หมอประท้วงบริษัทยาสหรัฐโละยาเก่าขายผู้ติดเชื้อไทยแพง


ประชาไท - 15 มี..49      องค์การหมอไร้พรมแดนเบลเยี่ยม-ไทย และนักวิชาการ นักกิจกรรมด้านเอดส์กว่า 20 คน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารบริษัท แอบบอท แลบอราทอรี่ส์ จำกัด บริษัทยาในสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้นำยาโลพินาเวีย/ริโทนาเวีย (LPV/r) หรือที่รู้จักในนาม  "คาเลทรา" (Kaletra) รูปแบบใหม่ที่เหมาะกับเมืองร้อน มาขึ้นทะเบียนในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ของไทยได้มีโอกาสเข้าถึงยา

 

ทั้งนี้ ยาที่จะเข้ามาขายในประเทศไทยได้ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) เสียก่อน และยา LPV/r เป็นยาสำรองสำหรับผู้ติดเชื้อที่เกิดอาการดื้อยาสูตรพื้นฐาน โดยที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อในประเทศไทยใช้ยา LPV/r สูตรเก่าที่มีความยุ่งยากในการกิน  แต่ยาสูตรใหม่นี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ (Meltrex) ที่ไม่ต้องเก็บรักษาในที่เย็น ไม่จำเป็นต้องกินตามเวลาอาหารอย่างเคร่งครัด และจำนวนเม็ดที่ต้องกินต่อวันน้อยลง จากเดิมวันละ 6 เม็ด เหลือวันละ 3 เม็ด แต่ราคาก็สูงขึ้นเช่นกัน

 

องค์การหมอไร้พรมแดนฯ ระบุว่า บริษัทแอบบอทได้เก็บยารูปแบบเก่าออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาทั้งหมด และทำการตลาดเฉพาะยารูปแบบใหม่เท่านั้น แต่ปัญหาคือ บริษัทแอบบอทเปิดตลาดยาใหม่เฉพาะในสหรัฐ โดยไม่ยอมนำยาสูตรใหม่นี้ไปขึ้นทะเบียนยาในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอื่นๆ  อีกทั้งบริษัทยังไม่พัฒนายา LPV/r รูปแบบใหม่ในขนานสำหรับเด็ก ทำให้เด็กติดเชื้อที่ต้องใช้ยารูปแบบเก่าที่เป็นยาน้ำที่รสชาติขมเฝื่อนมากในปริมาณมากๆ

 

นพ.เดวิด วิลสัน ผู้ประสานงานฝ่ายการแพทย์ขององค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) แสงความเห็นว่า"ขณะที่ LPV/r เป็นยาสำคัญต่อการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ แต่มียาLPV/r รูปแบบเก่าเท่านั้น ที่ขายในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ ดังนั้น จึงชัดเจนอย่างยิ่งว่า บริษัทแอบบอทมองประเทศไทยเป็นพลเมืองชั้นสอง จึงให้บริโภคแต่ยารูปแบบเก่า ถ้าไม่เช่นนั้น เพราะเหตุใดจึงสั่งเก็บยารูปแบบเก่าในสหรัฐทั้งหมด แล้วยังโละยาเก่าเหล่านั้นมาให้กับประเทศไทยในราคาที่แพงอย่างไม่สามารถรับได้"

 

จากความเห็นของนาย หู กง หยุน จากบริษัทยาเจ๋อเจียง หัวไห่ ฟาร์มาซูติเคิล ของจีน ระบุว่า ด้วยเทคโนโลยีการผลิตยาใหม่นี้จะสามารถลดปริมาณการสูญเสียวัตถุดิบลง เมื่อเทียบกับการผลิตแคปซูลแบบ soft-gel ทำให้ต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ต่ำกว่าแบบเก่ามาก

 

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่องค์การหมอไร้พรมแดน ช่วยเสริมว่า สาเหตุที่บริษัทยาไม่นำยาสูตรใหม่มาขึ้นทะเบียนในประเทศกำลังพัฒนา อาจเพราะเห็นว่าประชาชนไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ และต้องการโละยาสูตรเก่าจะประเทศพัฒนาแล้วมาไว้ที่นี่ โดยเป้าหมายต่อไปบริษัทยาจะนำยาสูตรใหม่ไปขึ้นทะเบียนที่สหภาพยุโรป ส่วนประเทศแอฟริกาใต้นั้น บริษัทยาก็มีแผนจะนำยาไปขึ้นทะเบียนเช่นกันเพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากนานาชาติ เนื่องจากแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดและมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน

 

"ถึงไม่มีการขึ้นทะเบียนยาสูตรใหม่ แต่ยาสูตรเก่าที่ใช้กันอยู่ก็มีราคาแพงมาก ทั้งที่รัฐบาลมีอำนาจการต่อรองในการสั่งซื้อล็อตใหญ่ๆ ได้ อย่างประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศระดับเดียวกับไทย ซื้อยาจำนวนมากเหมือนกัน แต่มีการต่อรองราคากับบริษัทยาอย่างหนัก โดยหนุนมวลชน เอ็นจีโอให้ช่วยกดดัน และสุดท้ายมีการขู่ว่าหากไม่ยอมลดราคาจะใช้มาตรการการนำเข้าซ้อน คือ นำเข้ายาชนิดเดียวกันจากประเทศที่บริษัทไปขายให้ในราคาถูกกว่า ในที่สุดบริษัทก็ยอม ดังนั้น ภาคราชการซึ่งทำหน้าที่ซื้อยาต้องร่วมมือกับผู้ติดเชื้อ แพทย์  ผู้เชี่ยวชาญ ช่วยกันกดดันบริษัทยาให้มากกว่านี้ รวมทั้งการใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ด้วย" กรรณิการ์กล่าว

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทย ต้องจ่ายค่ายา LPV/r ในราคา 108,000 บาท (2,700 $) ต่อผู้ป่วยต่อปี โดยบริษัทยาไม่ยอมลดราคาให้เนื่องจากอ้างว่าได้ลดให้แล้ว 20% อย่างไรก็ตาม ในบราซิล (ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับกลางเช่นเดียวกับไทย) กลับจ่ายเพียงครึ่งหนึ่งของราคาที่คนไทยต้องจ่าย คือ 55,200 บาท (1,380 $) ต่อผู้ป่วยต่อปี ส่วนกัมพูชาและประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ซื้อ LPV/r ในราคาเพียง 20,000 บาท (500 $) ต่อผู้ป่วยต่อปีเท่านั้น

 

จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า ในปี 2549 นี้มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อต้องการใช้ยา LPV/r ประมาณ 8,000 คน แต่จากราคาที่แพงมาก ทำให้งบประมาณของรัฐบาลที่มีอยู่สามารถจัดหายาให้ผู้ติดเชื้อได้เพียง 500 คนเท่านั้น

 

ทั้งนี้ เนื้อหาข้อเรียกร้องในจดหมายที่ส่งให้ผู้บริหารบริษัทแอบบอท มีดังนี้ 1. ดำเนินการขึ้นทะเบียนยา LPV/r รูปแบบใหม่ในทุกประเทศทันที ทั้งประเทศที่มีการขึ้นทะเบียนยาสูตรเก่าแล้ว หรือกำลังอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนก็ตาม  2. แจ้งข้อมูลรายชื่อประเทศต่างๆ และวันขอขึ้นทะเบียนยา LPV/r รูปแบบใหม่ในกรณีที่อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียน รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในประเทศที่ยังไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนยา เพื่อให้นักสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ ได้วางแผนแก้ปัญหาความล่าช้า 3. เปิดเผยราคายา LPV/r รูปแบบใหม่ ที่ขายในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยขอให้ตั้งราคาในประเทศกำลังพัฒาให้ต่ำที่สุดหรืออย่างน้อยเท่ากับราคายาแบบเก่าที่ขายให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 4. พัฒนายา LPV/r แบบเม็ดสูตรสำหรับเด็ก  5. ทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาง่ายขึ้น ขณะที่การขึ้นทะเบียนยาอยู่ระหว่างการพิจารณา

 

โดยมีผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายดังกล่าว อาทิ เช่น ศ.นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย, .พญ.เพลินจันทร์ เชษฐโชติศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, นายจอน อึ๊งภากร วุฒิสมาชิก, นายกมล อุปแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

 

อนึ่ง การรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อในประเทศไทยด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ถือเป็นที่ปฏิบัติโดยทั่วไปแล้วในประเทศไทย ซึ่งต้องขอบคุณโครงการพัฒนาการเข้าถึงบริการยาต้านไวรัสเอดส์สำหรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ (National Access to Antiretroviral Programs for PHA - NAPHA) ของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อประมาณ 80,000 คนได้รับการรักษาภายใต้โครงการนี้ตามโรงพยาบาลเกือบ 1,000 แห่งทั่วประเทศ โครงการนี้สามารถดำเนินการได้อย่างดี เป็นเพราะองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาต้านไวรัสในราคาถูก โดยยาสูตรผสมของยาต้านไวรัส 3 ตัว ผู้ติดเชื้อจะเสียค่ายาเพียง 14,400 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น

 

และตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา ยาต้านไวรัสเอดส์ได้เข้าสู่ระบบหลักประกันถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์สามารถได้รับการรักษาเช่นเดียวกับคนไข้ทั่วไปในโครงการ 30 ช่วยคนไทยห่างไกลโรค

อย่างไรก็ตาม มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์บางส่วนต้องเปลี่ยนสูตรยาจากยาต้านไวรัสเอดส์พื้นฐาน เป็นสูตรสำรองเมื่อเกิดอาการดื้อยาต้านฯสูตรพื้นฐาน จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษา หนึ่งในตัวยาต้านไวรัสเอดส์ที่สำคัญในสูตรสำรอง คือ โลพินาเวีย/ริโทนาเวีย (LPV/r) หรือที่รู้จักกันในนามชื่อการค้าว่า คาเลทรา (Kaletra) ซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงและยังไม่มีใครที่สามารถผลิตได้

 

 

- - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อมูลจาก องค์การหมอไร้พรมแดนเบลเยี่ยม (ประเทศไทย)

522 นครไทย ซ.14 .ลาดพร้าว 101/1 คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ

โทร. 02 3703087 , 05 0708954

โทรสาร 02 7311432

อีเมล์ msfb-bangkok@brussels.msf.org

msfb-drug-bangkok@brussels.msf.org

 

องค์การหมอไร้พรมแดน (Medicine Sans Frontieres - MSF / Doctors without Borders) เป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์ มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบในภาวะความขัดแย้ง ภัยพิบัติธรรมชาติ และโรคระบาดต่างๆ โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งไม่เลือกชนชาติ ศาสนา และลัทธิการเมือง

นับตั้งแต่ปี 2541 องค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับเครือข่ายและองค์กรพันธมิตรในประเทศไทย เรียกร้องให้มีการลดราคายาเพื่อทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท