Skip to main content
sharethis


ตามที่ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ได้เชิญ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมาให้ข้อมูลและตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ณ อาคารที่ทำการของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นที่สาธารณชนสงสัย และยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้คลี่คลายไปด้วยสันติ

 


ในระหว่างที่ทางสมาคมทั้งสองกำลังรอคำตอบจากรัฐบาลอยู่นั้น ทางสมาคมนักข่าวฯได้ขอให้บรรณาธิการและนักข่าวอาวุโสจัดทำเอกสารขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเผยแพร่ เป็นการให้ความรู้ ปูความเข้าใจและชี้ประเด็นที่เป็นข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงปมเงื่อนของปัญหาที่เกิดขึ้นและช่วยสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้


 


0 0 0


 


หากพิจารณาเนื้อหาโดยละเอียดที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร หัวน้าพรรคไทยรักไทยชี้แจงข้อกล่าวหาในการซุกหุ้นและการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปในรายการถึงลูกถึงคน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม การชี้แจงที่สนามหลวงและสาบานต่อหน้าวัดพระแก้ว ท่ามกลางชาวบ้านที่ระดมมาให้กำลังใจเรือนแสนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมาแล้ว สาระสำคัญแทบไม่ได้ต่างจากจดหมายเปิดผนึกที่พันตำรวจโททักษิณทำถึงสมาชิกพรรคก่อนหน้านี้แต่อยางใด


 


เมื่อเอาเข้าจริงปรากฏว่า ในคำชี้แจงดังกล่าวกลับมีข้อสงสัยในหลายประเด็นที่พันตำรวจโททักษิณยังไม่ได้ตอบหรือเลือกที่จะพูดความจริงเพียงเสี้ยวเดียว โดยเฉพาะกรณีการโอนหุ้นแบบพิสดารพันลึกของครอบครัวและการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดดิ้งของสิงคโปร์


 


ปริศนารอดคดีซุกหุ้น


เรื่องแรกที่พันตำรวจโททักษิณ ชี้แจงนั้น อ้างว่า วันแรกที่ประกาศลงสนามการเมือง ก็ถูกจ้องเล่นงานด้วยเรื่องหุ้น แต่ในที่สุดก็รอดมาได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตนไม่มีเจตนาปกปิดซุกหุ้น


 


ในประเด็นนี้จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคำพิพากษาและวิธีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะพบว่า เป็นอย่างที่พันตำรวจโททักษิณกล่าวอ้างหรือไม่


 


ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 พิพากษาว่า พันตำรวจโททักษิณ ไม่มีความผิดตามมาตรา 295 ด้วยเสียง 8 ต่อ 7 รอดอย่างหวุดหวิด ทว่าในจำนวน 7 เสียงข้างน้อย ลงมติชัดเจนว่า พันตำรวจโททักษิณ จงใจที่จะปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือจงใจซุกหุ้น มีเพียง 4 เสียงเท่านั้นที่วินิจฉัยว่า พันตำรวจโททักษิณ ไม่จงใจซุกหุ้น ดังนั้นเสียงจงใจย่อมมากกว่าไม่จงใจคือ 7 ต่อ 4


 


ในขณะที่ตุลาการอีก 4 เสียง ไม่ได้พิจารณาในข้อเท็จจริงว่า พันตำรวจโททักษิณ จงใจหรือไม่ เพียงแต่อ้างว่ามาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถบังคับใช้กับกับพันตำรวจโททักษิณได้ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน


 


แต่เมื่อนำเสียงที่พิพากษาว่า มิได้จงใจซุกหุ้น 4 เสียง บวกกับอีก 4 เสียงที่อ้างว่า มาตรา 295 บังคับใช้กับพันตำรวจโททักษิณไม่ได้ จึงกลายเป็น 8 เสียง


 


วิธีการตัดสินคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก


 


ซุกหุ้นแหกกฎพลังธรรม


ก่อนที่เกิดปัญหาคดีซุกหุ้น พันตำรวจโททักษิณ ลืมไปหรือไม่ว่าในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ปี 2537 ครอบครัวชินวัตรนำหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทแอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส.) และบริษัทยูไนเตดคอมมูนิเกชั่น จำกัด (ยูคอม) ไปใส่ไว้ในชื่อคนรับใช้อย่างน้อย 3 คน คือ "บุญชู เหรียญประดับ" "ชัยรัตน์ เชียงพฤกษ์" "ดวงตา วงศ์ภักดี" มูลค่ารวมกันกว่า 11,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ในหุ้นที่ถืออยู่ในชื่อของ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตรในขณะนั้น


 


แม้รัฐธรรมนูญขณะนั้น มิได้กำหนดให้รัฐมนตรีต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ช่วงเวลาดังกล่าว พันตำรวจโททักษิณ เป็นรัฐมนตรีสังกัดพรรคพลังธรรมที่มี " พล.ต.จำลอง ศรีเมือง " เป็นหัวหน้าพรรค


 


พล.ต.จำลอง ประกาศว่า แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้แสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่เพื่อความโปร่งใสรัฐมนตรีของพรรคต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยมีการติดแจ้งประกาศไว้ที่พรรค ทำให้พันตำรวจโททักษิณต้องยอมรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวโดยดุษฎี


 


เป็นที่ฮือฮาอย่างมาก เมื่อ พันตำรวจโททักษิณแสดงบัญชีว่าตนมีเงินสดและมีหุ้นมูลค่ามหาศาล แต่กลับไม่เคยแจ้งว่ามีหุ้นที่ฝากไว้กับคนรับใช้กว่า 11,000 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นเมินเฉยต่อกฎเกณฑ์ของพรรคพลังธรรมและเป็นดัชนีชี้วัดจริยธรรมตั้งแต่เข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกของพันตำรวจโททักษิณว่าอยู่ในระดับใด


 


แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ พันตำรวจโททักษิณ ไม่เคยบอกว่าหุ้นที่เอาไปฝากไว้ที่คนรับใช้กว่าหมื่นล้านบาท ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไรและเพื่อประโยชน์อะไร


 


แม้จะเป็นที่รู้กันว่า หุ้นในชื่อคนรับใช้เหล่านี้สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตรได้มากมายมหาศาล โดยไม่มีใครตรวจสอบหรือรู้ได้ในขณะนั้น (ไม่มีใครตรวจสอบได้) แต่ถ้าหุ้นจำนวนดังกล่าวอยู่ในชื่อของคนในครอบครัวชินวัตร โอกาสที่จะนำไปแสวงหาประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำก็ทำได้ยากมากกว่าฝากไว้ในชื่อคนรับใช้ผู้จงรักภักดีและไม่มีใครรู้จัก


 


สิ่งสำคัญยังกลายเป็นชนวนเหตุให้คุณหญิงพจมานถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ปรับเป็นเงิน 6.3 ล้านบาทเศษ เมื่อเดือนตุลาคม 2544 ในฐานความผิดที่ว่าไม่รายงานการซื้อขายหุ้นทุกๆ 5 % แต่ก.ล.ต.ได้ละเว้นโทษการใช้ข้อมูลภายในการซื้อขายหุ้น(อินไซด์ เทรดดิ้ง) ในช่วงที่มีมีการเพิ่มทุนบริษัทชินคอร์ปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2536 ทำให้ครอบครัวชินวัตรซื้อหุ้นเพิ่มทุนผ่านคนรับใช้ในราคาถูกได้ประโยชน์มหาศาล


 


ข้ออ้างของ ของ ก.ล.ต.คือ เอกสารซื้อหุ้นหายเพราะโบรกเกอร์ถูกปิดไปในช่วงวิกฤติปี 2540


 


ขายหุ้นให้ลูกชายจริงหรือ


พันตำรวจโททักษิณชี้แจงว่า หลังวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ไม่มีหุ้นในมือแม้แต่หุ้นเดียว เนื่องจากได้มีการโอนหุ้นให้แก่ลูกชาย(นายพานทองแท้ ชินวัตร)หมดแล้ว


 


แต่ในข้อเท็จจริง สิ่งที่พันตำรวจโททักษิณไม่เคยปริปากบอกต่อสาธารณชนก็คือ การโอนหุ้นชินคอร์ปจำนวน 103 ล้านหุ้นให้แก่นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 เป็นการขายหุ้นให้แก่บุคคลทั้งสาม (ในราคาหุ้นละ10บาท จากราคาตลาด150 บาท ทำให้มี "ส่วนต่าง "ราคาหุ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท) โดยไม่มีการจ่ายเงินกันแม้สักสลึงเดียว


 


ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีการรซิ้อขายหุ้นกันจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเจตนาลวง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรค 1)


 


เมื่อไม่มีการจ่ายเงินกันจริง แต่จ่ายกันในรูปของ "ตั๋วเงิน" ที่ออกกันอย่างง่ายๆ กล่าวคือ พานทองแท้ซื้อหุ้นชินคอร์ปไป 73 ล้านหุ้น มูลค่า 730 ล้านบาท แต่ไม่ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าว แต่จ่ายในรูปของตั๋วเงินที่ออกโดยนายพานทองแท้ ทำให้นายพานทองแท้เป็นหนี้คุณหญิงพจมานและพันตำรวจโททักษิณอยู่กว่า 730 ล้านบาท(ไม่รวมการขายหุ้นธนาคารทหารไทย ทำให้นายพานทองแท้เป็นหนี้คุณหญิงพจมานอีกกว่า 4,000 ล้านบาท)


 


เช่นเดียวกับกรณีของนายบรรณพจน์และนางยิ่งลักษณ์ ก็จ่ายเงินในรูปของตั๋วเงินให้แก่คุณหญิงพจมาน และพันตำรวจโททักษิณอยู่ ทำให้เป็นหนี้บุคคลทั้งสองอยู่ 268 ล้านบาทและ 20 ล้านบาทตามลำดับ(ดูบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพันตำรวจโททักษิณที่แสดงต่อป.ป.ช.เมื่อ 15 มีนาคมและ 7 พฤศจิกายน 2544)


 


ภายหลังจากที่พันตำรวจโททักษิณและคุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่บุคคลทั้งสามแล้ว ได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ไม่มีหุ้นชินคอร์ปเหลืออยู่ ทั้งๆที่ พันตำรวจโททักษิณ ยังถือหุ้นชินคอร์ปผ่านบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสต์เมนต์ อยู่ 32.9 ล้านหุ้น


 


หลังจากวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ได้โอนหุ้นบริษัทแอมเพิลริช (ราคาเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่มีทรัพย์สินเป็นหุ้นชินคอร์ปกว่า 329.2 ล้านบาท) ให้นายพานทองแท้


 


ดังนั้น บุคคลภายนอก แม้แต่ ก.ล.ต.ก็ไม่เคยรู้ก็คือหุ้นชินคอร์ป 32.9 ล้านหุ้น ที่แอมเพิล ริชถืออยู่ ถูกโอนจาก พันตำรวจโททักษิณอย่างเงียบๆ จนกระทั่ง ก.ล.ต.ตรวจพบในปี 2544 จึงได้มีการแจ้งย้อนหลังกลับไป ในลักษณะดังกล่าว จะเป็นเจตนาปกปิดด้วยหรือไม่ ? ทำไม ก.ล.ต.จึงอ้างว่า ไม่มีเจตนาและให้ยุติเรื่อง


 


 


บทบาท "คนสนิท" พจมาน


พันตำรวจโททักษิณ ชี้แจงว่าการโอนหุ้นให้ลูกชายเป็นการโอนจริงเพราะลูกชายก็บรรลุนิติภาวะแล้ว อยู่ในวิสัยที่จะรับผิดชอบธุรกิจต่อไปได้หลังจากโอนหุ้นไปแล้ว โดยมีลุง(นายบรรณพจน์)เป็นประธานกรรมการบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ดูแลและให้คำปรึกษา รวมทั้งการว่าจ้างที่ปรึกษาให้เป็นผู้ดูแลด้วย


 


แต่จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบปรากฏว่าคนที่เข้าไปจัด การหุ้นทั้งหมดล้วนแต่เป็นลูกน้องคนสนิทของคุณหญิงพจมานทั้งสิ้น อย่างน้อย 2 คน


 


คนแรกคือ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน โดยมีบทบาทตั้งแต่การเอาหุ้นไปใส่ชื่อคนรับใช้ นำเอกสารไปให้คนรับใช้เซ็นในคดี "ซุกหุ้น ภาคคนรับใช้"


 


นอกจากนั้น นางกาญจนภายังเป็นผู้ที่ติดต่อให้นายวันชัย หงษ์เหิน เจ้าหน้าที่ห้องค้าหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจเป็นผู้ซื้อขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรในคนรับใช้อีกด้วย


 


นางกาญจนภา หงษ์เหินให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีใจความสรุปว่า ในช่วงปี 2535 บงล.ภัทรธนกิจ มีนโยบายให้ฝ่ายค้าหลักทรัพย์หาลูกค้าใหม่ เพื่อเป็นผลงานประกอบการพิจารณาเลื่อนชั้นและเลื่อนตำแหน่ง ในฐานะที่ตนทำงานส่วนตัวช่วยคุณหญิงพจมานมาเป็นเวลาหลายปี และคุณหญิงพจมานก็มีความเมตตาต่อตนโดยให้ความช่วยเหลือสม่ำเสมอ จึงขอให้คุณหญิงพจมานช่วยเป็นส่วนตัว โดยให้ช่วยเหลือนายวันชัย สามีที่ทำงาน อยู่ บงล.ภัทรฯ ในการหาลูกค้าใหม่ โดยขอให้คุณหญิงเข้าไปเป็นลูกค้าซื้อขายหุ้นเงินสดเพื่อเป็นผลงานให้กับสามี


 


เช่นเดียวกันการนำหุ้นชินคอร์ปกว่า 1,400 ล้านหุ้นของครอบครัวชินวัตรขายต่อให้เทมาเส็ก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 และบริษัท แอมเพิล ริช ขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่พานทองแท้ละพิณทองทา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ปรากฎว่าในแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการซื้อขายหุ้นที่ต้องแจ้งต่อ ก.ล.ต.(แบบ 246-2) เขียนชัดเจนว่าบุคคลที่ติดต่อได้คือ นางกาญจนาภา


 


หลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่านางกาญจนภาเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการจัดการหุ้นให้แก่นายพานทอง น.ส.พิณทองทานายบรรณพจน์ และนางยิ่งลักษณ์ ถามว่าใครคือผู้บงการหรืออยู่เบื้องหลังนางกาญจนภา


 


คนถัดมาคือ นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ มีบทบาทในการจัดการภาษีให้กับคุณหญิงพจมาน โดยเฉพาะกรณีที่คุณหญิงโอนหุ้นให้กับคนรับใช้มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท หลังจากกรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบในปี 2544


 


คุณหญิงพจมานได้มอบอำนาจให้นางสาวปราณีผู้นี้เป็นตัวแทนไปติดต่อจัดการในเดือน พฤษภาคม 2544 ปรากฎเป็นหลักฐานในหนังสือของกรมสรรพากร ที่ทำโต้ตอบกับนางสาวปราณีไว้อย่างชัดเจน


 


ผลงานของนางสาวปราณี อีกกรณีหนึ่งก็คือ ก่อนที่บริษัทแอมเพิล ริช จะขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1บาท ให้แก่นายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา ปรากฎว่าในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 น.ส.ปราณีในฐานะตัวแทนของบริษัทแอมเพิล ริชได้ทำหนงสือหารือสรรพากรว่า การที่แอมเพิล ริช จะขายหุ้นชินคอร์ปให้กับพานทองแท้และพิณทองทาหุ้นละ 1 บาท ต้องเสียภาษีหรือไม่


 


หลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่านงสาวปราณีเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการจัดการด้านภาษีหุ้นให้แก่คุณหญิงพจมาน นายพานทอง น.ส.พิณทองทาและบริษัท แอมเพิล ริชมาตลอด ถามว่า ใครคือผู้บงการหรืออยู่เบื้องหลังน.ส.ปราณี


 


พันตำรวจโททักษิณอ้างในรายการถึงลูกถึงคนว่า ลุง(นายบรรณพจน์)เป็นที่ปรึกษาในการดูแลเรื่องหุ้นให้แก่ลูกๆ แต่จากข้อเท็จจริงยังพบว่า นอกจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปที่นายบรรณพจน์จ่ายในรูปของตั๋วเงินให้แก่คุณหญิงพจมานแล้ว ในการซื้อหุ้นบริษัทเอสซี แอสเซท จำกัดของครอบครัวชินวัตร เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2542 และ 27 เมษายน 2543 ของนายบรรณพจน์และนางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยาอีกเกือบ 20 ล้านหุ้น นายบรรพจน์และภรรยาก็มิได้จ่ายเงินสักสลึกเดียว แต่จ่ายในรูปของตั๋วเงินให้แก่คูหญิงพจมาน ทำให้สองสามีภรรยาเป็นหนี้คุณหญิงพจมานจากการซื้อหุ้นรวม 659.3 ล้านบาท


 


จากข้อเท็จจริงและพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นได้หรือไม่ว่านายพานทองแท้ นางสาวพิณทองทา นายบรรพจน์และนางยิ่งลักษณ์ อาจมีสถานะไม่แตกต่างจากคนรับใช้ที่เป็นเพียง "นอมินี"ให้แก่คุณหญิงพจมานและ พันตำรวจโททักษิณ


 


ผิดกฎหมาย-ติ๊กผิดซ้ำซาก


นอกจากนี้ พันตำรวจโททักษิณยังยืนยันว่าการโอนและขายหุ้นชินคอร์ปได้ทำถูกต้องตามกฏหมายและโปร่งใส แต่ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้แถลงว่า นายพานทองแท้ได้กระทำผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ถูกปรับเป็นเงิน 5.9 ล้านบาท เช่นเดียวกับคุณหญิงพจมานที่เคยถูกปรับจำนวน 6.3 ล้านบาท


 


นอกจากทำผิดกฎหมายแล้ว ยังพบว่าในแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้น (แบบ246-2) ต่อ ก.ล.ต.ของครอบครัวชินวัตรและผู้เกี่ยวข้อง มีการ " กาเครื่องหมายผิด " หรือ ติ๊กผิด " มาตั้งแต่ปี 2542 -2549 กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่พันตำรวจโททักษิณ โอนหุ้นชินคอร์ปจำนวน 32.92 ล้านหุ้นให้แก่ บริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ โดยระบุ " ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย " ในราคา 10 บาท แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า เป็นการซื้อขายนอกตลอด


 


ต่อมา พันตำรวจโททักษิณและคุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ป 103 ล้านหุ้นให้แก่นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์และ นางยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 กว่า 100 ล้านหุ้น รวมถึงกรณีที่บริษัท แอมเพิล ริช ขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท/หุ้น ให้แก่นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ก็อ้างว่า ที่ระบุว่าเป็นการ " ซื้อ/ขายผ่าน ตลาดหลักทรัพย์ " ทั้งๆ ที่เป็นการซื้อขายกันนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือแม้แต่ธนาคารยูบีเอสซึ่งอ้างว่าเป็นธนาคารระดับโลกยังอ้างว่ารายงานผิดโดยแจ้งว่าได้ซื้อหุ้นชินคอร์ป 10 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 176 บาท จากแอมเพิลริช เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544


 


แต่ความจริงเป็นการนำไปฝากไว้เฉยๆ พฤติกรรมดังกล่าวทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นการจงใจแจ้งเท็จซ้ำซากหรือได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาที่ว่าจ้างรายใด ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังทำให้เห็นว่า ครอบครัวชินวัตรกระทำผิดกฎหมายอย่างซ้ำซากและโยนบาปให้ "ไอ้ติ๊ก"มาตลอด โดยที่ ก.ล.ต.ได้แต่ทำตาปริบๆ


 


ทำไมจึงหลีกเลี่ยงมาตรา 209


ในรายการถึงลูกถึงคน พิธีกรถามว่า ถ้าย้อนกลับไปได้จะโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นิติบุคคลที่จัดการหลักทรัพย์ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209ที่ห้าม) แทนที่จะโอนให้ลูกหรือไม่ พันตำรวจโททักษิณ แสดงอาการอึกอักก่อนที่จะตอบว่า ขณะนั้นกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวยังไม่มี จึงต้องโอนให้ ลูกชาย ซึ่งขณะนั้นบรรลุนิติภาวะแล้ว เพื่อจะได้แบ่งให้กับน้องๆเป็นมรดกต่อไป


 


คำตอบของพันตำรวจโททักษิณจึงเป็นการบิดเบือนอย่างชัด เจน! เพราะพระราชบัญญัติจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 และได้ประกาศลงในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2543


 


ขณะที่พันตำรวจโททักษิณและคุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปจำนวน 103 หุ้นให้แก่นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์และนางยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ไปแล้วเกือบ 2เดือน


 


แม้ว่าในขณะนั้น พันตำรวจโททักษิณยังมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จนกว่าจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ยังมีเวลาอีก 30 วันในการแจ้งต่อประธานคณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และมีเวลาในการโอนอีก 90 วัน รวมแล้วมีเวลาในการโอนหลังจากเข้ารับตำแหน่งถึง 120 วัน


 


แต่ พันตำรวจโททักษิณไม่เลือกที่จะปฏิบัติตามกฎ หมายและรัฐธรรมนูญ แต่เลือกวิธีการที่จะทำเป็น "ขาย"ให้ลูกและญาติพี่น้องแทนในราคาต่ำกว่าตลาด โดยไม่ต้องเสียภาษีตามการตีความของ กรมสรรพากรซึ่งการตีความดังกล่าวเป็นการทำลายกลไกตรวจสอบของรัฐธรรมนูญตามมาตรา 209 อย่างสิ้นเชิง


 


หลีกเลี่ยงการเสียภาษี


พันตำรวจโททักษิณอ้างว่าการโอนหุ้นให้นายพานทองแท้ เป็นการโอนแบบ "พ่อให้ลูก" ซึ่งกฎหมายให้ทำได้โดยธรรมจรรยา ซึ่งกฎหมายยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการโอน


 


แต่จากข้อเท็จจริง พันตำรวจโททักษิณ "ขาย" หุ้นให้กับพานทองแท้ ในราคาต่ำกว่าท้องตลาดถึงหุ้นละ 140 บาท ซึ่งบรรดานักวิชาการด้านกฎหมายภาษีเห็นว่า ต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง" ราคาดังกล่าวหลายพันล้านบาท


 


นอกจากนั้น พันตำรวจโททักษิณยังอ้างว่า การขายหุ้นชินคอร์ป ของครอบครัวชินวัตรให้แก่บริษัท เทมาเส็กเป็นการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 187 กำหนดไว้ว่าเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์หรือขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นภาษี


 


ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการพูดตัดตอนเฉพาะช่วงตอนจบที่การขายหุ้นมูลค่า 73,00 ล้านบาทให้แก่บริษัทเทมาเส็กเท่านั้น แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงกระบวนการขายหุ้นซึ่งไม่น่าจะชอบมาตั้งแต่ต้น และเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนโดยมีกรมสรรพากรเปลี่ยนคำวินิจฉัยไปมาเพื่อสนองผู้มีอำนาจ


 


การขายหุ้นในลักษณะดังกล่าวมี 2 ช่วง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในกลุ่มนักวิชาการว่ากรมสรรพากรใช้ดุลพินิจและอำนาจโดยมิชอบ เป็นการทำลายระบบภาษีของประเทศอย่างรุนแรง


 


กรณีแรก พันตำรวจโททักษิณและคุณหญิงพจมาน ขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์และนางยิ่งลักษณ์ เมื่อ 1 กันยาน 2543 ในราคา 10 บาท ขณะที่ราคาตลาด 150 บาท ทำให้เกิด "ส่วนต่าง" กว่าหมื่นล้านบาท ถ้าคิดภาษีเต็มจำนวน จะมีมูลค่ามหาศาลกว่า 7 พันล้านบาท หากเก็บจนถึงวันนี้ก็ทะลุเป็นหมื่นล้านบาท


 


กรณีที่สอง คือบริษัท แอมเพิล ริช ขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท ให้กับพานทองแท้และพิณทองทา ขณะที่ราคาตลาดกว่า 40 บาท ลูกของพันตำรวจโททักษิณได้กำไร "ส่วนต่าง" กว่า 15,000 ล้านบาท


 


เพื่อให้ครอบครัวชินวัตรไม่ต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง"เป็นเงินนับหมื่นล้านบาท กรมสรรพากรได้เปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยกลับไปกลับมา ถึง 3 ครั้ง


 


ครั้งแรก เกิดขึ้นช่วงที่ป.ป.ช.กำลังไต่สวนคดีซุกหุ้นของพันตำรวจโททักษิณ ปลายปี 2543 นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุลอธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น(ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการคลัง) ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ตอบ ป.ป.ช.ชัดเจนว่า "ส่วนต่าง" ของราคาหุ้นที่ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาด เข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร


 


ครั้งที่สอง เมื่อพรรคไทยรักไทยขึ้นครองอำนาจ มีการเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยว่าผู้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าตลาด ไม่ต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง" ราคาหุ้น เนื่องจากยังไม่มีเงินได้เกินกว่าเงินลงทุนเงิน จนกว่าจะขายหุ้นจำนวนดังกล่าวในราคาสูงกว่าที่ซื้อมาและมีกำไร


 


กระทั่งเกิดกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้าไปซื้อหุ้นบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด ในราคาต่ำกว่าตลาดจากบิดาตนเอง ปรากฏว่าเมื่อมีการยื่นแบบเงินได้บุคคลธรรมดาภาษี กรมสรรพากรได้คิดเป็นภาษีจาก"ส่วน ต่าง" ราคาหุ้นที่นายเรืองไกรได้รับ


 


เมื่อนายเรืองไกรอุทธรณ์ คณะกรรมการ ยืนยันความถูกต้องในการคำนวณภาษีดังกล่าว แต่ในเวลาต่อมานายวราเทพ รัตนกากรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อ้างว่าเป็นการเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร จึงได้สั่งให้รีบคืนเงินที่เก็บภาษีคืนให้แก่นายเรืองไกร โดยอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับการขายหุ้นของว่า นายเรืองไกรยังไม่มีเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน


 


ครั้งที่สาม เมื่อ 29 ธันวาคม 2548 สรรพากร มีหนังสือถึงนายเรืองไกรฉบับหนึ่ง อ้างเหตุผลว่าการซื้อสินค้าราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นไปตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 453 เป็นเรื่องการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย"ส่วนต่าง"ของราคาซื้อกับราคาตลาด ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร


 


แนวคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าว นักวิชาการด้านกฎหมายภาษีเห็นว่า จะทำให้เกิดการเลียนแบบเพื่อเลี่ยงภาษีอย่างมหศาล เป็นการทำลายระบบภาษีของประเทศ (ดูบทความของธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหนังสือ อัครดีลชินคอร์ป 7หมื่นล้าน ซุกหุ้น"โคตรานุวัฒน์")


 


จากการตรวจสอบพบว่า แนวคำวินิจฉัยครั้งที่สามนั้น กรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือแก่บริษัท แอมเพิล ริชตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2548 ทำให้เห็นชัดว่าการหยิบยกมาตอบนายเรืองไกรอีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาทให้แก่นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทาซึ่งเป็นกรรมการบริษัท แอมเพิล ริช ด้วย


 


กรณีข้อกล่าวหาเรื่องหลีกเลี่ยงภาษีนี้ยังไม่รวมกรณีคุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปในนามดวงตา วงศ์ภักดีให้แก่นายบรรณพจน์ 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยยอมเสียค่าโบรกเกอร์ 7.38 ล้านบาท แต่เป็นเงินที่คุณหญิงพจมานจ่ายแทนนายบรรณพจน์ ในลักษณะ "อัฐยายซื้อขนมยาย"


 


แต่เมื่อถูกจับได้ก็อ้างว่า เป็นการยกหุ้นให้โดยเสน่หาและอุปการะโดยธรรมจรรยาซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสรรพากรเชื่อด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดี


 


ตั้งบริษัท บนเกาะบริติสเวอร์จิ้น รักชาติหรือไม่


พันตำรวจโททักษิณอ้างว่าการตั้งบริษัทบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น (BVI) ซึ่งได้รับฉายาว่าสวรรค์ของนักเลี่ยงภาษี เป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ มีบริษัทไทยหลายบริษัทก็ไปเปิดบริษัทที่เกาะดังกล่าว


 


ก่อนหน้านี้ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2545 พันตำรวจโททักษิณปาฐกถาในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง"ยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์ใหม่ของเศรษฐกิจโลก" ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า


 


"..วันนี้เราต้องสามัคคีกัน อย่าขัดแย้งกันให้มาก เอาประเทศเป็นหลักโดยประชาชนควรจะมีความรักชาติ เมื่อวานผมได้ดูข่าวจากซีเอ็นเอ็น ทราบว่า ขณะนี้สภาของสหรัฐกำลังแก้ไขกฎหมายใหม่ เพราะบริษัทต่างๆ แม้มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ แต่ไปจดทะเบียนในประเทศอื่นๆ เช่น ในปานามาหรือบริติช เวอร์จิ้น ไอส์แลนด์ ซึ่งถือว่า เป็นบริษัทที่ไม่รักชาติ เพราะถือว่า เป็นการเลี่ยงภาษีซึ่งเห็นได้ว่า แม้สหรัฐจะเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสูงยังมีการดำเนินการเช่นนี้ ก็อยากฝากให้คนไทยและบริษัทต่างมีความรักชาติด้วย..."


 


เมื่อพิธีกรในรายการถึงลูกถึงคน ได้ถามประเด็นนี้ พันตำรวจโททักษิณกลับแสดงท่าทีอึกอักแล้วตอบว่า "ผมไม่แน่ใจว่า ผมพุดขนาดนั้นเลยเหรอ ผมว่า ผมไม่ได้พูดขนาดนั้นหรอก…"


 


จากคำพูดดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า พันตำรวจโททักษิณได้บิดเบือนคำพุดที่คนเองได้พูดไว้ถึง 2 ครั้ง


 


หนีตอบวินมาร์คสุดชีวิต


ประเด็นที่พันตำรวจโททักษิณหลีกเลี่ยงที่จะตอบมากที่สุดแบบสุดชีวิตคือ กรณีบริษัทวิน มาร์ค ลิมิเต็ด ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบริติช เวอร์จิ้นที่พันตำรวจโททักษิณและคุณหญิงพจนมานโอนหุ้น 5 บริษัทของตนเองให้แก่บริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2543 เป็นมูลค่าเกือบ 1,500 ล้านบาท


 


บริษัททั้ง 5 ประกอบด้วย บริษัท โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ บริษัท เอสซี ออฟฟิช ปาร์ค บริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์ บริษัท เอสซีเค เอสเตท และบริษัท พีที คอร์ปอเรชั่น


 


หลังปรากฏเป็นข่าว พันตำรวจโททักษิณ อ้างว่าบริษัทวินมาร์คเป็นของนักลงทุนต่างประเทศ ที่ต้องการซื้อหุ้น 5 บริษัทดังกล่าวที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยต้องการผลประโยชน์จากการหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ คนที่ยืนยันอีกคนก็คือ สุรเธียร จักธรานนท์ กรรมการผู้อำนวยการเอสซี แอสเสทของครอบครัวชินวัตร


 


นอกจากนี้ พันตำรวจโททักษิณ ยังทำหนังสือชี้แจงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.). ในคดีซุกหุ้นในยืนยันว่าบริษัทวินมาร์คเป็นของนักลงทุนต่างประเทศ


 


ทว่าในข้อเท็จจริงกลับมีการค้นพบว่า บริษัทวินมาร์ค ลิมิเต็ด มีที่ตั้งที่เดียวกับบริษัท แอมเพิล ริช คือ P.O.BOX 3151,Road Town,Tortola บนเกาะบริติช เวอร์จิน


 


หลักฐานดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า บริษัทแอมเพิล ริช และบริษัทวินมาร์ค มีเจ้าของเดียวกันหรือไม่ ถ้าใช่ บริษัทวินมาร์คก็ต้องเป็นของครอบครัวชินวัตรเช่นกัน


 


ถ้ามิใช่ เหตุใดนักลงทุนต่างประเทศรายนี้จึงมีใจตรงกับครอบครัวชินวัตรโดยบังเอิญที่มีที่ตั้งของบริษัทอยู่ที่เดียวกับบริษัทแอมเพิล ริช


 


ต่อบริษัทวินมาร์คซึ่งถือหุ้นในบริษัทเอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น(เปลี่ยนชื่อจากบริษัทโอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้) กว่า 61 ล้านหุ้น ได้โอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่ กองทุน แวลู แอสเสท ฟันด์ ที่จัดตั้งในประเทศมาเลเซีย เมื่อสิงหาคม 2546 ก่อนนำบริษัทเอสซีแอสเซทเข้ามายื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในไม่กี่วัน


 


มีปรากฎหลักฐานว่า การเพิ่มทุนบริษัท จาก 1,850 ล้านบาทเป็น 25,000 ล้านบาทหรืออีก 710 ล้านบาท กองทุนแวลู แอสเสท กลับสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดให้แก่นางสาวพิณทองทาและนงสาวแพทองธาร ทำให้กองทุนแวลู แอสเซทขาดผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นที่จะขายให่แก่ประชาชนทั่วไปหุ้นละ 5 บาทเป็นกว่า 100 ล้านบาท


 


ต่อมาก่อนที่จะมีการยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหุ้น 5 วัน กองทุนแวลู แอสเสทได้โอนหุ้นกว่า 61 ล้านหุ้นให้แก่กองทุนออฟชอว์ ฟันด์อิงค์และโอเวอร์ซี ฟันดอิงค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกับกองทุน แวลู แอสเสท ฟันด์ เช่นกัน คือเกาะบาบัวในมาเลเซีย


 


จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า กองทุนทั้ง 2 เป็นของครอบครัวชินวัตร การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลในการเสนอขายหลักทรัพย์(ไฟลิ่ง)ของบริษัทเอสซี แอสเซท ต่อก.ล.ต.ในวันที่ 5 กันยายน เป็นการแจ้งข้อมูลเท็จหรือไม่ เพราะเป็นการปกปิดข้อมูลของผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


 


เพราะในการยื่นไฟลิ่ง บริษัทแจ้งว่า ครอบครัวชินวัตรแจ้งว่าถือหุ้นเพียง 60 % มิได้พูดถึง 2 กองทุนดังกล่าวที่ถือหุ้นอยู่ 20%ซึ่งเท่ากับว่า ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นอยู่เกือบ 80%


 


หาก ก.ล.ต.มีความกล้าหาญที่จะพิสูจน์ว่ากองทุนดังกล่าวเป็นของครอบครัวชินวัตรจริง และตรวจสอบได้ว่ามีการแจ้งเท็จในการยื่นไฟลิ่งก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 2 เท่า ของหุ้นที่นำเสนอขายต่อประชาชน อาจทำให้ถูกปรับเป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท


 


สิ่งสำคัญ อาจทำให้ได้เป็นคำตอบว่อาจมีการซุกซ่อนทรัพย์ สินไว้ในต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล กองทุนที่ถือหุ้นบริษัทเอสซี แอสเซทเป็นเพียงส่วนเล็กๆที่จับได้เท่านั้น


 


ทั้งหมดนี้เป็น "ความจริง" ที่ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรยังไม่ได้ตอบ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net