รายงานพิเศษ :มรสุมการเมืองพ่นพิษ เมกกะโปรเจ็กต์เชียงใหม่ส่อเค้าวืด

 

ภายหลังจากรัฐบาลทักษิณ 2 ได้ประกาศยุบสภา ได้ส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้มีสถานภาพเป็นแค่รัฐบาลรักษาการเท่านั้น จนกว่าการเลือกตั้งใหม่จะดำเนินการเสร็จสิ้นและได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารอย่างเป็นทางการ ประกอบกับสถานการณ์การเมืองขณะนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งยังต้องมีการบริหารจัดการต่อเนื่อง และโครงการที่ยังไม่ได้ก่อสร้างที่อาจจะต้องเลื่อนการก่อสร้างโครงการออกไป

 

โดยเฉพาะโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และจะต้องมีการบริหารจัดการต่อเนื่อง รวมถึงโครงการต่อเนื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งได้แก่ โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และโครงการเชียงใหม่เวิลด์ มูลค่ามากกว่า 7,000 ล้านบาท บริเวณพื้นป่าอุทยานแห่งชาติเชิงดอยสุเทพ ซึ่งถือเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์จากดำริของ พ...ทักษิณ ชินวัตร

 

ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง และมีแนวโน้มที่จะต้องเลื่อนโครงการออกไปเช่น 1.โครงการศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการก่อสร้างศูนย์ส่งเสริมการพัฒนา และกระจายสินค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือ รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,900 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มล้านนาที่มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท เป็นต้น

 

ยังไม่รวมถึงโครงการภาคเอกชนที่จะลงทุนที่เชียงใหม่ คือ โรงงานยาสูบที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสร้างบริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มูลค่า 16,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการของภาคเอกชนอื่น ๆ ที่ต้องรอความชัดเจนทางการเมือง เช่น โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ - โรงแรม ในระดับ 5 ดาว เป็นต้น

 

นายวัชระ ตันตรานนท์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่-ลำพูน และประธานกลุ่มวีกรุ๊ป เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้เป็นตัวบ่งชี้และเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนสูงมาก ซึ่งล่าสุดกลุ่มทุนจากประเทศสิงคโปร์ที่มีแผนจะร่วมทุนกับกลุ่มวีกรุ๊ปของตนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ 2 โครงการคือโครงการรีสอร์ทระดับ 5 ดาว และโครงการคอนโดมิเนียม มูลค่ารวมกันมากกว่า 3,000 ล้านบาท ก็ได้ขอเลื่อนแผนการร่วมทุนออกไปก่อนระยะหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยยังไม่แน่นอนและขาดเสถียรภาพ

 

ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ โครงการที่มีการลงทุนเกิดขึ้นแล้วคงต้องเดินหน้าต่อไปให้สำเร็จ แต่ในส่วนของโครงการลงทุนใหม่ ๆ เชื่อว่านักลงทุนคงต้องชะลอการลงทุนออกไปอย่างแน่นอน และหากสถานการณ์ทางการเมืองยังยืดเยื้อและไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ก็เชื่อว่าการลงทุนของภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่อาจหยุดชะงักก็เป็นได้

 

นอกจากสถานการณ์ทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชนแล้ว ในส่วนของโครงการภาครัฐหลายโครงการที่เป็นดำริจาก พ...ทักษิณ ชินวัตร ก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ เมกกะโปรเจ็กต์หลายโครงการอาจไม่ได้รับการสานต่อ ทั้งนี้ หากประเมินทิศทางในอนาคตของจังหวัดเชียงใหม่นับจากนี้ไปภายใต้สถานการณ์ที่ไม่นิ่งของการเมือง ก็เชื่อว่าการพัฒนาของเชียงใหม่อาจชะลอหรือหยุดนิ่งอย่างน้อย 1 ปี โดยเฉพาะโครงการภาคเอกชนใหม่ ๆ อาจยังไม่มีใครกล้าตัดสินใจลงทุนในระยะนี้

 

ด้านนายจุณพงศ์ สาระนาค ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เขต 1 กล่าวว่า โครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าไปค่อนข้างช้าตั้งแต่ต้น เนื่องจากติดปัญหาหลายด้านทั้งสถานที่ตั้งไม่ลงตัวและผ่านการกลั่นกรองโครงการหลายขั้นตอน ซึ่งล่าสุดโครงการยุบรวมเข้ากับศูนย์เอสเอ็มอีทำให้ต้องมีการปรับแบบแล้วถึง 2 ครั้ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการหาผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ ซึ่งตามกำหนดโครงการจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2549 แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ จึงไม่มั่นใจว่าโครงการจะดำเนินการได้ตามกำหนดเวลาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามทั้ง 2 โครงการจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายในปี 2550 อย่างแน่นอน


เจาะเมกกะโปรเจ็กต์ของจังหวัดเชียงใหม่

1.โครงการศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการก่อสร้างศูนย์ส่งเสริมการพัฒนา และกระจายสินค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือ (ศูนย์เอสเอ็มอี) มูลค่าโครงการ 1,900 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของศูนย์เอสเอ็มอีรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 130 ล้านบาท เพื่อนำร่องพัฒนาโครงการในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ทั้ง 2 โครงการ คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติในหลักการแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการก่อสร้างแต่อย่างใด (ตามกำหนดคาดว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2550)

2.โครงการตลาดกลางสินค้าเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 314.25 ล้านบาท โดยจะมีการก่อสร้างอาคารขนส่งขนาดใหญ่ 2 อาคาร คาดว่าจะเสร็จในปี 2549 (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

3.โครงการจัดตั้ง Science Park ในบริเวณตำบลแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มูลค่าโครงการ 7,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 400 ไร่ โดยจะมีการก่อสร้างกลุ่มอาคารใหญ่ 4 อาคาร รวมพื้นที่ 90,000 ตารางเมตร (ยังไม่มีความคืบหน้า)

4.โครงการ IT Knowledge Park ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย กรอบวงเงิน 362 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

5.โครงการจัดตั้งสถาบัน ICT ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 464.3 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

6.โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเขตเศรษฐกิจล้านนา รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 19.25 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

7.โครงการจัดตั้งศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรมโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 60.23 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

8.โครงการสร้างแนวโน้มแฟชั่นรูปสินค้าหัตถกรรม "ล้านนาสไตล์" โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 34.8 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

9.โครงการเชียงใหม่เมืองแห่งการแสดงสินค้าหัตถกรรม โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ กรอบวงเงิน 46.1 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

10.โครงการศูนย์กลางไม้ตัดต่อ ไม้ประดับ พืชเกษตร ที่วิทยาเขตแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แก้ไขปัญหาทางการเกษตร โดยจะลดพื้นที่ส่งเสริม เช่น ถั่วเหลือง และข้าวบนที่สูง และจังหวัดเชียงใหม่ควรพัฒนาให้เป็นศูนย์เกษตรที่สูงหรือพืชเมืองหนาว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ คาดว่าจะลงทุนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท (ยังไม่มีความคืบหน้า)

11.โครงการ E - province มูลค่าลงทุน 570 ล้านบาท โครงการเชียงใหม่ e-province เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานและการบริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐ โดยกำหนดแนวทางการพัฒนา 4 ด้านคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ด้าน ICT ด้านการบริหารจัดการ และด้านการบริการประชาชน (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

12.โครงการพัฒนาและขุดลอกแม่น้ำปิง เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำและป้องกันน้ำท่วม (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

13.โครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำแม่ข่า มีวงเงินดำเนินโครงการ 32 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

14.โครงการฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำแม่สา (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

15.โครงการการพัฒนาเมือง (Green and Clean) ภายใน 2 ปี ใช้งบประมาณ 9,100,000 บาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

16.โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ มีแผนงาน 3 ระยะ โดยแผนระยะสั้น มีจำนวน 73 โครงการ งบประมาณ 510 ล้านบาท, แผนระยะปานกลาง มีจำนวน 19 โครงการ งบประมาณ 586 ล้านบาท และแผนระยะยาว 5 โครงการ รวมงบประมาณ 8,032 ล้านบาท (ยังไม่มีความคืบหน้า)

17.โครงการสร้างสวนสาธารณะบริเวณโรงแรมรถไฟเก่า มีพื้นที่จอดรถ อาคารสำนักงาน อาคารเอนกประสงค์ สระว่ายน้ำ พื้นที่นันทนาการ พื้นที่ 60 ไร่ งบประมาณ 99 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่มีความคืบหน้าน้อยมาก คาดว่าจะดำเนินการไม่แล้วเสร็จทันเดือนเมษายน 2549 ตามเป้าหมาย)

18.โครงการการลงทุนของ บริษัท ซีวายซี ของ สป.จีน ที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานยาสูบที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสร้างบริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มูลค่า 16,000 ล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 1,000 คน (ยังไม่มีความคืบหน้า)

 

โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ได้แก่-.

 

1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่สู่ความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ปีงบประมาณ 2546 - 2549 อนุมัติงบประมาณแล้ว 2,129 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชียงใหม่ - เชียงราย ระยะทาง 153 กิโลเมตรค่าก่อสร้าง 48,000 ล้านบาท (อยู่ระหว่างการศึกษา)

3.โครงการทางหลวงพิเศษ ลำปาง - ลำพูน - เชียงใหม่ ระยะทาง 99 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 32,000 ล้านบาท (อยู่ระหว่างการศึกษา)

4.โครงการปรับปรุงถนนสายเชียงใหม่ - สันกำแพง โดยแบ่งเป็นงบประมาณของกรมทางหลวง 250 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 32.9 ล้านบาท ,การประปาส่วนภูมิภาค 45 ล้านบาท, ทศท. คอร์ปอเรชั่น 25.5 ล้านบาท ทั้งนี้งานทั้งหมดจะรวมอยู่ในสัญญาก่อสร้างทางสัญญาเดียวโดยกรมทางหลวง รวมทั้งสิ้น 365,301,107.81 บาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

5.การพัฒนาระบบรถไฟชานเมือง (Commuter Train) เชื่อมโยงจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน คาดว่างบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท (ยังไม่มีความคืบหน้า)

6.โครงการจัดตั้งสถานีขนส่งตู้สินค้าโดยรถไฟ (Container Yard) เพื่อขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ไปยังท่าเรือ หรือจังหวัดต่างๆ งบลงทุน 601,827,000 บาท (ยังไม่มีความคืบหน้า)

7.โครงการสร้างทางหลวงท้องถิ่น (

Local Road
) เชื่อมเชียงใหม่ - ลำพูน เรียบรางรถไฟ โครงการถนนเลียบทางรถไฟสายเชียงใหม่ - ลำพูน (
Local Road
) (ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว)

8.โครงการก่อสร้างถนนเชียงใหม่ - สารภี - ลำพูน (สายใหม่)

รูปแบบ Park Way
ระยะทาง 22 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 1,100 ล้านบาท (ยังไม่มีความคืบหน้า)

9.โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 108 ช่วงอมก๋อย - แม่สะเรียง - แม่ฮ่องสอน และทางหลวงหมายเลข 105 จากตาก - แม่ฮ่องสอน (ยังไม่มีความคืบหน้า)

10.โครงการปรับปรุงถนนสาย 108 ช่วงอำเภอจอมทอง - ฮอด ระยะทาง 30 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 600 ล้านบาท (ยังไม่มีความคืบหน้า)

11.โครงการก่อสร้างถนนจากจังหวัดเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน ผ่านอำเภอสะเมิง - วันจันทร์ จะร่นระยะทางได้ 80 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2547 (มีแนวคิดที่จะสร้างโครงการอุโมงค์เชื่อมจังหวัดเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอนในเส้นทางนี้ด้วย ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า)

12.โครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองบริเวณทางหลวงหมายเลข 106 เขตกิ่งอำเภอดอยหล่อ มาบรรจบทางหลวงหมายเลข 108 ในเขตจังหวัดลำพูน จะช่วยลดการเดินทางจากแม่ฮ่องสอน - กรุงเทพฯ 80 กิโลเมตร (ยังไม่มีความคืบหน้า)

13.โครงการถนนวงแหวนด้านตะวันตก ตอนหางดง - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลข 121 ขนาด 4 ช่องจราจร ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 332 ล้านบาท (ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว)

14.โครงการทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับ 118 (สี่แยกศาลเด็ก) และทางลอดสี่แยกข่วงสิงห์มูลค่าโครงการรวมกันกว่า 500 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ ถือเป็นโครงการที่ปัญหาและดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด)

**************

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท