Skip to main content
sharethis



เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 2 ปีที่ทนายสมชายหายตัวไป กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ได้จัดงานประกาศผลรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ครั้งที่ 1 เพื่อผู้ผลิตสื่อเชิงสืบสวนสอบสวนด้านสิทธิมนุษยชน ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นางอังคณา นีละไพจิตร ภริยา ทนายสมชาย นีละไพจิตร กล่าวปาฐกถานำเรื่อง "สังคมแบบไหนที่ทำให้ทนายสมชายหายตัวไป"  ซึ่งมีถ้อยความโดยรายละเอียด ดังนี้


 


 


0 0 0


 


ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน


 


ดิฉันได้รับมอบหมายให้กล่าวปาฐกถานำในเรื่อง "สังคมแบบไหนที่ทำให้คุณสมชายหายไป" แต่โดยส่วนตัว ดิฉันไม่เชื่อว่า สังคมจะเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ขณะเดียวกัน ดิฉันกลับเชื่อว่า มนุษย์ในสังคมเองนั่นแหละที่เป็นผู้กำหนดสังคม คนในสังคมเป็นอย่างไร สังคมก็เป็นเช่นนั้น


 


ในยุคสมัยที่คนที่มีอำนาจในการปกครองและใช้อำนาจไปในทางมิชอบ มีการชี้นำนโยบายหรืออะไรต่อมิอะไรให้เป็นไปในทางที่ให้เกิดความรุนแรง ความรุนแรงก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันจนคนพากันชาชิน


 


เราต่อต้านยาเสพติดนะคะ แต่เราก็ไม่ชอบและก็ไม่อยากเห็นการประหารชีวิตนอกกฎหมาย คุณทักษิณ(ชินวัตร) บอกว่าคุณทักษิณสะเทือนใจที่ได้เห็นน้ำตาของแม่ที่ได้ลูกกลับคืนมาจากสงครามยาเสพติด แต่คุณทักษิณจะเสียใจไหม ถ้าเห็นน้ำตาของแม่หรือลูกที่พ่อหรือสามีเขาถูกอุ้มฆ่า จะเสียใจไหมถ้าเห็นน้ำตาของแม่หรือครอบครัวของผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมสองพันกว่าศพในสงครามยาเสพติด


 


ดิฉันว่าการใช้อำนาจในทางที่มิชอบ นำมาซึ่งปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ มากมายในสังคม และกลไลการตรวจสอบก็อ่อนแอเกินกว่าที่จะไปถึง เมื่อไม่มีการตรวจสอบ ก็ยากที่จะหาความยุติธรรมให้กับทุกคน


 


ดิฉันไม่ทราบว่า วันนี้ทำไมสังคมจึงถูกครอบงำด้วยความกลัว กลัวที่จะพูด กลัวที่จะแสดงความคิดเห็น บางครั้งกลัวที่จะเปิดเผยตัวตนของตัวเอง ดิฉันเคยถามคุณสมชายว่า ทำไมจึงต้องไปร้องเรียนให้ผู้ต้องหาที่ถูกซ้อมถูกทรมาน คุณสมชายบอกว่าเขากลัว เขาไม่กล้าที่จะพูดเอง ดิฉันก็ย้อนถามกลับว่า แล้วทำไมญาติที่น้องเขาถึงไม่ร้องเรียนแทน คุณสมชายบอกญาติพี่น้องก็ยิ่งกลัวใหญ่ ดิฉันถามว่า แล้วเวลาที่เอาจำเลยมาส่งศาลฝากขังมีสื่อมวลชนมากมาย ทำไมจำเลยไม่ร้องต่อศาลว่า จำเลยถูกซ้อมถูกทรมานยังไง คุณสมชายบอกว่า ศาลไม่เคยฟังหรอก ดิฉันก็ยังเถียงว่า ถึงศาลไม่ฟัง แต่ศาลจะต้องได้ยิน


 


ทุกวันนี้เมื่อทุกคนถูกทำให้กลัว ก็กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ไม่ใส่ใจว่าใครจะเป็นยังไง ไม่ใส่ใจคนรอบข้างดูแลตัวเอง ปกป้องตัวเองแล้วก็ครอบครัวจนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว แล้วในที่สุดสังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่เห็นแก่ตัว โดยไม่ใส่ใจว่าเพื่อนเราที่อยู่ข้างๆ บ้าน หรืออยู่ไกลออกไปในชายแดน ในชนบทจะมีใครบ้างซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม


 


วันนี้ดิฉันเองก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 คนร้อยกว่าคนมีมีด มีไม้อยู่ในมือถึงวิ่งเข้าหากระบอกปืน วิ่งเข้าหาอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่รัฐได้โดยไม่กลัว ในใจเขาคิดอะไรอยู่ เขาได้รับการกระทำอย่างไรถึงได้สามารถแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นออกมาได้ แต่น่าเสียดายที่ร้อยกว่าศพนั้นไม่เหลือรอดกลับมาบอกเล่าให้เพื่อนร่วมชาติฟังเลย


 


เมื่อสังคมไทยอยู่ในอาการที่หวาดกลัว กลไลการตรวจสอบก็ไม่มีการทำงาน องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาแทบจะไม่มีความหมาย เราแทบจะหวังพึ่งองค์กรอิสระไม่ได้เลย ในคดีคุณสมชาย กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเข้าเป็นคดีพิเศษ หลังจากที่ดิฉันพยายามเรียกร้องมานาน ไปยื่นหนังสือด้วยตัวเองถึง 2 ครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอด


 


วันนี้ แม้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับคดีของดิฉันพร้อมกับคดีของพระสุพจน์ สุวโจ เข้าไปพร้อมกัน แต่วันนี้ถามว่า ความคืบหน้ามีไหม ก็ยังไม่มีค่ะ คดีของพระสุพจน์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ท่านอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพูดเองเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม บอกว่ากำลังจะออกหมายจับ วันนี้ผ่านไป 2 เดือนเกือบ 3 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้า คดีคุณสมชาย คุณทักษิณเคยบอกว่า ปลายเดือนกุมภาก็น่าที่จะทราบเรื่อง แต่จนวันนี้ยังไม่มีข่าวเลยค่ะ


 


ถามว่าที่ผ่านมานั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษทำงานโปร่งใสเป็นธรรมมากน้อยขนาดไหน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ เข้ามาคลี่คลายคดีนี้มากน้อยเพียงใด วันนี้ดิฉันยังไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาคลี่คลายคดีคุณสมชายเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่สังคมรับรู้มาตลอด


 


อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของจำเลยทั้ง 5 มาก่อน ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกรมสอบสวนคดีพิเศษเองก็เคยมาจากกองปราบฯมาก่อน แล้วอย่างนี้ประชาชนจะฝากความหวังไว้กับใครได้


 


ดิฉันเคยทำหนังสือไปถึงผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดิฉันไม่เข้าใจว่า ทำไมตำรวจซึ่งได้รับข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวบางคน จึงได้เข้ารับราชการต่อ ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา แต่จนวันนี้ไม่มีคำตอบค่ะ ถ้าเป็นประชาชนธรรมดา แม้สิทธิ์ที่จะได้รับการประกันตัวก็ยังไม่มี ดิฉันว่า สังคมเช่นนี้แหละค่ะที่จะทำให้อะไรเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่มีความปลอดภัยไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหลวง หรืออยู่ในชนบทที่ห่างไกลก็ไม่ต่างกัน


 


ไม่มีใครรู้ว่า ระหว่างที่ดิฉันนั่งฟังการพิจารณาคดีทุกนัดในศาล ดิฉันคิดถึงอะไร ในเวลาที่อัยการซักพยาน มีพยานปากหนึ่งเป็นตำรวจที่จังหวัดราชบุรีให้การว่า จำเลยที่ 5 โทรศัพท์เข้ามา แล้วบอกให้เตรียมเหล้าเดี๋ยวจะเข้าไปเอา ขณะที่พยานที่เป็นตำรวจอีกคนที่เบิกความไปแล้วนั่งข้างๆ กระซิบบอกว่า พี่รู้ไหมที่เขาบอกให้เตรียมเหล้าน่ะ เขาหมายถึงว่าให้ไปหาน้ำมันให้ อัยการซักต่อค่ะว่า แล้วพยานแวะไปเติมน้ำมันรึเปล่าหลังได้รับโทรศัพท์ พยานบอกว่าไป ท่านอัยการถามต่อว่า แล้วซื้อน้ำมันใส่ถังกลับมารึเปล่า


 


ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดในจิตใจคนได้มากขนาดไหน มันเหมือนบาดแผลที่ถูกกรีดซ้ำรอยเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่วันหนึ่งเมื่อมันถูกกระทำบ่อยๆ เข้า แผลมันก็แห้ง ตกสะเก็ด มันจะด้านแล้วมันจะชา สุดท้ายก็จะหายไป แล้วก็สามารถที่จะทนต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น ดิฉันใช้วิธีนี้แหละค่ะเยียวยาและรักษาบาดแผลในใจให้ตัวเองกับลูก ดิฉันจึงเลือกที่จะอยู่กับความจริง พูดความจริง และทวงถามความจริงมาโดยตลอด แม้ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะทวงถามอะไรก็ไม่เคยมีคำตอบก็ตาม


 


แต่ไม่ว่าสังคมนี้จะเป็นยังไงนะคะ ในสังคมนี้ดิฉันมีโอกาสได้พบเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เด็กผู้หญิงซึ่งใส่เสื้อตัว กางเกงตัว สวมรองเท้าแตะ เดินมาศาลคนเดียวเป็นประจักษ์พยานสำคัญในคดี ไม่เคยมีการคุ้มครองพยาน เด็กคนนี้เบิกความไปตาแดงๆ เหมือนจะร้องไห้ เด็กคนนี้เป็นคนที่เดินเข้าไปหาตำรวจแล้วบอกว่า หนูเห็น แล้วชี้ว่าคล้ายจำเลยที่ 1 ให้การกับพนักงานสอบสวนตรงกันถึง 3 ครั้ง สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษตัดสินจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปีในโทษหนักที่สุดของคดีกักขังหน่วงเหนี่ยว เนื่องจากหลักฐานการใช้โทรศัพท์และคำให้การของประจักษ์พยานที่ยืนยัน


 


ในขณะที่เหมือนกับว่า ดิฉันอยู่ในสังคมที่มีแต่ความมืด เด็กคนนี้เหมือนกับคนที่ถือเทียนเล่มเล็กๆ เข้ามาทำให้ดิฉันมองเห็นหนทางที่จะก้าวเดินต่อไปได้


 


ในโอกาสนี้จึงอยากจะขอใช้เวทีนี้ที่จะคารวะเด็กผู้หญิงนิรนามคนนั้น ดิฉันเชื่อว่า ในสังคมไทยมีเด็กผู้หญิงแบบนี้อีกมากมายค่ะ ในความอยุติธรรมก็ยังมีสิ่งดีๆ ที่เราพบเห็นได้อยู่ตลอด


 


เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ทางองค์การสหประชาชาติได้ออกกติกาสากลฉบับใหม่ คือกติกาสากลว่าด้วยการบังคับให้หายตัวไป ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่มีเหตุผลและไม่มีความชอบธรรมใดที่จะปฏิเสธการลงนามในกติกาสากลฉบับนี้ นอกเสียจากว่า รัฐบาลอาจจะเห็นด้วยกับนโยบายของการอุ้มหายอุ้มฆ่า


 


กติกาสากลฉบับนี้จะทำให้ญาติพี่น้องของผู้ที่ถูกทำให้หายไปสามารถที่นำเรื่องร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติ ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมในแผ่นดินเกิดที่เขาอยู่


 


ดิฉันคิดว่า รัฐบาลไทยน่าจะแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ รัฐบาลน่าจะแสดงถึงสิ่งซึ่งพูดมาโดยตลอดว่า ไม่มีส่วนรับรู้ ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เคยแม้แต่จะพยักหน้าให้ทำเช่นนี้


 


สุดท้ายจริงๆ ดิฉันคงต้องขอขอบคุณอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ และกรรมการทุกท่านของกองทุนสมชาย นีละไพจิตร ที่เห็นความสำคัญของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และนำประเด็นนี้จากความเป็นแค่เรื่องของครอบครัวไปสู่ประเด็นสาธารณะ


 


ดิฉันขอขอบคุณกรรมาธิการวุฒิสภา กรรมาธิการวิสามัญในชุดที่ติดตามหาตัวคุณสมชายซึ่งเป็นกรรมาธิการชุดแรกที่พยายามเสาะหาความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของคุณสมชายและทวงถามเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด แม้จะไม่เคยได้รับความร่วมมือก็ตาม


 


ขอบคุณคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นเหมือนกัลยาณมิตรคอยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างดิฉันมาโดยตลอด ขอบคุณมิตรภาพของผู้คนร่วมสังคม และสุดท้ายก็ขอขอบคุณเด็กผู้หญิงนิรนามคนนั้นค่ะ ขอบคุณค่ะ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net