Skip to main content
sharethis


บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยกองบรรณาธิการนิตยสาร "อาทิตย์" นิตยสารวิเคราะห์ข่าวการเมืองอันโด่งดัง ที่มีชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เป็นบรรณาธิการ เมื่อ 11 ปีก่อน เป็นเรื่องจากปกที่วิเคราะห์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในจังหวะแรกที่เขาก้าวเท้าเข้ามาสู่วงการเมือง ในวันนั้นไม่มีใครคิดว่า เขาจะใช้เวลาไต่บันไดไปเป็นนายกฯ ได้ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีต่อมา


 


ความน่าใจของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้อยู่ที่ มันได้ตอบและยืนยันความจริงวันนี้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น ไม่ว่าจะเป็นการซุกหุ้น สไตล์การบริหาร การเล่นกับรัฐธรรมนูญ


 


เรื่องราวเหล่านี้หลายคนอาจจะลืมเลือนไปแล้ว "ประชาไท" จึงอยากพาผู้อ่านย้อนอดีตไปรู้จักกับ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านบทความชิ้นนี้ แต่ด้วยความยาว จึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็นตอนๆ ทั้งหมด 4 ตอน 1.สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม 2.การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง 3. พิสูจน์แล้ว...ว่า "แรด" ยังวิ่งหนี และ ตอนที่ 4.เส้นทางการเมืองทักษิณ "เทวดาห้าห่วง" เป็นตอนจบ โปรดติดตาม


 


คิดเสียว่า นี่คือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ราวกับฟังม็อบพันธมิตรฯ ไฮด์ปาร์ค หน้าเวที


 


 


 


 


 


0000000000


 


 


เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร


จากนิตยสาร "อาทิตย์" ฉบับที่ 919 วันที่ 20 -26 มกราคม 2538


 


000


 


ตอนที่ 3


พิสูจน์แล้ว...ว่า "แรด" ยังวิ่งหนี


 


ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน คือวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เริ่มทำงาน จนกระทั่งถึงต้นเดือนมกราคม 2538 ประเด็นเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 114 และ 166 ว่าด้วยคุณสมบัติรัฐมนตรีในการมีสัมปทานกับรัฐนั้น...มีระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น...มันน้อยเกินกว่าที่ทักษิณจะแสดงความดี เด่น ดัง หรือมีเวลาพอที่จะสร้างความสง่างามให้กับตำแหน่งที่ได้รับ


 


ในแต่ละนาที...ดูเหมือนทักษิณพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงถึง "ราคา" ของสมญานาม "อัศวินแห่งคลื่นลูกที่ 3" ที่คนชั้นกลางตาไม่ดีตั้งฉายาให้กับเขา เขาใช้จังหวะที่ โมฮัมหมัด ซาอิด โคจา กำลังสร้างแรงกดดันให้กับคนไทยบางกลุ่มในกรณีเพชรซาอุฯสะบัดฝ่ามือใส่อุปทูตซาอุดิอาระเบียหลายฉาด ไม่ว่าด่าสวนทันที หรือไม่ว่าเรียกมายื่นบันทึกช่วยจำที่กระทรวงการต่างประเทศ เขาพยายามสร้างบารมีของนักธุรกิจแสนล้านเพื่อแสดงความแตกต่างจากรัฐมนตรีธรรมดา ด้วยการออกเงินเช่าเหมาเครื่องบินชาแลนเจอร์แบบเช่าเหมาลำด้วยเงินของเขาเอง เดินทางไปเยือนนานาประเทศ เขาพยายามเน้นราคาในการเป็นภาพพจน์ของประเทศ ในการประเดิมงานใหญ่ประชุมเอเปคที่กรุงโกบอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการเปิดแถลงข่าวด้วยตัวเองและหอบหิ้วนักข่าวไปดูความคล่องตัวของเขาในงานระดับชาติ เขาเอาคอลัมนิสต์ชื่อดังอย่าง "ฉลามเขียว" ไทยรัฐ ไปบันทึกรายละเอียดการเคลียร์ข้อกล่าวหาระหว่างเขากับนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นของกัมพูชาถึงกรุงพนมเปญ เขาแทบไม่ใช้อธิบดีกรมสารนิเทศออกมาแถลงข่าวอย่างปกติ แต่รับอาสาทำหน้าที่แทนโฆษกกระทรวงต่างประเทศด้วยตัวเอง เขาพยายามระงับความประหม่าในการทรุดลงภาวนาตามพิธีกรรมของพระจีน ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เขาพยายามสร้างค่าให้กับนักข่าวกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยการติดตั้งโทรทัศน์และดึงเอาสัญญาณไอบีซีมาให้ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงได้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน ยิ่งกว่านั้นเขายังใช้ลีลานักธุรกิจที่คุ้นเคยกับวิธีเข้าหาข้าราชการในการรับสัมปทาน ด้วยการคลุกคลีกับข้าราชการกระทรวงต่างประเทศอย่างตีนติดดิน รวมทั้งปรับระบบการติดต่อของสถานทูตไทยทั่วโลกให้ทันสมัยด้วยระบบสื่อสารล้ำยุค ฯลฯ


 


แต่ดูเหมือนว่า...ระยะเวลามันสั้นเกินไป สั้นเกินกว่าที่เขาจะสร้างความเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการการเมือง หรือก้าวไปสู่จุดสูงสุดทางการเมืองในฐานะแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี...รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านวาระ ในวันที่ 4 มกราคม 2538 โดยเสียงเอกฉันท์จากทั้งวุฒิสมาชิกและผู้แทนราษฎร...บัญญัติของรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่เพียงแต่กระทบกระเทือนต่อคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศที่เขาดำรงสถานะอยู่ มันอาจจะสามารถตีความ "ปิดกั้น" โอกาสที่จะผุดเกิดทางการเมืองของเขาในวันข้างหน้าอีกด้วย...ตราบใดที่เขายังไม่ขายหุ้น และยังไม่หย่าเมีย...


 


บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ส่งผลกระทบต่อเขาเร็วมาก มากพอที่บรรดาประชาชนที่สังเกตการณ์ยังพอจะจำได้ถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศก่อนการเสนอชื่อทักษิณเอาไว้ว่า "หากรัฐธรรมนูญใหม่มีผลปังคับใช้...บุคคลจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎหมาย" ไม่ผิดอะไรกับรองนายกรัฐมนตรีบัญญัติ บรรทัดฐาน ออกโรงมายืนยันในระยะเวลาเดียวกันคือในช่วงปลายเดือนตุลาคมว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะมีผลบังคับใช้ในวันข้างหน้า...ไม่มีข้อยกเว้นเรื่องสัมปทานก่อนหน้าเป็นนายกรัฐมนตรี...กฎหมายแก้ไม่ได้ ก็ต้องแก้ไขเรื่องตัวบุคคลเท่านั้นเอง..."


 


จนกระทั่งต้นปี 2538 บัญญัติ บรรทัดฐาน ก็ยังเน้นย้ำในการให้สัมภาษณ์ช่วงปีใหม่ว่า เขาคาดว่าทักษิณ ชินวัตรจะต้องลาออกจากรัฐมนตรี เมื่อใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้...


 


อันที่จริงประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอชื่อทักษิณเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ นอกจากประเด็นเรื่องไอบีซี แคมโบเดีย พัวพันรัฐประหารแล้ว ประเด็นนี้ยังถูกหยิบยกมาพิจารณาและนำมาวิจารณ์จากหลายๆฝ่ายไม่ว่า ปรีชา สุวรรณทัต, มีชัย ฤชุพันธุ์, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และวิษณุ เครืองาม ฯลฯ


 


ส่วนใหญ่นั้นจะออกความเห็นในลักษณะที่...เชื่อกันว่า...ถ้าหากทักษิณ ชินวัตร ไม่ออกจากรัฐมนตรี เขาก็คงหาทางทำสิ่งที่เรียกว่า "การปรับตัว" ให้เข้ากับกฎหมายรัฐธรรมนูญค่อนข้างแน่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร "ผู้นำแห่งปี 2000 " ถึงกับกล่าวไว้ว่า "ถ้าคุณทักษิณอยากเป็นรัฐมนตรี ท่านก็ควรหย่ากับภรรยาจะได้หมดปัญหา"


 


การปรับตัวเข้ากับกฎหมายตามคำพูดจาของนายกรัฐมนตรี บัญญัติ บรรทัดฐาน ดูจะถูกอธิบายด้วยการหย่าขาดจากภรรยาหรือขายหุ้นตัวเองออกไปให้หมด และต้องขายอย่างโปร่งใสแสดงให้เห็นความสุจริตว่าไม่ได้เอาหุ้นไปฝากใคร...แต่ปรากฏว่าในการวิจารณ์ทำนองนี้ ทักษิณได้ยืนกรานเหมือนกับตอบโต้ว่า...เขาจะไม่หย่าภรรยา และจะไม่ขายหุ้นเด็ดขาด...พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดกันว่าเขาเลือกหนทาง "ลาออก" บางรายถึงกับมองว่าการยืนกรานครั้งนี้เป็นความสง่างามไปเลยทีเดียว ด้วยการวิจารณ์ว่าการเลือกภรรยาแทนที่จะเลือกตำแหน่งนั้น...คือรักแท้...


 


แต่ดูเหมือนว่า...พลตรีจำลอง ศรีเมือง นั้น เขากลับคิดไปอีกทาง พลตรีจำลอง ศรีเมือง พยายามยืนยันต่อสาธารณะหรือต่อคนใกล้ชิดว่า ถึงแม้นรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 และประกาศใช้ ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังไม่ "หมดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี" แต่ดูเหมือนว่าความมั่นใจของเขาไม่ได้มีเหตุผลใดๆ มารองรับ นอกจากการกล่าวถึง "บทเฉพาะกาล" อย่างสะเปะสะปะ บทเฉพาะกาลนั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงรัฐมนตรี แต่ครอบคลุมและยกเว้นเวลาให้เฉพาะ ส.ส. และวุฒิสมาชิก แม้นว่ามีหลายฝ่ายจะแสดงข้อความคัดค้านความเห็นนี้ด้วยเหตุผล แต่พลตรีจำลอง ก็ได้มีเหตุผลใหม่มาคัดค้าน...นอกจากรีวายน์เทปกลับไปกลับมา


 


บนความเคลื่อนไหวที่ดูไม่มีเหตุผลรองรับนั้น น่าตั้งข้อสังเกตไปถึงเรื่อง "เหตุผลทางการเมือง" มากกว่า ว่าไปแล้วบรรยากาศก่อนหน้าตั้งทักษิณเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศและหลังจากนั้นเป็นต้นมา ภาวะการเมืองเต็มไปด้วยความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่พรรคความหวังใหม่ไม่ยอมรับมติคณะรัฐมนตรีในกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 198 -199 ในทางการเมืองนั้นอาจจะก่อให้เกิดภาวะใดๆ ขึ้นมาก็ได้ ที่จะทำให้ระยะเวลาการเป็นรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตรไม่สั้นแค่ 3 เดือน อาทิ ถ้าหากนายกรัฐมนตรีเกิดตัดสินใจยุบสภาขึ้นมาโดยปัจจุบันทันด่วน รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ตกไป สถานะความเป็นรัฐมนตรีของทักษิณก็คงอยู่ยาว อย่างน้อยก็มีเวลาในการเป็นรัฐบาลชั่วคราวและจากไปอย่างสง่างามหรือคาดกันเอาไว้ว่า แม้นว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านสภาฯ ก็ยังสามารถหารายละเอียดของข้อกฎหมายมาแก้ปัญหา สร้างระยะเวลาให้ทักษิณอยู่ได้อีกหลายอึดใจ หรืออาจจะเป็นปีๆ ค่อยแสวงหาจังหวะใหม่ๆ สร้างผลงานชิ้นโบแดงสักครั้งก่อนลาออก


 


ถ้ามองวิธีการแก้ปัญหาของพลตรีจำลองตามเส้นทางการเมืองที่ผ่านมา...บุคลิกการตัดสินใจแก้ปัญหาแบบ "วันต่อวัน" หรือ "วินาทีต่อวินาที" นั้น เป็นบุคลิกเฉพาะตัวเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือการ "เสี่ยง" แล้วไปคิดแก้ไขผลแห่งการเสี่ยงในวันข้างหน้า ตาดีได้ตาร้ายเสีย...


 


จังหวะเวลานั่นเอง...ที่ดูจะทำให้สมาชิกคนสำคัญในพรรคพลังธรรมมั่นใจว่า การเป็นรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร คงจะจากไปพร้อมกับความสง่า ในฐานะนักการเมืองผู้มาจากนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ หากรัฐธรรมนูญผ่านสภาฯ ก็ยังมีเวลาเล่นอีกหลายเรื่องจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการ ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา กินระยะเวลาเป็นเดือนๆไปแล้ว ถ้าหากมีการเสนอ "ตีความ" รัฐธรรมนูญขึ้นมา เป็นไปได้ที่จะต้องใช้ระยะเวลาตีความเป็นปีๆ ตามลักษณะขององค์กรเฉพาะกิจที่กว่าจะประชุมกันแต่ละทีต้องรอคอยผู้ทรงคุณวุฒิให้มากันพร้อมหน้าพร้อมตา ที่สำคัญที่สุดก็คือ...หากจะต้องเข้าสู่การพิจารณาการชี้ผิดชี้ถูกนั้น...จะต้องใช้อัตราเสียง 8 ต่อ10 ในบรรดาตุลาการรัฐธรรมนูญ แค่ 3 เสียงแสดงความไม่เห็นด้วยขึ้นมา...มติของตุลาการรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็ไม่มีผล...


 


ดูเหมือนว่า...การตั้งรับของพรรคพลังธรรมในกรณีของทักษิณ ชินวัตร นั้น...จะเริ่มต้นขึ้นมาจากการใช้ "กลุ่มกบฏ 23" เป็นตัวตั้ง เริ่มจากรากฐานที่มองว่า กลุ่ม 23 พยายามแสวงหาจุดโค่นล้มกรรมการบริหารในพรรคพลังธรรมเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้บรรดาสมาชิกคนสำคัญของพรรคพลังธรรมรวมทั้งพลตรีจำลอง ศรีเมือง จึงไม่ค่อยได้ให้ค่ากับ "ศัตรูที่มองไม่เห็น" นั่นก็คือ "ความชอบธรรมทางการเมือง" และ "สายตาของสาธารณะชน" ต่อการดิ้นรนของพรรคพลังธรรมในเรื่องนี้


 


ยุทธวิธีที่จะรักษาทักษิณ ชินวัตร เอาไว้ให้ได้จึงถูกกำหนดออกมาในแบบ "ใช้เล่ห์เหลี่ยมสู้กับเล่ห์เหลี่ยม" มุ่งที่จะปิดกั้นตอบโต้กับกลุ่ม 23 จนมองไม่เห็นปัญหาอื่นๆ แม้กระทั่งภาพพจน์และความเสื่อมโทรมของพรรค สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกคำนวณอยู่ในราคาค่าใช้จ่ายหรืออาจจะประเมินว่าหักลบกลบหนี้กับความกตัญญูของทักษิณแล้ว...ยังน่าจะเหลือกำไรพอสมควร ก็เลยเริ่มชักธงยุทธวิธียืนกรานว่า...ทักษิณไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่...ด้วยเหตุนี้...ต้องมีการตีความ


 


สำหรับทักษิณเอง...ดูเหมือนว่า "สนามรบทางธุรกิจ" ที่เขาผ่านมาจนเป็นเศรษฐีอันดับ 15 ของเอเชียนั้น จะทำให้เขาประเมิน "สมรภูมิทางการเมือง" ไม่ต่างกันมากนัก ไม่ว่าการแสดงปฏิกริยาทันทีต่อสื่อมวลชนที่โจมตีเขาก่อนหน้าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่า..."ผู้ที่ต้องการให้ผมลาออกจากรัฐมนตรีก็คือผู้ที่พยายามต่อต้านไม่ให้ผมเป็นรัฐมนตรี"


 


ในสายตาของทักษิณและพลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น่าจะมีมุมมองคล้ายๆกัน คือ มองเห็นแต่ "ศัตรูทางการเมือง" หรือ "ศัตรูทางธุรกิจ" ของตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้มองไปถึงปัญหา "ความชอบธรรมทางการเมือง" ไม่ยอมรับเสียงต่อต้านจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากสาธารณะ เกิดขึ้นอย่างบริสุทธ์ใจ...นั่นก็คือเขาเหล่านี้ไม่ได้มองไปว่า "เขานั่นแหล่ะคือศัตรูตัวฉกาจของเขาเอง" ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ทักษิณแสดงให้เห็นว่า...เขาต้องการ "มิตร" โดยเฉพาะมิตรในสภาฯ มากเท่าไหร่ยิ่งดี...ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ทักษิณเดินดิ่งเข้าไปพบปะกับ ส.ส.กลุ่ม 16 และปีกเทิดไทของณรงค์ วงศ์วรรณ โดยไม่พะวงถึงภาพพจน์ความเป็นคนละฝ่ายระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านหรือมารกับเทพที่พรรคพลังธรรมเคยยึดถือในบางคน เขาใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น ทักษิณ ชินวัตร ประสบความสำเร็จในการแสวงหามิตรที่เป็นนักการเมืองได้ไม่ยาก อย่างที่เคยกล่าวไว้แล้วว่า ก่อนหน้าที่เขาจะกระโดดเข้าสู่วงการการเมืองนั้น นักการเมืองจำนวนไม่น้อยถือหุ้นราคาพาร์ของบริษัทชินวัตรไม่แพ้สื่อมวลชนบางรายถือโทรศัพท์มือถือเซลลูลาร์ 900  ของบริษัทชินวัตร


 


ส่งสุข ภัคเกษม คีย์แมนส.ส.ฝ่ายค้าน พรรคชาติไทย ได้ลุกขึ้นพูดในสภาฯช่วงพิจารณารัฐธรรมนูญ โดยพยายามเหลือเกินที่จะสรรเสริญ ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น "ผู้เสียสละ" ในทางการเมือง เรียกร้องให้รัฐสภาอย่าปิดทาง "คนดี" โดยเน้นย้ำทำนองที่ "ความดี" นั้นก็คือ "การประสบความสำเร็จทางธุรกิจ" หรือ "ความรวย" นั่นเอง...


 


แม้นว่าทักษิณจะไม่ได้ตีราคา การสรรเสริญของส่งสุขออกมาให้เห็น แต่พจมาน ชินวิตร ได้ให้ราคาของส่งสุขไว้ชัดเจน ในการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคเหนือ เมื่อส่งสุขถูกขอร้องให้ออกมาร้องเพลง 1 เพลงในอัตราการบริจาค 1 ล้านบาทสำหรับเพลงนั้น นี่ขนาดแค่ 1 เพลง...ก็พอจะเห็นได้ว่า ราคาสำหรับมิตรภาพของคนอย่างประธานบริษัทชินวัตรนั้น...สูงเพียงใด แน่นอนว่าคนอย่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือสุธรรม แสงประทุม...ฯลฯ...ย่อมต้องเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมันเป็นเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นเท่านั้น..


 


การแสวงหามิตรที่เป็นนักการเมืองในสภาฯของทักษิณนั้น แม้นว่าจะเป็นไปโดยปกติก็ตาม แต่มันน่าจะส่งผลในหลายๆ ทางให้กับเขา อันดับแรก มันก่อให้เกิดข่าวคราวในแวดวงการเมือง โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มภาคเหนือ มีหลายส่วนที่เชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทักษิณ ชินวัตร จะให้ความสนับสนุนกับพรรคการเมืองที่ชื่อว่า "ไทยก้าวหน้า" ขอแต่เพียงให้ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ทักษิณอาจจะอยู่ในพรรคการเมืองนี้ หรืออาจจะอยู่พรรคพลังธรรมต่อไป หรืออาจจะอยู่พรรคประชาธิปัตย์ก็แล้วแต่ แต่ภายใต้สายสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและณรงค์ ก็ไม่ต่างอะไรกับสายสัมพันธ์ระหว่างอำนวย วีรวรรณ กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หรือไม่ต่างอะไรกันกับพรรคชาติไทย กับพรรคสามัคคีธรรมก่อนที่จะรวมตัวสนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี


 


ในสายตาพลพรรคฝ่ายค้านประเภทเกล็ดแตกลายงาและเสียวฟัน (เขี้ยวลากพื้น) ทั้งหลาย ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่พรรคพลังธรรมไม่ใช่พวกสายวัด ไม่ใช่พวกนุ่งห่มม่อฮ่อมที่พูดคุยด้วยยาก ไม่ใช่บุคคลประเภทที่ทำให้เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ เกลียดเข้ากระดูกดำ...แบบพลตรีจำลอง ศรีเมือง ทักษิณ เป็นมหามิตรผู้มีน้ำใจกว้างขวาง เป็นเพียงผู้อาศัยพรรคพลังธรรมเป็นที่ยืนเท่านั้น...ด้วยเหตุนี้เป็นเรื่องไม่แปลกเลย ในขณะที่ ส.ส.อนาคตก้าวไกล ก้าวหน้าเต็มไปด้วยเกียรติยศและสูงส่งด้วยสิทธิสตรีอย่างสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะพยายามประกาศสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร,ส่งสุข ภัคเกษม ซึ่งอยู่กันคนละราคา คนละบุคลิก คนละเรื่องกับสุดารัตน์จึงกลายเป็น "พันธมิตร" กันอย่างแนบแน่น กลายเป็น "คนกลุ่มเดียวกัน" โดยมี "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นจุดร่วม ไม่แปลกอะไรเลยที่เนวิน ชิดชอบ จะแสดงความเห็นใจทักษิณ และเบี่ยงข้างในการให้ความเห็นกรณีคุณสมบัติของทักษิณว่า...น่าจะให้ตุลาการรัฐธรรมนูญตีความก่อน


 


ในปัญหาที่จะทำให้ทักษิณชอบใจนั้น...ไม่มีคำว่ามารหรือเทพแบ่งอีกต่อไปแล้ว ไม่มีความแตกต่างเรื่องแนวคิดหรืออุดมการณ์ใดๆมากั้นขวางต่อการศิโรราบต่อบุรุษผู้มีเงินตรานับแสนล้านบาท คนรุ่นใหม่ในพรรคพลังธรรมต่างดาหน้าเข้าเอาบ่ารับฝ่าเท้าของทักษิณ ชินวัตร อย่างกระตือรือร้น โดยมีคนรุ่นเก่าหรือ ส.ส.ที่ถูกประณามว่าไร้คุณภาพและเป็นมาร ช่วยกันยกก้นเพื่อเผชิญหน้ากับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนวิน ชิดชอบ, ส่งสุข ภัคเกษม, ณรงค์ วงศ์วรรณ ได้ประสานมือเข้ากับสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, สุธรรม แสงประทุม, พลตรีจำลอง ศรีเมือง, สฤต สันติเมทนีดล, ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ฯลฯ... นั้นก็คือ "ราคา" ของทักษิณ ชินวัตร โดยแท้...ทักษิณ คงจะไม่เสียเวลามากนักกับ ส.ส.ปีกเทอดไท หรือกลุ่ม 16 หรือ ส.ส.อีกหลายรายถ้าหากกฎหมายไม่ได้ระบุว่า จะต้องให้เสียง ส.ส.ถึง 36 คนในการเข้าชื่อเพื่อเสนอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตราดังกล่าว  40 กว่าเสียงของพรรคพลังธรรมดูน่าจะหวั่นใจพอสมควรกับยุทธวิธียืดเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่นกับประเด็นนี้...ที่มองอย่างไรก็ตาม มันไม่พ้นจากความพยายาม "ปรับกฎหมายเข้าตัวบุคคล, ไม่ต่างอะไรจากการแก้กฎหมายต่ออายุพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเคยก่อให้เกิดวิกฤตต่อบ้านเมืองและศีลธรรมครั้งใหญ่มาแล้ว


 


ถ้าหากกลุ่ม 23 รวมตัวกันได้จริง...พลังธรรมก็จะเหลือพลังเพียง 20 กว่าเสียง...ไม่พอแน่ที่จะเล่นเกมนี้...พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้พยายามป่าวประกาศพร้อมกับลูกพรรคพลังธรรมว่า "นายกรัฐมนตรี" น่าจะเป็นผู้นำมาตราดังกล่าวให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความแทน...แต่ถ้าหากนายกรัฐมนตรีไม่ทำ พรรคพลังธรรมจะหาทางดำเนินการต่อไป...มันคงเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจ ถ้าหากปล่อยให้ถึงจุดนั้น จุดที่ "สายวัด" แห่งพรรคพลังธรรมเข้าชื่อร่วมกับ "กลุ่ม 16" เสนอให้มีการตีความคุณสมบัติทักษิณ ชินวัตร ตามรัฐธรรมนูญ...แต่ก็ยังเป็นโชคดี...นอกจากนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย จะเคยแสดงให้เห็นสายใยแบบ "ตัวต่อตัว" กับทักษิณ ชินวัตร และสายใยที่มีมานานแล้วในการประกาศตัวเป็น "จำเลยที่ 1" ยุทธศาสตร์การรักษาเสถียรภาพเอาไว้ให้ได้ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ "ทำอย่างไรจะให้พรรคร่วมรัฐบาลกอดเกี่ยวกันได้บนบาดแผลของทุกฝ่าย...เพื่อจะนำไปสู่ความพยายามยืดเวลาเพื่อรักษาบาดแผลของตัวเอง..."


 


ตามหลังไหล่ขอพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ เต็มไปด้วยเลือดแห้งๆ และน้ำหนองที่รินไหลมาจากกรณี สปก.4-01 และยังไม่ทันที่แผลจะเริ่มตกสะเก็ดดี ปัญหาสปอร์ตคอมเพล็กซ์ก็กำลังทยอยรุกไล่ตามมาเรื่อยๆ...ถ้าประชาธิปัตย์ปล่อยให้ตัวเองเต็มไปด้วยแผลส่งกลิ่นฟุ้งอยู่เช่นนี้...ความเหม็นของแผลทั้งหลายอาจจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ตัดใจถีบหัวเรือทิ้ง เพื่อฟื้นฟูภาพพจน์ของพรรคตัวเองใหม่ได้ไม่ยาก สำหรับพรรคชาติพัฒนานั้น...ยังเป็นพรรคใหม่ ถึงแม้นจะไม่มีแผลตามตัวตามไหล่มากนัก แต่หน้าตาไม่ค่อยหมดจด...เขาแห่งความเป็นมารยังไม่หดไปจากหัว ที่สำคัญที่สุดก็คือ "ท้องว่าง" คงจะต้องใช้ระยะเวลาพอประมาณที่จะทำให้โครงการรถไฟฟ้ามหานครคลอดได้สำเร็จ เส้นทางรถไฟด่วนเชียงใหม่ - กรุงเทพฯเสร็จสิ้น สนามบินหนองงูเห่าเดินหน้าไปได้พอเห็นหน้าเห็นหลัง..ฯลฯ มีแต่พรรคพลังธรรมเท่านั้น...ที่แผลนั้นแม้จะมีมากพอสมควร แต่ไม่ใช่แผลลึก อาจจะถอดใจเด้งตัวออกจากรัฐบาลถ้าหากกลิ่นแรงขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ สายใยความสัมพันธ์ระหว่าง ชวน - ทักษิณ บวกกับยุทธศาสตร์รักษาป้อมค่ายชวน 4 นายกรัฐมนตรีจงได้กระทำการแบบอัศจรรย์ขึ้นมาในทันที...นั้นก็คืออาศัยมติคณะรัฐมนตรีเห็นควรส่งกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญตีความ...นั่นก็คือการช่วยย้ำแผลให้พลังธรรมลึกและเน่าขึ้น


 


ชวน หลีกภัย นั้นโดยดีกรีแล้วไม่ใช่ "นิติศาสตรบัณฑิต" จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงอย่างเดียว เขายังสอบได้เนติบัณฑิตและทำการว่าความมาหลายสิบปี...ประวัติเช่นนี้เป็นเรื่องยากที่เขาจะกลายเป็น "ผู้ไม่รู้กฎหมาย" หรือ "อ่านกฎหมายไม่เข้าใจ" นอกจากเป็นนักกฎหมายแล้วเขายังเป็นนายกรัฐมนตรี...มีอำนาจเพียงพอที่จะทำการ "วินิจฉัย" ด้วยตัวเอง ใช้เจตนารมณ์ของตัวเองอธิบายเจตนารมณ์ของกฎหมาย และยุติเรื่องเอาไว้แค่ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี... "บรรทัดฐานทางการเมือง" ก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด และมันจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ต่างอะไรเลยจาก "เจตนารมณ์" ของผู้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรานี้ที่ผ่านสภามาโดยเสียงสนับสนุนท่วมท้นกว่า 500 เสียง คัดค้านเพียง 1 เสียงเท่านั้น


 


บวรศักดิ์ อุวรรณโณ "คุรุแห่งกฎหมาย" ได้อธิบายถึงรัฐธรรมนูญมาตรานี้ว่า ... "มันไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรเลย มันเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายทั่วไปและหลักกฎหมายสากลที่นานาชาตินำมาใช้ว่าด้วย คอนฟลิก ออฟ อินเตอร์เรสต์ หรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์"


 


รัฐธรรมนูญมาตรานี้ไม่ได้ "กีดกันคนดี" ไม่ว่าวงการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าวงการธุรกิจ, วงการทหาร, วงการข้าราชการ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย...กฎหมายกีดกันเฉพาะไม่ให้คนเหล่านี้ "จับปลาสองมือ" คืออยากเป็นรัฐมนตรีแต่เสียดายตำแหน่งทางทหาร อยากเป็นรัฐมนตรีแต่ยังเสียดายตำแหน่งทางราชการ อยากเป็นรัฐมนตรีแต่ยังเสียดายหุ้นส่วนในบริษัทและยังเสียดายภรรยา...ทักษิณ ชินวัตร พยายามดิ้นรนครั้งใหญ่และหลายครั้งกระทั่งต่อหน้านักข่าวสิงคโปร์ที่ถามในเรื่องนี้ เขาตอบคำถามนี้ว่า "ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า การขัดรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร จริงๆ แล้วบริษัทชินวัตรไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับรัฐบาล เป็นเพียงการร่วมทุน" และ "การถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ถือว่าเป็นการผูกขาดเพราะหุ้นนั้นสามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา"


 


ในต้นเดือนธันวาคมเขายืนกรานด้วยว่า "คำว่าสัมทานกับรัฐนั้น ที่จริงเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลทำสัญญากับบริษัท ซึ่งบริษัทเป็นนิติบุคคล ทำงานในรูปคณะกรรมการ ไม่ได้หมายความว่า ผมเพียงคนเดียวไปทำสัญญากับรัฐ ส่วนการถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์นั้น ตรงนี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นเท่าไหร่ถึงจะถูกต้อง ถึงจะไม่ขาดคุณสมบัติ 49 เปอร์เซ็นต์ หรือ 24 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่มีสักหุ้นเดียว"


 


ทักษิณ ชินวัตร ก็คล้ายๆกับ ชวน หลีกภัย นั่นแหล่ะ...เขาไม่ใช่เป็นคนที่ "ไม่รู้กฎหมาย" เขามียศนำหน้าเป็นพันตำรวจโท เป็นด็อกเตอร์ทางวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม เคยผ่านการทำสำนวนคดีและใช้กฎหมายมานาน เขาจะไม่รู้ไม่ชี้เลยหรือว่า กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกิจการมหาชนที่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ งัดขึ้นมาอธิบายนั้นบัญญัติชัดเจนในปี 2535 ว่า หุ้นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าถือโดยใคร กี่ราย แต่ถ้าหากรวมกันแล้วอยู่ในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ก็มีความหมายถึงการมีฐานะครอบงำในกิจการนั้นๆ... นี่คือมาตรฐานที่ยืนยันความเป็นความตายของหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ของทักษิณและภรรยาชัดเจนอยู่แล้ว


 


แต่ทักษิณและชวน หลีกภัยก็มีความเหมือนกันมากกว่าความเป็นนักกฎหมายธรรมดาๆ...นั้นก็คือ "ดิ้นเก่ง" ด้วยกันทั้งคู่ ทักษิณกำหนดเอาไว้ว่าวันที่ 10 มกราคมนี้นั้น เขาจะเปิดการแถลงข่าวใหญ่ ให้หมดข้อข้องใจว่าเขาจะเอาอย่างไรกับความสับสนทางการเมืองที่เกิดขึ้นเพราะตัวเขาครั้งนี้ บรรดานักสังเกตการณ์ทางการเมืองฟันธงเปรี้ยงลงไปเลยว่า...การแถลงข่าวในวันที่ 10 มกราคมนั้นจะต้องออกมาในรูป "การลาออก" และอ้างสปิริต อ้างศักดิ์ศรีติดตามมาแน่ๆ ...เพราะก่อนหน้านั้นทักษิณได้ยืนยันเสียงแข็งว่า...เขาจะไม่ปรับตัวใดๆ เพื่อเป็นรัฐมนตรี


 


นักข่าวหลายรายรอคอยข่าวนี้พร้อมๆ กับข่าวสปอร์ตคอมเพล็กซ์ที่จะมีการตัดสินใจในวันเดียวกัน...บ่ายวันที่ 10 มกราคม ทักษิณแถลงว่า เขาได้ประกาศแนวทางออกมา 3 แนวทางสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้คือ 1. เสนอให้หัวหน้าพรรคพลังธรรมพิจารณาอนุมัติให้เขาลาออก ถ้าหากเห็นว่าเขาขาดคุณสมบัติ 2. ถ้าหากไม่อนุมัติให้เขาลาออกต้องหามติพรรคให้แน่ชัดว่า จะเคลียร์ความสับสนในเรื่องนี้ให้เขาได้อย่างไร 3. ถ้าหากหามติพรรคมาไม่ได้ก็ขอให้แจ้งให้เขาทราบ เพื่อเขาจะได้พิจารณาอีกที


 


สรุปให้สั้นๆ ในวินาทีนั้น นักข่าวบุรุษและสตรีแจ้งต่อหนังสือพิมพ์ตัวเองว่า "ทักษิณไม่ลาออก"...นั่นคือคำอธิบายที่สั้นที่สุด ได้ใจความที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาวกวน


 


พลตรีจำลอง ศรีเมือง เก็บใบลาออกของทักษิณเอาไว้ในแฟ้มเดียวกับใบลาออกของรัฐมนตรีทุกรายที่จะต้องเซ็นเอาไว้ให้กับหัวหน้าพรรคตามประเพณีและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกัน ชวน หลีกภัย รับลูกนี้มาเล่นแบบสบายๆ ด้วยการเพิ่มความชอบธรรมให้กับการเบี่ยงประเด็นครั้งนี้ โดยแทนที่จะเสนอให้ตีความคุณสมบัติของ ดร.ทักษิณ เพียงคนเดียว แต่กลับให้ตีความรัฐมนตรีทุกคนว่าขาดคุณสมบัติหรือเปล่า...ข้ออ้างก็คือ "เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง" ส่วนรองนายกรัฐมนตรีบัญญัติ หลบหน้าผู้สื่อข่าว เพราะเขาทำท่าว่าจะสร้างบรรทัดฐานเอาไว้แล้วล่วงหน้าด้วยความเชื่อว่า ทักษิณจะลาออกจากรัฐมนตรีทันทีที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้...บรรทัดฐานของเขาโดนทำลายเพราะ "คาดผิด" เขาคงประเมินทักษิณเอาไว้แค่ระดับ "ช้างอย่างบาง" เท่านั้น


 


ในขณะที่ อำนาจ ชนะวงศ์ โฆษกพรรคพลังธรรมได้แบกนามสกุลแมกไซไซออกมาแสดงศรัทธาต่อความ "แกร่ง" ของทักษิณด้วยคำว่า "การที่ ดร.ทักษิณ ยืนหยัดมาได้ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ถูกแรงเสียดสีมาโดยตลอดถือว่านี่คือ...สปิริต...ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพันตำรวจโททักษิณจะเป็นนักการเมืองที่ดีและยิ่งใหญ่ในอนาคต"


 


สปิริตในความหมายที่ อำนาจ ชนะวงศ์ ระบุ ก็ไม่น่าจะแปลต่างออกไปจากการ "คิด" ความ "แกร่ง" หรือการยกย่องตรา "ห้าห่วง" ของทักษิณผู้ร่อนมาจากวงการเมืองไม่ผิดอะไรกับเทวดาที่ร่วงจากอากาศสู่ภาคพื้น...


 


"สปิริต" ที่หนาและแกร่งเต็มที่นี้เอง ที่สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อธิบายในเวลาต่อมาว่า... "ถ้าหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คุณทักษิณขาดจากคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี...ถึงเวลานั้นท่านจะแสดงสปิริตโดยลาออกทันที..." ว่าไปแล้ว "สปิริต" ในความหมายที่สุดารัตน์กล่าวมานี้ ก็คงไม่ต่างอะไรจากจำเลยหรือนักโทษที่แสดงสปิริตติดคุกทันทีที่ศาลฎีกายืนยันโทษ


 


………………………………………………..


(โปรดติดตามตอนที่ 4 (ตอนจบ) : เส้นทางการเมืองทักษิณ "เทวดาห้าห่วง"  พรุ่งนี้)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net