างไว้ ทำให้น่าคิดว่า บริษัทนี้มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการอ้างชื่อบริษัทขึ้นมาทั้งที่ไม่มีตัวตนจริงและผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นสายการบินนี้เป็นเพียงตัวแทนของใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่

            ก่อนหน้าที่จะมีประเด็นเรื่องสัญชาติของบริษัท ไทยแอร์เอเชียนั้น ปัญหาก่อนหน้านี้ก็มีอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับความมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคนในรัฐบาลและญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินของไทยแอร์เอเชีย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

            (1)แนวคิดในการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ

            กรณีนี้มีข้อสงสัยว่า การจัดตั้งสายการบินไทยแอร์เอเชียโดยการอนุญาตให้มีการจัดตั้งและดำเนินการสายการบินต้นทุนต่ำได้นั้น เป็นการเปิดช่องให้มีการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมกับธุรกิจการบินที่มีอยู่แล้วโดยเฉพาะบริษัทการบินไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของหรือไม่ กรณีนี้จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนกับผลประโยชน์ของบริษัทการบินไทย

            (2)การเอื้อประโยชน์ให้กับสายการบินไทยแอร์เอเชีย   

            กรณีนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คนของรัฐบาลเองที่อยู่ในบอร์ดการบินไทยมีความพยายามที่จะกระทำการบางอย่างที่เอื้อประโยชน์ให้แก่สายการบินไทยแอร์เอเชีย เช่น มีการยกเลิกเที่ยวบินของการบินไทยที่มีกำไร แล้วให้แอร์เอเชียเข้าไปดำเนินการแทนโดยไม่มีเหตุผล

            ......................

1.4 สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (สัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครอง)

            กรณีพิพาทระหว่างบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรณีที่มีการตกลงกันระหว่างคู่สัญญาให้ใช้การระงับข้อพิพาทโดยการใช้อนุญาโตตุลาการ โดยข้อพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากทางไอทีวีเห็นว่า การที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ทำผิดสัญญาในการที่กองทัพบกได้ต่อสัญญากับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และการที่อนุญาตให้ดำเนินการบอกรับเป็นสมาชิก (TTV) การละเลยให้สถานีโทรทัศน์ UBC มีการโฆษณาแฝงและกรณีสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 มีการโฆษณาตั้งแต่ช่วงการแข่งขันซีเกมส์และโอลิมปิกเกมส์เป็นต้นมา กรณีเหล่านี้เป็นกรณีที่สปน.ทำผิดสัญญาต่อไอทีวี มี 2 ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ ได้แก่

            (1)กรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเสนอเรื่องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยได้หรือไม่

            สัญญาทางปกครองโดยเฉพาะกรณีสัมปทานบริการสาธารณะ โดยปกติล้วนแต่เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายของฝ่ายปกครองโดยตรง ดังนั้นการตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยข้อพิพาทในสัญญาประเภทนี้จึงเป็นการกำหนดให้บุคคลที่สามซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบในบริการสาธารณะมาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่า การจัดทำบริการสาธารณะควรจะเป็นอย่างไรและจะต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะถือว่าถูกต้อง (ตามสัญญา) ในขณะที่ฝ่ายปกครองซึ่งต้องรับผิดชอบในการบริการสาธารณะนั้นกลับไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องบริการสาธารณะซึ่งกฎหมายกำหนดให้ตนเป็นผู้รับผิดชอบได้ ดังนั้นการทำสัญญาโอนอำนาจตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับบริการสาธารณะไปให้บุคคลที่สามนี้จึงไม่น่าจะถูกต้องกับสภาพของงานที่เป็นบริการสาธารณะ

            (2)ปัญหาเรื่องเนื้อหาของคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ

            ในประเด็นเรื่องคำชี้ขาดนั้นคณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้วินิจฉัยให้มีความชัดแจ้งแต่อย่างใด กล่าวคือ ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายจากการผิดสัญญานั้น คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้วินิจฉัยแต่อย่างใดว่า ไอทีวีได้รับความเสียหายอย่างไรจากการผิดสัญญาของฝ่ายปกครอง แต่กลับเลี่ยงไปวินิจฉัยเรื่อง

การชดเชยความเสียหายแทน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลของการกระทำขาดหายไป กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด แต่คณะอนุญาโตตุลาการจงใจไม่ชี้ขาด แต่กลับวินิจฉัยให้ฝ่ายปกครองชดเชยความเสียหาย ดังต่อไปนี้

            (2.1) ชดเชยความเสียหายจากการที่มีการโฆษณาของช่อง 11 ระหว่างปี 2542-2544 เป็นจำนวน 20 ล้านบาท

            (2.2) ลดประโยชน์ตอบแทนของไอทีวี ที่ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 1,000 ล้านบาท ลงเหลือปีละ 230 ล้านบาท

            (2.3) ให้ สปน. คืนประโยชน์ตอบแทนสำหรับสัญญาปีที่ 8 ที่ชำระไปแล้ว จำนวน 800 ล้านบาท คืนให้แก่ไอทีวี จำนวน 570 ล้านบาท

            (2.4) ให้สัดส่วนการออกรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ของไอทีวี ที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าต้องมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด ให้เหลือเพียงร้อยละ 50 และยกเลิกข้อจำกัดที่ต้องออกอากาศเฉพาะรายการประเภทนี้เท่านั้นในช่วง 19.00-21.30 น. ด้วย เพื่อให้ไอทีวีสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการโทรทัศน์รายการอื่นๆ ได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

            ในเรื่องการแก้ไขสัญญาทางปกครองนี้ เหตุผลเพียงประการเดียวที่คณะอนุญาโตตุลาการยกขึ้นกล่าวอ้าง คือ บทบัญญัติมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่บทบัญญัติมาตราดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในความตกลงในสัญญาที่พิพาทกัน ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นตราขึ้นหลังวันทำสัญญาเข้าร่วมงานฯ ถึงสองปีเศษ

 

                                                ………………………………………

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท