Skip to main content
sharethis


 


องอาจ เดชา รายงาน


 


 


บรรยากาศเชียงใหม่ในห้วงเวลานี้ หลายคนที่มีโอกาสไปเยือน จะรับรู้เลยว่า อากาศนั้นอบอ้าวและแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา บางวันนั้นแดดร้อนจ้าด้วยอุณหภูมิที่พุ่งทะยานขึ้นสูงเกือบ 40 องศา ในขณะที่บางวันท้องฟ้ากลับหมองด้วยฝุ่นควันห่มคลุมเมืองให้ชวนอึดอัดขัดข้อง จนหลายคนบ่นหายใจไม่ทั่วท้อง แสบหูแสบตา จนบางคนถึงกับบ่นว่า เชียงใหม่เปลี่ยนไป๋ๆ...


 


นั่นแหละ ก็คงเช่นเดียวกันกับบรรยากาศทางการเมืองในห้วงขณะนี้ ที่กำลังระอุด้วยเมฆหมอกของความขัดแย้งปกคลุมไปทั่ว พร้อมกับอุณหภูมิทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นทุกชั่วเวลานาที


 


เหมือนเช่นทุกวัน, ที่เชียงใหม่ในยามค่ำคืน ตรงบริเวณสนามวอลเล่ย์บอล ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมีผู้คนที่มีออกมาเรียกกันว่ากลุ่ม "รวมพลคนก้ายทักษิณ" ก้าย หากแปลเป็นภาษากลาง ก็หมายถึง หน่าย เบื่อ อะไรประมาณนั้น ณ ลานเวทีตรงนั้น ได้กลายเป็นเหมือนแหล่งศูนย์รวมของผู้คนที่ออกมาร่วมแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน เหมือนเป็นเช่นญาติมิตรทางการเมือง คือ ไม่เอาทักษิณ


 


แสงไฟสีเหลืองนวลสาดส่องไปทั่วลานวอลเล่ย์บอล ซึ่งได้กลายเป็นลานกิจกรรมไปแล้ว เมื่อจดจ้องดูจะมองเห็นผู้คนหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา อาจารย์ ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า ประชาชน คนหนุ่มคนสาว มาร่วมชุมนุมกันที่นั่น ด้านหน้านั้น มีร่วมเขียนป้ายคัดค้านทักษิณ มีการแจกจ่ายเอกสาร ที่แฉกลโกงของระบอบทักษิณ พร้อมซีดีการแสดงของงิ้วการเมือง ธรรมศาสตร์ ฯลฯ


 


และที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือวีซีดี สารคดีเปิดฟ้าส่องโลกกว้าง ของ นิติภูมิ นวรัตน์ ที่นำมาแจกจ่ายให้ประชาชนไปเปิดดูถึงการล่มสลายของประเทศอาร์เจนตินา หลังจากที่ผู้นำรัฐบาลของเขาได้เปิดนโยบายแปรรูป และนโยบายประชานิยม จนผู้คนออกมาประท้วงบนท้องถนน หลังจากรู้ว่า ว่าประเทศของเขาได้กลายเป็นของต่างชาติ และอาร์เจนตินาได้กลายเป็นนรกบนดิน


 


ในจำนวนกลุ่มคนที่ออกมาร่วมชุมนุม เพื่อดูการถ่ายทอดสดเวทีชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอาศัยจอโทรทัศน์เครื่องเล็กผ่านจานดาวเทียม ASTV สลับกับการปราศรัยวิพากษ์ถึงความล้มเหลวของรัฐบาลทักษิณ และตัวพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ


 


ผมมองเห็น ชายร่างท้วมคนหนึ่ง สวมใส่เสื้อยืดสีดำ ติดโลโก้ "GET OUT" แสดงสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี เดินเข้ามาใกล้ๆ จึงรู้ว่า นั่นคือ "บินหลา สันกาลาคีรี" หนุ่มนักเขียนเจ้าของรวมเรื่องสั้น "เจ้าหงิญ" รางวัลซีไรต์ ปี 2548 นั่นเอง


 


ว่ากันว่า เขามาร่วมสังเกตการณ์อยู่ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนามวอลเล่ย์บอลเกือบทุกคืน ถ้าวันไหนไม่ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปในชนบท


 


และนี่คือบทสนทนากับเขา "บินหลา สันกาลาคีรี" นักเขียนอารมณ์ดี แต่ค่ำคืนนี้ เราสนทนา "ว่าด้วยการเมืองและจริยธรรม" อันเคร่งเครียด


 


"มีความคิดเห็นอย่างไงบ้าง กับทักษิณ..." ผมทักทายเป็นประโยคแรก


 


"ยอมรับว่า ทักษิณนี้หน้าด้านมากๆ เลย ซึ่งตนเห็นว่าคนหน้าบางน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ว่า จะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิดความละอายใจได้ดีกว่า ผมเห็นด้วยกับการออกมาแสดงตัวตน ออกมาแสดงความเห็นส่วนตัวว่า เขาควรจะไปตั้งนานแล้ว แต่เมื่อเขาหน้าด้าน ผมคิดว่า จุดที่เราต้องกลับมาถามตัวเอง ว่า เราจะเป็นแบบให้เขาได้ละอายใจได้ด้วยวิธีไหนบ้าง" เขากำลังพูดเรื่องระหว่างคนหน้าด้านกับหน้าบาง


 


บางคนชักสงสัย...มันเกี่ยวอะไรกับความหน้าด้าน หน้าบาง!


 


"เพราะตนคิดว่า การที่ใช้ความหน้าด้านไปใช้กับความหน้าด้านเนี่ย ผลที่เกิดขึ้นมันจะเกิดขึ้นกับคนรุ่นต่อๆ ไป ว่าจะอธิบายยากว่า สังคมไทยเป็นปัญญาชนได้อย่างไร ซึ่งตนไม่ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่นี้ ไม่เห็นด้วย แต่เห็นด้วยทุกอย่าง แต่นี่เป็นวิธีการของคนหน้าบางมากๆ เลย"


 


"แล้วพี่มองทักษิณเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องของการบริหารงาน หรือในมุมอื่นๆ "


 


"ในการบริหาร เราคงไม่ต้องไปพูดถึงเลย เพราะว่ามันล้มเหลวมาตั้งแต่แรก และความล้มเหลวก็ได้แสดงออกมาให้เห็นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่น่าตกใจ ที่การอธิบายความล้มเหลวของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไปไม่ถึงในพื้นที่ชนบท เนื่องจากในช่วงหลังมานี้ ตนได้ลงพื้นที่ตามชนบทบ่อยมาก และก็รู้สึกว่า คนชนบทนั้นยังรักนายกฯ ทักษิณอย่างเชื่อมั่น ไม่ได้รักเพียงแค่ว่าพวกเขาได้เงินอย่างเดียว ซึ่งที่พวกเขาได้เงินนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่คนชนบทรัก เพราะเขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอธิบายนาน" เขาบอกเล่า หลังจากเพิ่งลงจากดอย กลับจากชนบทมาหมาดๆ


 


"ชาวบ้านในชนบทเขารับฟังหรือ?"


 


"พวกเขาก็ฟังนะ แต่ต้องคุยกันอย่างนุ่มนวลและใช้เวลานานมาก ซึ่งผมคิดว่า เขาฟังแล้ว เชื่อว่าเขาก็ยังรักทักษิณอยู่ แต่ความหวั่นไหว ความสงสัยนั้นอาจเริ่มขึ้นมา และนั่นน่าจะเป็นจุดที่ดีที่เราจะสร้างความเข้าใจตรงนี้"


 


"มองคนชั้นกลางเป็นอย่างไรบ้าง?" ผมอดนึกคนชั้นกลางไม่ได้ หลังจากมีหลายคนมักมองกันว่า คนชั้นกลางบางกลุ่มยังไม่เข้าใจการเมืองไทยอย่างแท้จริง


 


"ผมว่าเขาเข้าใจนะ แต่ว่าผมคิดว่าปัญหาของเมืองไทย บางทีเรารู้สึกว่า วิธีการที่ถูกต้องนั้น เรารู้อยู่ว่าอยู่ตรงไหน แต่ว่าการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้านั้น ทำให้เราอาจใช้วิธีการที่ถูกต้อง ทำให้เราต้องการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าเสียก่อน ซึ่งผมคิดว่า วิธีการอย่างนี้มันทำให้มีปัญหา ทำให้ในระยะยาวมันจะทำให้มีปัญหา เช่น คุณเอาทักษิณมาในตอนนั้น ก็เพราะว่าปัญหาเฉพาะหน้า คือ ชวน (หลีกภัย) มันเกินจะรับ คุณก็ต้องการให้ทักษิณมาแก้ชวน พอมาถึงตอนนี้ ในขณะที่ เราเจอทักษิณซึ่งมันเกินจะรับไหว เราก็มาเจอกับปัญหาใหม่อีก ซึ่งผมคิดว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ดี ก็คือ การแก้ปัญหาในระยะยาว"


 


"ผมคิดว่า การไล่ทักษิณนั้นมันช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร ยังดีกว่าแก้เร็ว ไล่เร็ว แต่ปัญหาไม่จบ สู้เราไล่ช้า แต่ปัญหาจบ คือว่าประชาชนเข้าใจ ทุกคนโตขึ้นตามวิถีของสังคม ที่เราไม่ได้พูดถึงแค่กฎหมายอย่างเดียว แต่เราพูดถึงจริยธรรมด้วย ซึ่งหากสังคมมันโตขึ้นพร้อมๆ กัน ผมคิดว่า แม้มันจะถึงช้าหน่อย ก็ไม่เป็นไร แต่คนก็เข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นทุกวันๆ"


 


"หมายถึงว่าเราต้องให้ความรู้ทางด้านการเมืองกับจริยธรรมแก่คนทั่วไป?"


 


"ใช่ เป็นการให้ความรู้และตอกย้ำว่า นี่มันเป็นประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ผมยกตัวอย่าง ทุกวันนี้ที่เราพูดกัน แม้กระทั่งชาวบ้านไปจนถึงพระเลย บอกว่า เวลาเขาหาเสียง ถ้าเขาจ่ายเงินก็รับมา แต่ไม่ต้องไปเลือก ผมว่านี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่คุณกำลังโยนจริยธรรมทิ้งไป ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า ผู้ที่พูดนั้นเป็นพระด้วย โอเค คุณอาจจะบอกว่าเข้าใจสภาพของสังคมไทย คุณอาจยอมรับว่า สังคมที่มีเจ้าพ่อ สังคมที่มีเงื่อนไขในหมู่บ้านที่มันมากเกินที่จะพูดอย่างซื่อใส ว่าผมไม่รับเงินคุณ แต่ผมว่า มันก็มีวิธีการที่มีมากกว่า มากกว่าที่เราจะยอมละเมิดจริยธรรม"


 


"ซึ่งหน้าที่ของเรา ก็คือ หาวิธีการนั่นแหละ เพราะเรายอมไม่ได้ที่จะให้มีการละเมิดจริยธรรม และเราก็ยอมไม่ได้ที่จะให้ชาวบ้านเขาอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่ปลอดภัย เพราะว่าในเมื่อสองตัวนี้ มันเป็นเงื่อนไข เป็นฐานของมัน ซึ่งเราจะต้องโตแบบระยะยาว ไม่ใช่ว่าคุณละเมิดจริยธรรม คุณโยนจริยธรรมทิ้งไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องมาชุมนุมกันในครั้งนี้" เขาบอกเล่าด้วยสีหน้าจริงจัง และเคร่งเครียด


 


ในความเงียบ, เขาเอ่ยออกมาว่า การเมืองมันเปลี่ยนไปแล้ว จากเมื่อก่อนนั้น นักศึกษาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ตอนนี้ กลับกลายเป็นว่านักศึกษาขาดพลังไปเยอะ


 


"แต่ผมก็ยังมีความหวังอยู่นะ อย่างเช่น การออกค่ายตามชนบท ผมยังเชื่อว่ายังจำเป็นอยู่ ที่นักศึกษาควรจะออกไปทำค่าย โดยไม่จำเป็นต้องไปเพื่อสร้างโรงเรียน สร้างอาคารอะไร แต่ไปร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับพี่น้องชาวบ้าน ซึ่งผมเชื่อว่ามันเป็นการเข้าถึงชาวบ้านได้ดีกว่า เพราะมันเป็นการเชื่อมโดยตรง ไม่ต้องผ่านเอ็นจีโอ หรือกลุ่มนักวิชาการ..."


 


ผมจบบทสนทนากับเขา "บินหลา สันกาลาคีรี" ตรงนี้ ก่อนขอตัวกลับพักผ่อน...ทว่าการชุมนุมยังคงมีต่อไป เสียงของตัวแทนพันธมิตรยังคงดังผ่านจอโทรทัศน์ ผ่านลำโพง ที่ส่งสัญญาณมาจากกรุงเทพฯ พร้อมกับเสียงของการตั้งคำถาม และเฝ้ารอคำตอบ ว่าการชุมนุมในครั้งนี้จะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าใด และบรรยากาศทางการเมืองจะไปสิ้นสุดตรงที่ใด!?


 


ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครคาดการณ์ได้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net