Skip to main content
sharethis


คงไม่ช้าไปถ้าพวกเราจะครุ่นคิดอย่างหนักและลงมือเคลื่อนไหวปฏิเสธ  "นายกพระราชทาน" ทุกกรณี

 


ผมคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ ปัญญาชนและนักกิจกรรมทางสังคมควรตั้งคำถามใหม่ได้แล้ว


 


คำถามที่ควรถาม   ไม่ใช่คำถามว่า "เรา" ควรทำอะไรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ "ขบวน" ทั้งหมด


 


แต่เราควรเริ่มกำหนดท่าทีจากคำถามใหม่ว่า "เรา" ควรทำอะไรในฐานะปัญญาชนและนักกิจกรรมทางสังคม


 


พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยเป็นการรวมตัวที่ฉุกละหุก เกิดขึ้นในเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง   เกี่ยวพันโดยตรงกับการช่วงชิงความน่าเชื่อถือทางการเมืองในสถานการณ์เฉพาะหน้า   ปราศจากแผนการต่อสู้ทางการเมืองในระยะยาวมาตั้งแต่ต้น  รวมทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลผลิตจากการตกลงร่วมกันของนักเคลื่อนไหวการเมืองไม่กี่ราย


 


ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของพันธมิตรฯ เพราะมีเหตุผลทางการเมืองเยอะไปหมดที่ทำให้พันธมิตรฯ เกิดมาพร้อมกับบุคลิกลักษณะแบบนี้  แต่บุคลิกข้อนี้ก็ทำให้พันธมิตรฯ มีข้อจำกัดที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกัน


 


พูดแบบไม่เกรงใจก็คือไม่มีเหตุให้ปัญญาชนและนักกิจกรรมทั้งหมดต้องนิยามตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรฯ  นั่นหมายความว่าปัญญาชนและนักกิจกรรมไม่จำเป็นต้องขึ้นตรงต่อแนวการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ควรรักษาความเป็นอิสระของตัวเองเอาไว้  ร่วมในเรื่องที่ร่วมได้  พร้อมทั้งริเริ่มและผลักดันในเรื่องที่เป็นประเด็นเชิงหลักการของตัวเองไปพร้อมๆ กัน


 


การต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่การรบทัพจับศึก  การมีศูนย์กลางนำจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญสูงสุดของการต่อสู้ทางการเมือง  โดยเฉพาะศูนย์กลางนำที่อาจถูกครอบงำด้วยผู้นำไม่กี่คน


 


พันธมิตร ฯ เกิดด้วยเหตุผลทางการเมือง  แต่ปัญญาชนและนักกิจกรรมทางสังคมไม่ควรคิดและกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลทางการเมืองแบบเดียวกัน


 


ในฐานะปัญญาชนและนักกิจกรรมทางสังคม  สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราควรแยกแยะได้ว่า "การต่อต้าน" (resistance) , "การปฏิรูป" (reformation) , และ "ประชาธิปไตย"  (democracy) เป็นคนละเรื่องกัน


 


พูดอีกอย่างคือ  เราควรตระหนักว่าการต่อต้านรัฐบาลทั้งหมด "ไม่แน่เสมอไป" ว่าจะต้องนำไปสู่การปฏิรูปและประชาธิปไตย   


 


การต่อต้านรัฐบาลที่ชอบธรรม คือ การต่อต้านที่มีคำประกาศอย่างชัดแจ้งว่าจะปฏิรูปการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยของประชาชน   ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาลที่การปฏิรูปเป็นเพียงอาภรณ์เพื่อห่อหุ้มเป้าหมายที่ขัดแย้งกับพัฒนาการของประชาธิปไตย  รวมทั้งไม่ใช่การต่อต้านที่สอดแทรกไปด้วยวิธีการปั่นความเห็นของผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม


 


ในความหมายนี้  ไม่จำเป็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การกำกับและชี้นำของพันธมิตรฯ   ในทางตรงกันข้าม  แต่ละกลุ่มควรมีกิจกรรมที่แสดงจุดยืนของตัวเองให้มากขึ้น เพราะนี่เป็นหลักการสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมือง 


 


ในแง่ยุทธวิธี  แนวทางนี้คือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงที่นักฉวยโอกาสทางการเมืองบางคนในพันธมิตร  จะ hijack การต่อสู้ของประชาชน   ไปเพื่อวาระซ่อนเร้นทางการเมืองของตัวเอง


 


อย่าลืมว่าการชิงประเด็นไปสู่มาตรา 7 จะเกิดได้ง่ายที่สุด  ในสถานการณ์ที่พันธมิตรเป็นฝ่ายครอบงำการเคลื่อนไหวทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  เพราะสถานการณ์แบบนั้นคือเงื่อนไขพื้นฐานที่จะเอื้อให้ "นักฉวยโอกาสทางการเมืองบางคน" เล็งผลเลิศจากการชิงการนำในพันธมิตร  และใช้ผลจากการนี้เพื่อผลักดันความเคลื่อนไหวทั้งหมด  ไปสู่ทิศทางที่ตัวเองต้องการ


 


ไม่ควรกลัวว่าการประกาศอย่างเปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรา 7 หรือประเด็นพระราชทาน  จะเป็นอุปสรรคต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรีคนนี้  เพราะในสถานการณ์เช่นนี้  ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่านายกฯ คนนี้อยู่ในสภาพที่ทำการปกครองไม่ได้  แทบไม่ต่างจากศพหรือบุคคลที่ตายแล้วทางการเมือง


 


ในระดับภาพรวมนั้น ปัญหาเรื่องทักษิณเป็นปัญหาที่พ้นไปแล้ว  เขาถูกทำลายทั้ง legitimacy และ govern mentality  เหลือแต่ legality ที่อ่อนแอในทางการเมือง    


 


พูดให้แรงขึ้นไปอีก ต่อให้ไม่มีฐานสนับสนุนของปัญญาชนและนักกิจกรรมทางสังคม  นายกรัฐมนตรีคนนี้ก็ไม่มีโอกาสจะมีอำนาจทางการเมืองเข้มแข็งขึ้นมาได้   เพียงแต่ว่าจะสิ้นสภาพอย่างเต็มที่ไปในเวลาไหนและวิถีทางใดเท่านั้นเอง


 


ในสถานการณ์ขณะนี้ การถอนตัวในทางปฏิบัติ (เช่นการสร้างกิจกรรมที่แสดงจุดยืนของตัวเองอย่างชัดเจน) หรือการถอนตัวอย่างเป็นทางการ (เช่นการประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพันธมิตรปีกที่ต้องการนายกพระราชทาน) จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการต่อต้านนายกรัฐมนตรี  ซ้ำยังเป็นเรื่องที่ควรทำและทำได้   ด้วยเหตุผล 2 ข้อ  ในเชิงยุทธศาสตร์ นั่นคือ


 


ข้อแรก  นี่เป็นประเด็นและจุดยืนในระดับหลักการ 


 


ถ้าไม่กล้าประกาศจุดยืนในทางใดทางหนึ่ง ก็เท่ากับยอมรับสภาพที่พวกเราทั้งหมดล้วนมีส่วนในการทำให้เกิดรัฐบาลพระราชทาน, นายกที่มาจากการแต่งตั้ง, หรืออาจกระทั่งระบอบอำนาจนิยมของทหาร-พลเรือน


 


ข้อสอง  การถอนตัวขณะนี้  สามารถทำไปพร้อมกับการประกาศจุดยืนไม่เอานายกทักษิณต่อไปได้


 


อย่าลืมว่าไม่มีใครห้ามให้คุณหยุดเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณ  พร้อมกับประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับนายกพระราชทาน


 


อย่าลืมว่าในการประเมินชัยชนะของการต่อสู้ทางการเมือง  บรรทัดฐานสำคัญไม่ได้มีแค่การพิจารณาว่าเราได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่  แต่คือการพิจารณาไปพร้อมๆ กันว่า อะไรบ้างที่สูญเสียไป


 


ปัญหาเดียวของการถอนตัวคือเหตุผลทางยุทธวิธี


 


แน่นอน  การถอนตัวในขณะนี้มีความเสี่ยงในแง่ที่รัฐบาลอาจฉวยโอกาสโจมตีการชุมนุมและเดินขบวน  แต่การโจมตีในเวลานี้จะพุ่งเป้าไปที่แกนนำของพันธมิตรไม่กี่คน  โดยเฉพาะนักฉวยโอกาสทางการเมืองทั้งคู่  ไม่ใช่พันธมิตรทั้งหมด และยิ่งไม่ใช่ผู้ร่วมชุมนุมและเดินขบวนโดยส่วนรวม


 


เราจะกลืนหลักการและเหตุผลทางยุทธศาสตร์ เพื่อปกป้องไว้ซึ่งชื่อเสียงและชัยชนะของนักฉวยโอกาสบางคนอย่างนั้นหรือ


 


อีกข้อ  ต้องไม่ลืมว่าการถอนตัวขณะนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการถอนตัวในขณะที่เกิดการเดินขบวนขึ้นจริงๆ แล้ว  เหตุผลคือการถอนตัวในเวลานั้น ไม่เหมาะสม ไม่รับผิดชอบ และอันตรายต่อผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมด  เพราะการถอนตัวได้เกิดขึ้นในเวลาที่อาจมีการเผชิญหน้า, การปราบปราม, และการใช้กำลังของรัฐ   ซึ่งแน่นอนว่ารัฐย่อมใช้การถอนตัวนี้เป็นข้ออ้างสำคัญในการสลายการชุมนุม


 


การถอนตัวแบบนี้ปรากฎในกรณีพฤษภาคม 2535  ซึ่งปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะเลขาธิการ สนนท.,  นักกิจกรรมบางคน , และ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย  ขึ้นไปประกาศบนเวทีที่สนามหลวงว่า สนนท.และ ครป.ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินขบวนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535


 


จากนั้น  คณะทหารนำข่าวนี้ไปออกอากาศทั่วประเทศว่าผู้เดินขบวนไม่ใช่พลังบริสุทธิ์  จึงชอบธรรมที่พวกเขาจะทำการปราบปราม


 


ในกรณี 2549  การถอนตัวหรือแสดงหลักการของตัวเองอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้  และสมควรเกิดในช่วงก่อนที่การเดินขบวนและการชุมนุมจะยกระดับไปสู่จุดที่รุนแรงที่สุด   นั่นก็คือถอนตัวในขณะที่มีแต่ผู้นำของพันธมิตรฯ บางคนที่อาจถูกโจมตีจากรัฐ   ไม่ใช่ถอนตัวในเวลาที่การถอนตัวจะสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ชุมนุมและประชาชนผู้ร่วมเดินขบวน


 


โดยความเคารพอย่างสูง


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

เอกสารประกอบ

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net