Skip to main content
sharethis





ประชาไท - 13 มี.ค. 49 เปิดเสวนา "สิทธิมองสื่อ สื่อมองสิทธิ" ในการประกาศผลรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ครั้งที่ 1 ในวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 2 ปี ที่"สมชาย" ถูกทำหายหายไป ณ อาคารประชาธิปก - รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



 


นายสมชาย หอมลออ ประธานคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในการเสวนาว่า สื่อเป็นช่องทางที่ทำให้ประชาชนบริโภคข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และเป็นสิ่งสะท้อนข้อมูลข่าวสารของประชาชนต่อสังคมเช่นกัน ดังนั้นสิทธิสื่อจึงไม่ใช่เป็นของสื่อเท่านั้น เป็นของประชาชนด้วย เพียงแต่คนยังไม่คิดเช่นนั้น จึงไม่รู้สึกร้อนหนาวเมื่อสื่อถูกริดรอน


 


สื่อยังเป็นสิทธิพื้นฐานของสังคมอารยะและสังคมประชาธิปไตย เพราะเสรีสื่อเป็นหลักในการประกันว่าเสียงของคนเล็กคนน้อยเช่น เด็ก ผู้หญิง คนไร้สัญชาติ จะถูกนำมาเสนอต่อสังคม นอกเหนือไปจากการบริโภคข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก เพียงแต่สังคมไทยยังไม่ตระหนักถึงตรงนี้


 


นายสมชายยังกล่าวถึงสื่อในยุคปัจจุบันด้วยว่า ต้องพึ่งพาทุนสูงจนทำให้หลายครั้งมีสื่อบางฉบับ หรือบางคอลัมน์เสนอข้อมูลออกไปนอกบรรทัดฐานที่ควรเป็นครรลอง เช่น การเสนอข่าวเกี่ยวสถานการณ์ภาคใต้ มีการพาดหัวแบบสร้างความขัดแย้ง หรือก่อทัศนคติเดียดฉันท์ทางเชื้อชาติ ต่อไปจะเป็นเหมือนยาพิษซึมเข้าสังคมและอาจตามมาด้วยความรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดในกรณีเผาสถานทูตไทยประจำประเทศเขมรมาแล้ว


 


ในส่วนที่สังคมมักบอกว่าสื่อต้องเป็นกลางนั้น ในความหมายคือต้องไม่ถูกทำให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง นอกจากนี้สื่อยังต้องทำหน้าที่ในการทำความชัดเจนในเรื่องบางอย่างให้กับสังคม เช่นเรื่องบทบาทของนายกรัฐมนตรีในฐานะบุคคลสาธารณะที่มีตำแหน่งทางการเมืองกับเรื่องส่วนตัว หรือประเด็นความถูกต้องตามกฎหมายที่นายกฯมักอ้างถึงกับเรื่องความถูกต้องทางจริยธรรม


 


จากนั้นนางสุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเวทีเดียวกันว่า สื่อมีความน่าสงสาร เพราะอยู่ในพื้นที่ตรงกลางระหว่างประชาชนกับรัฐ หากเอียงไปทางใดอีกฝ่ายก็จะไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม นางสุนีย์ระบุว่า สถานการณ์ละเมิดสื่อในปัจจุบันมีความซับซ้อน แต่กลับยังติดอยู่ในจินตภาพการละเมิดสื่อแบบยุคเผด็จการ คือมองการละเมิดสื่อเพียงการสั่งปิดเท่านั้น แต่ในความจริงทุกคนก็ทราบว่า สื่อตอนนี้อยู่ในสถานการณ์แบบไหน


 


นอกจากนี้ นางสุนีย์ยังมองว่า วิกฤติในตอนนี้ไม่ใช่วิกฤติรัฐธรรมนูญ แต่เป็นวิกฤติละเมิดและไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ เพราะสื่อได้รับการประกันปกป้องอย่างมากในรัฐธรรมนูญนี้ เพราะการให้ข้อมูลข่าวสารและเปิดโอกาสในการแสดงความเห็นคือหัวใจของประชาธิปไตย ส่วนสิ่งที่ต้องทำก็คือ การสร้างเกราะให้กับสื่อร่วมกัน


 


บรรณาธิการหรือส่วนกลางมีความกล้าในการช่วยสื่อในพื้นที่ที่ต้องเผชิญอิทธิพล ในตอนนี้เป็นไปได้ว่าสื่ออาจจะเป๋ไปเพราะกลัวอิทธิพลในพื้นที่ หรือเลือกที่จะอยู่เฉยๆ เพื่อหนีปัญหา ซึ่งตรงนี้สื่อมีตำนานที่ดีอย่างยาวนานรองรับเรื่องการต่อสู้กับอิทธิพลอยู่แล้ว


 


อีกทางหนึ่งภาคประชาชนต้องให้กำลังใจกับสื่อที่ดี ส่วนสื่อที่ไม่ดีก็ต้องมีปฏิกิริยากดดันเหมือนที่ทำให้รายการหนึ่งทางช่อง 5 หายไปได้ อย่างไรก็ตามกรณีนี้อาจมีอิทธิพลอื่นด้วย


 


นอกจากนี้สื่อก็ต้องดูแลกันเอง ตรวจสอบและช่วยเหลือกันและกันเหมือนกรณีที่ช่วยกันต่อต้านทุนเมื่อมติชน และบางกอกโพสต์ถูกคุกคาม


 


จ๋ามตอง เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่หรือสวอน เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามแนวชายแดนไทยพม่าที่สื่อไม่เอ่ยถึงว่า ทหารพม่ายังละเมิดสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์อื่นอย่างมาก โดยเฉพาะการข่มขืนอย่างเป็นระบบเพื่อให้ชาติพันธุ์อื่นได้รับความอับอายและรู้สึกว่าไม่มีทางสู้ ข้อมูลจากการทำเรื่อง "ใบอนุญาตข่มขืน" รายงานผลการสำรวจการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารพม่าที่ทำกับชาวไทใหญ่ 173 คน พบว่า 83 เปอร์เซ็นต์เป็นการข่มขืนโดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ทำต่อหน้าลูกน้อง


 


61 เปอร์เซ็นต์เป็นการข่มขืนหมู่ 25 เปอร์เซ็นต์ถูกฆ่า แต่ไม่มีทหารพม่าคนใดได้รับโทษมีเพียงการโยกย้ายเท่านั้น


 


ส่วนชาติพันธุ์มอญ ทหารพม่าบังคับให้ผู้หญิงและเด็กมาเดินแคทวอร์คเพื่อข่มขืนภายหลัง ดังนั้นที่ใดที่มีกองทหารพม่ามากขึ้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็มากขึ้น แต่เหตุที่พม่ายังกระทำการลักษณะดังกล่าวได้ก็เพราะนานาประเทศสนใจในเรื่องการทำธุรกิจมากกว่าสิทธิมนุษยชน เช่นให้ทำเขื่อนสาละวิน จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านถูกบังคับให้ใช้แรงงานทาสในจุดที่จะมีการสร้าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สูงขึ้น และก็ทำให้การอพยพเข้ามาประเทศไทยก็มากขึ้น


 


จ๋ามตองกล่าวในตอนท้ายว่า สื่อมีความสำคัญมากในเรื่องนี้ที่ทำให้สังคมได้รับรู้ และทำหน้าที่เพื่อให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้น รวมทั้งสามารถนำความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ มาได้


 


ด้านวราภรณ์ เจริญพานิช สื่อมวลชนจากโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งคลุกคลีกับการทำข่าวในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่องกล่าวว่า ในช่วงแรกที่ทำข่าวในพื้นที่ มีการอุ้มหาย ประชาชนทั่วไปก็ไม่มีสิทธ์ได้รับรู้ ทั้งๆที่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องธรรมดา


 


นอกจากนี้ วราภรณ์ยังกล่าวถึงกรณีที่คนมาชุมนุมกันที่สนามหลวงด้วยว่า เป็นพัฒนาการทางระบอบประชาธิปไตยที่น่าสนใจ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่สงบสันติ อย่างการเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลผู้มาร่วมก็ฟังแกนนำเป็นอย่างดี ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำสั่งให้ใจเย็นในการปฏิบัติงาน แต่เรื่องที่เกรงว่าบานปลายคือมือที่สามก่อกวนสร้างสถานการณ์ และยังบอกให้ไม่ต้องกังวลกับการทำหน้าที่ของสื่อ


 


"ในแง่ของสื่อตอนนี้ก็เลือกข้างแล้วเหมือนกัน แต่คงประกาศในทางสาธารณะไม่ได้"


 


ส่วนศุภรา จันทร์ชิดฟ้า สื่อมวลชนอีกคนหนึ่งจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า สื่อเองนอกจากสู้กับทุนภายนอกแล้ว ยังต้องสู้กับภายในด้วย เพราะต้องยอมรับว่า เจ้าของสื่อก็มีสิทธิในการกำหนดทิศทาง ดังนั้นเสรีภาพสื่อในทางรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ความจริง ส่วนรัฐเองหากมีการวิพากษ์เมื่อไรก็จะมีโทรศัพท์ จดหมายสนเท่ห์ หรือแม้แต่ในแง่โฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของสื่อก็อาจถอนไปได้ ดังนั้นคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนก็ต้องมีความเข้าใจสื่อด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net