Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยกองบรรณาธิการนิตยสาร "อาทิตย์" นิตยสารวิเคราะห์ข่าวการเมืองอันโด่งดัง ที่มีชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เป็นบรรณาธิการ เมื่อ 11 ปีก่อน เป็นเรื่องจากปกที่วิเคราะห์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในจังหวะแรกที่เขาก้าวเท้าเข้ามาสู่วงการเมือง ในวันนั้นไม่มีใครคิดว่า เขาจะใช้เวลาไต่บันไดไปเป็นนายกฯ ได้ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีต่อมา


 


ความน่าสนใจของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้อยู่ที่ มันได้ตอบและยืนยันความจริงวันนี้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น ไม่ว่าจะเป็นการซุกหุ้น สไตล์การบริหาร การเล่นกับรัฐธรรมนูญ


 


เรื่องราวเหล่านี้หลายคนอาจจะลืมเลือนไปแล้ว "ประชาไท" จึงอยากพาผู้อ่านย้อนอดีตไปรู้จักกับ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านบทความชิ้นนี้ แต่ด้วยความยาว จึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็นตอนๆ ทั้งหมด 4 ตอน 1.สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม 2.การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง 3. พิสูจน์แล้ว...ว่า "แรด" ยังวิ่งหนี และ ตอนที่ 4.เส้นทางการเมืองทักษิณ "เทวดาห้าห่วง" เป็นตอนจบ โปรดติดตาม


 


คิดเสียว่า นี่คือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ราวกับฟังม็อบพันธมิตรฯ ไฮด์ปาร์ค หน้าเวที


 


 


 


 


 


0000000000


 


 


เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร


จากนิตยสาร "อาทิตย์" ฉบับที่ 919 วันที่ 20 -26 มกราคม 2538


 


000


 


ตอนที่ 1


สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม


 


ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางสาวไทยและนางงามจักรวาล เคยเปรียบเทียบวันแห่งความรุ่งโรจน์ของเธอทันทีที่ได้สวมมงกุฎนางงามจักรวาลว่า ปานประดุจเธอกลายสภาพเป็น "ซินเดอเรลลลา"  โดยทันที ตื่นขึ้นมาก็พบว่าตัวเองกลายเป็นนางฟ้าจนแทบแยกแยะไม่ออกว่ามันเป็นความฝันหรือความจริง...


 


สำหรับพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นั้น วิถีชีวิตของเขาคงวิลิศมาหลาถึงขั้นนั้น แต่ใครจะไปคิดบ้างว่า นายตำรวจติดตามที่คอยพูดจาสนิทสนมกับนักการเมืองในบริเวณหน้าห้องทำงานของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.ปรีดา พัฒนถาบุตร จะใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้นพลิกวิถีชีวิตของเขา จากคนที่นักการเมืองหรือใครต่อใครไม่ให้ค่ามากนัก กลายมาเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ซึ่งพรรคการเมืองอย่างความหวังใหม่เคยมีการเรียกร้องเสนอชื่อบุคคลผู้นี้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในโควตาพรรคความหวังใหม่ทั้งที่เขาไม่ได้เป็น ส.ส. เช่นเดียวกับพรรคพลังธรรม ได้แสดงความดีใจอย่างสุดขีดปานประดุจดอกฟ้าโน้มกิ่งมาสู่บรรดากระต่ายที่กระโดดโลดเต้นอยู่บนพื้นดิน เมื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจรับข้อเสนอของพรรค ที่จะเข้าเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศในโควตาของพรรคพลังธรรม


 


ระยะเวลา 4 ปีนั้นเร็วเหลือเกิน หากมาเปรียบเทียบกับรายได้ที่เขาประกาศอย่างเป็นทางการเอาไว้ถึงทรัพย์สินของเขาก่อนเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศว่า มีจำนาน 60,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมของภรรยาและยังไม่สืบสาวไปถึงจำนวนหุ้นที่แตกกระจายอยู่ในรูปการลงทุนอีกหลายบริษัท ระยะเวลา 4 ปีที่พลิกผันให้เขามีเงินเกือบแสนล้านบาทนั้น มันทำให้วิถีชีวิตของเขายิ่งกว่าซินเดอเรลลลา ปานประดุจเป็น "เทวดา" หรือ "โอปปาติกะ" ที่สามารถเติบโตได้แบบเกิดปุ๊บโตปั๊บ...เขาไม่ต้องใช้เวลาดิ้นรนต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ไม่ต้องใช้พรรษาทางการเมืองสนับสนุนความเป็นนายกรัฐมนตรี ก้าวแรกที่เขาเหยียบย่างเข้าสู่การเมืองอย่างเปิดเผย ก้าวที่มาในฐานะของรัฐมนตรีการต่างประเทศ หรือ "ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย" เวทีสากล วิถีชีวิตของเขาจึงไม่ผิดอะไรกับเทวดา และก่อนหน้าหรือหลังจากการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ แม้นว่าจะต้องเผชิญมรสุมและการกล่าวหาหนักหน่วงเพียงไรก็ตามที และแม้นกระทั่งปัญหาคุณสมบัติของเขาจนบัดนี้...แต่ทักษิณ ชินวัตร แกร่งจริงๆ อดทน และยืนทะนงเผชิญหน้ากับมรสุมที่พัดสาดซัดเข้าใส่


ถ้าหากเปรียบเทียบกับวัสดุใดๆ แล้ว เขาไม่ใช่ใบไม้ที่จะหลุดปลิวตามลมทันทีที่เกิดมรสุมฟ้าคะนองสาดซัด เขาไม่ใช่สังกะสีที่ผุกร่อนไปตามกาลเวลาโดยรวดเร็ว แต่ความแข็งแกร่ง ความแน่นหนาของเขาไม่ต่างอะไรกับกระเบื้องชั้นดี ตกลงมาจากฟ้าก็ยังไม่แตก ด้วยเหตุนี้วิถีการเมืองที่อุบัติขึ้นปั๊บเติบโตทันทีปานประดุจเทวดา บวกกับความแข็งแกร่งและความแน่นหนา...ไม่ถือเป็นการยกย่องเกินไปนัก ถ้าหากใครตั้งสมญาให้กับเขาว่า "เทวดาห้าห่วง"


 


สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม      


ในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว ชื่อของ ทักษิณ ชินวัตร ถูกดึงเข้ามามีส่วนพูดจากันในวงการเมืองของหลายต่อหลายพรรค บุคลิกลักษณะในความเป็นคนหนุ่มในภาคธุรกิจของเขานั้น ดูไม่แตกต่างมากนักจาก ไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ ไม่นานก็สนิทสนมกับนักการเมืองหลายต่อหลายราย ไม่ว่าเคยนั่งอยู่หน้าห้องรองนายกรัฐมนตรีณรงค์ วงศ์วรรณ มีฐานะเป็น "บอร์ดใหญ่" อย่างไม่เป็นทางการในการจัดตั้งรัฐบาลสุจินดา คราประยูร หรือมีชื่ออยู่ในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่ม 16 ผู้ก่อตั้งพรรคประชารัฐ...ฯลฯ


 


บุคคลทั้งสองเข้ามาใกล้กับวงการการเมืองในท่าทีที่ไม่ต่างกัน คือมีเพื่อนนักการเมืองมากมาย ตามลีลาที่นักธุรกิจเรียกไว้ว่า "การกระจายความเสี่ยง" แต่สำหรับทักษิณ ชินวัตร นั้น ยังมีบุคลิกพิเศษที่ต่างไปจากไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ เนื่องจากธุรกิจของเขาไม่ใช่ธุรกิจที่ดินอย่างไพโรจน์ ทักษิณ เติบโตมาจาก "สัมปทานของรัฐ" ไม่ว่าจากบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี ที่เข้าไปประมูลการจัดทำสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองติดต่อมาหลายต่อหลายปี และแม้กระทั่งในระยะอันใกล้นี้ บริษัทภายใต้การนำของเขาก็ใช้ความชาญฉลาดอย่างสูงทีเดียวในโอกาสที่จะได้มาซึ่งสัมปทานดังกล่าวต่อไป ทันทีที่บริษัทเทเลเพจเจส ซึ่งเต็มไปด้วยพนักงานของชินวัตรไม่สามารถผ่านเงื่อนไขทำการผลิตสมุดโทรศัพท์ได้ตามสัญญากับรัฐหรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย


 


ทักษิณ ชินวัตร ยังถูกยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจไทยรายแรกที่นำเสนอโครงการใหญ่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐ นั่นก็คือ "โครงการดาวเทียม" ในยุคเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วยังเป็นคำที่ดูตลก และกลายเป็นคำพูดของนักฝัน เมื่อร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่คุมงานการสื่อสาร ได้แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของทักษิณ สมญานามของร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ก็ถูกตั้งขึ้นมาใหม่แทนที่จะใช้คำว่า "สารวัตรนินจา" ก็กลายเป็น "เหลิมดาวเทียม"


 


แต่สมญาที่เคยตั้งกันขึ้นด้วยความขบขันครั้งนั้น...ใครจะคิดบ้างว่า มันจะกลายเป็นรากฐานอันสำคัญของบริษัทชินวัตร ภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐในการยิงดาวเทียมดวงแรกเพื่อธุรกิจ ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เรียกชื่อว่า "ดาวเทียมไทยคม"


 


เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ทักษิณเกิดทางธุรกิจครั้งใหม่มาพร้อมๆ กับความสนิทสนมกับร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง และหลังจากนั้นชื่อเสียงของเขาก็กลายเป็นดาวบนท้องฟ้า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุค รสช. ที่พยายามห้ำหั่น ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ไม่สามารถรุกเข้าหาธุรกิจของเขาได้มากนัก เขามีความคล่องแคล่วไม่เทอะทะอย่างเช่นบริษัทซีพี (เจริญโภคภัณฑ์) ที่กำลังตีปีกจากสัญญาโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายที่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน อนุมัติให้ก่อนหน้าถูกรัฐประหาร


 


ความพยายามทวงหากำไรสูงสุดให้กับรัฐบาล โดยรัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุน นั้น ทำให้บริษัทซีพีกับรัฐบาลอานันท์มีปัญหายุ่งยากต่อกันทีเดียว ในการแก้ไขสัญญาที่เห็นว่ารัฐเสียเปรียบ มาเหลือสัญญาใหม่คือซีพีถูกลดสัมปทานไปจาก 3 ล้านเลขหมายโทรศัพท์เหลือ 2 ล้านเลขหมายโทรศัพท์ ในขณะที่ชินวัตรที่ได้รับสัญญาณดาวเทียมว่องไวกว่าในการเข้าประกบกับ "อำนาจใหม่" เขาเสนอลดสัมปทานของตัวเองจาก 30 ปี เหลือ 20 ปี เขาหลบรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ และดูเหมือนว่า จากจุดนี้นี่เอง เขาก็ได้ "เพื่อนใหม่" ทางการเมืองตามนโยบายกระจายความเสี่ยง นั่นก็คือสายโยงใยที่ทอดไปหา "กลุ่มเพื่อนอานันท์" ทั้งหลาย ไม่ว่า วิชิต สุรพงษ์ชัย, ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ,โอฬาร ชัยประวัติ,และอนันต์ อัศวโภคิน...


 


แต่สำหรับสายตานักธุรกิจมีระดับอย่างอานันท์ ปันยารชุน ทักษิณไม่ใช่พวก "บลัด-อีลีท" หรือเลือดผู้ดี เขาเป็นเพียงเศรษฐีใหม่ที่ทะยานขึ้นมาในบรรยากาศที่ผู้มีสกุลเหล่านี้มองการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทยว่าอยู่ในยุค "ผู้ดีเดินตรอก - ขี้ครอกเดินถนน" ซีพีและกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดกับประเทศจีน ดูจะน่าอันตรายยิ่งกว่าถ้าเทียบกับทักษิณ ชินวัตร ผู้ยังมีดีกรีความเป็นด็อกเตอร์ เป็นนายตำรวจยศพันตำรวจโท มีภรรยาในตระกูลที่ดีพอ อย่างเช่นตระกูลดามาพงศ์ เชื้อสายก็ไม่เลวนักหากพิจารณาถึงความมีหน้าตาของตระกูลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่


 


แต่ถึงกระนั้นความแนบแน่นทางการเมืองของทักษิณก็ไม่ได้มุ่งเป้าหมายที่กลมกลืนกับกลุ่ม "เพื่อนอานันท์" หรือ "บลัด - อีลีท" มากนัก ทักษิณคลุกคลีกับผู้แทนราษฎรมานาน นานพอที่เขาจะรู้สึกกลมกลืน และเข้าใจกับความดิ้นไปดิ้นมาอันเป็นสัญชาตญาณของนักการเมือง วิถีทางการเมืองของทักษิณค่อนข้างเอียงเข้าหา การเข้าสังกัดพรรคการเมือง...มากกว่าการมองไปว่า "การเมืองเป็นเรื่องสกปรก" แบบอีลีท บลัด ทั้งหลาย


 


ในเขตภาคเหนือ ธรรณพ ธนะเรือง อดีตนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ ผู้ใช้ความพยายามเอาชนะการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิดมาหลายต่อหลายครั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามามีส่วนเป็นกลไกอันหนึ่งในบริษัทชินวัตรในฐานะประชาสัมพันธ์ของบริษัท แต่คงไม่ใช่เพราะธรรณพเพียงคนเดียว ที่ทำให้สายสัมพันธ์ในวิถีทางการเมืองของทักษิณมุ่งเข้าหาคนชื่อชวน หลีกภัย... ดูเหมือนว่า ลีลานักการเมืองภาคใต้อย่างชวน จะสร้างความประทับใจให้กับทักษิณมาเป็นเวลานานพอสมควร แนวนโยบายที่ตึงตัวแบบพรรคพลังธรรม มีภาพพจน์ที่เลวน้อยกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ


 


การให้ความสนใจต่อพรรคประชาธิปัตย์และต่อชวน หลีกภัย นั้น มากถึงขั้นคนใกล้ชิดทักษิณระบุว่า เขาแสดงความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ในระหว่างที่พบปะกับชวน หลีกภัย ในฐานะผู้สนับสนุนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถึงกับมีคำถามอย่างซีเรียสต่อลูกแม่ถ้วน หลีกภัย ผู้นี้ว่า... "จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ถึงสามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแบบพรรคเดียว หรือ 181 เสียง" ตามประสบการณ์การเมืองของชวน หลีกภัยแล้วนั้น...ทำให้เขาได้แต่ยิ้มๆ ตามรายงานของคนใกล้ชิด แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้ถึงความเอาจริงเอาจัง และความปรารถนาดีที่ทักษิณมีต่อชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์...


 


นอกไปจากนี้...การที่ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เปลี่ยนเก้าอี้จากกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในโควตาพรรคประชาธิปัตย์นั้นยิ่งทำให้วิถีทางของทักษิณกับพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งดูแนบแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ หากทักษิณคิดจะก้าวสู่วงการเมืองโดยการเลือกตั้ง สนามที่เขาจะลงนั้นเชื่อว่าไม่พ้นจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากธารินทร์ นิมมานเหมินท์ หรือ "อ้ายน้อย" ของตระกูลนิมมานเหมินท์ ตระกูลคนชั้นสูงหลายสมัยหลายยุคในอาณาจักรล้านนา หากบุคคลทั้งสองจับมือเข้าหากันในนามพรรคประชาธิปัตย์...เขาทั้งคู่จะมีฐานะเป็นขุนพลภาคเหนือได้โดยไม่ยาก การเงินของทักษิณที่เหนือกว่าธารินทร์นั้น...ก็อาจทำให้ทักษิณอยู่ในฐานะ "ผู้นำ" แบบเดียวกับชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ที่เติบโตเคียงคู่กันมาได้ แต่แม้นว่า...โดยท่าทีที่แสดงออกถึงส่วนลึกในจิตใจของทักษิณนั้น จะมุ่งตรงสู่ค่ายประชาธิปัตย์...ในทางธุรกิจ การ "กระจายความเสี่ยง" เป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มี "สัมปทานกับรัฐ" ทักษิณจึงมีชื่อกว้างไกลไปถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าความหวังใหม่ ชาติไทย ชาติพัฒนา กิจสังคม ฯลฯ นักการเมืองหลายรายที่มี "หุ้นราคาพาร์" ของบริษัทชินวัตรอยู่ในมือ ไม่ต่างอะไรกับสื่อมวลชนดังๆ หลายรายที่ใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ "โนเกีย" ที่บริษัทชินวัตรจำหน่าย ...แต่ไม่เคยมีใครคาดหวังเอาไว้เลยว่า...เมื่อทักษิณก้าวขาเข้ามาสู่วงการเมืองอย่างเป็นทางการ เขาจะก้าวเข้ามาในนามพรรคพลังธรรม ผู้ประกาศนโยบายทั้งต่อหน้าและลับหลังว่าจะยืนหยัดแนวคิด "บุญนิยม" ต่อต้าน "ทุนนิยม" มาโดยตลอด


 


………………………………………………..


(โปรดติดตามตอนที่ 2 : การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง พรุ่งนี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net