Skip to main content
sharethis



เก็บความจากวงเสวนา "โลกหลังทุนนิยม สังคมหลังยุคทักษิณ"

จัดโดย สถาบันต้นกล้า ที่มูลนิธิอาสามัครเพื่อสังคม (มอส.)


19 มีนาคม 2549


 


 


ภควดี วีระภาสพงศ์ 


 


ว่าด้วยเสรีนิยมใหม่


ที่เรามาพูดกันในวันนี้ เพราะเรารู้สึกไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่ และอยากหาสิ่งใหม่มาแทนที่ แต่สิ่งแรกเราต้องชัดเจนก่อนว่าเราสู้กับอะไร ถ้าเรานิยามศัตรูได้ชัด จึงจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการกันแน่


 


คำว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ Neo Liberalism ซึ่งใช้เรียกระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นคำที่เกิดมาในระยะหลัง บางคนจะเรียกว่า ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ มันก็คืออันเดียวกัน


 


ทำไมลัทธินี้จึงเป็นสิ่งที่คนต่อต้าน


 


ลัทธินี้มักจะบอกว่าตัวของเขาต้องมี ระบบตลาด เพราะในระบบตลาดนั้นจะสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจ สังคม ได้สูงสุด และยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีสังคมอื่นที่จะดีกว่านี้อีกแล้ว ยุคนี้เป็นยุคสิ้นสุดของประวัติศาสตร์แล้ว


 


เสรีนิยมใหม่ พูดราวกับว่าเป็นเจ้าของตลาด แต่ความเป็นจริงก็คือ ตลาดนั้นมีมาในสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ตลาดไม่ใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ตลาดมันอยู่ได้โดยไม่ต้องมีลัทธิเสรีนิยม แต่ลัทธิเสรีนิยมนั้นอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีตลาด


 


แล้วตลาดในสมัยก่อน กับตลาดของเสรีนิยมใหม่แตกต่างกันอย่างไร  ก่อนที่ทุนนิยมจะเกิดขึ้น ระบบเศรษฐกิจมีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นแบบอียิปต์ มีแรงงานทาสผลิตขึ้นมารวบรวมเข้าศูนย์กลางแล้วให้ผู้นำกระจายความมั่งคั่งออกไป ระบบพึ่งพาตัวเอง ระบบแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ระบบเศรษฐกิจสมัยก่อนไม่ว่ารูปแบบไหน ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การผลิตทั้งหมดต้องฝังอยู่ในสถาบันทางสังคม หรือเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจนั้นจะต้องถูกกำกับดูแลด้วยระบบสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบบศาสนา การปกครอง วัฒนธรรม


 


ระบบทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจอันแรกของโลก ที่แยกเอาระบบเศรษฐกิจออกมาจากการกำกับดูแลของระบบสังคม หมายความว่า ปล่อยให้ระบบตลาดจัดการเศรษฐกิจทั้งหมด โดยที่สถาบันทางสังคมไม่สามารถกำกับดูแลได้


 


แต่ก่อนที่จะมีทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ มันจะเป็นทุนนิยมแบบฟอร์ด เฮนรี่ ฟอร์ด เจ้าของรถยี่ห้อฟอร์ดนี่แหละ เขาเป็นคนคิดระบบสายพานการผลิตขึ้นมา ซึ่งจะแยกคนงานออกเป็นส่วนๆ ไม่มีการร่วมมือระหว่างคนงานอีกต่อไป ทำให้พวกเขาแต่ละคนเป็นปัจเจกบุคคล แต่อย่างน้อยก็มีลักษณะที่ว่า ต้องให้ค่าแรงคนงานเท่ากับที่คนงานจะกลับมาซื้อรถฟอร์ดได้ มีสวัสดิการที่ดีพอสมควร


 


จนเปลี่ยนผ่านมาเป็นโลกาภิวัตน์ที่มีการปฏิวัติทางเทคโนโลยี การขนส่ง ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อก่อนทุนนิยมแยกระบบเศรษฐกิจออกจากระบบสังคม ตอนนี้ลัทธิเสรีนิยมใหม่มันกลับดูดกลืนเอาระบบสังคมเข้าไปไว้ในระบบเศรษฐกิจ สถาบันทางสังคมจะเป็นยังไงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด


 


การดูดกลืนระบบสังคมไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจของลัทธิเสรีนิยมใหม่ มี 4 ลักษณะด้วยกัน


 


1.ตลาดทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ควรเป็นสินค้าให้กลายเป็นสินค้า คือ แรงงาน ที่ดิน เงิน


 


ระบบเศรษฐกิจคือการผลิตสินค้ามาขายให้มีการบริโภค ให้คนมีงานทำ แต่ตอนนี้ภาคการเงินใหญ่โตกว่าภาคการผลิตจริงมาก มีการไปลงทุนในตลาดหุ้น การเก็งกำไรค่าเงิน และพอมันทำให้ภาคการผลิตจริงสำคัญน้อยกว่าภาคการเงิน เราจะสังเกตเห็นว่า สมัยก่อนอเมริกาทำสงครามกับเวียดนาม แต่คนอเมริกันประท้วงก็ต้องเลิก แต่เดี๋ยวนี้ประท้วงเป็นล้านคนทั่วโลก ก็ไม่สะดุ้งสะเทือน ปริมาณของคนเริ่มไม่เป็นผล เพราะทุนไม่ใส่ใจกับแรงงานเท่ากับเมื่อก่อน


 


2. ลัทธิเสรีนิยมใหม่ยังทำให้กิจกรรมมนุษย์ในส่วนที่ไม่ควรเป็นสินค้า กลายเป็นสินค้า เช่น การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ วิทยาศาสตร์ สุขภาพอนามัย วัฒนธรรม เพศสัมพันธ์ กระทั่งรหัสพันธุกรรม


 


3. ลัทธิเสรีนิยมทำให้ กาละ และ เทศะ เป็นสินค้า เวลากลายเป็นสินค้า เช่น การเก็งกำไรค่าเงิน การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า การประกันราคา การบริหารความเสี่ยง พันธบัตร ตราสารหนี้ ส่วนเทศะที่กลายเป็นสินค้า คือ การเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ เช่น การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปยังที่ที่ค่าแรงต่ำกว่า


 


4. ลัทธิเสรีใหม่เข้ามาครองความเป็นใหญ่ในการกำหนดนโยบายของสังคม รัฐจะต้องปรับโครงสร้างของสถาบันทางสังคมให้สอดคล้องกับเสรีนิยมใหม่ หมายความว่า วิธีคิดเกี่ยวกับตลาดเข้ามาครอบงำเหตุผลและจุดยืนทางจริยศาสตร์ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามเราต้องมองเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก มันเหมือนเป็นตัวตัดสินขั้นสูงสุดว่าอะไรดีอะไรไม่ดี


 


สิ่งต่อมาที่อยากให้ดูก็คือ แม้ตัวเองไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ อยากให้รู้ว่าระบบเศรษฐกิจโลกขณะนี้มันเป็นยังไง ไม่ใช่พูดแต่ทุนนิยม ทุนนิยม


 


ระบบเศรษฐกิจโดนัท


ระบบเศรษฐกิจโลกตอนนี้เป็นระบบที่เรียกว่า Empire หรือจักรวรรดิ เพราะเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเหมือนโดนัท โดยที่วงกลมตรงกลางคือสหรัฐอเมริกา และเนื้อโดนัทโดยรอบคือประเทศทั้งหมดที่ผลิตแล้วส่งไปขายที่สหรัฐ


 


แล้วสหรัฐไปอยู่ตรงกลางได้ยังไง และดำรงความเป็นโดนัทไว้ได้อย่างไร? สหรัฐดำรงสถานะอยู่ด้วย 2 อย่าง  1.เงินดอลลาร์ 2.กำลังทหาร


 


ตั้งแต่ยกเลิกมาตรฐานทองคำไปแล้ว ปัจจุบันค่าเงินในโลกนี้ทั้งหมดมันผูกอยู่กับค่าเงินดอลลาร์ ทำไมผูกกับสกุลนี้ เพราะค่าเงินดอลลาร์เป็นตัวใช้ซื้อขายราคาน้ำมัน สหรัฐเป็นประเทศเดียวในโลกเท่าไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องอ้างอิงกับอะไรเลย ภาษาอังกฤษเรียก Fiat Money ถ้ามีเวลาอยากให้ลองอ่านเรื่องพวกนี้ดูบ้าง


 


คนจึงเรียกน้ำมันที่ซื้อขายด้วยดอลลาร์ว่า Petro Dollar แล้วที่ทุกคนต้องขายน้ำมันเป็นสกุลดอลลาร์ก็เพราะอำนาจทหาร อย่างการที่สหรัฐไปบุกอิรักคราวที่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะอิรักพยายามขายน้ำมันเป็นยูโร จะเป็นไปใช้ระบบ Petro Euro ตอนนี้ประเทศที่พยายามจะขายน้ำมันในระบบ Petro Euro อีกก็คืออิหร่าน คาดว่าภายในเดือนนี้ สหรัฐจึงเตรียมการจะบุกอิหร่านอีก


 


เนื่องจากทุกประเทศต้องการเงินดอลลาร์ไปซื้อน้ำมัน ทุกประเทศจึงต้องผลิตเพื่อส่งออกเป็นตัวนำในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะน้ำมันเป็นตัวที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ได้ ฉะนั้น หากว่าวันใดระบบเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งเป็นฟองสบู่แตกขึ้นมา ก็เป็นไปได้ว่าระบบเศรษฐกิจในโลกนี้จะล้ม


 


ฉะนั้น ก็เลยมีข้อเสนอกับการต่อสู้กับระบบเศรษฐกิจแบบนี้ อย่างหนึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ที่จะหันมาเน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แต่เราจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ ก็ต้องกระจายรายได้ใหม่ให้มีความเหลื่อมล้ำกันน้อยกว่านี้ ทำให้เศรษฐกิจไม่ต้องผูกกับการส่งออก อีกแง่หนึ่งคือต้องเร่งหาทางเลือกในด้านพลังงาน ซึ่งก็พยายามทำกันอยู่


 


ตอนนี้ประเทศจีนกำลังพยายามหันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ ล่าสุดจีนบอกว่าจะพัฒนาชนบท จริงๆ ในระยะหลังจีนมีการประท้วงของประชาชนเยอะมาก และเศรษฐกิจจีนผูกกับเศรษฐกิจสหรัฐมากที่สุด ถ้าสหรัฐล้มจีนก็ล้ม ถ้าจีนล้มสหรัฐก็ล้ม จีนจึงพยายามปรับเพื่อที่จะถอยออกจากการผูกกับสหรัฐ


 


การหายุทธศาสตร์ใหม่เพื่อให้หลุดการการเป็นโดนัทเริ่มเกิดขึ้น และขบวนการทางสังคมต่างๆ ก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในความพยายามเปลี่ยนแปลง 


 


 


พิภพ  อุดมอิทธิพงศ์


 


โลกหลังทุนนิยม หลังทักษิณ มันเป็นไวพจน์ สิ่งที่เป็นปัญหาของระบบทักษิณ ก็คือ ความเป็นทุนนิยม หรือเสรีนิยมใหม่


 


เรื่องที่คุณทักษิณได้กำไรจากหุ้น ผลประโยชน์ทับซ้อน มันเป็นประเด็นหนึ่งที่คนทั่วไปมองเห็น แต่รับได้ เพราะสังคมไทย คนทั่วไปคิดว่าเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ


 


แต่ประเด็นที่คนมองไม่เห็นคือ คุณทักษิณเป็นปัจจัยของการพัฒนาระบอบทุนนิยมที่สุดโต่งมาก และต่างจากทุนนิยมแบบยุคทุนนิยมแบบชวน (หลีกภัย) หรือยุคบรรหาร (ศิลปอาชา) เพราะทักษิณเขาเป็นโลกาภิวัตน์ที่ชัดเจนมาก ดูง่ายๆ จากการที่รัฐบาลทักษิณเจรจาเอฟทีเออย่างรวดเร็วมาก


 


การที่ประเทศเราจะกลายเป็นเจ้า ถามเพื่อนเราอย่างพม่า เขมร เขามองกรุงเทพฯ เหมือนกับที่คนอเมริกาใต้ อเมริกากลาง มองสหรัฐ  คือ เราเป็นประเทศที่ดูดทรัพยากรทุกอย่างเข้ามา เขื่อนในลาว เขื่อนที่วางแผนในพม่า ซึ่งเชื่อได้ว่าจะไม่มีคนค้าน ถ้าไม่ทำให้คนเดือนร้อนที่นี่ ก็ต้องให้ไปเดือนร้อนที่อื่น สุดท้ายก็จะถูกเพื่อนบ้านรังเกียจ


 


สิ่งที่มันเป็นปัญหาคือระบอบทุนนิยม และกลไกที่เข้ามาช่วยให้ระบอบทุนนิยมทำงานคือบรรษัทนิยม พวก crop.ทั้งหลาย จริงๆ ในประวัติศาสตร์เรื่องของบรรษัทนี้เคยมีการต่อต้านกันมากในอดีตว่าจะทำให้จริยธรรมตกต่ำ จะมีอำนาจเหนือสังคม


 


ระบอบบรรษัท ระบอบทุนนิยมนี้ ตลาดสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ตลาดเงิน หรือ Capital Market ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี ที่มีปัญหาทุกวันนี้เพราะมันมีขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่าการผลิตจริงมาก และมีกลไกที่ซับซ้อน คนไม่เข้าใจ อธิบายให้ตายก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้


 


อีกอันที่เป็นเป็นลักษณะของระบบตลาดสมัยใหม่ คือ การไม่มีพรมแดน เช่น เวลาซื้อคอมพิวเตอร์ในอเมริกา  call center ที่เราโทรไปนั้นคนรับสายอยู่ที่อินเดีย ไม่ใช่ในอเมริกา เพราะอินเดียค่าแรงถูกกว่า และภาคบริการแบบนี้โตเร็วมากในอินเดีย คนเขียน software เก่งที่สุดในโลกอยู่ในอินเดีย เศรษฐีรวยอันดับที่ 3 ของโลกเป็นเศรษฐีชาวอินเดียเจ้าของอุตสาหกรรมเหล็กกล้า และเฉพาะปีที่ผ่านมา ที่มีการจัดอันดับเศรษฐีพันล้านของโลก ถ้าจำไม่ผิดเรามีเศรษฐีพันล้านของโลก เพิ่มขึ้นใหม่แกะกล่อง ถ้าจำไม่ผิด 40 กว่าราย และเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชีย


 


คนที่รวยก็จะรวยมากขึ้น คนที่จนก็จะจนลงไปเรื่อย ๆ


 


ที่สำคัญ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ มันไปทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถ้ามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะมีเศรษฐกิจทุนนิยมไม่ได้ เพราะมันควรจะมีสินค้าไม่มีอย่างที่กิน ที่ใช้กันได้ทั้งโลก สิ่งที่ทุนนิยมโลกเข้าไปทำก็คือ ทำให้คนคิดเหมือนกัน แต่งตัวก็ต้องแต่งเหมือนกัน ใส่กางเกงแบบเดียวกัน ขับรถ บริโภคเหมือนกัน แค่นั้นยังไม่พอยังทำให้วัฒนธรรมการทำงานในโลกเหมือนกันด้วย เห็นได้ชัดตอนที่ทักษิณจะปรับเวลาให้ตรงกับสิงคโปร์ จะได้เป็นระบบเดียวกัน ตลาดหุ้นเปิดพร้อมกัน


 


ภควดี วีระภาสพงศ์


 


ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่-ซาปาติสต้า


เสรีนิยมใหม่ได้ทำให้การผลิตเคลื่อนย้ายไปได้ทั่วโลก และทำให้แรงงานแต่ละประเทศแข่งกันเอง แข่งกันไปหาจุดต่ำสุด ใครจะทำให้ค่าแรงลดลงได้ต่ำสุด อย่างการที่ฝรั่งเศสมีจลาจลเผารถยนต์กันเมื่อไม่กี่วันนี้ ก็เพราะมีการแก้กฎหมายแรงงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็ให้มีการขูดรีดแรงงานได้มากขึ้น จากที่ยุโรปเคยมีสวัสดิการแรงงานที่ดี


 


ในยุคทุนนิยมแบบฟอร์ดนั้น แรงงานยังสามารถรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพได้ ให้สหภาพในการต่อสู้ต่อรองกับนายทุนได้ แต่ปัจจุบันเมื่อฐานแรงงานและฐานการบริโภคมันครอบคลุมทั้งโลก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เขาจะไปใช้แรงงานที่ไหนก็ได้ในโลกที่ได้ค่าแรงต่ำสุด ซึ่งหมายความว่า ทุนไม่ต้องรับผิดชอบต่อแรงงาน อยู่รอดไม่รอดก็เรื่องของคุณ สหภาพแรงงานก็ไม่มี แรงงานเกิดความอ่อนแอ ทำให้การต่อสู้กับทุนนิยมคล้ายๆ เกิดการหยุดชะงัก และส่งผลต่อการพังทลายของแนวคิดสังคมนิยม


 


การต่อสู้ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากเสรีนิยมใหม่ดูดกลืนเอาระบบสังคมไปไว้ในระบบเศรษฐกิจ การต่อสู้ยุคใหม่ก็คือ การพยายามดึงเอาระบบเศรษฐกิจมาอยู่ภายใต้การดูแลของระบบสังคมอีกครั้งหนึ่ง


อันนี้เป็นประเด็นที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือ ให้สังคมเป็นผู้ชี้ขาดว่าอะไรควรจะทำหรือไม่ควรทำ ไม่ใช่ให้กำไรเป็นตัวชี้ขาด


 


เช่น  ขบวนการทางสังคมใหม่พยายามพูดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะไม่ต้องการให้แรงงานเป็นสินค้า ในอาร์เจนตินาเวลาเศรษฐกิจล่มสลายก็ไม่ใช่เงิน แต่เอาของมาแลกกัน เป็นต้น


 


ทีนี้จะมาพูดเรื่องการต่อต้าน ที่โดดเด่นและอยากจะหยิบยกมาพูดคือ ขบวนการซาปาติสต้า เป็นขบวนการสังคมแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือพร้อมกับข้กตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ผลของเศรษฐกิจไร้พรมแดนทำลายชุมชนพื้นเมืองของเม็กซิโก จึงเกิดการต่อสู้ขึ้นมา และเป็นตัวอย่างแนวคิดของขบวนการสังคมใหม่ทั่วโลก


 


ลักษณะสำคัญของขบวนการซาปาติสต้า ที่แตกต่างจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่แล้วมา คือ


 



  1. การนิยามศัตรู >>> เขาไม่ได้บอกว่าจะโค่นล้มรัฐบาล แต่บอกชัดเจนว่า นาฟต้า และลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นศัตรู และมีการนิยามเสรีนิยมใหม่อย่างชัดเจน

 



  1. การนิยามพันธมิตร >>> เป็นครั้งแรกของขบวนการปฏิวัติที่ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นหัวหอกของขบวนการปฏิวัติ แต่เขาบอกว่าเขาเป็นขบวนหนึ่งในหลายๆ ขบวนที่จะขบถขึ้นทั่วโลกไม่ว่าการขบถนั้นจะมาจากแนวคิดอะไรก็ตาม และเสนอการปฏิวัติในลักษณะเครือข่าย ไม่ใช่หัวขบวนนำเหมือนฝ่ายซ้ายในอดีต

 



  1. การนิยามเป้าหมาย >>> ประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการยึดอำนาจรัฐ ไม่ได้ต่อสู้เพื่อข้อเรียกร้องของกลุ่มเขา แต่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วม จึงมีประโยคที่พูดว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับทุกคน ไม่เช่นนั้น เราก็ไม่ต้องการอะไรเลย" ที่สำคัญมาก คือ เขาไม่ต่อรองทางการเมือง หรือเรียกได้ว่าไม่มีเป้าหมายระยะสั้น เสนอแต่เป้าหมายระยะยาว ซึ่งนี่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน  นอกจากนั้น เป้าหมายยังไม่จำกัดเฉพาะประเทศตัวเอง แต่เสนอในระดับสากลด้วย การที่มีแต่เป้าหมายระยะยาวนี้ทำให้ซาปาติสต้าถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของจริยธรรม แต่การไม่มีเป้าหมายระยะสั้นทำให้ซาปาติสต้าไม่สามารถทำให้สภาพชีวิตของคนในขบวนการดีขึ้นได้ แต่ที่อยู่มาได้ เพราะอินเดียนแดงในเขตนั้นลำบากชนิดที่ไม่มีอะไรเหลือแล้ว การมีกองกำลังป้องกันนายทุน รัฐบาลมาไล่ที่เขา มันก็ช่วยขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่ามันจะยั่งยืนหรือไม่

 



  1. การนิยามวิธีการ >>> วิธีการและเป้าหมายต้องเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่เหมือนของเหมา หรือ เลนิน ที่ว่าทำยังไงก็ได้ให้ถึงเป้าหมาย เป้าหมายตัดสินวิธีการ แต่ซาปาติสต้าบอกว่าต้องพยายามทำให้สองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน หมายความว่า ไม่ได้มองอุดมคติเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่แบบที่ปกครองแบบเผด็จการเพื่อที่จะนำไปสู่สังคมนิยมที่แรงงานมีเสรีภาพ

 


      ดังนั้น ซาปาติสต้าจึงจัดองค์กรเป็นหมู่คณะ เป็นการจัดองค์กรแนวระนาบ ไม่ใช่ทำแบบพันธมิตร          ที่หน้าทำเนียบ นั่นคือไม่มีการบังคับบัญชาแบบลำดับขั้น เป็นประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช้ระบบ       ผู้แทน แต่เราตัดสินใจก่อนแล้วมอบให้ผู้รับมอบอำนาจมาบอกในที่ประชุม คนที่รับมอบอำนาจไม่    มีสิทธิตัดสินใจแทนเราไม่ว่ากรณีใดๆ และมีสิทธิถอดถอนเขาได้เมื่อเห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังใช้มติเอกฉันเป็นหลัก แม้ว่าการตัดสินใจจะยาวนานกว่าจะพูดคุยกันได้จนได้     ข้อสรุปปเป็นที่พอใจ เพ ราะเขาเชื่อว่าเวลาไม่ใช่การตอกบัตร ฉะนั้น เขาจะไม่เร่งรีบเหมือนโลก            ทุนนิยม และการตัดสินใจจะเด็ดขาดมาก ผูกมัดการลงคะแนนของเขาด้วยทั้งหมดที่ตัวเขามี


 


            ทำงานทางการเมืองด้วยการปฏิเสธ ที่เขาใช้คำว่า "ยาบัสต้า!" หรือ "พอกันที!" คำว่าพอกันที   มันไม่ใช่แค่หมดความอดทน ไม่พอใจ แต่มันมีความหมายด้วยว่า เขาจะไม่ต่อรอง ไม่มีการ                      ต่อรองครึ่งๆ กลาง ซึ่ง        ลักษณะนี้เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาด้วย มีคำว่า ไล่พวกมันไปให้หมด       คือ ไม่เอานักการเมืองเลย


    


      5.   การนิยามมนุษย์ >>> สังคมนิยมแบบรัสเซีย มนุษย์เป็นสมาชิกพรรค เป็นแรงงาน อะไรก็ตาม            แต่สำหรับซาปาติสต้า มนุษย์ต้องมีศักดิ์ศรี และต้องมีความหวัง เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะศักดิ์ศรี      มันตรงข้ามกับการขาย มันขายไม่ได้


 



  1. การใช้อินเตอร์เน็ต และการใช้สื่อเป็นอาวุธ

 



  1. มีอารมณ์ขัน เพราะเขาถือว่าการต่อสู้ต้องเป็นไปอย่างมีความสุขด้วย

 


 


การเกิดขึ้นของซาปาติสต้า ได้สร้างแรงกระตุ้นในยุโรปและในอเมริกา มีการนำแนวคิดนี้มาใช้ โดยสร้างขบวนการสังคมที่เป็นเครือข่ายขึ้นมา


 


การชุมนุมประท้วง WTO ที่ซีแอตเติล


ขบวนการสังคมใหม่ มันเกิดครั้งแรกทีซีแอตเติล ในการประท้วงการประชุม WTO ในปี 1998 ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากซีกโลกใต้ ทั้งที่แต่ก่อนจะแนวคิดต่างๆ จะส่งออกจากตะวันตกไปยังส่วนอื่นของโลก นอกจากนี้ขบวนการคราวนั้นยังได้แนวคิดอารยะขัดขืนจากคานธี แนวคิด people power ของฟิลิปปินส์ แล้วนำแนวคิดพวกนี้มาผสมผสานกับแนวคิดอนาธิปไตยที่มีอยู่แล้วในยุโรป โดยเฉพาะที่ใช้ภาษาสเปนและอิตาลี ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม


 


ต่อมาก็คือ ไม่มีแกนนำ ไม่มีศูนย์บัญชาการใหญ่ มีความหลากหลายของประเด็นต่างๆ ไม่มีการจัดลำดับว่าประเด็นไหนสำคัญกว่าประเด็นไหน ทุกประเด็นจะเอาขึ้นมาหมดเท่าๆ กัน อีกทั้งยังยอมรับความหลากหลายของพันธมิตร ทั้งในด้านความคิด รวมถึงข้อจำกัดในการออกปฏิบัติการ ยอมรับว่าคนแต่ละคนมีความสามารถในการประท้วงไม่เท่ากัน สามารถต่อสู้ตามแนวทางของตัวเองได้ จึงไม่เรียกร้องจากเครือข่าย ในขณะที่แนวคิดแบบเลนินกับเหมาจะเรียกร้องสูงมาก


 


ต่อมาคือ การท้าทายซึ่งหน้า ซึ่งสำคัญมาก ความหมายก็คือ เป็นการต่อต้านขัดขืนที่ไม่พึ่งพิงกับรัฐ นั่นคือ ไม่ได้วิ่งล็อบบี้ในสภา ไม่ต้องการรัฐบาลใหม่ หรือให้ใครลงมาช่วยแก้ปัญหา แต่พยายามแก้ปัญหาบางอย่างโดยไม่อิงกับกระบวนการของรัฐ และไม่อิงกับอำนาจรัฐเลย เช่น ปัญหาคนไร้บ้าน เขาจะไม่เรียกร้องให้รัฐบาลทำศูนย์สงเคราะห์ การท้าทายซึ่งหน้าจะทำโดยไปยึดตึกร้างตึกหนึ่งมาเลย แล้วก็ตกแต่งให้คนไร้บ้านเข้าไปอยู่ มันอาจจะผิดกฎหมายแต่มันชอบธรรม


 


วิธีการที่จัดรูปขบวนการต่อต้านที่ซีแอตเติล แตกต่างจากพันธมิตรที่หน้าทำเนียบอย่างไร อย่างกลุ่มพันธมิตร เราเรียกอย่างนั้นเพราะมันเป็นเครือข่าย และมีบางคนมาวิจารณ์ว่าเป็น "อนาธิปไตย" มันไม่ใช่ เพราะว่าพันธมิตรหน้าทำเนียบเป็นแค่ "ม็อบ" คือ มีผู้นำ เพียงแต่ตอนนี้เพิ่มเป็นแกนนำ มีโฆษก


 


แต่ถ้าเป็นขบวนการแบบอนาธิปไตยจริงๆ อนาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า ความหลากหลายหรือใครก็ได้มารวมกัน อนาธิปไตยที่แท้จริง มีการจัดตั้งที่เหนียวแน่น และค่อนข้างจะเข้มแข็งมาก โดยขบวนการอนาธิปไตยที่ซีแอตเติลนั้น จะเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มต่างๆ ที่มีประเด็นร่วมกัน กลุ่มเหล่านี้มีอยู่แล้ว และเมื่อมาประท้วงก็จะตัดสินใจเองว่าจะประท้วงแบบไหน ไม่มีใครมาบอกว่าต้องทำยังไง และเวลาประชุมร่วมกันจะส่งตัวแทนกลุ่ม 1 คนที่เป็นผู้รับมอบอำนาจมาประชุมกัน แล้วก็พูดคุยจนกระทั่งมีตกลงกันเรียบร้อย แล้วตัวแทนจึงไปบอกกลุ่ม ซึ่งหากกลุ่มไม่เห็นด้วยก็สามารถออกได้เลย แต่ละกลุ่มก็รวมกันเป็นคลัสเตอร์ และกระจายกันทำกิจกรรม


 


ฉะนั้น การตัดสินใจจึงมาจากทุกคนที่ร่วมประท้วง ไม่มีโฆษกที่จะมาบอกได้ว่าทั้งหมดตัดสินใจยังไง นักข่าวที่ไปทำข่าวที่ซีแอตเติลจะงงมาก หาโฆษกไม่เจอ หาตัวแทนไม่เจอ แล้วประเด็นต่างๆ ก็มาพร้อมกัน


 


 


พิภพ อุดมอิทธิพงศ์


 


ความโดดเด่นของการต่อสู้ในอเมริกาใต้นั้นจะสู้กันรุนแรงมาก แบ่งออกเป็นฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ดูจากประวัติศาสตร์แล้วพวกนี้ตกเป็นอาณานิคม แล้วเจ้าอาณานิคมก็กระทำต่อรุนแรง แม้กระทั่งอเมริกาที่ครบรอบโคลัมบัส 100 ปีก็ต่อต้าน มีการรื้อประวัติศาสตร์ใหม่ เป็นภาคประชาชน เขียนถึงการเข่นฆ่าคนพื้นเมือง อันนี้เป็นทั้งจุดดีและจุดด้อย


 


จุดดีคือเป็นการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐ ต่อต้านฉันทามติแห่งวอชิงตัน ส่วนจุดด้วยเท่าที่เจอกลุ่มเกี่ยวกับการต่อต้านการขุดเจาะน้ำมัน พวกนี้เวลาทำงานจะไม่รับ และไม่ไว้วางใจสูงมากหากเป็นคนอเมริกันหรือยุโรป ฉะนั้น ความร่วมมือจะเกิดได้ยากมาก


 


ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลก คือ ระดับความรู้ ความเข้าใจระหว่างแกนนำและชาวบ้านมีความแตกต่างกันพอสมควร จึงเป็นปัญหาในการเคลื่อนขบวน และในหลายกรณีทำให้วาระในการกำหนดเคลื่อนไหวไม่เป็นเอกภาพ


 


นอกจากนี้ยังความท้าทายในเรื่องของภาษาด้วย เวลาประชุมร่วมกันมันคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าการเคลื่อนไหวทั่วไปก็จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง แต่ถ้าเป็นในละตินอเมริกาจะใช้ภาษาสเปน โปรตุเกส ซึ่งเป็นอุปสรรคในการวางแผนร่วมกันมากพอสมควร


 


ภควดี


 


กล่าวสำหรับความเคลื่อนไหวในประเทศไทย การปรับใช้แนวทางของซาปาติสต้าอาจถูกมองว่าหัวรุนแรง แต่ในเม็กซิโกไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะ 1.การปฏิวัติในเม็กซิโกเป็นความหมายที่ดีมากๆ 2. คนเม็กซิโกไม่รังเกียจทหาร การถือปืน หรือขบวนการติดอาวุธ เพราะต้องจับอาวุธต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม 3. ในรัฐธรรมนูญของเม็กซิโก มีมาตราหนึ่งเขียนไว้ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ชอบธรรม ประชาชนมีสิทธิล้มล้างได้ และหากจะให้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะเพิ่มว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้แล้วไม่ได้เรื่องให้ฉีกทิ้งไปเลย


 


มันขัดแย้งในตัวเองนะ นักวิชาการหลายต่อหลายคนพยายามบอกไม่ให้ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ในช่วงหลังๆ นี้รู้สึกว่าเราก็ฉีกกันมาหลายฉบับแล้ว จะฉีกอีกฉบับหนึ่งจะเป็นอย่างไร จะบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นเจตนารมณ์ของคนเดือนพฤษภา คนเดือนพฤษภาไม่เห็นมีใครได้มาร่าง


 


แล้วตอนนี้มันกลายเป็นว่า เหนือทักษิณยังมีพันธมิตร เหนือพันธมิตรยังมีประชาชน เหนือประชาชนมีรัฐธรรมนูญ เหนือรัฐธรรมนูญมีนักกฎหมาย ก็หมายความว่า คน 60 ล้านคนเป็นทาสนักกฎหมาย ผู้มีอำนาจสูงสุดคือนักกฎหมาย


 


 


พิภพ


 


มีคนถามว่าการต่อต้านเสรีนิยมใหม่โดยใช้เรื่องชาตินิยมนั้นจะมีปัญหาหรือไม่ มันเป็นปัญหาว่าการเอาชาตินิยมมาใช้นั้นจะใช้ยังไง และจะมีผลกระทบยังไง ซึ่งมันก็ตอบยาก ในบางสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องใช้ และใช้แล้วก็มีผลดีผลเสียของมัน เพราะมันไม่จบในตัวมันเอง ถ้าจะบอยคอตสิงคโปร์ด้วยเรื่องชาตินิยมคุณควรจะบอยคอตจีนและญี่ปุ่นมากกว่า แต่ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตสิงคโปร์ แต่เราต้องเข้าใจว่าที่การนำชาตินิยมมาใช้เป็นเพียงเทคนิควิธีการที่เอามาใช้ในระดับที่เหมาะสม เป็นจุดที่ดึงคนเข้ามาร่วม แต่ก็ต้องระวัง เพราะมันอาจเลยจากการต่อต้านทุนนิยมเป็นเรื่องเชื้อชาติ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net