Skip to main content
sharethis



   


รายงานประจำปีที่สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (FIDH) และองค์การสากลเพื่อต่อต้านการทรมาน (OMCT) ร่วมกันเผยแพร่ ณ กรุงปารีส เมื่อวันพุธที่ 22 มีนาคม 2549 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าตลอดปีที่ 2548 ผ่านมา มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกภัยคุกคามจนถึงขั้นถูกลอบสังหาร รวมทั้งสิ้น 117ราย กรณีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นทั่วโลก 1,172 ราย การทรมาน 92 ราย และการทำร้ายร่างกายอีก 56 ราย โดยประเทศที่มีชื่อระบุชัดเจนในรายงานดังกล่าว ได้แก่ โคลัมเบีย อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย ตูนีเซียเอกวาดอร์ เฮติ ซูดาน และจาไมกา




กว่าครึ่งของจำนวนประเทศที่กล่าวมา ล้วนอยู่ในแถบละตินอเมริกาทั้งสิ้น ทำให้พื้นที่ในแถบนั้นถูกขนานนามว่าเป็น "ดินแดนอันตราย" ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน


 


นอกจากนี้ เนื้อหาในรายงานยังชี้ให้เห็นว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันภายในประเทศซึ่งประกาศใช้มาตรการพิเศษต่างๆ มากขึ้น โดยอ้างว่านี่คือการออกนโยบายเพื่อปราบปรามการก่อการร้าย และมีเบาะแสว่าทหารและตำรวจจากหลายต่อหลายประเทศในแถบละติน อเมริกาได้ปลอมตัวเป็นลูกเสือชาวบ้านไปสังหารนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อกลบเกลื่อนหลักฐานต่างๆ


 


ในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลเอกวาดอร์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นมาบังคับใช้ในพื้นที่ 5 เมือง รอบกรุงกีโต (Quito) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเอกวาดอร์ เป็นการตอกย้ำให้ทั่วโลกรับรู้ว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในละตินอเมริกายังต้องต่อกรกับปัญหานี้ไปอีกนานจริงๆ


 


สาเหตุที่ประธานาธิบดี อัลเฟรโด พาลาชิโอ ประกาศภาวะฉุกเฉินในเอกวาดอร์ เนื่องมาจากชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ได้รวมตัวกันปิดล้อมเส้นทางคมนาคมเข้า-ออกเมืองหลวงเป็นเวลานานถึง 10 วัน เพื่อแสดงเจตนาต่อต้านการทำสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีอัลเฟรโดจึงตอบโต้การกระทำของผู้ชุมนุมประท้วงด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมความรุนแรง


 


"เรา (รัฐบาลเอกวาดอร์) ได้รับมือกับการต่อรอง (จากกลุ่มชนพื้นเมือง) ด้วยการให้เกียรติ" นี่คือคำพูดของประธานาธิบดีอัลเฟรโดที่มีต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แต่ประโยคถัดมาของเขาเป็นการยืนยันในความมุ่งมั่นด้านการต่อรองของรัฐบาลเอกวาดอร์ได้เป็นอย่างดี


 


"ผมขอประกาศว่าเราจะต้องต่อรองกับพวกเขาโดยไม่ยอมยกเลิกเรื่องสิทธิการเจรจาทางการค้าเพื่อผลประโยชน์ด้านธุรกิจของประเทศ รวมถึงประโยชน์ด้านเทคโนโลยี และหนทางที่จะนำไปสู่ยุคใหม่ของประเทศชาติของเรา"


 


ช่างเป็นประโยคที่ฟังสวยหรูดูดี แต่ถ้าลองพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าผู้นำของเอกวาดอร์คนปัจจุบันไม่มีแนวทางเป็นรูปธรรมที่จะใช้ "ต่อรอง" กับผู้ชุมนุมเลยแม้แต่นิดเดียว


 


ความเคลื่อนไหวของกลุ่มชนพื้นเมืองเอกวาดอร์


ถึงแม้เอกวาดอร์จะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมัน และรายได้หลักของประเทศก็คือการค้าน้ำมัน แต่ประชาชนชาวเอกวาดอร์กว่าค่อนประเทศยังคงประสบกับปัญหาความยากจนอย่างไม่มีทางเลือก


 


ร้อยละ 65 ของชาวเอกวาดอร์เ 13 ล้านคน เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งมีหลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ และร้อยละ 30 คือชนพื้นเมืองเดิมเชื้อสายอินเดียน


 


แต่ความเป็นไปในเอกวาดอร์ก็เป็นเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพราะผลกำไรที่ได้จากการค้าน้ำมันมักจะไหลเข้าไปสู่กระเป๋าของนักธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่กลุ่ม และนายทุนส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มอำนาจเดิมที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นปกครองนับตั้งแต่ยุคอาณานิคม


 


ในทางกลับกัน ชนพื้นเมืองเดิมซึ่งมีหลายกลุ่มหลายเผ่าพันธุ์ต้องประสบกับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รัฐบาลไม่ยอมรับความแตกต่างของชนพื้นเมืองแต่ละกลุ่ม และมีการกวาดล้างจับกุมผู้คนในชุมชนที่มีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเป็นของตนเองอย่างเข้มแข็ง


 


นอกจากนี้ ชาวเอกวาดอร์ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการจัดสรรปันส่วนพื้นที่มาโดยตลอด แต่ผู้ที่ได้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ก็คือผู้มีอิทธิพลและชนชั้นผู้นำเท่านั้น และสถานการณ์ภายในเอกวาดอร์ก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด จนในที่สุดขบวนการชนพื้นเมืองก็ได้รวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและขอทวงสิทธิ์ของตนในฐานะพลเมืองของประเทศกับเขาบ้าง


 


การเคลื่อนไหวต่างๆ ที่สำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิเพื่อชนพื้นเมืองเดิม ได้แก่


 


พฤศจิกายน 2529


ชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ รวมตัวเป็นพันธมิตรกันเพื่อหาข้อตกลงและเจรจาให้รัฐบาลยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ รวมทั้งต่อรองให้มีชาวพื้นเมืองเดิมมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง โดยขบวนการที่เป็นแกนนำคือกลุ่ม CONAIE (El Confederación de Nacionalidades Indígenas del Ecuador)


 


การรวมตัวครั้งนี้มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างเครือข่ายชนพื้นเมืองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐบาลเอกวาดอร์ในสมัยนั้นยอมรับข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณา


 


ถึงแม้ว่ารัฐจะยังไม่มีการกำหนดนโยบายใดๆ มารองรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ถือได้ว่ารัฐบาลเอกวาดอร์ได้รับรู้ถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายชนพื้นเมืองเป็นครั้งแรก


 


ปี 2535 - 2537


ในช่วงนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชนพื้นเมืองในเอกวาดอร์ได้เริ่มต้นทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงให้ประชาชนที่เหลือได้รับรู้ถึงเจตจำนงของกลุ่ม ทั้งยังมีการปฏิบัติการทางตรงเพื่อประท้วงที่รัฐบาลไปกู้เงินมาจากกองทุนไอเอ็มเอฟ ชนพื้นเมืองนับพันคนซึ่งไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ตั้งแต่แรกจึงบุกเข้าปิดล้อมเส้นทางคมนาคมจากทุกภาคที่จะตรงสู่เมืองหลวงด้วยการขนท่อนไม้ใหญ่มาขวางถนน หรือบางที่ก็จะมีชนพื้นเมืองยืนรวมตัวกันเพื่อกีดขวางทาง ทำให้การจราจรและการลำเลียงสินค้าเพื่อดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก จากนั้นสมาชิกของขบวนการก็จะคล้องแขนกันเต้นระบำเพื่อแสดงถึงการปิดล้อมอย่างสันติ


 


การเคลื่อนไหวด้วยความเข้มแข็งและสามัคคีของกลุ่มชนพื้นเมืองเรียกร้องความสนใจจากทั้งสื่อมวลชนทั่วโลกและจากชาวเอกวาดอร์กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการกู้ยืมเงิน นับจากนั้นเป็นต้นมา การเคลื่อนไหวของขบวนการชนพื้นเมืองก็กลายเป็นที่รู้จักและมีเข้าผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้น


 


ในระหว่างปี 2536 มีการปิดล้อมเส้นทางเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เพราะรัฐบาลเอกวาดอร์มีมติที่จะแปรรูปสัมปทานน้ำและน้ำมันให้เป็นของเอกชน ขบวนการชนพื้นเมืองจึงมีการเคลื่อนไหวบ่อยขึ้นและต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจะอธิบายให้ประชาชนที่เหลือเข้าใจว่าการปล่อยให้ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญตกไปอยู่ในมือของบริษัทเอกชนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น


 


ผลกระทบทางตรงทางอ้อมเช่น การสูญเสียที่ดินทำกิน การผูกขาดด้านการบริหารทรัพยากรจะทำให้ประชนไม่อาจเข้าถึงทรัพยากรโดยตรงได้ รวมไปถึงการเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน เพราะถ้าหากมีโรงงานน้ำมันใหม่ๆ เกิดขึ้น การบุกรุกหรือขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ย่อมเกิดขึ้นแน่


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ ขบวนการฯ ชนพื้นเมืองจึงใช้วิธีประท้วง ปิดล้อม และเดินขบวนชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล ทำให้ชนพื้นเมืองได้รับการชดเชยที่สมควรได้ แม้จะไม่ถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะพรรคการเมืองชื่อว่า ปาชาคูติก ซึ่งเป็นพรรคที่มีสมาชิกเป็นชนพื้นเมืองสามารถเข้าไปมีบทบาทในสนามการเมืองด้วยตำแหน่งพรรคฝ่ายค้านจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนพื้นเมือง


 


หากจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนอย่างแท้จริงก็คือปี 2537 ซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ตามคำเรียกร้องของชนพื้นเมือง โดยรัฐธรรมนูญได้ระบุว่าการใช้วิถีชีวิตของชนพื้นเมืองแต่ละกลุ่มเป็นสิทธิอันชอบธรรมในฐานะพลเมืองเอกวาดอร์


 


การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นความสำเร็จในการต่อสู้ของชนพื้นเมืองที่สามารถทำให้การดำรงอยู่ของตนกลายเป็นความชอบธรรม และช่วยป้องกันไม่ให้ชนพื้นเมืองทั่วทั้งเอกวาดอร์ต้องเจอกับการข่มขู่หรือข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่คิดทุจริตได้ในระดับหนึ่ง


                                     


ปี 2543


ประธานาธิบดี จามิล มาฮูอัด อยู่ในตำแหน่งเป็นปีที่ 3 เอกวาดอร์ก็ระสบกับภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก เพราะรัฐบาลใช้เงินไปกับนโยบายประชานิยม จนในที่สุดประชาชนเอกวาดอร์ก็หมดความเชื่อมั่นในค่าเงินของตน รัฐบาลจึงประกาศให้เอกวาดอร์ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แทนเงินสกุลเดิม


 


การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้เอกวาดอร์เสียเอกราชทางการเงินและการธนาคารให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับท่าทีของรัฐบาลที่สนใจจะร่วมลงนามในสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างเอกวาดอร์และสหรัฐฯ อย่างออกนอกหน้า แต่นโยบายนี้เป็นเรื่องที่ชนพื้นเมืองหวาดหวั่นจนต้องออกมาต่อต้านโดยฉับพลัน เพราะเกรงว่าข้อตกลงต่างๆ ในสัญญาอาจจะไม่เป็นธรรม และอาจทำให้ประชาชนเอกวาดอร์ต้องพบกับปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำยิ่งกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ ขบวนการฯ ชนพื้นเมืองจึงยินยอมร่วมมือกับนายพล ลูชิโอ กูเตียร์เรซ เพื่อขับไล่รัฐบาลออกไปให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อจะได้มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหม่ด้วย


 


ปี 2545


ประธานาธิบดีเอกวาดอร์คนใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งคือนายพลลูชิโอ กูเตียร์เรซ ซึ่งไม่ใช่ตัวเลือกที่ชนพื้นเมืองพอใจนัก ติดตรงที่ผู้สมัครอีกฝ่ายหนึ่งเป็นนักธุรกิจซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลเดิม ทำให้นายพลลูชิโอเป็นตัวเลือกที่ "ดูดีกว่า" ขึ้นมาเล็กน้อย


 


ปี 2548


ข้อตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีระหว่างเอกวาดอร์และสหรัฐฯ ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความยินยอมของประธานาธิบดีลูชิโอ (ซึ่งเคยโหนกระแสต่อต้านเอฟทีเอมาแล้วในการล้มล้างรัฐบาลของปะธานาธิบดีจามิล) ขบวนการฯ ชนพื้นเมืองจึงไม่อาจปล่อยให้มีการลงนามในสัญญาการค้าเสรีได้ การชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีลูชิโอจึงเกิดขึ้น


 


ผลก็คือชาวเอกวาดอร์ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อว่า อัลเฟรโด พาลาชิโอ มารับตำแหน่งแทน


และในวันที่ 22 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอัลเฟรโดได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ 5 เมืองซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ประกอบด้วยเมืองโคโตพาซี คานาร์ ชิมโบราโซ อิมบาบูรา และบางส่วนของเมืองพิชินชา เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถยุติการประท้วงที่กินเวลายืดเยื้อยาวนานถึงสิบวันของบรรดาชนพื้นเมืองได้ และข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่ชนพื้นเมืองยืนยันก็คือการขอให้รัฐบาลยกเลิกการเจรจาขั้นสุดท้ายเรื่องความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐอเมริกา


 


วงจรอำนาจกับภาระที่ไม่ได้รับการปลดปล่อยของชนพื้นเมือง


แม้ไม่อยากจะเชื่อ (แต่ก็ต้องเชื่อ) ว่าถึงที่สุดแล้ว ผู้ที่มารับตำแหน่งผู้นำแต่ละคนยังคงเลือกที่จะสานต่อโครงการเอฟทีเอและรับเอาระบอบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มาเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ และคงไม่ต่างอะไรจากการหลับหูหลับตาทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาที่เรื้อรังอยู่ของประชาชน


 


นอกจากนี้ รัฐมนตรีด้านกิจการภายในประเทศของเอกวาดอร์ (รัฐมนตรีมหาดไทย) เฟลิเป เวกา ยังอ้างอีกด้วยว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินคือสิ่งจำเป็น เนื่องจากประธานาธิบดีอัลเฟรโดได้ทำ ทุกวิถีทาง แล้ว เพื่อจะยุติความขัดแย้งด้วยการเจรจากับชนพื้นเมืองเดิม แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะตัวแทนสมาพันธ์ชนพื้นเมืองเดิมไม่ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งหมายถึงการมุ่งมั่นที่จะลงนามในสัญญาเอฟทีเอให้ได้


 


บรรดาชนพื้นเมืองนับหมื่นคนที่เคลื่อนตัวจากพื้นที่ที่ราบสูงและป่าเขาทางด้านตะวันออกรวมตัวกันเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัลเฟรโดถอนตัวจากการเจรจาเอฟทีเอกับทางการสหรัฐอเมริกา และถ้าหากไม่มีการยุติการเจรจาเอฟทีเอ ชนพื้นเมืองเดิมก็ประกาศว่าจะลุกฮือขึ้นโค่นล้มประธานาธิบดีให้พ้นไปจากตำแหน่ง เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะขบวนการต่อสู้ทางตรงของกลุ่มชนพื้นเมืองและชาวเอกวาดอร์ที่ยากจนทั้งหลาย


 


เหตุผลที่ชนพื้นเมืองพยายามอธิบายให้ประธานาธิบดีที่มารับตำแหน่งแต่ละคนเข้าใจเจตนาในการคัดค้านเอฟทีเอและระบอบทุนนิยมเสรีนิยมก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดาชาวนาและผู้ทำเกษตรกรรมรายย่อยของเอกวาดอร์ไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรมาต่อกรกับสินค้านำเข้าที่ได้รับการอุดหนุนเป็นอย่างมากจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้


 


นอกจากนี้ การทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม เพราะชนพื้นเมืองจะไม่สามารถรักษาวัฒนธรรมความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติของพวกตนเอาไว้ เนื่องจากพวกเขาต้องกลายไปเป็น กลไก ในระบอบทุนนิยมดังกล่าว ซึ่งนั่นคือการละทิ้งรากเหง้าของวิถีที่ผูกพันกับวิถีธรรมชาติ


 


แม้รัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าคำพูดของชนพื้นเมืองเดิมมีน้ำหนักพอให้รับฟัง แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลใดหยุดยั้งความต้องการที่จะมุ่งหน้าไปสู่การค้าเสรี โดยไม่เคยสนใจศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย


 


หรือในทางกลับกัน ผู้นำรัฐบาลของเอกวาดอร์แต่ละคนอาจรู้ดีอย่างถ่องแท้ว่าผลกระทบที่เกิดกับชนพื้นเมืองจะแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินให้แก่ตนและกลุ่มทุนได้อย่างไร และนี่อาจเป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ผู้นำแต่ละคนยังกล้าที่จะตัดสินใจเช่นเดิม แม้จะเห็นแจ่มแจ้งอยู่แล้วว่าขบวนการภาคประชาชนที่มีชนพื้นเมืองเดิมเป็นแกนนำมีความมุ่งมั่นที่จะคัดค้านการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมเช่นนี้อย่างไรบ้าง


 


แม้ว่า ฮัมเบอร์โต ทาลากัว ผู้ประสานงานพรรคปาชาคูติกจะออกมาระบุว่าประธานาธิบดีอัลเฟรโดกำลังพาตัวเองเข้าสู่จุดล่มสลายทางการเมืองด้วยการยืนยันทำความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา  ฮัมเบอร์โตจึงขู่ว่าชาวเอกวาดอร์ส่วนใหญ่ยืนอยู่ข้างเดียวกับชนพื้นเมืองเดิม และจะมีการแสดงพลังบนท้องถนนต่อไป ในขณะที่ กิลเบอร์โต ทาลาฮัว ผู้นำชนพื้นเมืองและผู้จัดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้ก็ประกาศด้วยประโยคเดียวกันว่าจะยังคงประท้วงรัฐบาลต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลได้ใช้แก๊สน้ำตาและกองกำลังตำรวจบุกเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมได้สำเร็จในวันที่ 23 มีนาคม 2549


 


สิ่งที่ชาวเอกวาดอร์ต้องกลับมาทบทวนจึงไม่ใช่จุดยืนของชนพื้นเมืองเดิมอีกต่อไป แต่ควรจะพูดถึงการเปลี่ยนไปของประธานาธิบดีแต่ละคนหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ เพราะเหตุใดผู้นำแต่ละคนซึ่งมองเห็นบทเรียนจากการล้มล้างรัฐบาลเอกวาดอร์จึงพร้อมจะกระโจนเข้าสู่วังวนการค้าเสรีกันนัก


 


ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะระบบการค้าแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่นี้เอื้ออำนวย "ผลประโยชน์" ชั้นดีให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองและกลุ่มทุนได้รับ บรรดาผู้นำเหล่านั้นจึงพร้อมที่จะก้าวไปซ้ำรอยเดิม แม้จะรู้ดีอยู่เต็มอกว่าประชาชนกว่าครึ่งประเทศไม่ยอมรับข้อตกลงนี้


 


เมื่อไม่มีกลไกทางการเมืองใดๆ ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้ชนพื้นเมืองเดิมต่อรองกับฝ่ายรัฐบาลได้อย่างเป็นระบบ ประชาชนเอกวาดอร์จึงต้องเสียหยาดเหงื่อและน้ำตาในการเดินขบวนไปตามท้องถนน แต่จะต้องมีการชุมนุมเช่นนี้กี่ครั้งกี่หน วงจรอำนาจแบบเดิมๆ ที่ผู้นำประเทศเป็นผู้มีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการตัดสินใจจึงจะหมดสิ้นไป?


 


 


 


ข้อมูลอ้างอิง


+ http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/4811342.stm


+ http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/4812166.stm


+ http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/4834106.stm


+ http://en.wikipedia.org/wiki/CONAIE


+ http://today.reuters.com/News/CrisesArticle.aspx?storyId=N23191015


+ http://www.hartford-hwp.com/archives/41/043.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net