Skip to main content
sharethis


ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวภายหลังการปาฐกถาในเวทีเสนา "การเมืองสมานฉันท์ สรรค์สร้างความแข็งแรงท้องถิ่น" ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.)เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ว่า ไม่ได้ประชดที่ก่อนหน้านี้เสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ และ 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น

 


"การบวชจะทำให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ศาสนาพุทธจะมีชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริงๆ ตรงนี้เป็นทางออกที่ไม่มีคนแพ้ ทุกคนชนะหมดโดยอาศัยพุทธศาสนา และทุกฝ่ายจะชื่นชม"


 


ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า แนวความคิดนี้มาจากการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยโบราณ เช่น ปลายสมัยอยุธยาสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ทรงผนวช จากกรณีขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ส่วนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะครองราชย์ ก็ทรงผนวชเลี่ยงปัญหาการเมืองตลอดรัชกาลของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


 


นอกจากนี้การบวชจะนำมาสู่การอโหสิกรรมแก่กัน เพราะก่อนออกบวชต้องมีการขอในตรงนี้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าการถอยด้วยการบวชฝ่ายแกนนำพันธมิตรคงยินดีทำ แต่สำหรับนายกฯนั้นไม่แน่ใจ


 


เมื่อถามถึงสถานการณ์ตอนนี้ที่เริ่มมีการกำหนดเส้นตายให้นายกฯลาออกแล้ว ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า หลายฝ่ายมีความตึงเครียดแต่ก็ยังชูเรื่องการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ตำรวจเองก็ได้รับคำชมมากในตรงนี้ นับว่าเป็นความก้าวหน้าของสังคม ส่วนทางออกจะเป็นอย่างไรนั้นคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะปัญหามาจากระบบที่ซับซ้อน เงื่อนไขของพันธมิตรที่จะยื่นในคืนนี้ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ขอให้เป็นแนวทางสันติวิธี


 


สำหรับการที่เริ่มมีเสียงให้นำมาตรา 7 มาใช้ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า มาตรานี้มีบัญญัติไว้เพื่อใช้ก็จริงแต่ควรดูว่าต้องใช้ในสถานการณ์แบบใด ตอนนี้พูดยากและไม่ได้นำมาใช้ได้ง่ายๆ ในสมัย 14  ตุลา มีเหตุการณ์วุ่นวายมีการนองเลือด เกิดสุญญากาศทางการเมือง ทำให้มีนายกพระราชทาน คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็คลี่คลายได้ในสถานการณ์นั้น แต่จะมีคำถามที่ตอบยากตามมาด้วยว่า ทำไมต้องรอให้นองเลือด อย่างไรก็ตาม ข้อดีของประเด็นนี้ก็คือทำให้เกิดการถกเถียงเพื่อให้สังคมได้เรียนรู้


 


ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 เม.ย. เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาลงมาก็ต้องเลือก เว้นแต่มีเหตุการณ์อะไรเสียก่อน โดยการเลือกสามารถกาไม่เลือกใครก็ได้ และยืนยันว่าการเลือกตั้งไม่สามารถซักฟอกข้อครหาต่างๆที่มีต่อนายกฯได้ เพราะข้อกล่าวหาหลายเรื่องรุนแรงและต้องมีการพิสูจน์ หรือเรียกร้องให้ตรวจสอบจากกลไกอิสระต่อไป แต่ต้องมีองค์กรอิสระจริงๆเพราะบทเรียนที่ผ่านมาทำให้เป็นปัญหาในตอนนี้


 


สำหรับการปาฐกถาในครั้งนี้ ศ.นพ.ประเวศ ได้ฝากถึงกลุ่มผู้ชุมนุมว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะยอมลาออกสังคมจะยังมี "กล่องดำ" ที่คอยทำร้ายอยู่ โดยมักหลอกคนจนผ่านนโยบายที่ซับซ้อน ซึ่งเพียงแค่การชุมนุมนั้นไม่สามารถแกะกล่องดำที่ซับซ้อนจำนวนมากนั้นได้ ดังนั้นต้องมียุทธการ "แกะกล่องดำ" นักวิชาการมีความจำเป็นในการแกะกล่องออกมา


 


"การชุมนุมไม่สามารถคลี่คลายความซับซ้อนจำนวนมากนั้นได้ อย่างในประเทศฟิลิปปินส์ แม้ภาคประชาชนจะสามารถไล่ มาร์กอส ออกไปได้ ผ่านมา 20 ปีก็ยังแก้ปัญหาความยากจนหรือความยุติธรรมไม่ได้ ทั้งที่ภาคประชาชนฟิลิปปินส์เข้มแข้งมากและรวมตัวกันได้มากกว่าบ้านเรา อีกครั้งหนึ่งก็ขับไล่เอสตราด้าออกไปได้ แต่อะไรก็ไม่ดีขึ้น" ราษฎรอาวุโสกล่าว


 


จากนั้นจึงได้ย้ำแนวทางสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่เคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องนำความรู้ ภาคประชาชนและอำนาจรัฐมารวมเข้าด้วยกันเพื่อทำให้ขับเคลื่อนการแก้ไขเรื่องยากๆหรือซับซ้อนให้ได้ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ก็ตาม


 


ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องให้มีสื่อทำงานในเชิงสืบสวนสอบสวนมากขึ้นเพื่อตรวจสอบการคอรัปชั่น เพราะการคอรัปชั่นนั้นกลัวต่อการจำนนต่อหลักฐาน แม้จะมีเสียงเดียวแต่มีหลักฐานเพียงพอในการระบุว่ามีการทุจริตก็สามารถเอาชนะ 19 ล้านเสียงได้ ตรงนี้ควรมีการตั้งกองทุนวิจัยคอรัปชั่นที่สนับสนุนโดยสังคมเพื่อให้เกิดสื่อแบบนี้ เคยพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเลย


 


ศ.นพ.ประเวศ ยังพูดถึงเรื่องการเมืองสมานฉันท์หรือประชาธิปไตยสมานฉันท์ไว้ด้วยว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องมองรากฐานทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญด้วย มิฉะนั้นการเลือกตั้งจะเป็นการตัดรากฐานของสังคม เพราะจะมองกันแต่เพียงว่าต้องเลือกตั้งโดยไม่ต้องสนปัจจัยอื่นๆ


 


"อย่าไปติดกับดักประชาธิปไตยว่ามีการเลือกตั้งเท่านั้น ประชาธิปไตยชุมชนควรมีบทบาทมากกว่าคือสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เต็มพื้นที่ เพราะคนในชุมชนมีบทบาทร่วมกันจริงๆโดยไม่ต้องเลือกตั้ง มีผู้นำตามธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการของชุมชน"


 


อย่างไรก็ตามในเมืองใหญ่ๆสามารถทำการเมืองสมานฉันท์ได้ยาก เพราะมีคนมากมายและต่างคนต่างอยู่ จึงต้องนำระบบเลือกตั้งมาใช้ ดังนั้นเพื่อให้มีการเมืองสมานฉันท์มากที่สุด จะต้องทำให้เกิดความเป็นชุมชนเข้มแข็งให้มากที่สุด เพื่อลดความเป็นธนาธิปไตยที่ใช้เงินซื้อได้ ตรงนี้ควรทำให้เป็นวาระสำคัญของชาติ


 


ประการต่อมาสามารถคุมธนาธิปไตยได้โดยการแก้ไขช่องโหว่ในการสร้างกติกา เช่น แก้รัฐธรรมนูญ และอีกประการที่สำคัญคือต้องสร้างการเมืองของพลเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาเรามักพูดกันแต่การเมืองของนักการเมือง ทั้งๆที่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 มีการบัญญัติถึงการเมืองภาคพลเมืองเยอะมากเช่น มาตราที่ 76 รัฐต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย วางแผนเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ตรวจสอบการทำงานในทุกระดับ


 


เมื่อไปเสพติดการเมืองของนักการเมืองโดยไม่สนใจการเมืองของภาคพลเมืองเหมือนที่ผ่านมา จึงโดนนักการเมืองปู้ยี่ปู้ยำรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต่อไปไม่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะอยู่หรือไปก็ต้องมีการเมืองภาคพลเมืองที่ใช้หลักสันติ อหิงสา วิชาการ มาถ่วงดุล


 


ราษฎรอาวุโสกล่าวว่า "ชุมชนที่เข้มแข็งคือฐานรากของประชาธิปไตย และต้องมีวิชาการที่เข้มแข้งคอยสนับสนุน ซึ่งตอนนี้ยังขาดอยู่ ตอนนี้มีองค์ท้องถิ่นกว่า  8000 แห่งทั่วประเทศ ควรต้องมีสถาบันวิจัยพัฒนา ทำแผนพิจารณายุทธศาสตร์ทุกแห่งเพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ควรมีนักวิชาการอิสระที่ต้องออกมาจากมหาวิทยาลัยมาเสริมเพื่อให้งานต่อเนื่อง เพราะถ้าไม่ต่อเนื่องวิชาการก็จะอ่อนแอและความขัดแย้งก็จะตามมา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net