Skip to main content
sharethis

                                    


         ภาพจาก http://www.chiangmai-mail.com/151/pictures/n3-1-151.jpg


 



นายกรัฐมนตรี "ลี เสียน หลุง" แห่งสิงคโปร์ ยอมเปิดใจกับผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวสเตรทส์ไทม์ส ถึงกรณีที่กองทุนเทมาเสกของสิงคโปร์มีส่วนเกี่ยวพันกับการซื้อขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองขณะนี้ แต่ผู้นำสิงคโปร์ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องของภาคเอกชน และรัฐบาลสิงคโปร์ไม่ขอเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นต่อเรื่องดังกล่าว

 


นอกจากนี้ นายกฯ สิงคโปร์ยังกล่าวอีกด้วยว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสิงคโปร์กินเวลายาวนานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา และการที่กองทุนเทมาเสกเข้าไปครอบครองบริษัทชินคอร์ปนั้นก็เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์มีความมั่นใจด้านการลงทุนในประเทศไทย และเขายังหวังอีกด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจะดำเนินต่อไปด้วยดี


      


ทั้งนี้ เทมาเสกคาดการณ์ไว้ว่าจะทำเรื่องเทคโอเวอร์กิจการของชินคอร์ปให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 มี.ค. 2549 เพราะกองทุนฯ ได้ซื้อหุ้นเพิ่มจนสามารถควบคุมองค์กรได้แล้ว โดยเทมาเสกเลือกที่จะเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านจากประชาชนชาวไทยที่ขอให้ยุติข้อตกลงการซื้อขายดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีลีเสียนหลุงก็ให้คำยืนยันว่าจะไม่มีการแทรกแซงให้เทมาเสกยกเลิกการซื้อขาย และคิดไว้ว่าการตัดสินใจดังกล่าวคงจะไม่ส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและสิงคโปร์


 


อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธว่ากองทุนเทมาเสกไม่มีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลสิงคโปร์เลยนั้น เป็นคำกล่าวที่ค่อนข้างบิดเบือนจากข้อเท็จจริงอยู่บ้าง เพราะผู้บริหารระดับสูงของกองทุนเทมาเสกก็คือมาดาม "ลี โฮ ชิง" ผู้เป็นภริยาของลีเสียนหลุง และมาดามโฮชิงก็ถือเป็นหนึ่งในบรรดานักธุรกิจซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในเอเชีย นอกจากเธอจะดำรงตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสิงคโปร์แล้ว เธอยังเป็นผู้ควบคุมการลงทุนในระดับโลกที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกด้วย และความเกี่ยวพันที่ว่านี้ดูจะไปกันไม่ได้สักเท่าไหร่กับคำปราศัยของนายกฯ สิงคโปร์


 


เมื่อหันมาดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายไทยบ้าง จะเห็นได้ว่าภาคประชาชนและภาครัฐบาลออกมาต่อต้านการซื้อขายหุ้นของเทมาเสกและชินคอร์ปอย่างแข็งขัน ทั้งในด้านการชุมนุมต่อต้านอย่างสันติเพื่อกดดันให้สถานฑูตสิงคโปร์รับเรื่องไปพิจารณา และในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ก็ได้เชิญตัวแทนจากสถานทูตนับสิบแห่งให้เข้าร่วมฟังการชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองไทยในขณะนี้


 


ในระหว่างที่มีการประชุม นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ร่วมกล่าวย้ำว่าการเรียกร้องให้ทบทวนข้อตกลงเรื่องการซื้อขายหุ้นระหว่างเทมาเสกและชินคอร์ป ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสิงคโปร์ แต่หากมองจากมุมที่ว่านายกรัฐมนตรีของไทยหมดความชอบธรรมที่จะจัดการเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้แล้ว ทางรัฐบาลสิงคโปร์ควรจะพิจารณาท่าทีของตนเสียใหม่ เพื่อที่การตัดสินใจดังกล่าวจะได้ไม่ส่งผลกระทบที่อาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนไทยทั้งประเทศ


 


ตัวแทนทูตจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ได้แก่ ตัวแทนจากประเทศบรูไน แคนาดา เนเธอแลนด์ ไนจีเรีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เบลเยียม สวีเดน ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา อิตาลี โปแลนด์นิวซีแลนด์ อิสราเอล ออสเตรีย ฮังการี สาธารณรัฐเชค เยอรมนี อังกฤษ โปรตุเกส และตัวแทนสหภาพยุโรป หรืออียู แต่ไม่มีตัวแทนทั้งจากสิงคโปร์และฝ่ายรัฐบาลของไทยมาเข้าร่วมประชุมเลย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net