เครือข่ายผู้ติดเชื้อตีกัน ทรท. อย่าจับหลักประกันสุขภาพเป็นตัวประกัน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวกลางเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงค่ำของวันที่ 22 มี.ค.ว่า องค์กรอิสระหรือการตรวจสอบมีความสำคัญ แต่กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ระบอบทักษิณเกิดขึ้นมาได้ ดังนั้นไม่ว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 เม.ย.หรือไม่ แต่การเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 19 เม.ย.คือการตรวจสอบ ประชาชนต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าไม่มี ส.ว.หัวก้าวหน้าก็จะยิ่งแย่


 

นอกจากนี้ นายนิมิตร์ ยังกล่าวด้วยว่า ไม่มีพลังใดยิ่งใหญ่กว่าความร่วมมือของประชาชน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของการเมืองภาคประชาชน ดังนั้นต่อไปแม้ว่าระบอบทักษิณจะออกไปแล้วจะต้องสร้างการเมืองภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ประชาชนต้องไม่ทะเลาะกันเอง และหากภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกระบวนการตรวจสอบทางนโยบายก็จะทำได้ง่ายขึ้น

 

นายนิมิตร์ได้ยกตัวอย่างกรณี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ซึ่งภาคประชาชนเคยร่วมกันคิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 แต่โดนพรรคไทยรักไทยนำไปอ้างในการเลือกตั้งโดยตลอด ถ้าไปติดตามเส้นทางของระบบหลักประกันสุขภาพจะพบว่า เรื่องนี้ริเริ่มโดยเครือข่ายภาคประชาชน 11 เครือข่าย หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี2540 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตรา 52 บัญญัติไว้ว่า เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมจากรัฐ ด้วยมาตรานี้ความริเริ่มของภาคประชาชนที่ก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขได้รวมตัวกันแล้วชวนกันคิดว่า คนไทยทุกคนจะต้องได้รับหลักประกันสุขภาพ ได้รับการดูแลรักษาจากรัฐบาล

         

โดยในระหว่างที่ริเริ่มในปี 2543 เกิดการระดมล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อขึ้นครั้งแรก เพื่อที่จะเสนอเรื่องนี้ให้เป็นกฎหมาย พบว่ามีความยุ่งยาก และมีข้อจำกัดเยอะ ถึงมีความพยายามที่จะประสานกับทุกพรรคการเมืองให้ช่วยสนับสนุนกฎหมายของภาคประชาชน จังหวะนี้เองที่พรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล จึงได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นไปเป็นนโยบายแห่งชาติในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 หลังจากนั้นไม่เคยได้ยินเลยว่าพรรคไทยรักไทยให้เครดิตกับคนที่ริเริ่มผลักดันและร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และมีการร่างเลียนแบบฉบับของภาคประชาชน เสนอเข้าไปในสภาโดยที่ไม่การกล่าวอ้างถึงภาคประชาชนเลย เพราะว่าตอนนั้นภาคประชาชนยังล่ารายชื่อไม่ครบ

 

นายนิมิตร์ ยังกล่าวอีกว่า เป็นเพราะประชาชนไม่รู้ข้อมูลตรงนี้มากพอ จึงถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเชียร์กับฝั่งหนึ่งไล่ การลุกขึ้นมาปกป้องทักษิณเพราะส่วนหนึ่งคนจนกลัวจะไม่ได้รับประโยชน์ที่เคยได้ ทั้งๆ ที่ระบบประกันสุขภาพ เป็นนโยบายที่มาจากภาคประชาชนเองแต่ถูกขโมยไปโดยพรรคไทยรักไทย

 

ดังนั้นข้อเท็จจริงเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพว่า 30 บาทรักษาทุกโรคจะอยู่หรือจะไปต่อจึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับที่พ.ต.ท.ทักษิณจะนั่งอยู่ในตำแหน่งหรือไม่เพราะหลักประกันสุขภาพถูกตราเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว

 

วันเดียวกันที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว  "ทักษิณ...หยุดเอา 30 บาทเป็นตัวประกัน"

 

นายเกื้อ แก้วเกตุ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า  ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองมีการขมขู่ หากไม่เลือกพรรคการเมืองดังกล่าว 30 บาท รักษาทุกโรคจะถูกยกเลิกไปด้วย ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล และจำใจต้องเลือกพรรคนั้นถึงแม้จะไม่ชอบก็ตาม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญใครเป็นรัฐบาลต้องดำเนินการตามนี้เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นจะเอา 30 บาท มาเป็นตัวประกันไม่ได้

         

ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า กองทุนหมู่บ้าน นโยบาย30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาจะหายไปไม่ได้เนื่องจากมีกฎหมายรองรับชัดเจน แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ฉกฉวยนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาหาเสียงโดยเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคไทยรักไทยใช้ซื้อใจประชาชน แต่เมื่อผ่านไป 3 เดือน รัฐบาลไทยรักไทยก็ทิ้งขว้าง ทำให้เกิดความสับสนในการบริหารจัดการ ประชาชนต้องออกมาเรียกร้องคุณภาพมาตรฐานการรักษามาโดยตลอด พอจะหาเสียงเลือกตั้งใหม่ก็เอามา ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท