คำประกาศรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ครั้งที่ ๑

เรียน คุณอานันท์ ปันยารชุน ประธานในพิธีมอบรางวัล สื่อมวลชน และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน


 

รางวัลสมชาย นีละไพจิตร เป็นรางวัลสำหรับผู้สร้างสรรค์สื่อ เจ้าของผลงานการสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยแบ่งประเภทของรางวัลออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ รางวัลสื่อสิ่งพิมพ์ยอดเยี่ยม รางวัลสื่อวิทยุยอดเยี่ยม รางวัลสื่อโทรทัศน์ยอดเยี่ยม รางวัลสื่อออนไลน์ยอดเยี่ยม และผลงานเยาวชนยอดเยี่ยม

 

เกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของผลงาน คณะกรรมการฯ จะพิจารณาว่า ผลงานดังกล่าว ต้องเป็นผลงานที่สร้างสำนึกและความเข้าใจในด้านสิทธิมนุษยชน เป็นผลงานที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และมาจากกระบวนการทำงานที่เจาะลึกและสืบสวนสอบสวนตามมาตรฐานจรรยาบรรณ วิชาชีพสื่อ

 

การประกาศรับผลงานเข้าประกวดนั้น กองทุนรางวัลสมชายฯ เปิดให้มีการเสนอผลงานใน ๒ รูปแบบ คือ ผู้ผลิตสื่อนั้นเป็นผู้นำเสนอผลงานด้วยตัวเอง และ คณะกรรมการกองทุนรางวัลสมชายฯ เป็นผู้เสนอ

หลังจากการที่คณะกรรมการฯ ประกาศให้มีการส่งผลงานเข้าประกวด ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานให้กรรมการพิจารณาครบทุกประเภท งานทุกชิ้นได้แสดงเจตนาและความพยายามที่จะนำเสนอประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในหลากหลายรูปแบบ

 

แต่อย่างไรก็ตาม อาจเป็นด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและลักษณะเฉพาะของสื่อบางประเภท หรืออาจเพราะงานเชิงสืบสวนสอบสวน ยังไม่ได้เป็นวิถีการทำงานกระแสหลักของสื่อไทย จึงทำให้รางวัลบางประเภทไม่มีชิ้นงานที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัล

 

แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประกาศให้ผู้ผลิตสื่อส่งผลงานการสืบสวนสอบสวนในด้าน "สิทธิมนุษยชน" ที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พบว่า ประเด็นที่ผู้ผลิตสื่อเสนอเข้ามาแต่ละชิ้น เป็นประเด็นข่าวในเรื่องที่ซ้ำๆ กัน ซึ่งน่าจะสะท้อนได้ว่า เรื่องเหล่านั้นเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ซี่งเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาความรุนแรงที่รัฐก่อขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ และอีกเรื่องหนึ่งคือ การละเมิดสิทธิโดยสัญชาติ

ทั้งสองประเด็น แม้จะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่ต่างก็เป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดความรู้และความเข้าใจของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่าสิทธิมนุษยชน

 

กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร จึงเห็นว่า การที่ผู้ผลิตจำนวนหนึ่งให้ความสนใจในปัญหาดังกล่าว ถือเป็นโอกาสอันดีของสังคมไทยที่จะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่จะสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของสังคม และจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย หากข่าวสารเหล่านั้นมีโอกาสได้ปรากฏอยู่ในสื่อกระแสหลักของสังคมไทย

 

สำหรับผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ มีดังต่อไปนี้

 

ผลงานประเภทเยาวชน

สำหรับผลงานประเภทเยาวชน มีผู้ส่งผลงานสื่อสิ่งพิมพ์ ๓ ชิ้น และผลงานสื่อวิทยุโทรทัศน์ ๑ ชิ้น แม้จะเห็นความพยายามของงานหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นถึงสำนึกด้านสิทธิมนุษยชนของนักศึกษาในสถาบันต่างๆ แต่ยังคงต้องใช้เวลาหล่อหลอมเพื่อพัฒนาให้ลุ่มลึกและคมชัดยิ่งขึ้น ดังนั้นในปีนี้ กรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่มีผลงานชิ้นใดสมควรได้รับรางวัลยอดเยี่ยม

 

สื่อโทรทัศน์

สำหรับผู้สร้างสรรค์สื่อเชิงสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประเภทสื่อโทรทัศน์ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดรวม ๕ ราย คณะกรรมการฯ เห็นว่า ในผลงานที่ส่งเข้าประกวดมา มีผลงานที่มีคุณค่าในด้านการส่งเสริมการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนของประชาชนชายขอบ และความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากความเชื่อและศาสนาที่แตกต่างในสังคมไทย

 

คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นควรชมเชย ๒ ราย ได้แก่

๑) เจ้าของผลงาน สิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐ โดย คุณสุรชา บุญเปี่ยม จากสำนักข่าวไทย อสมท. ซึ่งนำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

๒) การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม คุณนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป จากสำนักข่าวไทย อสมท. ซึ่งนำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

ทั้งนี้ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม

 

สื่อวิทยุ

สำหรับรางวัลผู้สร้างสรรค์สื่อเชิงสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประเภทสื่อวิทยุกระจายเสียง กรรมการผู้พิจารณารางวัลสมชาย นีละไพจิตร ได้พิจารณาผลงานที่เสนอเข้าพิจารณาทั้งหมดแล้ว เห็นว่ายังไม่มีผลงานใดได้รับรางวัล

 

ผลงานที่ส่งเข้าพิจารณาในครั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การทำงานของสื่อมวลชนผู้นำเสนอผลงาน ได้แสดงให้เห็นถึงสำนึกและเจตนารมณ์ที่ดีในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย แต่ยังไม่มีผลงานที่แสดงให้เห็นกระบวนการทำงานที่เจาะลึกและสืบสวนสอบสวน อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเท่าที่ควร อีกทั้งการนำเสนอยังขาดความต่อเนื่องและการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสาเหตุ ที่มา และผลกระทบที่ตามมาจากการนำเสนอข่าว ซึ่งเป็นหลักการของการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณารางวัลยังเห็นว่า การทำงานของสื่อวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างของความเป็นเจ้าของ และการดำเนินงานของสื่อที่อยู่ในกลไกของธุรกิจ ภายใต้การควบคุมโดยอ้อมของภาครัฐ ทำให้การนำเสนอประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวพันกับอำนาจรัฐนั้น ยังไม่สามารถทำได้โดยต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

 

สื่อออนไลน์

ผลงานในประเภทสื่อออนไลน์ มีผลงานเข้าพิจารณาจำนวน ๒ ชิ้น คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า มีผลงานสื่อสร้างสรรค์ที่เกาะติดสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบอย่างต่อเนื่อง จนทำให้คนไทยได้รับสัญชาติคืน และยังก่อให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ มิให้เคยชินต่อการละเมิดสิทธิของมนุษย์

 

คณะกรรมการจึงเห็นสมควร ประกาศให้ผลงานเรื่อง "เมื่อรัฐทำให้คนไทยไร้สัญชาติ" ซึ่งสร้างสรรค์โดย คุณธีรยุทธ บุญแผ่ผล จากสำนักข่าวไทย อสมท. ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร สาขาสื่อออนไลน์ยอดเยี่ยม ในฐานะผู้สร้างสรรค์สื่อเชิงสืบสวนสอบสวนด้านสิทธิมนุษยชน

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า สมควรประกาศเกียรติคุณชมเชยแก่สำนักข่าวประชาธรรม ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านสื่อออนไลน์ โดยคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบ และเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ประชาชนรากหญ้ามาอย่างต่อเนื่อง

 

สื่อสิ่งพิมพ์

สำหรับผลงานที่เข้าพิจารณาในสาขาสื่อสิ่งพิมพ์ยอดเยี่ยม มีผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อชีวิต ความสงบสุขของผู้คนที่ไร้เสียงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่นอกเหนือกระแสความสนใจของสื่อและของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ผลงานชิ้นดังกล่าว ถือเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้บอกเล่าความจริงต่อสาธารณชนอย่างเข้มข้นและเจาะลึก

 

ทั้งนี้ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ และมีแรงกดดันรอบด้าน ผู้เขียนได้ใช้ความกล้าหาญเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ผ่านงานเขียนอันเป็นการสะท้อนมุมมองของผู้เขียนเอง รวมทั้งสะท้อนวิธีคิดของรัฐ วัฒนธรรมอำนาจ อันเป็นเหตุแห่งความรุนแรง ด้วยภาษาที่เรียบง่าย แต่อุดมไปด้วยสำนึกรับผิดชอบ

 

คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้รางวัลสมชาย นีละไพจิตร สาขาสื่อสิ่งพิมพ์ยอดเยี่ยม เป็นของ เจ้าของผลงาน "บันทึกของนักข่าว : สิ่งที่เห็นและเป็นไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548

 

นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะนำเสนออีกด้านหนึ่งของความจริงที่เกิดขึ้นพร้อมกับอุบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิ นั่นคือ "ปัญหาการละเมิดสิทธิที่ดินสึนามิ" โดยหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ได้ตั้งทีมข่าวเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อรายงานข่าวอย่างเกาะติดสถานการณ์ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการรายงานข่าวด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องการความต่อเนื่องและทุ่มเทให้อย่างเต็มกำลัง

 

คณะกรรมการจึงเห็นสมควรให้ประกาศเกียรติคุณชมเชย แก่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานเรื่อง "การละเมิดสิทธิที่ดินสึนามิ" โดยมีคณะทำงาน ๑๒ ท่าน ได้แก่ กนกวรรณ บุญประเสริฐ, วราพงษ์ ป่านแก้ว, ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, วราภรณ์ ผูกพัน, อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงษ์, ธนพล บางยี่ขัน, โยธิน อยู่จงดี, วันเพ็ญ พุทธานนท์, บงกชรัตน์ สร้อยทอง, ฉัตรชัย ธนจินดาเลิศ, เปรมวดี ปานทอง, ธีรวุฒิ สถิตภัทรกุล

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า สมควรประกาศเกียรติคุณชมเชยแก่นิตยสาร theCityJournal ในฐานะสื่อที่มีความพยายามเน้นเนื้อหาในด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีความพยายามในการสืบค้นข้อมูลที่รอบด้าน

 

ขอเรียนเชิญคุณอานันท์ ขึ้นมอบรางวัล ให้แก่

 

๑) รางวัลสมชาย นีละไพจิตร สาขาสื่อออนไลน์ยอดเยี่ยม ....... คุณธีรยุทธ บุญแผ่ผล เจ้าของผลงาน "เมื่อรัฐทำให้คนไทยไร้สัญชาติ" จากเวบไซต์สำนักข่าวไทย อสมท.

 

๒) รางวัลสมชาย นีละไพจิตร สาขาสื่อสิ่งพิมพ์ยอดเยี่ยม ........ คุณศุภรา จันทร์ชิดฟ้า เจ้าของผลงาน "บันทึกของนักข่าว : สิ่งที่เห็นและเป็นไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสารสารคดี

 

๓) ประกาศเกียรติคุณชมเชย แก่ คุณสุรชา บุญเปี่ยม เจ้าของผลงาน สิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐ กรณีชาวมอญพลัดถิ่นบ้านวังกะ นำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

 

๔) ประกาศเกียรติคุณชมเชย แก่ คุณนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป เจ้าของผลงาน การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม นำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

 

๕) ประกาศเกียรติคุณชมเชย แก่ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เจ้าของผลงาน การละเมิดสิทธิในที่ดินสึนามิ ซึ่งมีคณะทำงาน ๑๒ ท่าน ได้แก่ กนกวรรณ บุญประเสริฐ, วราพงษ์ ป่านแก้ว, ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, วราภรณ์ ผูกพัน, อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงษ์, ธนพล บางยี่ขัน, โยธิน อยู่จงดี, วันเพ็ญ พุทธานนท์, บงกชรัตน์ สร้อยทอง, ฉัตรชัย ธนจินดาเลิศ, เปรมวดี ปานทอง, ธีรวุฒิ สถิตภัทรกุล

 

๖) ประกาศเกียรติคุณชมเชย แก่ สำนักข่าวประชาธรรม ในฐานะสื่อที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง

 

๗) ประกาศเกียรติคุณชมเชย แก่นิตยสารเดอะซิตี้เจอร์นัล ในฐานะสื่อที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท