เรื่องที่มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอยู่ในวงๆ หนึ่ง(คนที่1-6)

ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายต่อจุดยืนและความคิด ความห่วงใยต่อบ้านต่อเมืองถูกถ่ายทอดและไหลเวียนอยู่ในกระแสสังคม ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในการชุมนุมประท้วงเท่านั้น "ประชาไท" ได้รับอีเมลล์จากผู้สื่อข่าวอาวุโส นักวิชาการ นักกิจกรรม ฯลฯ เป็นการภายใน

 

และด้วยข้อความจำนวนหนึ่งเป็นข้อความที่น่าจะชวนกันคิด ถกเถียง เราจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ โดยความยินยอมของผู้เขียนที่มีตัวตนแต่ไม่ประสงค์จะระบุนาม ดังนี้ 

 

0 0 0

 

คนที่ 1

 

อีเมล์นี้ ดิฉันตั้งใจส่งถึงผู้ที่ระบุชื่อไว้เท่านั้น แต่หากท่านใดเห็นว่ามีประโยชน์ที่อยากเผยแพร่ต่อ กรุณาลบชื่อและรายละเอียดของดิฉันที่ปรากฎในอีเมล์นี้ออกด้วย ขอบคุณค่ะ



ถึงกัลยาณมิตรทุกท่าน

ในฐานะที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ เป็นทั้งผู้ส่งข่าวสารและรับข่าวสารต่างๆ ขอปรับทุกข์ว่า มีความกังวลเป็นอย่างมากกับสถานการณ์และการต่อสู้เพื่อให้ "ทักษิณ ออกไป" ว่าอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงและสูญเสียที่เราต่างต้องมาเสียใจภายหลัง หากยังมีลมหายใจอยู่

ความกังวลคือ การต่อสู้แบบที่มีความพยายามแบ่งฝักฝ่ายให้ชัดเจน การทำให้พื้นที่ของการต่อสู้มีเพียง "สีขาว" และ "สีดำ" แบบที่ไม่เหลือช่องว่างไว้เลย ซึ่งจะยิ่งทำให้การต่อสู้ไปสู่ทางตัน นำไปสู่ความรานร้าวของสังคม และความสูญเสียที่เราต่างไม่อยากให้เกิด

สิ่งที่อยากวอนขอมา ณ ที่นี้ ดังนี้

1. ขอให้เลิกใช้นัยยะใดใดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งการ forward messages ที่สนับสนุนวิถีทางนี้

2. ในฐานะที่ดิฉันเป็นนักสิทธิมนุษยชน ดิฉันอยากขอร้องให้เลิกโจมตีฝ่ายตรงข้าม ด้วยข้อความหรือการกระทำใดๆที่ประนามหยามเหยียดอัตลักษณ์ของผู้คน เช่น รูปลักษณ์ที่สูง-ต่ำ-ดำขาว อ้วน-ผอม หน้าเหลี่ยมหรือหน้ากลม ดิฉันอยากขอให้พวกเราช่วยกันทำให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่งดงามให้คนรุ่นหลังก้าวตาม

3. ขอให้เลิกประณามกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนทักษิณว่าเป็น "ม็อบรับจ้าง ที่ไร้การศึกษา" หากควรยอมรับให้เขามีตัวตนและมีพื้นที่ที่จะแสดงความเห็นไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ถูกจ้างมาหรือมาด้วยใจที่เราบางคนอาจคิดว่า "โง่งม ไร้ข้อมูลภาคประชาชนเองก็เคยโกรธเกลียดกับการถูกประณามว่าเป็น "ม็อบรับจ้าง" มิใช่หรือ

4. ขอให้คำนึงถึง "หลักการ"ต่างๆ ในสังคมที่พวกเราเรียกร้องและเคยต่อสู้เพื่อให้ได้มา (ทั้งที่ได้มาแล้วและยังไม่ได้) การยอมละเมิดหลักการบางอย่างเพียงเพื่อกำจัดคนๆ หนึ่งออกไป เป็นการลงทุนมากไปหรือไม่? ซึ่งในวันข้างหน้า เราจะกลับมากล่าวอ้างถึงหลักการต่างๆ อย่างเต็มปาก ไร้ความละอายใดๆ ได้หรือไม่?

ดิฉันไม่อยากให้มีการสร้างความเกลียดชังไม่ว่าด้วยรูปแบบใด หรือเป็นไปทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันแล้วต้องถึงเลือดเนื้อหรือมีความตายเกิดขึ้น

 

สิ่งที่กระตุ้นจนทำให้ดิฉันต้องส่งอีเมล์นี้มาถึงผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร (หลังจากที่รับอีเมล์ที่ forwarded ต่อๆ กันมาในเรื่องที่เป็นกังวล อยู่ทุกวัน และวันละหลายๆครั้ง) คือภาพเหตุการณ์ในปาปัวฯ ของอินโดนีเซียที่เผยแพร่ทางช่อง 9 ที่รายงานการเผชิญหน้าของผู้ชุมนุมที่โกรธแค้นรัฐฯที่กดขี่ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจนถึงชีวิต 4 นาย ดิฉันดูภาพข่าวที่ทีวีช่อง 9 เผยแพร่ด้วยความตกใจจนเกือบหมดสติ

 

จากภาพข่าว ดิฉันเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งตอนที่เขามีชีวิต เห็นเหตุการณ์ที่เขาถูกผู้ชุมนุมที่โกรธแค้นทำร้าย ทั้งต่อย เตะ ถีบ เกวี้ยงก้อนหินใส่ร่างที่ล้มลง กระทืบซ้ำจนเขาตายไปตรงหน้า  ภาพที่เห็นทำให้ดิฉันย้อนคิดถึงภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการเผาคนทั้งเป็นอยู่กลางสนามหลวง โดยมีผู้คนที่ยืนดูอยู่แย้มยิ้ม

 

ขอสารภาพว่าดิฉันหวาดหวั่นเหลือเกินว่าความเกลียดชังที่ฝ่ายใดก็ตามกำลังสร้างให้เป็นประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนี้ จะนำไปสู่การย้อนรอย  เพราะเมื่อความโกรธแค้น เกลียดชังปะทุขึ้นในฝูงชน ดิฉันไม่เชื่อค่ะว่าใครจะคุมสถานการณ์ได้

ดิฉันไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยค่ะ จึงวอนขอมาด้วยความเคารพและความปรารถนาที่จะเห็นความสมานฉันท์ค่ะ

 

0 0 0

 

คนที่ 2

 

แม้จะมีบางท่าน รวมทั้งนักกฎหมายพยายามตีความว่า หากนายกทักษิณลาออกแล้วจะต้องใช้มาตรา 7 เพื่อให้มีนายกพระราชทาน แต่ผมเห็นว่า โดยหลักของกฏหมายแล้ว หากคุณทักษิณลาออกจากนายกฯรักษาการ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ผู้ที่จะทำหน้าที่แทน คือรองนายกฯ นายกพระราชทานจะนำมาใช้เฉพาะกรณีรัฐมนตรีรักษาการทุกท่านลาออกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ เช่นบังคลาเทศ ศรีลังกา และบางประเทศในลาตินอเมริกาที่มีกระแสเรียกร้องหรือแนวโน้มที่จะจัดให้มีรัฐบาลรักษาการที่เป็นกลางในระหว่างการเลือกตั้ง

ในสถานการณ์ที่แหลมคม ฝ่ายประชาชนมีทางเลือกไม่มาก 1.ให้คุณทักษิณอยู่ในอำนาจต่อไป หรือ 2.มีนายกพระราชทานมารักษาการระหว่างเลือกตั้ง โดยไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ โดยพยายามตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ให้เปิดช่องให้ทำได้  หรือ 3.ทหารเข้ายึดอำนาจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทหารที่เป็นเพื่อนทักษิณ หรือไม่ใช่ ย่อมต้องฉีกรัฐธรรมนูญ และไม่เอาทักษิณไว้
(แม้แต่ทหารที่เป็นเพื่อนทักษิณก็จะไม่เอาทักษิณซึ่งเน่าแฟะแล้วไว้อย่างแน่นอน) หรือ 4. ผนึกกำลังกันให้กว้างขวางที่สุดเพื่อให้ทักษิณลาออก แล้วไปช่วงชิงโอกาสกันหลังจากนั้นโดยสันติวิธี

ความรุนแรงในระหว่างนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดจะเอื้ออำนวยต่อช่องทาง 2 และ 3 แต่การแตกแยกและอ่อนกำลังลงของฝ่ายพันธมิตรจะเอื้อประโยชน์แก่ช่องทาง 1

ดังนั้นผมเห็นว่า จะต้องสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อไปโดยสันติวิธี หลีกเลี่ยงความรุนแรง (ซึ่งทักษิณก็ไม่ต้องการความรุนแรงเพราะไม่ต้องการทางที่ 2 และ 3 เช่นเดียวกับเรา) และผนึกกำลังให้กว้างขวางเหนียวแน่นที่สุดด้วยความอดทนเพื่อให้ทักษิณออกไป (ทางที่ 4)

มีคนเตรียมฉวยโอกาสอยู่ ปัญหาคือ เรากับทักษิณใครจะหมดแรงก่อนกัน

การหยิบยกเรื่องนี้มาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เป็นการถกเถียงก่อนกาลอันสมควร อาจไม่เป็นผลดีต่อพันธมิตรประชาธิปไตย แน่นอนว่าควรคิด ถกเถียงกันและเตรียมตัวไว้ได้ในขอบเขตหนึ่งที่ไม่บันทอนพลัง ข้อสำคัญควรให้ความไว้วางใจแก่ตัวแทนของเราในพันธมิตรประชาธิปไตยฯและแกนนำที่ทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยและยากลำบาก และให้การสนับสนุนบุคคลเหล่านั้นทางด้านกำลังใจ  กำลังกาย และในทางการเมืองอย่างเต็มที่

 

0 0 0

 

คนที่ 1

ดิฉันกลับเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่เราต้องหยิบยกเรื่องนี้มาถกเถียงกันก่อนที่จะปล่อยให้อำนาจอะไรก็ตามพาก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างหาหลักการไม่เจอ

การเรียกร้องให้สนับสนุนและไว้วางใจ "ผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ" แบบเก็บคำถามไว้ทีหลังนั้น ไม่เป็นผลดีกับขบวนการและหลักการประชาธิปไตยและ "ภาคประชาชน" ที่กล่าวอ้างกันอยู่เลย

 

0 0 0

 

คนที่ 3

 

ก่อนอื่น ต้องขอโทษด้วยที่ร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ เปิดประเด็นถกเถียงท่ามกลางสถานการณ์อ่อนล้าของฝ่ายพันธมิตรและการอหังการและดันทุรังของทักษิณ ซึ่งถ้าเป็นที่ประเทศอื่นๆ นายกรัฐมนตรีคงลาออกไปแล้ว ไม่มาดื้อด้านให้คนต้องลุกขึ้นมาขับไล่ 

เราเองยอมรับว่า อยู่ไกลเกินกว่าจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนที่อาจจะถึงจุดของการเลยความคับข้องใจต่อกรณีทักษิณไปแล้ว

เราเองก็สงสารและค่อนข้างเห็นใจแกนนำของฝ่ายพันธมิตรฯที่ต้องหาวิธีประสานกับมวลชนที่หลากหลาย ตั้งแต่อนุรักษ์นิยมมาเพราะรักสถาบันกษัตริย์ กระทั่งคนชั้นกลางที่เป็นฐานภาษีของประเทศที่เจ็บใจกับการกระทำของทักษิณ ยันมวลชนฝ่ายสังคมนิยมที่ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ 

 

เมื่อคืนวานดูข่าวจากดาวเทียมแล้ว ภาพที่สะท้อนความหลากหลายของมวลชนที่สุดก็คือ การเดี่ยวเปียนโนความฝันอันสูงสุด ต่อด้วยการร้องบทเพลงปฏิวัติของจิตร ภูมิศักดิ์  ซึ่งถ้าไม่คิดมากมองโลกอย่างอารมณ์ดีก็มันไปอีกแบบ แต่ถ้ามองจากคนที่กำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว คงปวดกบาลน่าดู

 

เรามองว่า ปัญหาทักษิณค่อนข้างจะสลับซับซ้อนมากกว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหาร อาจจะเป็นเพราะเรายังคิดว่า เราควรจะปฏิบัติต่อคนที่มาจากการเลือกตั้ง แตกต่างจากเผด็จการทหาร ซึ่งประเด็นนี้หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะเพื่อนหลายคน ยกตัวอย่างฮิตเลอร์ที่มาจากการเลือกตั้ง และส่งผลเสียต่อเยอรมันนีและประชาคมโลก

 

แต่การเรียกหานายกฯพระราชทาน ด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของภาคประชาชนที่ถึงที่สุดต้องไปอาศัยที่มาของอำนาจที่ใหญ่กว่าอำนาจจากการเลือกตั้ง อำนาจทหาร และยอมรับสภาพกลายๆ ว่า อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของหรือมาจากปวงชนชาวไทย

 

เราเองเห็นด้วยกับข้อเสนอทางเลือกที่ 4 ของ (คนที่ 2) คำถามคือ จะไปยังไงเพื่อให้บรรลุข้อนั้น ซึ่งอันนี้คงต้องฝากเครือข่ายต่างๆ ที่กว้างกว่าพันธมิตรฯที่ต้องช่วยกันคิด

 

ฮะแอ้ม..ขอโทษที่ผลักภาระ..แต่มันไกลเกิน แถมไม่ค่อยชินกับบรรยากาศรุ้งเจ็ดสีของมวลชนอันไพศาล เอาเป็นว่า ถ้าจะให้พวกเราทำอะไรก็บอกมาแล้วกันนะคะ

 

0 0 0

 

คนที่ 4

ขอร่วมวงด้วยคน

 

1.ต้องไม่ลืมว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อความเป็นประชาธิปไตย ประเด็นสำคัญขนาดนี้ ถ้าไม่ปล่อยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางแล้ว อาจสายเกินไปก็ได้ เมื่อต้องกลับมาพูดถึงมันอีกในภายหลัง หรือถ้าต้องการให้การเมืองภาคประชาชนไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ การไปตัดสินว่าอะไรสำคัญ จำเป็นก่อนหลังมันคงให้เหมือนกันไม่ได้ เพราะบางคนเห็นว่า เรื่องนี้ใหญ่โตเกินกว่าจะให้ผ่านพ้นไป และช่วงเวลานี้คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากพันธมิตรได้เสนอประเด็นที่ทำลายหลักการประชาธิปไตยในระยะยาวแล้ว ก็สมเหตุสมผลที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ ตอนนี้จึงต้องเลือกระหว่างอยู่ข้างพันธมิตรฯแล้วได้นายกพระราชทาน  กับไม่เอานายกพระราชทานและแตกหักกับพันธมิตร 

 

2. ผมเห็นด้วยกับ (คนที่ 2) ที่ว่า โดยหลักกฎหมายแล้ว ไม่สามารถใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกพระราชทานได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ขณะนี้มีชนชั้นนำจำนวนมากที่ตีความบิดเบือนและชี้นำให้เกิดกระแสเห็นด้วยกับนายกพระราชทานอย่างกว้างขวาง เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วความเห็นพ้องต้องกันดังกล่าว จะนำไปสู่การรัฐประหารโดยไม่ใช้กำลังอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเกิดความชอบธรรมในการใช้อำนาจแต่งตั้งนายกฯบนพื้นฐานของการสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ผลคือ รัฐธรรมนูญถูกฉีก ประชาธิปไตยถูกล้มล้าง (อย่างน้อยก็ชั่วคราว) นายกพระราชทานจึงเป็นไปได้เสมอ

 

3. ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ มาจากพันธมิตรฯ และกลุ่มคนที่อยากโค่นทักษิณ แต่ไม่เปิดเผยตัว การชุมนุมยืดเยื้อต่อไป ฝูงชนยิ่งอ่อนล้า ความเครียด ความกดดันสะสม จะเร่งให้แกนนำและผู้ชุมนุมคิดแตกหัก/เผด็จศึกรัฐบาล ยิ่งปล่อยให้ถึงวันเลือกตั้ง รัฐบาลจะยิ่งได้เปรียบ จึงเป็นไปได้ว่า พันธมิตรเองนั่นแหละอาจจะจุดชนวนเพื่อสร้างสถานการณ์เอง (ภายใต้สมมุติฐานว่า ผมไม่ไว้วางใจแกนนำบางคนอย่างยิ่ง) หรือไม่ก็มาจากมือที่สามก็เป็นได้

 

ลองคิดดูว่าแค่เอาระเบิดไปลงซักลูกอะไรจะเกิดขึ้น รับรองพันธมิตรไม่มีทางควบคุมฝูงชนได้แน่นอน ถ้ารุนแรงมากพอก็สามารถทำให้ทักษิณลาออกได้ แล้วนายกฯพระราชทานก็จะมา เพราะถ้าตั้งนายกฯรักษาการจากคนของไทยรักไทยก็คงลำบาก เพราะคนจะเกิดวิกฤติศรัทธายิ่งกว่าตอนนี้ อีกทั้งฝ่ายพันธมิตรเองก็เรียกร้องนายกฯ พระราชทานกันแทบทุกวัน แทบไม่มีประตูไหนเลยที่จะไม่ได้นายกฯพระราชทาน ตราบใดที่ยังสนับสนุนพันธมิตรฯอยู่ต่อไป

 

4. สิ่งที่ควรทำตอนนี้ คือ
- ต้องรณรงค์ไม่เอานายกฯพระราชทาน แน่นอนว่า ต้องกระทบกับพันธมิตรฯอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะข้อเรียกร้องหลักของพันธมิตรข้อหนึ่งนอกเหนือจากให้ทักษิณลาออกแล้วคือ นายกฯพระราชทาน (แถลงการณ์ฉบับที่ 2)



ผมคิดว่าข้อนี้จำเป็นมาก เพราะนี่คือการส่งเสียงคัดค้านดังๆ และถ้าวันหนึ่งพันธมิตรฯบางส่วนจะมาเคลื่อนไหวคัดค้านนายกพระราชทานก็คงหมดความชอบธรรมไปพอสมควร เพราะครั้งหนึ่งมันเคยเป็นข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯเอง

 

- ถอนตัวออกจากพันธมิตรฯเสีย เพราะเอาเข้าจริงพันธมิตรฯอยู่ได้เพราะสนธิ-จำลองเป็นหลัก มวลชนมาชุมนุมกันเพราะเป็นความต่อเนื่องของการปลุกกระแสพระราชอำนาจ ไม่ใช่เพราะ พิภพ สมศักดิ์ สมเกียรติ สุริยะใส ฯลฯ ที่จริงข้อเรียกร้องนี้ ผมรู้ว่า ยังไงก็เป็นไปไม่ได้ที่แกนนำทั้งหลายจะถอนตัว

 

- เดินหน้าผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยมาเน้นในเชิงเนื้อหาสาระของการปฏิรูปการเมืองให้มากขึ้น ประเด็นนี้ยังไงก็เดินหน้า เพราะทุกฝ่ายรับหลักการหมดแล้ว มาเตรียมการในเชิงเนื้อหาอย่างเข้มข้นดีกว่า

 

- รณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิโดยไม่ลงคะแนนให้พรรคใด ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่

 

- ถึงจุดหนึ่งถ้าทักษิณต้องอยู่ต่อ ก็ควรต้องทำใจ เพราะถ้าเรามัวคิดโค่นล้มมากเกินไป โดยยอมเสียหลักการสำคัญที่แลกมาด้วยชีวิตคนจำนวนมาก มันคุ้มแล้วหรือ มันจะชั่วอย่างไรก็ตาม ในระดับหนึ่งต้องทำใจยอมรับ เพราะเขาก็มาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย อย่าคิดว่า 19 ล้านเสียง ไร้ความหมาย

 

0 0 0

 

คนที่ 5

ถึงทุกคน

 

หลังจากที่หงุดหงิดมาหลายปี เซ็งสุดๆ ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ดิฉันกลับมามีความสุขมากที่เห็นภาพการจากไปของทักษิณ แม้จะยังไม่เร็วหรือชัดเจนว่าจะไปทิศใดก็ตาม แม้ว่าจะมีหลากหลายความคิดหลากหลายยุทธศาสตร์ แต่มันทำให้เรามีชีวิตชีวาอยากจะอ่านข่าว ดูทีวี อยากคุยกับผู้คน อยากคิด อยากทำ (ไม่ย้ำคิดย้ำทำ) ที่เป็นการตอบโต้หลังจากถูกกระทำมานานไปหมด เพียงเอา sim card ไปยกเลิกกับ AIS ก็มีความสุขจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบอกแม่หนูคนรับเรื่องและบอกเพื่อนฝูงว่า เพราะต้องการประท้วงทักษิณ ก็ทำให้ดิฉันอารมณ์ดีไปตั้งหลายวัน ก็รอมาหลายปีแล้ว ตอนนี้รอกันไปอีกสักหน่อยย่อมได้อยู่แล้ว โจทย์ใหญ่อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรต่อไปในยุค Post Thaksin

 

เอาเป็นว่า ตอนนี้ขอขอบคุณ (คนที่ 1) ที่ให้ความเห็นในหลายๆ เรื่อง ขอบคุณผู้ชุมนุมที่มาสร้างพลังประชาชน แต่ที่ดิฉันเองก็ไม่สบายใจ และได้รับการสะท้อนในทำนองเดียวกันนี้จากเพื่อนฝูงซึ่งไม่ได้อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหว แต่นัยหนึ่งคือแนวร่วมที่ดีมากๆ จึงอยากร่วมสนทนาเพื่อสร้างสรรค์ดังต่อไปนี้

 

1.ประเด็นและเนื้อหามีร้อยพัน แต่การปราศรัยบนเวทีในหลายๆ กรณีได้แสดงสัญลักษณ์และใช้ถ้อยคำหยาบคาย มีความหมายในทางละเมิดและดูหมิ่นต่อบุคคลเป็นการส่วนตัวจริงๆ เช่นรูปลักษณ์ อย่างไม่จำเป็นเลย และโปรดอย่าหาว่าดัดจริต เพราะเมื่อมันไม่ใช่วัฒนธรรมที่เราต้องการส่งเสริมเชิดชู เราก็ไม่ควรใช้ ไม่ว่ากับใครใช่ไหม การเสียดสีถึงรูปลักษณ์ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่เป็นการเมือง เพราะ The "personal is political" หมายถึงชีวิตส่วนตัวที่มีส่วนอย่างมากในการกำหนดความสัมพันธ์และโครงสร้างทางการเมืองว่าจะดีเลวอย่างไรด้วย รูปลักษณ์จึงไม่ใช่เรื่องการเมือง

 

2. ส่วนร่วมของผู้คนข้างล่างเวทีที่มาในรูปโปสเตอร์ แผ่นผ้า เสื้อผ้าต่างๆ ที่เป็นส่วนตัว และบ่งบอกถึงนัยยะที่หยาบคายเช่น กางเกงใน ที่มีรูปบุคคลในบริเวณ private parts ไม่น่าจะอยู่ในขบวนการเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดิฉันเห็นเด็กๆ จำนวนไม่น้อยมาร่วมการชุมนุมในบทบาทประกอบ (อยู่ในการกำกับของพ่อแม่) และผู้แสดงนำ (วาดภาพต่างๆ) ซึ่งน่ารักมากมาก ไม่น่าจะต้องมาถูกเปิดรับกับการสบถ การดูหมิ่นว่าเป็นสัตว์ การเสนอความคิดหรือการกระทำที่รุนแรงและละเมิดในชีวิต เช่น การปลุกเร้ากล่าวโทษในเรื่องตัดหัว 7 ชั่วโคตร ซึ่งอาจหมายถึงว่า เขาได้กระทำความผิดที่รุนแรง แต่ก็หมายถึงการใช้โทษประหารชีวิตไปในตัวด้วย ดังนั้นก็ไม่ควรหยิบยกมาเสมือนเป็นวิธีการที่ถูกต้อง

 

3.ที่ดิฉันไม่เห็นด้วยอย่างมากและขอเน้นเพิ่มเติมก็คือ การดูถูกกดขี่เพศหญิง ซึ่งมีแทรกอยู่บ่อยมาก เช่น มีรูปการ์ตูนล้อเลียนทักษิณใส่ชุดเสื้อผ้าผู้หญิง มีการพูดบนเวทีไล่ให้ไปใส่ผ้าถุง หรือการสาปแช่งว่า ลูกสาวเขาจะต้องไปเป็นโสเภณี ฯลฯ ประการหลังนี้ เข้าข่ายข้อ 2 ว่าเป็นการละเมิดและกระทำความรุนแรงต่อเพศหญิงด้วยอีกประการหนึ่ง

หากพันธมิตรฯรับฟังและสามารถป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือ control damage มิให้การชุมนุมเป็นเวทีผลิตซ้ำวัฒนธรรมที่ไม่พึงปรารถนาก็จะเป็นคุณูปการเพิ่มขึ้นอีกมหันต์

 

4. ดิฉันเห็นด้วยว่า การวิจารณ์และช่วยกันคิดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และสถานการณ์ที่สับสนทางความคิดด้านการเมืองผู้ที่เป็นจักรกลของขบวนการเคลื่อนไหวต้อง tolerate สูงและมั่นคงในวิธีคิด และร่วมเสริมสร้างพลังอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นเรื่อง หยาบคายในเนื้อหาหรือจะหยาบคายในถ้อยคำนั้น เราคงไม่ประสงค์ทั้งสองกรณีกระมังคะ

 

ความขัดแย้งในความคิดของพันธมิตรฯและแนวร่วมอื่นๆ เห็นได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ ดิฉันคิดว่า จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตทักษิณไปอีกหลายยก

 

เพียงการส่งสัญญาณว่า จะไม่ยึดทรัพย์หรือดำเนินคดีใดๆ แล้วให้ไปอยู่ต่างประเทศเสีย ดิฉันก็ไม่เห็นด้วยอย่างสุดๆ แล้ว เพราะเราต้องเดินหน้าหาความยุติธรรมให้กับประชาชน (รวมทั้งตัวเราเองด้วย) ที่ถูกละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูก! หลอกลวง คดโกง และปอกลอกไป หรือเรื่องมาตรา 7 นั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็คงต้องนำเสนอให้ใช้วิธีม้ากรุงทรอยต่อไป โดยบีบคั้นกดดันให้ทรทลาโรงเพิ่มขึ้น ความระส่ำระสายขณะนี้มองเห็นแล้ว จากการขยายตัวของกลุ่มต่างๆ ออกมาประท้วงเพิ่มขึ้นมากกลุ่มขึ้น หากพระสงฆ์องค์เจ้า ฯลฯ ออกมาเป็นคณะแสดงตนเป็นกลุ่มก้อนคงจะมี impact ดีมากๆ

 

ดูสภาพทักษินที่สยามพารากอนแล้วทำให้หัวเราะได้นะคะ

 

อยากรับประทานอร่อยต้องใจเย็นๆ คือคำขานรับจากคนที่ปกติใจร้อน

 

0 0 0

 

คนที่ 6 : ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

(หนึ่ง) ขอส่งใจข้ามมหาสมุทรมาขอบอกว่า เห็นด้วยกับ (คนที่ 5) และ (คนที่ 1) อย่างยิ่งที่วิตกเรื่องของ "ความรุนแรง"

ขอบอกว่าชอบคำว่า "อยากรับประทานอร่อยต้องใจเย็นๆ" (แม้จะดูสุภาพและเป็นผู้ดี กทม. ไปหน่อยก็ตาม)

 

(สอง) ผมคงไม่มีอะไรจะพูดไปมากไปกว่าที่ได้เขียน ได้พูด ได้เซ็นชื่อไปแล้วว่า นายกฯ สมควร "ต้อง" ลาออกอย่างยิ่ง

แต่ต้องขอบอกอีกครั้งว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.7 (และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอของอธิการบดีธรรมศาสตร์ ที่สวนทางกับ "จิตวิญญาณ" ของการสถาปนาสถาบันแห่งนี้) ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการนอกกรอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยสากล (แม้จะสังหรณ์ว่า เราอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม)

 

(สาม) ผมคงขอพูดอีกว่า ได้แจ้งระงับการใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ AIS ไปแล้ว ตามคำเชิญชวนของ "เครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย" (ควป.) ของ 9 มหาวิทยาลัยที่หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้สัมภาษณ์ และเรียกร้องให้เลิกใช้โทรศัพท์เครือข่าย AIS พร้อมคำขวัญว่า "เอา AIS คืนไป เอาประเทศไทยคืนมา"

 

(สี่) ผมคงต้องขอพูดอีกว่า ในวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่ผมบรรยายมาหลายสิบปี เรามักจะพบกับ "แนวพระดำริ" ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ บิดาประวัติศาสตร์ไทยที่ว่า สังคมไทยมี "วิหิงสา และประสานประโยชน์ " (ท่านใช้คำอังกฤษว่า tolerance และ assimilation)

 

แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เกิดขึ้นจริง ก็สอนให้เรารู้ว่า หลังปฏิวัติ 2475 ก็ตามมาและโต้กลับด้วย "รัฐประหารในรัฐสภา 2476" ของพระยามโนฯ ตามมาด้วยรัฐประหารของพระยาพหล/หลวงพิบูล 20 มิถุนา 2476 ตามมาด้วย "สงครามกลางเมือง" หรือ "กบฏบวรเดช" ตุลา 2476 และก็ตามมาด้วยการสละราชสมบัติของ รัชกาลที่ 7 ปี 2477/78

 

ทั้งหลายทั่งปวงนั้น หาได้มี "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ไม่  มีแต่ความรุนแรง การใช้กำลังอาวุธของทหารและตำรวจ

 

ทั้งหลายทั้งปวงเป็น "ความรุนแรงโดยรัฐ" มีผู้คนถูกทำลายชีวิตมากต่อมาก

 

ประวัติศาสตร์สอนเราอีกว่า เมื่อ 60 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2489 หลังกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ก็ตามมาด้วยรัฐประหาร 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ตามมาด้วย "กบฏวังหลวง 2492" ของปรีดี พนมยงค์  ตามมาด้วย "กบฏแมนฮัตตัน 2494" ของกลุ่มทหารเรือ

 

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น หาได้เป็น "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ไม่อีกเช่นกัน  มีแต่ความรุนแรงโดยรัฐ การใช้กำลังอาวุธของทหารและตำรวจ  มีผู้คนถูกทำลายชีวิตมากต่อมาก เช่นกัน

 

ใกล้ตัวเรา ก็คือ ความรุนแรงโดยรัฐ ที่ขาด "วิหิงสา และประสานประโยชน์"  อีกเช่นกัน ดังเช่นในกรณีของ 14 ตุลา 2516

และที่เลวร้ายอย่างมากมายมหาศาลคือ "6 ตุลา 2519" ที่ครบรอบ 30 ปีในปีนี้  และไม่ช้าไม่นานที่ยังอยู่ในความทรงจำของเรา ก็คือ "ความรุนแรงโดยรัฐ"  ในกรณีของ "พฤษภาเลือด 2535" (ไม่ใช่พฤษภาทมิฬนะครับ)

 

(ห้า) บัดนี้ ณ เวลานี้ เราก็มาถึงทาง 2 แพร่งอีกครั้งหนึ่ง (ไม่รู้กี่ครั้งแล้ว) ปีนี้ 2549 ปีจอ สังคมไทยของเราจะ "ฝ่าข้ามไป"

โดย "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ได้หรือไม่

 

ดูจากประวัติศาสตร์ของ "ความรุนแรงโดยรัฐ" เราอาจหนีความตาย ความเจ็บปวด เลือด น้ำตาและความสูญเสีย นี้ไม่ได้

ผมหวังและภาวนา ไม่ให้เราจบลงแบบนี้

 

(หก) แต่ดูจากประวัติศาสตร์ ดูจากอดีต เราก็เคยมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นตัวอย่าง เป็นบรรทัดฐานของ "วิหิงสาและประสานประโยชน์" ของยุคสมัยปัจจุบัน ดังเช่น การลาออกอย่างสง่างามของนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์  การไม่รับอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไปของนายกรัฐมนตรี เปรม ติณสูลานนท์  การยุบสภาฯ แบบตรงไปตรงมาของนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย  การลาออกของนายกรัฐมนตรี ชวลิต ยงใจยุทธ

 

ผมหวังและภาวนาให้เราจบลงแบบนี้

 

(เจ็ด) ปีนี้ ครบรอบ 30 ปี 6 ตุลา ปีนี้เป็นปีที่เราต้องทบทวนเรื่องของ "รัฐกับความรุนแรง"  "เมืองไทยหลังทักษิณ" มีอะไรให้เราต้องคิด ต้องทำ ต้องศึกษาอีกมากมาย ครับ

 

ด้วยความระลึกถึงและปรารถนาดี

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ณ ที่เลยเขตเส้นวันสากล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท