Skip to main content
sharethis


โดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"

 


จากนโยบายเร่งด่วนที่จังหวัดเชียงใหม่พยายามเร่งรัดให้มีการก่อสร้างพนังกั้นน้ำปิง  เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม  โดยจัดให้มีประชาพิจารณ์ในรูปแบบของการเลือกรูปแบบพนังกั้นน้ำที่จะสร้าง 


 


สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เห็นว่าประเด็นดังกล่าว  ควรที่ประชาคมชาวเชียงใหม่ต้องเร่งระดมความคิดเห็น  เนื่องจากการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าว  เป็นไปในลักษณะมัดมือชก  คือต้องสร้างพนังกั้นน้ำอย่างแน่นอน  อยู่ที่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนเท่านั้น  โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าควรสร้างหรือไม่  จึงมีการประชุมระดมความเห็นขึ้นที่  สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เมื่อวันที่ 1  มีนาคม  2549  ที่ผ่านมา  โดยมีตัวแทนจากหลายกลุ่มเข้าร่วมประชุม


 


รศ.ชูโชค  อายุพงศ์  ภาควิชาวิศวกรรมโยธา  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  หนึ่งในคณะกรรมการป้องกันน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา  เสนอในที่ประชุมโดยมองว่ามาตรการที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนจริงๆคือการเตือนภัยล่วงหน้า  ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้ทราบว่าน้ำจะท่วมถึงระดับไหน  เป็นเวลานานเท่าไร  และสามารถรับมือได้ทันท่วงที  เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถต้านธรรมชาติได้  แม้แต่การทำบายพาสก็ไม่ได้ผล  เพราะธรรมชาติของลำน้ำคือจะอยู่ในจุดที่ต่ำมาก  ไม่ว่าจะพยายามเบี่ยงเบนออกไปทางไหน  น้ำก็จะไหลกลับเข้ามาอยู่ดี 


 


มาตรการอีกอย่างหนึ่งคือการชะลอน้ำหลาก  ซึ่งโครงสร้างที่สามารถรองรับน้ำได้มากๆก็ไม่พ้นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ  หรืออาจทำแก้มลิง  ที่จะช่วยในเรื่องภัยแล้งด้วย  แต่ต้องชั่งน้ำหนักต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย  การสร้างพนังกั้นน้ำควรเป็นทางเลือกท้ายสุด


 


ข้อสังเกตที่น่าคิดคือ  ฝนตกไม่ได้ทำให้น้ำท่วมทุกปี  หากคิดว่าโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ตัวเมืองเชียงใหม่อยู่ที่ประมาณ 40 ปีต่อครั้ง  พนังกั้นน้ำจึงใช้ประโยชน์ได้ไม่มาก  เทียบกับโอกาสเสี่ยงดังกล่าว  ในขณะเดียวกันจะก่อผลเสียด้านอื่นๆอย่างมาก  จึงควรต้องชั่งน้ำหนักให้ดี  และการสร้างพนังกั้นน้ำ  อาจสร้างภาพให้คนทั่วไปเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์น้ำหลากขึ้นมา


 


ดร.ดวงจันทร์  อาภาวัชรุฒน์  เจริญเมือง  สถาบันวิจัยสังคม  มช.  ตั้งข้อสังเกตว่าเท่าที่ทราบคือตอนนี้มีการเตรียมเซ็นสัญญากับผู้รับแล้ว  ในภาวะเร่งด่วนซึ่งคนจำนวนมากไม่ได้เข้าร่วมประชุม  จึงต้องมาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรในการระงับโครงการนี้  ซึ่งเห็นว่าจะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง


 


นายสุรชัย  เลียวสวัสดิพงศ์  ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ  ชี้ถึงประเด็นที่ต้องตั้งคำถามกลับไปยังกรมโยธาธิการ  คือการตัดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ขวางลำน้ำปิง  เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่  โดยหากมองจากภาพถ่ายทางอากาศขณะที่เกิดน้ำท่วม  จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เป็นตัวกั้นขวาง  ทำให้น้ำระบายได้ช้า  การใช้มาตรการเร่งด่วนในการสร้างพนังได้สร้างข้อกังขาเกี่ยวกับการนำงบประมาณมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง  นอกจากนั้นหากสองฝั่งน้ำปิงมีแต่ผนังคอนกรีต  จะเรียกได้ว่าเป็นทัศนะอุจาดอย่างยิ่ง


 


ด้านตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายท่าวังตาล  ชี้ให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ  โดยการโยนความผิดว่าฝายเป็นสาเหตุของน้ำท่วม  เป็นตัวกีดขวางทางเดินน้ำ  ทั้งที่ตัวฝายอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำปกติ  และจะกั้นน้ำได้ในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น  หากรื้อฝายทิ้งชาวบ้านจะประสบปัญหาในการใช้น้ำอย่างมาก  โดยกล่าวด้วยว่าล้านนาไม่เคยมีสงครามแย่งชิงน้ำเกิดขึ้น  แต่กำลังจะเกิดในยุคนี้  พร้อมกันนั้นได้ยังได้เรียกร้องให้มีการรื้อถอนการรุกล้ำลำน้ำอย่างเท่าเทียมกันทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย


 


บทสรุปในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า  ขอคัดค้านการก่อสร้างพนังคอนกรีตกั้นแม่น้ำปิง  โดยให้เหตุผลดังนี้  1.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง  2.ทำลายเอกลักษณ์และภูมิทัศน์ริมฝั่งน้ำปิง  3.ทำลายระบบนิเวศของสัตว์น้ำและพันธุ์พืช  4.ทำลายรายได้จากการท่องเที่ยว  5.ทำลายจิตวิญญาณ  เนื่องจากแม่น้ำปิงเป็นหนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของเชียงใหม่  6.ทำลายสุขภาพจิตของคนที่อยู่อาศัยริมฝั่งน้ำและผู้ที่พบเห็น  7.ยังไม่มีการศึกษาวิจัยผลกระทบด้านการบริหารจัดการน้ำ  สิ่งแวดล้อม  สังคม  และสุขภาพ  อย่างถ่องแท้  8.ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเบ็ดเสร็จ  9.เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์  และ 10.ยังไม่ได้มีการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินริมแม่น้ำปิง


 


ที่ประชุมลงมติว่าไม่ควรสร้างพนังกั้นน้ำปิงไม่ว่ากรณีใดๆ  โดยจะยื่นต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณา  รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ชาวเชียงใหม่ทั่วไปได้รับทราบ  และร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net