ศาลจำลองครั้งสุดท้าย คนกว่า 3,000 แห่ฟังพยานปากเอก ป๋าเหนาะ เสธ.หนั่น ประมวล ชูวิทย์

ประชาไท—11 มี.ค. 2549 ศาลจำลองนัดสุดท้าย คนฟังแน่นหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กว่า 3,000 คน เบิกพยานปากเอก นายเสนาะ เทียนทอง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นายประมวล รุจนเสรี และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ โดยศาลมีคำสั่งคดีมีมูล ทักษิณผิดอย่างน้อย 4 ประเด็น

 

การดำเนิการไต่สวนมูลฟ้องของศาลจำลอง ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 10 มี.ค. เป็นการไต่สวนของศาลจำลองครั้งสุดท้ายหลังจากจัดมาทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการไต่สวนประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณ โกงเมื่อมีอำนาจ และโกงเพื่อมีอำนาจจริงหรือ โจทก์ของคดีได้แก่ พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ฟ้องนายกรัฐมนตรีในว่า มีการกระทำผิดกฎหมายหลายมาตราและละเมิดกฎหมายบ้านเมืองชัดเจน

 

โดยกล่าวหาว่าการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โกงอย่างบูรณาการ ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ตัวเอง กระทำทุจริตผิดกฎหมายเลือกตั้ง ข้าพเจ้าขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องดังนี้

 

1 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โกงเพื่อมีอำนาจ

2 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โกงเมื่อมีอำนาจ

 

พล.ต.ท.สมเกียรติอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจหน้าที่ตำแหน่งที่มีอยู่กำหนดนโยบายและออกกฎหมายเป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์ดังต่อไปนี้

 

1 ใช้อำนาจในฐานะนายกฯ ออกพระราชกฤษฎีกาภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้บริษัทแอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวนายกฯ ได้รับประโยชน์จากการแปรสัญญาณโทรคมนาคมนับพันล้านบาท

 

2 ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือที่เยกว่า BOI ได้ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทดาวเทียมไอพีสตาร์โดยไม่ต้องชำระภาษี 8 ปี เป็นจำนวนสูงถึง 16400 ล้านบาท

 

3 ใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขพระราชบัญญัติกิจการโทรคมนาคม 2549 ขายการถือหุ้นของต่างชาติ จาก 25 เปอร์เซ็นต์เป็น 49 เปอร์เซ็นต์ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2549 จากนั้นวันที่ 23 ม.ค. มีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์

 

การแก้ไขกฎหมายขายหุ้นครั้งนี้ทำให้ประเทศสิงคโปร์เข้ามาครอบงำกิจการโทรคมนาคมเป็นการเปิดเผยความลับด้านโทรคมนาคมอันเป็นความปลอดภัยของชาติผิดตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติคุ้มครองความลับในราชการ พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นกฎหมายทีเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติด้วย

 

กรณีที่ 4 ปี 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ให้ครม. มีมติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าหรือ EXIM BANK ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้รัฐบาลพม่า เพื่อทำสัญญาขอใช้บริการดาวเทียวไทยกับบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป ทำให้รัฐบาลไทยต้องค้ำประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ให้กับพม่าซึ่งเป็นการโอนภาระของบริษัทชินแซทฯ ซึ่งเป็นคูสัญญาโดยตรงมาให้กระทรวงการคลังและผู้เสียภาษีของไทย

 

นอกจานี้ยังมีประเด็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งต่างกรรมต่างวาระด้วย

 

เจ้าพ่อวังน้ำเย็นให้การ ทักษิณมีวุฒิ แต่ไร้ภาวะ แฉไทยรักไทยหัก 10% โครงการรัฐ

นายเสนาะ เทียนทองอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยได้ขึ้นเบิกความ โดยนายเสนาะสาบานตนว่าจะมีพูดแต่ความจริง หากพูดไม่จริงขอให้มีอันเป็นไปภายในสามวันเจ็ดวัน แต่หากพูดความจริงก็ขอให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัย

และเมื่อศาลถามว่านายเสนาะประกอบอาชีพอะไร นายเสนาะตอบว่า "ตกงาน"

 

หลังจากนั้น นายเสนาะได้เบิกความต่อศาลจำลองด้วยความเอาจริงเอาจังโดยระบุว่า ไม่อยากให้ศาลจำลองแห่งนี้กลายเป็นศาลที่จัดขึ้นเล่น ๆ เป็นละครแบบศาลไคฟง แต่ต้องการมาพูดความจริงให้ศาลจำลองและประชาชนได้รู้ และเจตนามาเป็นพยานในศาลจำลองแห่งนี้เพื่อจะบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นโกงเพื่อมีอำนาจและโกงเมื่อมีอำนาจ

 

นายเสนาะกล่าวว่าแม้คำกล่าวหาของโจทก์จะยืดยาว แต่ประเด็นสำคัญที่นายเสนาะต้องการจะบอกก็คือว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเป็นคนที่พูดได้ทุกอย่างและทำได้ทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

 

นายเสนาะได้อ้างถึงกรณีวิกฤติค่าเงินบาทซึ่งมีเหตุจงใจให้เชื่อได้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนรู้เห็นและได้ประโยชน์จากวิกฤติเงินบาทเมื่อปี 2540 เนื่องจากเป็นผู้เสนอให้นายทะนง พิทยะ เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลังจากที่นายอำนวย วีรวรรณ ขอลาออกไป ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธได้สอบถามความเห็นจากนายเสนาะแล้ว และนายเสนาะเตรียมจะเสนอชื่อนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เข้าดำรงตำแหน่ง แต่ในวันรุ่งขึ้นก็ได้รับคำชี้แจงจากพล.อ.ชวลิตว่าได้ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่แล้วคือนายทนง พิทยะ พร้อมบอกว่า "เป็นเพื่อนของทักษิณเขา"

 

นายเสนาะกล่าวถึงกรณีวิกฤติค่าเงินบาทว่าเปรียบพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนที่ยอมเผาบ้านเผาเมืองเพื่อเอาเงินประกัน

 

นอกจากนี้ นายเสนาะกล่าวว่า การจัดการงบประมาณแผ่นดินของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเอางบแผ่นดินมากองรวมเป็นงบกลาง หากรัฐมนตรีคนไหนต้องการก็ให้มาต่อรอง โดยพ.ต.ท.ทักษิณ เคยพูดต่อหน้านายเสนาะว่ามีงบให้บางกระทรวง 5000 ล้าน ไปเขียนโครงการอะไรมาก็ได้ แต่ต้องหักให้กับพรรคไทยรักไทย 10 เปอร์เซ็นต์ คือ500 ล้าน

 

นายเสนาะยังกล่าวถึงโครงการบางโครงการของการทองเที่ยวแห่งประเทศไทยว่ามีการขุดสระน้ำเพื่อให้นกบินลงมาดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยใช้งบประมาณไปหลายร้อย ล้านบาท

 

นายเสนาะยังกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้นเป็นผู้มีวุฒิสูง แต่ภาวะต่ำคือเอารัดเอาเปรียบอย่างไรก็ได้เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด และเมื่อพูดถึงการดำรงตำแหน่งราชการต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นมีฐานะเป็นเพียงรองผู้กำกับการเท่านั้น และในความเป็นจริง พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่เคยบริหารงานราชการเลย เพราะเริ่มต้นชีวิตราชการด้วยการหิ้วกระเป๋าตามนาย และไม่เคยทำคดีใด ๆ เลยสักคดีเดียว

 

นายเสนาะให้ความเห็นถึงคำกล่าวว่า "ถ้าทักษิณไม่ใช่นายกแล้วจะให้ใครเป็นนายก" ว่าเอาใครมาเป็นนายกก็ได้ แม้แต่มัคทายกก็เป็นนายกได้ ขอแค่เป็นคนมีคุณธรรม เพราะคนที่เก่งอย่างทักษิณนั้นมีไม่น้อย

 

"ประมวล" ซัดต่อ ทำระบบราชการป่นปี้ ปู้ยี่ปู้ย่ำงบประมาณแผ่นดิน

 

จากนั้น นายประมวล รุจนเสรี อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยสังกัดกลุ่มวังน้ำเย็น ซึ่งลาออกจากพรรคไทยรักไทยพร้อมกับนายเสนาะได้ขึ้นเบิกความเป็นคนถัดมา เป็นผู้ให้รายละเอียดพฤติกรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ ตามข้อกล่าวหาของโจทก์โดยระบุว่านโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว 4 ประเด็นหลักคือ

 

นโยบายแรก คือนโยบายธนกิจการเมือง หมายความว่าการทำพรรคการเมืองต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกพรรค ดูแลส.ส. และเมื่อการเมืองกลายเป็นธุรกิจก็ต้องมีการหาทุน ซึ่งระยะแรก ๆ อาจจะยังไม่รู้กลเม็ดมากนักก็เริ่มต้นด้วยการประกาศเร่งโครงการต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นเรื่องดีคิดเร็วทำเร็ว แต่ในความเป็นจริง นั่นคือการหาวิธีที่จะทำให้เกิดการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นกรณีพิเศษโดยอ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วน เช่นกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ

 

จากนั้นเริ่มมีกลเม็ดเด็กขึ้นด้วยการตั้งงบกลางเอาไว้สูงมาก โดยที่รัฐบาลอื่น ๆ จะตั้งงบปลางไว้เพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งงบกลางไว้ถึงเกือบแสนล้านบาท ซึ่งอำนาจสั่งจ่ายอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บางครั้งก็ต้องตกใจเมื่อนายกฯ เสนอโครงการเองแล้วก็อนุมัติเอง

 

กลยุทธ์ของธนกิจการเมืองประการที่สำคัญก็คือ เมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งกำลังเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน

 

นอกจากนโยบายเกี่ยวกับธรกิจการเมืองแล้ว นายประมวลกล่าวว่านโยบายต่อไปก็คือ นโยบายหนีการตรวจสอบ "ศาลที่เคารพครับ ท่านายกฯ ไม่เคยไปชี้แจงอะไรในสภาฯเลย นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า ที่เข้ามานี่ก็เพื่อตั้งหน้าตั้งตามทำธนกิจการเมือง"

 

นโยบายต่อมาก็คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ และใช้มติพรคผูกมัด ส.ส. ในพรรค นอกจากนี้นายประมวลกล่าวด้วยว่า สำหรับวุฒิสภานั้นก็เป็นเพียงนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น

 

นโยบายต่อมาก็คือการใช้ตัวบุคคล ซึ่งนายประมวลกล่าวว่า ระดับความสำคัญของคณะรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณนั้นมี แบบ แบบแรกก็คือ คนของบ้านจันทร์ส่องหล้าหรือคนของเอไอเอส เป็นคนที่ทำงานให้กับเอไอเอส คนเหล่านี้จะนั่งในกระทรวงสำคัญ ๆ เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงไอซีที และเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยถูกเปลี่ยนตำแหน่ง

 

ลำดับถัดมาก็คือกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ยอมซูฮกให้ และลำดับสุดท้ายก็คือกลุ่มผู้มีพระคุณ ซึ่งสังเกตได้ว่าคนที่อยู่ในกลุ่มหลังจะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในระยะเวลาไม่นานก็จะถูกเปลี่ยนออก

 

นายประมวลกล่าวว่าสุดท้ายแล้วคนที่อยู่กับพ.ต.ท.ทักษิณได้ดีก็คือคนที่ประจบเป็น

 

สำหรับข้าราชการนั้น นายประมวลกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนที่ทำลายระบบราชการและศักดิ์ศรีของข้าราชการลงโดยสิ้นเชิงด้วยการสลับโยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุด็คือนโยบายผู้ว่าซีอีโอซึ่งดูเหมือนจะดี แต่ความจริงแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากต้องคอยเกี๊ยะเซียะกับส.ส.ในพื้นที่

 

เสธ.หนั่น ให้การ องค์กรอิสระ 2 มาตรฐาน ระบุไม่มีเสียดีกว่า

จากนั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หรือ เสธ.หนั่น ขึ้นเบิกความโดยนายปราโมทญ์คริษฐ์ ธรรมคุณากร ทนายได้ซักถามรายละเอียดของการเลือกตั้งในเขตจังหวัดพิจิตรที่พรรคหมาชนแพ้คะแนนไปแบบขัดสายตากองเชียร์จนกระทั่งมีการให้ใบเหลืองและมีการเลือกตั้งใหม่จนนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ในที่สุด

 

พล.ต.สนั่นให้รายละเอียดว่า การเลือกตั้งที่พรรคมหาชนแพ้นั้นเป็นเพราะว่าถูกโกงแบบที่คาดไม่ถึงและไม่เคยพบไม่เคยเจอมาก่อน โดยให้ทหารเป็นคนนับคะแนน และมีการพกบัตรคะแนนเข้าไปเพิ่มเพิ่มเติมในการนับคะแนน อีกทั้งยังมีการขานคะแนนผิดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าบัตรจะกาหมายเลข 11 (พรรคมหาชน) หรือหมายเลข 2 (พรรคประชาธิปัตย์) ก็ถูกขานคะแนนเป็นหมายเลข 9 (พรรคไทยรักไทย)

 

อย่างไรก็ตามพล.ต.สนั่นกล่าวว่าทางพรรคมหาชนได้ถ่ายวีดีโอเก็บเป้หลักฐานครบถ้วนและได้ร้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนกระทั่งต้องให้ใบแดงและมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพล.ต.สนั่นกล่าวว่าต้องเตรียมการป้องกันการทุจริตอย่างเต็มที่ ทั้งเตรียมกล้องวีดีโอ ทั้งทำกรง 2 ชั้น สำหรับเก็บหีบบัตรเลือกตั้งและส่งคนเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งในที่สุดก็ชนะคะแนนพรรคไทยรักไทยถึงกว่า 20,000คะแนน

 

พล.ต.สนั่นกล่าวว่าหลังจากแพ้การเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้แสดงความโกรธด้วยการไปประกาศที่ จ.นครสวรรค์ว่าจังหวัดไหนไม่เลือกพรรคไทยรักไทยจะได้งบประมาณน้อยและไปถึงช้ากว่าจังหวัดอื่น

 

พล.ต.สนั่น พุ่งเป้าการให้การไปที่องค์กรอิสระและ กกต.ว่าดำเนินการ 2 มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ

 

เสธ.หนั่นกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยการไม่แจ้งหนี้จำนวน 45 ล้านของเขาจนกระทั่งตัดสินเพิถอนสิทธิรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่กลับไม่รับวินิจฉัยกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่แจ้งการถือหุ้นและการโอนข่ยหุ้นให้บุตรชายว่าคือตัวอย่างของการตัดสินแบบ 2 มาตรฐาน

 

เมื่อทนายซักถามว่า หากพล.ต.สนั่นมีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระจะแก้ไขอย่างไร พล.ต.สนั่นตอบว่าหากองค์กรอิสระเป็นแบบนี้ก็ไม่มีดีกว่า และวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งถึง 200 ก็เป็นจำนวนที่มากเกินไป ทางที่ดีควรให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งขององคมนตรีโดยกำหนดจำนวนเพียง 100 คนก็เพียงพอ และองค์กรอิสระก็ควรจะได้รับการแต่งตั้งจากองคมนตรี หากไม่เป็นเช่นนี้ ก็อย่างมีองค์กรอิสระดีกว่า

 

หลังคำตอบของ พล.ต.สนั่น ผู้ฟังในหอประชุมใหญ่ปรบมืออย่างยาวนาน

 

ชูวิทย์ ให้การ นายกตัวการทำคนไทยแตกแยก ชี้อาชีพหลักเป็นนักปั่นจิ้งหรีด

พยานปากสุดท้ายคือนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เป็นผู้ขึ้นมาสร้างสีสันแก่ศาลจำลองแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่ชิงสาบานตนโดยไม่รอทนาย พร้อมให้เหตุผลว่าตนจำคำสาบานได้แม่นยำเนื่องจากขึ้นศาลบ่อย

 

จากนั้นนายชูวิทย์ได้กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นมีอาชีพหลักเป็นคนปั่นจิ้งหรีดสร้างความแตกแยก แบ่งคนเป็นฝักเป็นฝ่าย ที่บ้านเมืองยุ่งวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพ.ต.ท.ทักษิณเพียงคนเดียว

 

นายชูวิทย์ยกตัวอย่างการปั่นจิ้งหรีดของพ.ต.ท.ทักษิณ เช่น การไปกินข้าวบ้านนายประภัทร โพธสุธน โดยอ้างว่าเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ปี 2518 แล้ว "ปั๊ดโธ่ เป็นเพื่อกันมาตั้งแต่ปี 2518 แล้วนี่มันปี 2549 ทำไมเพิ่งจะมากินข้าวด้วยกัน"

 

"ไม่มีผู้นำประเทศคนใดกระทำเหมือนท่านนายกทักษิณ ชินวัตร วันนี้ท่านนายกทั้งษิฯตั้งระบอบทักษิณขึ้น ทำลายทั้ง สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจริยธรรม ทำให้สังคมไทยแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บางคนติดกู้ชาติ บางคนติดรักทักษิณ ผมก็อยากจะติด...ผมรักคุณ"

 

ศาลมีคำสั่ง คดีมีมูล ผิด 4ประเด็น

ภายหลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งว่า จากการนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีความผิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้ง ๔ นัดที่ผ่านมา เมื่อได้รับฟังคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญ และเอกสารหลักฐานที่โจจทก์และพยานเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการไต่สวนคดี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่มีมูลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่รับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการกระทำที่สื่อว่าเป็นความผิดกฎหมาย ดังต่อไปนี้คือ

 

๑.ในกรณีบริษัทแอมเพิลริชอินเวสเมนท์ ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กระทำการอันมีลักษณะเป็นการ "เข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท" อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๐๙ ซึ่งเป็นความผิดที่ถึงขั้นต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ (๖) นอกจากนี้การที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่แจ้งรายการเกี่ยวกับหุ้นในบริษัทแอมเพิล ริชฯ ทั้งก่อนและหลังการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองสมัยต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ ซึ่งนอกจากจะมีผลทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังมีผลทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลาอีก ๕ ปีอีกด้วย

 

๒.ในการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นให้กับกองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ ปรากฏข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวได้กระทำการอันเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดโดยความเท็จ หรือโดยการฉ้อโกงหรือโดยวิธีอื่นใดทำนองเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร" ซึ่งเป็นความผิดที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท

 

๓.ปรากฎข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้กับธุริกจของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีดังต่อไปนี้ กรณีที่หนึ่ง การออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต ซึ่งส่งผลให้บริษัทแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส ที่เป็นบริษัทของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนเงินนับหมื่นล้านบาท กรณีที่สอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยกเว้นภาษีให้บริษัทชินแซทเทิลไลท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น ได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา ๘ ปี เป็นจำนวนเงินถึง ๑๖,๔๕๙ ล้านบาท กรณีที่สาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขพระราชบัญญัติกิจการโทรคมนาคมขยายการถือหุ้นของคนต่างด้าวจากไม่เกินร้อยละ ๒๕ เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกินร้อยละ ๔๙ ทำให้ครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นซึ่งเป็นกิจการโทรคมนาคมให้กับกองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ได้ นอกจากนี้ยังมีการกระทำต่างกรรมต่างวาระในลักษณะใช้อำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวอีกหลายต่อหลายครั้ง การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการ "ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

๔.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการกระทำที่ส่อว่ามีการทุจริตและกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ และนับตั้งแต่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการกระทำผิดมาตรา ๔๔ และมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา คือเพื่อ "จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง... หรือพรรคการเมืองใด" โดย "จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด" ตามมาตรา ๔๔ (๑) และ "ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน... วัด สถาบันการศึกษา... หรือสถาบันอื่นใด" ตามมาตรา ๔๔ (๒) ทั้งยังละเมิดมาตรา ๔๗ ซึ่งบัญญัติ "ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง" ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนรับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯ ได้มีการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคไทยรักไทยที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค การกระทำความผิดตามมาตรา ๔๔ และ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ นี้เป็นความผิดที่มาตรา ๑๐๑ บัญญัติให้ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

 

จากการรับฟังทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งสี่ประเด็นดังกล่าว ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปกปิดทรัพย์สิน เลี่ยงภาษี ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและทุจริตเลือกตั้ง เป็นคำฟ้องที่มีมูลการกระทำผิดกฎหมาย

 

ศาลจึงมีคำสั่งชี้มูลการกระทำผิดกฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสั่งรับคดีนี้ไว้พิจารณา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองต่อไป

 

ประมวลภาพศาลจำลอง

 



































































































ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท