บทความ: การวางตัวเป็นกลางทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โดยชำนาญ จันทร์เรือง


 

ท่ามกลางบรรยากาศของการเมืองไทยที่อยู่ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งอยู่ขณะนี้ ประชาชนและองค์กรที่มีหน้าที่ในการควบคุมการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมต่างพยายามจับจ้องไปยังบรรดานักการเมืองและผู้สนับสนุนนักการเมืองทั้งหลายว่าจะมีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร โดยหลงลืมหรือมองข้ามเหล่าบรรดาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนไม่น้อยที่กำลังเดินตามหลังนักการเมืองอยู่ต้อย ๆ ทั้งที่เป็นเวลานอกราชการว่าเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

 

ในการเลือกตั้งก่อนปี ๒๕๔๘ ย้อนไปในอดีตเวลามีการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะระมัดระวังตัวเป็นพิเศษในการที่จะไม่กระทำการใดใดอันจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลตามมา หากพลาดพลั้งเลือกข้างผิดไปก็อาจประสบเหตุเพทภัยจนเก็บข้าวของกันไม่ทันจากผลของการเช็คบิลของผู้ชนะการเลือกตั้ง

 

แต่ในการเลือกตั้งตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา และที่จะมีขึ้นใน ๒ เม.ย. ศกนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง ฉะนั้น เราจึงเห็นความไม่เป็นกลางอย่างชัดเจนจากเหล่าบรรดาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เอียงกระเท่เร่อย่างออกหน้าออกตาโดยไม่หวั่นว่าจะต้องถูกลงโทษในภายหลังเพราะมั่นใจว่าคงเลือกถูกข้างแน่นอน

 

อันที่จริงแล้วการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มาตรา ๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้กำหนดแนวทางสำหรับบุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับประชาชนต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง หากละเลยหรือไม่ปฏิบัติ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิขอให้บุคคลนั้นหรือผู้บังคับบัญชาของบุคคลดังกล่าวชี้แจงแสดงเหตุผลและขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้

 

ซึ่งก็หมายความว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับ ประชาชนต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองนั่นเอง ส่วนการที่จะวางตัวเช่นไรจึงจะเหมาะสมนั้นได้มีระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๙ วางระเบียบไว้เป็นแนวทางที่ข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นจะสามารถนำไปใช้โดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

โดยระเบียบดังกล่าวได้วางแนวทางการปฎิบัติไว้ว่าข้าราชการพลเรือนจะนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด ๆ ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย และจะไปประชุมอันเป็นการประชุมของพรรคการเมืองนั้นเป็นการส่วนตัวก็ได้ แต่ในทางที่เกี่ยวกับประชาชนและในหน้าที่ราชการต้องกระทำตนเป็นกลาง ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงพรรคการเมือง และไม่กระทำการให้เป็นการฝ่าฝืนวินัยที่กำหนดไว้สำหรับข้าราชการพลเรือน กับต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้าม ดั่งต่อไปนี้ด้วย คือ

            (๑) ไม่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใด ๆ เว้นแต่ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท ๒ หรือข้าราชการการเมือง

            (๒) ไม่ใช้สถานที่ราชการในกิจกรรมทางการเมือง

            (๓) ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน

            (๔) ไม่แต่งเครื่องแบบราชการไปร่วมประชุมพรรคการเมือง หรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณะสถานใด ๆ อันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง

            (๕) ไม่ประดับเครื่องหมายของพรรคการเมืองในเวลาสวมเครื่องแบบราชการ หรือในเวลาราชการ หรือในสถานที่ราชการ

            (๖) ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ

            (๗) ไม่บังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือประชาชน เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด และไม่กระทำการในทางให้คุณให้โทษ เพราะเหตุที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนนิยม หรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย

            (๘) ไม่กระทำการขอร้องให้บุคคลใดอุทิศเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง

            (๙) ไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง หรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใด ๆ ให้เป็นการเปิดเผยในที่ประชุมพรรคการเมือง และในที่ที่ปรากฏแก่ประชาชน หรือเขียนจดหมายหรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์ หรือพิมพ์หนังสือหรือใบปลิว ซึ่งจะจำหน่ายแจกจ่ายไปยังประชาชนอันมีข้อความที่เป็นลักษณะของการเมือง

            (๑๐) ไม่ปฏิบัติหน้าที่แทรกแซงในทางการเมือง หรือให้การเมืองเป็นเครื่องมือ เพื่อกระทำกิจกรรมต่าง ๆอาทิ วิ่งเต้นติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมือง เพื่อให้นำร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติเสนอสภาฯ หรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาล

            (๑๑) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่แสดงออกโดยตรง หรือโดยปริยาย ที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ ในทางกลับกัน ไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง

                       

ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดที่มีหน้าที่ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนประพฤติตนหรือปฏิบัติตนเข้าข่ายดังที่ว่ามาข้างต้นก็อาจถูกข้อหาว่าวางตัวไม่เป็นกลางได้ ซึ่งอาจจะต้องถูกดำเนินการตามมาตรา ๗๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งผลที่ตามมาก็คงเป็นเรื่องการดำเนินการทางวินัยหากผู้บังคับบัญชา(ที่มีใจเป็นกลางและเป็นธรรม)เห็นว่าผิดจริง

                       

ถึงแม้ว่าระเบียบนี้จะออกมาตั้งแต่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๙ แล้วก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกหรือกำหนดแนวทางเป็นอย่างอื่น และหากเนื้อหาส่วนใดที่นำมาใช้ไม่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วไซร้ระเบียบนี้ย่อมมีผลบังคับใช้เสมอ

                       

ลองสังเกตดูสิครับว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับประชาชนประพฤติตนอย่างนี้หรือไม่รวมถึงตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ตามลองถามตนเองว่าประพฤติ

ปฏิบัติตนเป็นไปตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท