Skip to main content
sharethis



 



วันพุธที่ 22 มีนาคม 2006 17:29น.



ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


เวลาร่วม 1 ปี ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ความรู้จำนวนมากถูกผลิตขึ้น เพื่อหาสาเหตุ ของปัญหาให้พบ ก่อนจะสรุปถึงแนวทางแก้ปัญหา


 


ผลการศึกษาของกอส.พบว่า สาเหตุแห่งปัญหามิได้เกิดจากขบวนการก่อความไม่สงบที่ต้องการสถาปนารัฐปัตตานีขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เท่านั้น แม้จะยอมรับในความมีอยู่จริงของขบวนการก่อความไม่สงบ แต่กอส.ก็ไม่เชื่อว่า ขบวนการที่มีจำนวนคนอยู่เพียงไม่มากนี้ จะก่อการได้ถึงขนาดนี้ หากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่รู้สึกเชื่อมั่นและวางใจต่ออำนาจรัฐ


 


ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างจากเช่นปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจ การศึกษา ปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ ความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม และ เงื่อนไขทางวัฒนธรรมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง จึงเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการพิเคราะห์ปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้


 


ในช่วงเวลา 11 ปี ตั้งแต่ 2536-2546 เกิดเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส (รวมทั้งสงขลาและสตูลในบางครั้ง) ขึ้น 748 ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ 68 ครั้ง


 


แต่ในปี พ.ศ. 2547 และ 2548 จำนวนเหตุการณ์รุนแรงสูงขึ้นอย่างน่าตระหนก กล่าวคือในปี พ.ศ. 2547 เกิดความรุนแรง 1,843 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2548 เกิดเหตุ 1,703 ครั้ง รวมทั้งสองปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์รุนแรง 3,546 ครั้ง โดยเฉลี่ยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรอบสองปีที่ผ่านมาปีละ 1,773 ครั้งหรือเดือนละ 147.75 ครั้ง


 


กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2547-2548 นี้นับเป็นอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 374 เมื่อเทียบกับปริมาณเหตุความไม่สงบในรอบ 11 ปีก่อนหน้านั้น


 


กอส.เห็นว่า ใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายหรือสังหารผู้บริสุทธิ์ ทำลายทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ คนเหล่านั้นก่ออาชญากรรมและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นๆ


 


แต่ในแง่หนึ่งความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อกลวิธีและมาตรการรุนแรงเกินขอบเขตของรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการประเมินสถานการณ์และวางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด เช่นการยุบ ศอบต. และ พตท. 43


 


ขณะเดียวกันมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ว่า ตนเองถูกมองเป็นคนนอก คนชายขอบ หรือ ประชาชนชั้นสองในรัฐที่มุ่งจะทำลายภาษาและจารีตประเพณีของพวกเขา


 


คนหนุ่มคนสาวรู้สึกถูกกีดกันในการดำรงชีพ ไม่มีส่วนร่วมในระบบการปกครอง ข้าราชการในพื้นที่จำนวนหนึ่งฉ้อราษฎร์บังหลวง ไร้ประสิทธิ ภาพ ปราศจากความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้คนส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม จึงไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐเอาชนะความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถ้าไม่เพราะเห็นใจผู้ก่อการ ก็เพราะกลัวภัยความรุนแรงจะคุกคามตนและครอบครัว


 


เหตุแห่งความรุนแรง


คณะอนุกรรมการทั้ง 5 ชุดของกอส.จึงวินิจฉัยเหตุของ"โรค"ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเกิดขึ้นจาก


 


• ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความยุติธรรมและเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ขณะเดียวกันทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนและประชาชนบางกลุ่มที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันเพราะเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมพึ่งไม่ได้


 


• นโยบายของรัฐสับสนระหว่างแนวทางสันติวิธีกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ โดยใช้ความรุนแรงเป็นหลัก ขาดเอกภาพในการทำงานและมีช่องว่างในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ยิ่งกว่านั้นประชาชนในสามจังหวัดก็ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองพอสำหรับการใช้สันติวิธีในการต่อสู้ความไม่เป็นธรรม และในการเรียกร้องสิ่งที่ตนปรารถนา


 


• เด็กและเยาวชนในพื้นที่ไม่ได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้เข้าสู่ตลาดงานได้ และขาดดุลยภาพระหว่างการศึกษาสายสามัญกับสายศาสนา


 


• ชาวบ้านในท้องถิ่นเผชิญกับปมขัดแย้งภายใน คือ ด้านหนึ่งชีวิตตามธรรมชาติของพวกเขากำลังถูกคุมคามโดยพลังทุนนิยม/วัตถุนิยมขนาดใหญ่ จนรู้สึกไม่อาจต่อต้านต่อรองได้ อีกด้านหนึ่งมีความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่าที่ประสงค์จะดำเนินชีวิตเรียบง่ายของตนตามหลักศาสนาโดยไม่ปรารถนาจะต่อกรกับพลังจากภายนอก กับคนรุ่นใหม่ที่ถ้าไม่เปลี่ยนชีวิตวิญญาณให้คล้อยตามพลังที่คุกคามตน ก็ต่อต้านขัดขวางด้วยวิธีการต่างๆ


 


• ปมปัญหาเหล่านี้ดำรงอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูเหมือน ความแตกต่างระหว่างชาวมุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กับชาวไทยพุทธที่เป็นคนกลุ่มน้อยในเรื่องต่างๆจะชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทัศนะของการมีทหารในพื้นที่ การประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ การควบคุมสถาบันการศึกษาปอเนาะ อาจเพราะอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มโดดเด่นขึ้น ยอมรับสถาบันวัฒนธรรมประเพณีร่วมกันน้อยลง


 


• ปรากฏการณ์ความรุนแรงในภาคใต้และปัญหาทั้งหมดดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทย คือบ้างก็ไม่เห็นความสำคัญของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมเอาเลย ในขณะที่บางฝ่ายก็เห็นเป็นปัญหาคุกคามรัฐหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งที่ควรจะถือว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพลังสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมการเมืองไทย


 


ปัญหาชั้นบุคคล : ขบวนการต้านรัฐไทย


กอส.ตระหนักดีว่า การที่เกิดเหตุรุนแรงทั้งหลายขึ้น เพราะมีคนที่เลือกใช้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้ โดยเฉพาะเพื่อแบ่งแยกดินแดนที่เกิดขึ้นมาแล้วเกือบหนึ่งศตวรรษ คนเหล่านี้ไม่พอใจรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯซึ่งทำให้ผู้ปกครองท้องถิ่นสูญเสียอำนาจในรัฐชาติไทยใหม่ที่กำลังถือกำเนิดขึ้นในเวลานั้น จนที่สุดเกิดขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีหรือ BRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ขึ้นตั้งแต่ 13 มีนาคม 2503 ก่อนองค์กรพูโล (Patani United Liberation Organ ization) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2511 ถึง 8 ปี และก่อนแนวร่วมเพื่อเอกราชปัตตานีที่รู้จักกันในนาม BERSATU (Barisan Bersatu Kemerdekaan) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2532 ถึงเกือบสามทศวรรษ


 


กระทั่งในระยะหลังเกิดกลุ่มที่ใช้ภาษาทางศาสนากำหนดอัตลักษณ์ของตนในการต่อสู้อย่างขบวนการมูจาฮีดีน ปัตตานี (Gerakan Mujahidin Patani - GMP)ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 16 กันยายน 2538 ซึ่งถือว่าตนเป็น"นักสู้เพื่อศาสนาอิสลาม"(มูจาฮีดีน) มุ่งมั่นสถาปนา"รัฐปัตตานีดารุลมาอารีฟ"


 


ปัจจุบันเชื่อกันว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เข้มแข็งที่สุดคือ BRN-Coordinate ซึ่งมีทั้งปีกยุวชน (Permuda)ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2535 และ ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าขณะนี้เป็นกลุ่มที่มีส่วนปฏิบัติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ โดยแบ่งกองกำลังออกเป็น 3 ส่วนคือ


 


กองกำลังระดับคอมมานโด ทำหน้าที่ควบคุมทางยุทธวิธี มีจำนวนประมาณ 200 คน


 


กำลังระดับหน่วยจรยุทธขนาดเล็กประจำถิ่นหรือ RKK ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหลักในการก่อเหตุรุนแรงทั่วไป มีจำนวนระหว่าง 600 - 800 คน


 


กำลังระดับก่อเหตุก่อกวน(เรียกว่า เปอร์มูดอ) มีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10,000 คน ทำการเคลื่อนไหวในพื้นที่ 230 หมู่บ้าน ทำหน้าที่หาข่าวและก่อกวนรายวัน แต่ที่ยากในการจับกุมเพราะโครงสร้างองค์กรไม่ชัดเจน มีการทำงานในลักษณะเป็นหน่วยย่อยอิสระ (cells) ที่บางหน่วยทำงานของตนอยู่นอกโครงสร้างของ BRN ด้วยซ้ำ


 


คณะกรรมการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้ปรับการทำงานของตนเป็นรูปเครือข่ายมีโครงสร้างเป็น 5 ชั้น ประกอบด้วย


 


• กลุ่มผู้ชี้นำทางความคิด


 


• กลุ่มการเมืองกำหนดนโยบายและวางแผนร้าย


 


• กลุ่มเศรษฐกิจทำหน้าที่ระดมเงินทุนจากแหล่งต่างๆทั้งเพื่อตนเองและเพื่อใช้ในการก่อความไม่สงบ


 


• กลุ่มกองกำลังที่ได้รับการฝึกหัดมาให้ทำงานตามคำสั่งของกลุ่มการเมือง


 


• กลุ่มแนวร่วมหรือกลุ่มเสี่ยงที่จะเปลี่ยนเป็นกองกำลังใช้ความรุนแรงในเวลาต่อไป


 


แต่เมื่อตั้งคำถามว่าเหตุรุนแรงทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยน้ำมือใคร ทั้งหมดเป็นเพราะฝีมือของกลุ่มขบวนการเหล่านี้หรือ? หน่วยราชการมีคำตอบที่แตกต่างกัน เช่น มีหน่วยงานความมั่นคงแห่งหนึ่งสรุปว่า เกิดเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 528 กรณีในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2548 ในจำนวนนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง 261 คดี หรือ ร้อยละ 49.4


 


ขณะที่ข้อมูลของฝ่ายตำรวจระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 เกิดคดีอุกฉกรรจ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 701 คดี แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ก่อคดีเหล่านี้ถึง 566 คดี หรือ ร้อยละ 80.74


 


การสรุปว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคดีเหล่านี้เป็นเรื่องความมั่นคงทั้งที่มีถึงร้อยละ 80 ซึ่งยังระบุไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ก่ออาจเป็นข้อสรุปที่ยังไม่สมบูรณ์มากนัก


 


ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่น้อยเห็นว่า สาเหตุของเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจากการฉวยโอกาสแก้แค้นเรื่องส่วนตัว และ กลุ่มฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อแก้แค้นเจ้าหน้าที่มากกว่าจะเป็นเรื่องการเมืองของการแบ่งแยกดินแดนที่ฝ่ายรัฐเชื่อ


 


ปัญหาเชิงโครงสร้าง รากเหง้าความขัดแย้ง


มีเหตุผลอีกสองข้อที่สำคัญกว่า ซึ่งทำให้ กอส. เลือกสนใจตัวขบวนการแยกดินแดนด้วยวิธีใช้ความรุนแรงเหล่านี้น้อยกว่าเงื่อนไขเชิงโครงสร้างอื่นๆ


 


• ข้อแรกผู้บริหารในรัฐบาลและฝ่ายข่าวหลายท่านให้ข้อมูลตรงกันว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่จริง ปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในฐานโครงสร้างเดิมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่ม BRN Co-ordinate โดยยังมีเงื่อนไขที่ทำให้แนวคิดและอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนอันเป็นเป้าหมายสูงสุดยังคงดำรงอยู่ในหมู่คนรุ่นใหม่ไม่ได้แตกต่างจากอดีต อีกทั้งการปลุกเร้าความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ก็ดูจะได้ผลมากขึ้น


 


แต่ทุกฝ่ายก็สรุปตรงกันว่า ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะหรือพ่ายแพ้ของกลุ่มผู้ก่อการ คือ ประชาชน และ ปัญหาความไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิในรูปต่างๆ มีผลยกระดับสถานการณ์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อหาเหตุผลให้ประชา คมระหว่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกมุสลิมเข้ามาแทรกแซง


 


แต่แกนนำและสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นคนที่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่คนจำนวนน้อยมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้หากประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกเชื่อมั่นไว้วางใจรัฐและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ


 


ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า แม้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ก่อความรุนแรง แต่สาเหตุที่สำคัญกว่านั้นและควรเป็นเป้าหมายหลักของ การแก้ไขปัญหา คือ การสร้างความเป็นธรรมและการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อลดอิทธิพลของขบวนการและการเผยแพร่อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน รวมทั้งส่งเสริม ให้ประชาชนมีทางเลือกหรือกระบวนการในการจัดการกับปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง


 


• ข้อสอง ปัญหาที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ ความแตกแยกระหว่างชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่กับผู้คนส่วนน้อยชาวพุทธอีกสามแสนคน ถ้าไม่สามารถฟื้นฟูสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างผู้คนเหล่านี้รวมทั้งลูกหลานของเขาและระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในสังคมไทยให้ได้ อนาคตของสังคมไทยนั้นเองที่จะเป็นปัญหาหนักหนากว่ามาก


 


เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นกว่าสองพันครั้งนับจากต้นปี 2547 เป็นต้นมา มีคำอธิบายได้หลายแนวทางเช่น


 


1.รายงานของคณะทำงานพิเศษของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีพลเอกชัยศึก เกตุทัต เป็นประธาน เน้นการเจาะข้อมูลบุคคลฝ่ายต่างๆในพื้นที่ บนฐานความเชื่อว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการต่างๆ เช่นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ยุทธศาสตร์ชาติจักรวรรดิที่เห็นประโยชน์จากสถาน การณ์ และขบวนการค้าสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ(เช่นอาวุธเถื่อน ยาเสพติด)


 


2.คณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาสรุปว่า สถานการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากสาเหตุต่างๆหลายประการเช่นปัญหาความยากจน และ ความไม่เป็นธรรม ไม่ใช่เพราะกลุ่มคนร้ายหรือขบวนการเท่านั้น แต่ที่รุนแรงและแก้ไขยากเพราะเงื่อนไขทาง "สังคมจิตวิทยา อันเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ที่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ หรือ ความเข้าใจผิด หวาดระแวง และรู้สึกต่ออำนาจรัฐในทางลบที่สะสมมาเป็นเวลานาน ทำให้สังคมประชาชนในพื้นที่เปราะบางจนทำให้บางฝ่ายเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้


 


3.ผลการศึกษาของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเมื่อเร็วๆนี้ได้ แยกปัญหาออกเป็น 4 ด้าน คือ โดยถือว่า ด้านสังคมจิตวิทยาซึ่งหมายถึงปัจจัยทางประวัติศาสตร์ และลักษณะเฉพาะทางศาสนาวัฒนธรรมของประชาชนในท้องถิ่น เป็นทั้ง "หัวใจสำคัญของความขัดแย้งและความรุนแรงครั้งนี้" และเป็นปัญหาที่มีมานาน "ท้าทายการปกครองของประเทศชาติอย่างมาก"


 


ด้านการเมืองเห็นว่า ปัญหาเกิดจากนโยบายของรัฐไม่ตรงกับความต้องการในท้องถิ่น กลไกของรัฐขาดประสิทธิภาพ เข้าใจปัญหาการก่อการร้ายผิดพลาด และไม่กล้าดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ในด้านเศรษฐกิจเห็นว่า สถานการณ์รุนแรงกระทบต่อรายได้ของประชาชนและทำให้การอุปโภคบริโภคลดลงบ้าง และสุดท้ายคือด้านการป้องกันประเทศซึ่งเห็นว่า แก่นของปัญหาอยู่ที่แนวคิดแบ่งแยกดินแดนอันเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครองและปัจจัยทางสังคมจิตวิทยาอีกทีหนึ่ง


 


กอส. เห็นว่าเหตุของปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้มีสาเหตุเดียว และผู้ก่อเหตุรุนแรงก็มีหลายพวกหลายกลุ่ม คนเหล่านี้ทำการของตนด้วยเหตุจูงใจที่แตกต่างจากกัน แต่เมื่อตั้งคำถามว่าเหตุใดคนเหล่านี้จึงดูเหมือนจะทำการของตนอย่างได้ผล ดังจะเห็นได้จากการที่ความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และ ผู้คนในพื้นที่จำนวนมากตกอยู่ในความหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจทั้งในเจ้าหน้าที่ของรัฐและหวาดระแวงกันเองระหว่างชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูและชาวไทยพุทธเชื้อสายต่างๆ คำตอบอยู่ที่การเข้าใจเหตุปัจจัยหลายอย่างทั้งในระดับบุคคล เช่นการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ของฝ่ายผู้ก่อการ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงของภาครัฐ


 


แต่ที่สำคัญคือเหตุระดับโครงสร้างเช่นปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจ การศึกษา ปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ ความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม และ เงื่อนไขทางวัฒนธรรมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net