Skip to main content
sharethis


พีระศักดิ์ ภัทรปีติกุล


 



ท่ามกลางความร้อนระอุของวิกฤติการณ์ทางการเมือง อันเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ลามไปทั่วประเทศ ไม่เว้นกระทั่งเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีการชุมนุมยืดเยื้อกันที่หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่อยู่ในขณะนี้


ค่ำวันที่ 14 มีนาคม 2549 โรงเรียนรัฐธรรมนูญ ของ "สมัชชาเพื่อการปฏิรูปการเมืองสงขลา" ได้จัดเสวนาเรื่อง "แก้ไขรัฐธรรมนูญ...อย่างไร" ขึ้น ที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค ด้วยการเชิญ "นายพีระศักดิ์ ภัทรปีติกุล" เจ้าพนักงานคดีปกครอง ศาลปกครองสงขลา เป็นวิทยากร


ถึงแม้ "นายพีระศักดิ์ ภัทรปีติกุล" จะไม่เห็นด้วยกับการถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อปฏิรูปการเมืองด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็เห็นถึงข้อบกพร่องที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงเห็นด้วย ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเริ่มจากการแก้ไขมาตรา 313 ให้อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อยู่กับคณะกรรมการฯ ชื่ออะไรสักชุด อาจจะมาในรูปของ ส.ส.ร. 2 ก็ได้


เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น "ประชาไท" จึงนำรายละเอียดจากเอกสารประกอบการเสวนา ซึ่งเป็นข้อเขียนของ "นายพีระศักดิ์ ภัทรปีติกุล" มานำเสนอ ดังต่อไปนี้
......................................................................................................


แก้ไขรัฐธรรมนูญ...อย่างไร
รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ต้องการเปลี่ยนการเมืองให้เป็นการเมืองของประชาชน
- ต้องการทำให้ระบบการเมืองและระบบราชการมีความสุจริตชอบธรรม ด้วยการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ในทุกระบบทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพ
- พยายามทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำและรัฐสภามีประสิทธิภาพ
สภาพปัญหา วิกฤติการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาจากสภาพปัญหา วิกฤติการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน น่าจะเกิดมาจาก 2 สาเหตุหลักๆ กล่าวคือ


1. ปัญหาที่ตัวนายกรัฐมนตรี ขาดความสง่างาม ความชอบธรรม ขาดจริยธรรม ในการดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่


2. ปัญหาที่ตัวรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างการจัดการความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถาบันทางการเมือง ระหว่างรัฐสภา/รัฐบาล และองค์กรอิสระหรือองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ


ปัญหาประการแรก วิกฤติการณ์ทางการเมือง อันเกิดจากความบกพร่องของระบบโครงสร้างสถาบันทางการเมือง


1. รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างๆ อย่างรอบด้าน อย่างที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า


2. กลไกในการเข้าสู่อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ
 -  ก่อนการเข้าสู่อำนาจ กกต. (จัดการเลือกตั้ง, ประกาศ, เพิกถอน)
 - ขณะอยู่ในอำนาจ ปปช. (ทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ) คตง. (การใช้เงินแผ่นดิน) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ชอบธรรม) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (การละเมิดสิทธิมนุษยชน) และศาล 3 ศาล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ (ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร) ศาลปกครอง (การใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ศาลยุติธรรม (คดีแพ่ง/อาญาทั่วไป และรวมถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง)
 - หลังพ้นจากตำแหน่ง ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน - หนี้สิน (ยื่น 30 วัน นับแต่เข้ารับตำแหน่ง, พ้นจากตำแหน่งให้ยื่น 30 วัน นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง และภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี (รัฐธรรมนูญ มาตรา 292)


ปัญหาตามข้อ 2 นั้น รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ดี แต่เป็นปัญหาในภาคปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น การซื้อเสียง มีลักษณะแนบเนียนยิ่งขึ้น ซื้อตลอดทั้งปี หรือใช้เงินของรัฐในการซื้อเสียง เป็นเงินภาษีประชาชน ผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ของรัฐ  ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไร ให้ภาคปฏิบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ


เช่น การจัดสรรงบประมาณ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 75) ซึ่งในการปฏิบัติจริงสวนทางกับความเป็นจริง กรณี ปปช. ซึ่งมีเรื่องราวกับนายกรัฐมนตรีก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เป็นต้น เมื่อถูกคุมเรื่องเงิน องค์กรตรวจสอบก็อ่อนเปลี้ยไม่สามารถทำอะไรได้


3. ระบบโครงสร้างการจัดการความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถาบันการเมือง
 - เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต้องการเปลี่ยนการเมืองของนักการเมืองให้เป็นการเมืองของพลเมือง/ประชาชน โดยเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบประชาธิปไตย แบบมีผู้แทนให้มากขึ้น เช่น การกำหนดให้มีกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือประชาชน 50,000 คน เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย แต่ปัจจุบันแผนพัฒนาการเมืองเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระยะยาวให้แก่ประเทศไทยก็ดี กฎหมายประชาพิจารณ์ที่ดี กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน คนพิการ หรือกฎหมายเกี่ยวกับการคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนไป หลายฉบับดังกล่าว ไม่มีการประกาศใช้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีเสียงข้างมาก แสดงว่าระบบการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันการเมือง น่าจะมีปัญหา
 - รัฐธรรมนูญต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำ และรัฐสภามีประสิทธิภาพ แต่หลังจากใช้รัฐธรรมนูญแล้ว เกิดปรากฏการณ์รัฐบาลเสียงข้างมาก 377 เสียง ฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ เพราะต้องใช้เสียง 200 เสียงจาก 500 เสียง (2/5) (รัฐธรรมนูญ มาตรา 185) ส่วนรัฐมนตรีใช้ 1 ใน 5 คือ 100 เสียงจาก 500 เสียง ปัญหาอยู่ที่คนรับผิดชอบสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำของรัฐมนตรี ไม่ต้องมาตอบคำถามในสภา (เยอรมันใช้อภิปรายได้เฉพาะนายกรัฐมนตรี แต่อภิปรายรัฐมนตรีไม่ได้) จึงเกิดเผด็จการทางรัฐสภา (ในขณะที่ไม่มีเผด็จการทางทหาร) สิ่งที่ตามมา คือ รัฐบาล รัฐสภามีเสียงข้างมาก แต่ยังคงร่างกฎหมายผิดพลาด เช่น พรบ.มหาวิทยาลัยราชภัฎ พระเจ้าอยู่หัวต้องส่งคืนมาบ้าง หรือไปเรียกคืนมาจากสำนักราชเลขาธิการบ้าง
 - รัฐธรรมนูญบังคับให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี (รัฐธรรมนูญ มาตรา 107) เจตนารมณ์ดี แต่ผล คือ ทำให้พรรคการเมืองมีอำนาจผูกขาดได้ โดยสามารถใช้กระบวนการเดียวกับที่มีอยู่ในภาคธุรกิจ คือ การรวบรวมได้โดยควบพรรค ควบกลุ่มการเมือง หรือครอบพรรค ซึ่งเป็นยุทธวิธีเสริมสร้างอำนาจผูกขาด


นอกจากนี้ ยังส่งผลให้นักธุรกิจขนาดใหญ่ หรือทุนระดับชาติ/ข้ามชาติ สามารถเข้ามาเล่นการเมืองได้เต็มตัว (ดูจากคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน) โดยที่ทุนท้องถิ่น ทุนขนาดกลาง ค่อยๆ ถูกกลืน และตกเวทีประวัติศาสตร์ไปเรื่อยๆ จนส่งผลให้ระบบเผด็จการทางรัฐสภาสมบูรณ์แบบ ด้วยรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือของนักธุรกิจทางการเมือง กล่าวคือ การบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค บวกกับนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง


โครงสร้างดังกล่าว จึงเอื้ออำนวยให้แก่นักธุรกิจการเมือง โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดกติกาไว้


4. องค์กรอิสระถูกแทรกแซง  ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยกติกาในการสรรหาคณะกรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ นอกเหนือจากการถูกคุมเรื่องเงิน หรืองบประมาณแล้ว องค์ประกอบเกี่ยวกับคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการขององค์กรอิสระต่างๆ ที่มีสัดส่วนของผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรค ที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร โดยให้เลือกกันเอง จึงเป็นการเปิดช่องให้พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล สามารถมีบทบาทและแทรกแซงในกระบวนการสรรหาคณะกรรมการในองค์กรอิสระได้ ซึ่งในทางทฤษฎีถือว่าเป็นสิ่งดี แต่ในทางปฏิบัติมันเกิด abuse of power การใช้อำนาจที่ปิดผัน เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (กกต.) รัฐธรรมนูญ มาตรา 257 (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) รัฐธรรมนูญ มาตรา 297 (ปปช.) เป็นต้น หลายครั้งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่อยู่บนเหตุผลอื่น กลไกราชการเป็นยุคที่หงอให้กับฝ่ายการเมือง นักวิชาการจำนวนไม่น้อย ก็ถูกเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ จนต้องเก็บอุดมการณ์เข้าลิ้นชัก สื่อมวลชนถูกอำนาจเงินเข้าครอบงำ ถูกคุมโดยพระราชบัญญัติการพิมพ์2484 ซึ่งลอกมาจากอียิปต์ ในสมัยที่อังกฤษปกครองอียิปต์


5. กระบวนการในการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง รัฐธรรมนูญถึงแม้จะมีจะมีบทบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่จะต้องไม่ลืมว่า กระบวนการดังกล่าวมันเติบโต และมีพัฒนาการไปในตัวมันเอง โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เอื้อประโยชน์มากนัก เพราะฝ่ายการเมืองยังไม่ได้มีการบัญญัติกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องออกมาใช้บังคับ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการออกกฎหมายดังกล่าว ประกอบกับรัฐธรรมนูญไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย ฝ่ายการเมืองจึงไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิดังกล่าว


เช่น การเติบโตของเครือข่ายพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รัฐธรรมนูญไม่ได้เอื้อ แต่เติบโตโดยมีพัฒนาการตามช่วงจังหวะเวลาของมัน


ทั้งหมดข้างต้น พอจะเป็นแนวทางกว้างๆ ในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยปัจจุบัน


ประเด็นปัญหาประการที่สอง คือ ตัวรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งแยกได้ 2 กระบวนการ คือ


1. กระบวนการแรก จะอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 336 บทเฉพาะกาล ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อครบ 5 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ กกต. ตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ ปปช. มีอำนาจทำรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้  หรือกฎหมายอื่นก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติ กรณีของศาลรัฐธรรมนูญได้มีรายงานความเห็นเกี่ยวกับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 การกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ซึ่งต้องเป็นเอกฉันท์ ประกอบกับ กรรมการ กกต. เสียชีวิตลง 1 คน ยังสรรหาไม่ได้ ในปัจจุบัน กกต. จึงมีอยู่แค่ 4 คน


2. กระบวนการที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 313 ผู้มีอำนาจในการเสนอญัตติ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ คณะรัฐมนตรี , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (140/700) โดยเสนอเป็น 3 วาระ แต่ปัจจุบันก็ไม่สามารถใช้มาตรานี้ได้ เพราะเมื่อสภาถูกยุบ อายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมสิ้นสุดลงด้วย ส่วนคณะรัฐมนตรีก็เป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ สมาชิกวุฒิสภาก็ไม่มีสิทธิริเริ่มกระบวนการดังกล่าวได้ ทั้งที่ กระบวนการตามมาตรา 313 เป็นเจตนารมณ์ที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญแก้ง่าย


สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะเกี่ยวข้องกับอำนาจในทางรัฐธรรมนูญอยู่ 3 ประการ กล่าวคือ
 - อำนาจในการจัดการให้มีรัฐธรรมนูญ
  พระมหากษัตริย์  รัฐธรรมนูญ 2475
  ภายนอกประเทศ  รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
  คณะบุคคล  คณะปฎิวัติ รัฐประหาร หรือ สสร.
- อำนาจที่รัฐธรรมนูญได้ก่อตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐสภา รัฐบาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ


การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเปรียบเสมือนการออกแบบโครงสร้างของบ้าน


ต้องออกแบบให้มีการจัดความสัมพันธ์ในการใช้อำนาจตามโครงสร้างเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้เหมาะสม ได้ดุลยภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง


ต้องให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ได้อิสระอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เงิน งาน


ต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ที่จะต้องไม่ผลักภาระต้นทุนไปให้แก่ประชาชน  เช่น การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย หรือถอดถอนบุคคล


ต้องคำนึงถึงสภาพสังคมวิทยาการเมืองของประชาชน การที่ไปคัดลอกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่างประเทศมาบัญญัติไว้ โดยที่ไม่ตระหนักถึงสภาพสังคมวิทยาการเมืองของประชาชนย่อมไม่เกิดผล เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา


ข้อเสนอ
อยู่บนสมมติฐานที่ว่า ชนชั้นใดร่างกฎหมาย แน่ไซร้ก็เพื่อชนชั้นนั้น ดังนั้น จึงไม่มีทางที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองจะยอมแก้กฎหมาย เพื่อจำกัดการใช้อำนาจของตนเอง สังเกตได้จากรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมือง อาจจะเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเรียกประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนมาถึงการทำสัญญาประชาคมของไทยรักไทย ในการเลือกตั้งครั้งนี้


ดังนั้น จากสมมติฐานดังกล่าว จึงควรที่จะมีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 313 โดยรัฐสภาชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการกำหนดเกี่ยวกับองค์กรอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของ สสร. 2 หรือคณะกรรมการพิเศษ สุดแท้แต่จะเรียกชื่อ


ที่สำคัญ ไม่ควรที่จะมีผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลตามสมมติฐานข้างต้น


เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ผู้มีอำนาจในการแก้ไขควรที่จะต้องถูกจำกัดสิทธิในทางการเมือง เช่น ห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญใหม่ กี่วาระ หรือกี่ปีก็สุดแล้วแต่ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน


ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะต้องนำออกให้ประชาชนลงประชามติ (referendum) ไม่ใช่ประชาพิจารณ์ เช่น รัฐธรรมนูญปัจจุบัน


ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะแตะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อเกิดปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องแก้ไขเพื่อให้การบริหารจัดการบ้านเมือง สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ชนชั้นนำของสังคมต้องร่วมมือกัน เพราะเป็นกลุ่มชนชั้นที่มีคุณภาพและมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ชนชั้นนำในที่นี้ คือ นักการเมือง ข้าราชการในฐานะกลไกของรัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น เอ็นจีโอ ซึ่งคนเหล่านี้มีความเข้าใจและมีเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติหรือรักษารัฐธรรมนูญไว้


…………………………………………………………….
ประเพณีการปกครองประเทศไทยตามระบอบประชาธิปไตย
1. ประเพณี แนวทางปฏิบัติที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งควรจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และจะต้องบัญญัติ หรือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลายาวนานพอสมควร หรือมีรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเรื่องนั้นๆ ไว้แล้วหลายครั้ง


2. ประเพณีการปกครอง ประเพณีดังกล่าวจะต้องเป็นประเพณีเกี่ยวด้วยการปกครอง ไม่ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ รวมทั้งสิทธิของประชาชนด้วย


3. ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ประเพณีนั้นๆ จะต้องมีการใช้มา ตั้งแต่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเพณีไทย (ปี 2475)


จึงต้องพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มาเปรียบเทียบกันดู เช่น
- บทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ตลอดจนพระราชอำนาจบางประการ เช่น ฎีกา
- องคมนตรี
- การสืบราชสมบัติ และกฎมนเฑียรบาล
- สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย
- หน้าที่ของคนไทย
- พระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ
- คณะรัฐมนตรีบางเรื่อง
- ศาล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net