Skip to main content
sharethis


โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

 


คำว่า "ความเป็นกลาง" ทำให้นึกถึง จุดยืน การแสดงออก และสถานะบางประการ ที่ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย


 


ยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองยามนี้ คำพูดในลักษณะว่า "ต้องเป็นกลาง เดินทางสายกลาง หรือ เป็นคนกลาง" ดูจะเป็นคำฮิต เพราะดูเหมือนคนที่พูดว่าตนเองเป็นคนกลาง หรือเป็นกลางระหว่างทักษิณกับพันธมิตรประชาธิปไตย หรือเป็นคนเดินสายกลาง จะคิดว่าตัวเองทำถูกต้อง ส่วนคนที่เห็นด้วยกับทักษิณ หรือเห็นด้วยกับพันธมิตรประชาธิปไตยที่ออกมาไล่ทักษิณ ไม่ถูกต้อง


 


คำว่า "เป็นกลาง" ในสถานการณ์บ้านเมืองยามนี้ จึงถูกตีความไปต่างๆ นานา


 


บางคนตีความว่า การไม่มีความเห็น ไม่รับรู้ปัญหา หรือไม่สนใจในปัญหา คือคนกลาง


 


บางคนเข้าใจว่า เป็นคนกลางต้องไม่มีกิจกรรมเข้าร่วมกับฝ่ายใด


 


บางคนเข้าใจว่า คนเป็นกลางต้องวางตัวสูงส่ง เหนือความขัดแย้ง แล้ววิจารณ์ด่าว่าฝ่ายที่มีความเห็นทั้งสองฝ่าย จึงจะได้รับการยกย่อง


 


บางคนเข้าใจว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งแสดงจุดยืนว่า "ศูนย์" อีกฝ่ายบอกว่า "สิบ" เป็นกลางคือการบอกว่า "ห้า"


           


ความคิดความเข้าใจต่อ "ความเป็นกลาง" ต่างๆ นานาข้างต้น นำมาซึ่งวิธีการที่คนเหล่านี้ดำเนินการตามความเข้าใจของตัว ในรูปของการวางตัวหรือการแสดงออก ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เช่น


 


บางคนอยู่เฉยๆ ไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง


 


บางคนไม่แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออก เพราะกลัวว่า การแสดงความเห็นด้วยกับฝ่ายใดในเรื่องใด จะไม่เป็นกลาง


 


บางคนออกมาวิจารณ์ข้อเสียของผู้ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย แล้วเชิญชวนให้คนสองฝ่ายมาเจรจา ประนีประนอม เปิดไฟหน้ารถ และคิดว่าตนจะได้รับการยกย่อง


 


บางคนเข้าทำกิจกรรมทุกเรื่องกับทุกฝ่าย เพราะคิดว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่กินเหล้า อีกฝ่ายบอกว่ากินเหล้า ๑๐ แก้ว เป็นกลางก็คือ กินเหล้า ๕ แก้ว หรือฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่โกงภาษี อีกฝ่ายบอกว่า โกงภาษี๑๐ ล้าน เป็นกลางคือ โกงภาษี ๕ ล้าน เป็นต้น


 


ในความเป็นจริง


 "การเดินสายกลาง" ไม่ใช่การเดินตามค่าเฉลี่ยระหว่างดีกับเลว หรือเดินตามค่าเฉลี่ยของความถูกต้องกับความไม่ถูกต้อง


 


แต่เป็นการเดินตามสิ่งที่ถูกต้อง อย่างรู้เท่าทัน และไม่ลุ่มหลง เช่น ถ้าฝ่ายหนึ่งบอกว่าการกินเหล้าไม่ดี อีกฝ่ายบอกว่ากินเหล้า ๑๐ แก้วดี ก็จะต้องใช้สติปัญญาว่า เหล้าเป็นของที่ทำให้ขาดสติ ลุ่มหลง เสพติด จึงไม่ควรกิน การเดินสายกลางคือ ไม่กิน ไม่ใช่กิน ๕ แก้ว


 


เช่นเดียวกัน การที่จะสามารถเลือกข้างได้ว่า ผู้นำประเทศต้องมีจริยธรรมอย่างไร ไม่ใช่ไม่มีความเห็น หรือคิดว่าเดินสายกลางคือ มีจริยธรรมบ้างนิดหน่อยก็พอ


 


การเดินสายกลาง จะต้องสามารถแสดงจุดยืนได้ว่า ผู้นำต้องเคารพกฎหมาย ต้องไม่โกงภาษี ต้องไม่พูดตะลบตะแลง ต้องเป็นผู้เชื่อถือได้ และหากมีความขัดแย้งทางความคิดก็สามารถเลือกเดินข้างความถูกต้องด้วยสติปัญญา


 


 "คนกลาง" เป็นคนที่ต้องใช้ปัญญาอย่างมีสติรู้เท่าทัน สามารถที่จะเลือกคบหาสมาคมกับฝ่ายใด สนับสนุนฝ่ายใด ไม่ใช่เป็นคนกลางแล้วเลือกข้างความถูกต้องไม่ได้


 


ปัญหาจึงมีอยู่ว่า คนที่ใช้สติปัญญาอย่างรู้เท่าทันจะต้องไม่มีอคติ ไม่ว่าจะเป็น


 


อคติเพราะรักผูกพัน ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน สีเดียวกัน รุ่นเดียวกัน


 


อคติเพราะมีผลประโยชน์ร่วม ถ้าอยู่กับเขาหรือถ้าเขาอยู่กับเราแล้วจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนบางอย่างจากเขา หรือถ้าเขาไปเราจะสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างไปด้วย


 


อคติเพราะเชื่อตามๆ กันมาว่าเขาดี ฟังเขาว่ามา หรือคนส่วนใหญ่ว่าเขาดีเราก็เลยว่าเขาดี


 


อคติเพราะคติความเชื่อบางอย่าง เช่น เชื่อว่ารวยแล้วคงไม่โกง เชื่อว่าโกงก็ได้แต่ขอให้ทำงาน หรือเชื่อว่ามีอำนาจมากมีสถานะสูงแล้วจะไม่กระทำผิด ไม่ฉ้อฉล ไม่คดโกง หรือเชื่อว่า เรียนจบดอกเตอร์จะต้องเก่ง และเก่งแล้วจะเป็นคนดี


 


หากใช้สติปัญญาอย่างรู้เท่าทันแล้ว การเป็นกลาง หรือคนกลาง ย่อมจะแสดงจุดยืนเลือกข้างความถูกต้องได้


 


อาชีพไหน ควรทำตัว "เป็นกลาง" อย่างไร


สื่อมวลชน ควรนำเสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นทั้ง ๒ ฝ่าย โดยไม่มีอคติ ปราศจากความกลัวว่าจะไม่ได้สปอนเซอร์ หรือกลัวว่าจะถูกถอดรายการ หรือกลัวว่าผู้มีอำนาจจะไม่พอใจ และหากเป็นบทความหรือการวิพากษ์วิจารณ์ก็สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างตรงไปตรงมา เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร เลือกข้างถูกต้องได้


 


ข้าราชการ ควรเป็นกลางโดยไม่ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์หรือเลือกปฏิบัติกับฝ่ายหนึ่งต่างจากอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเพราะความรัก หรือความกลัว หรือเพราะหวังผลประโยชน์ในทางหน้าที่การงานหรือผลประโยชน์อย่างใดก็ตาม ในขณะเดียวกัน ถ้าหากไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน ข้าราชการที่เป็นกลางก็สามารถใช้ปัญญาและสติอย่างรู้เท่าทันแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน หรือเลือกข้างได้เช่นกัน


 


ตำรวจและทหาร ควรเป็นกลางเหมือนข้าราชการ แต่ต้องเคร่งครัดในการใช้อาวุธ ทางสายกลางคือหลีกหนีการใช้อาวุธทุกวิถีทาง และยึดมั่นในสันติวิธี


           


พระและนักบวช สามารถแสดงความเป็นกลาง โดยเลือกยืนข้างที่ถูกต้อง เจริญด้วยศีล สมาธิและปัญญา สามารถใช้สติปัญญาใคร่ครวญ ไตร่ตรองอย่างรู้เท่าทัน เพราะพระน่าจะเป็นผู้นำทางปัญญาและสติ


 


ประชาชนทั่วไป ควรเป็นกลางด้วยการแสดงออก เลือกข้างที่ถูกต้องด้วยสติปัญญารู้เท่าทัน ไม่รับเงินหรือผลประโยชน์ในการเลือกข้าง ไม่ใช้อคติ ไม่ใช้อารมณ์ และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ


 


กล่าวโดยสรุป


ผมเขียนบทความนี้ เพราะรู้สึกรำคาญกับคนที่ชอบอ้างตัวว่าเป็นกลาง เป็นคนกลาง เดินทางสายกลาง ออกมาด่าว่า ตำหนิติเตียนฝ่ายที่มีความขัดแย้งทางความคิดทั้ง ๒ ฝ่าย และเรียกร้องอย่างลอยๆ ว่าให้เจรจาประนีประนอม โดยไม่ค้นคว้าทำความเข้าใจและใช้สติปัญญาไตร่ตรองดูเนื้อหาสาระหรือข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประเด็นขัดแย้งกันอยู่เสียก่อน ว่าอย่างนี้จะเจรจาประนีประนอมกันได้ไหม?


 


เมื่อความต้องการทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นคนละเรื่องกัน พูดกันคนละอย่าง การพิจารณาก็ควรจะต้องศึกษาดูข้อมูล แนวคิด และความต้องการของแต่ละฝ่าย ว่าฝ่ายไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน เชื่อฝ่ายไหน เชื่อในประเด็นไหน เรื่องใด เพื่อจะได้กำหนดจุดยืนของตนเองได้ถูกต้อง


 


การเดินสายกลาง จึงไม่ใช่การเฉลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายเดินถอยหลังหรือเดินหน้าคนละก้าว แต่เป็นการเลือกเดินโดยใช้สติปัญญาคิดไตร่ตรองอย่างรู้เท่าทันแล้วต่างหากว่า มีความเหมาะสมและถูกต้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net