วงเสวนา : นายกฯ พระราชทานก้าวหน้าหรือถอยหลัง

ประชาไท - 24 มี.ค.49      เวลา 13.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มประชาธิปไตยประชาชน สถาบันต้นกล้า โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา และศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา ได้จัดเสวนา หัวข้อ นายกพระราชทานก้าวหน้าหรือถอยหลัง โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนายธนาพล อิ๋วสกุล กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน  

 

0 0 0

 

ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่เห็นด้วยกับการขอรัฐบาลพระราชทาน ประเทศที่ก้าวหน้า เมื่อมีปัญหาทางการเมืองก็ไม่เคยมีการเรียกร้องให้กษัตริย์หรือทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง มาตรา 7 ไม่มีประโยคใดเลยที่พระมหากษัตริย์สามารถพระราชทานนายกรัฐมนตรีได้ พวกที่อ้างต้องการเพียงไล่ทักษิณ จึงมองหาว่า พอจะมีมาตราไหนที่ใช้ได้แล้วนำไปโยงกัน เพื่อให้รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

 

หากมีรัฐบาลพระราชทานจริงก็จะเป็นการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ และจะมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ในแง่ประวัติศาสตร์นายกพระราชทานซึ่งมีเพียงครั้งเดียวคือ สัญญา ธรรมศักดิ์ ขณะนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกแล้ว ซึ่งมีเพียงธรรมนูญชั่วคราว และต้องไม่ลืมว่านักศึกษาเรียกร้องรัฐธรรมนูญซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกัน ตอนนี้ยังมีรัฐธรรมนูญ ถ้ามีนายกมาพระราชทานมาอีกคนหนึ่ง ใครจะมีความชอบธรรมมากกว่า จึงต้องตั้งคำถามกับตรรกะที่ว่า อะไรก็ตามที่มาจากการพระราชทานถูกต้อง

 

0 0 0

 

นายธนาพล อิ๋วสกุล

กองบรรณาธิการ วารสารฟ้าเดียวกัน

การเรียกร้องนายกพระราชทานหรือการถวายคืนพระราชอำนาจ เป็นการถอยหลังเข้าคลองที่มีผลระยะยาวต่อประชาธิปไตย

 

ระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ระบอบกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ไม่มีอำนาจที่แท้จริง การใช้อำนาจต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ คือมีผู้รับผิดชอบ เหตุผลในเรื่องนี้ก็คือ การที่กษัตริย์มีพระราชอำนาจจะนำมาสู่การเสื่อมเสียของสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อต้องตัดสินใจทางการเมืองในลักษณะที่ต้องเลือกข้างไม่เป็นกลางทางการเมือง การเรียกร้องให้เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองก็ไม่มีหลักประกันว่า จะไม่มีใครอ้างเอาไปเล่นงานคู่ตรงข้าม ถ้าเข้าใจหรือชัดเจนในสองประเด็นนี้จะง่ายขึ้น

 

ข้อโต้แย้งที่ว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ กษัตริย์มีความผูกพันกับประชาชนมากที่สุดในโลก ปัญหาก็คือ สิ่งที่เราพูดถึงนั้น หมายถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันหรือสถาบันกษัตริย์ ที่รวมถึงองค์อื่นด้วยในอนาคตอันยาวไกล ซึ่งจะกลายเป็นภาระที่หนักมาก และจะส่งผลเสียต่อพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปในระยะยาว ไม่มีหลักประกันว่า กษัตริย์องค์นั้นจะได้รับความนิยมอย่างที่เป็นอยู่

 

สิ่งที่พูดถึง อ้างถึงภาวะไม่ปกติ การไม่มีกฎหมายที่จะแก้ไขปัญหานั้น มีข้อสังเกตว่า ความไม่ปกติทางการเมืองถูกพูดถึงจากกลุ่มคนสองกลุ่ม นอกจากกลุ่มของรัฐบาลแล้วก็คือ พวกเซลล์แมนขายวิกฤติ และพวกโหรทางการเมือง พวกนี้อ้างภาวะวิกฤติแล้วเสนอขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 ผมคิดว่าเป็นการตีความกฎหมายเพื่อไม่ให้ใช้กฎหมาย หาช่องทางเล็กๆ น้อยๆ ต่อต้านนายกฯ ทักษิณ การตีความแบบนี้อาจจะเป็นประโยชน์แต่ไม่สมควร ผมยังเชื่อคุณพิภพ ธงชัย เมื่อก่อนเคยพูดแถลงว่า เรื่องพระราชอำนาจเป็นการถอยหลังเข้าคลอง และวาทกรรมการเมืองแบบนี้จะส่งผลเสียระยะยาว

 

0 0 0

 

นายไพโรจน์ พลเพชร

เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นายไพโรจน์ ได้กล่าวถึงการเสนอนายกฯพระราชทานในสมัยหลัง 14 ตุลาว่า ได้ดำเนินการตามกฎหมายสูงสุดในขณะนั้นคือธรรมนูญการปกครอง แต่การขอพระราชทานนายกฯ ตอนนี้ ไม่มีกฎหมายใดๆ รับรอง "ผมเชื่อว่า ถ้าจะใช้อำนาจจะต้องเป็นอำนาจที่ถูกกฎหมาย ถูกต้องชอบธรรม"

 

นายไพโรจน์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้คุณทักษิณมีจุดแข็งที่สุดในแนวทางการต่อสู้ ซึ่งเราต้องยอมรับในประเด็นนี้ หากมีนายกฯ พระราชทานลงมาจริงและคุณทักษิณไม่ลาออก เราจะมีนายกพร้อมกันสองคน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีนายกฯ พระราชทานโดยที่คุณทักษิณไม่ยอม และจะไม่มีทางเป็นไปได้หากไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่กำลังถูกสร้างให้เป็นเงื่อนไขอยู่ในขณะนี้

 

 "ไม่เชื่อว่านายกฯ ทักษิณจะใช้ความรุนแรง เพราะเขารู้ว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้มีนายกพระราชทาน  ดังนั้นจึงน่ากลัวว่ากลุ่มพันธมิตรเองที่กำลังสร้างเงื่อนไขบางประการ" นายไพโรจน์กล่าว

 

นายไพโรจน์ แสดงจุดยืนคัดค้านแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ขอพระราชทานนายกฯ เพื่อปฏิรูปการเมือง และกล่าวถึงผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ ในเรื่องการเสนอเส้นตายว่าเป็นการเสนอเส้นตายให้แก่ประชาชน เพราะเป็นการเร่งเร้าให้เกิดความกดดันทางการเมืองให้สูงมากยิ่งขึ้น

 

"คุณโค่นล้มทักษิณโดยไม่ได้ใช้หลักการประชาธิปไตย และขณะนี้เต็มไปด้วยอารมณ์เกลียด อารมณ์โกรธ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด หากเปลี่ยนการเมืองด้วยวิธีนี้จะไม่เกิดสันติขึ้น ที่ผ่านมามีผลเสียหายมามากพอแล้ว จากประสบการณ์ของผมเงื่อนไขความรุนแรงไม่จำเป็นต้องมาจากฝ่ายรัฐบาลเสมอไป หากเพียงมีใครสักคนที่คิดไม่ดี"

 

สำหรับข้ออ้างที่ว่าการขอพระราชทานรัฐบาลจะทำให้ไม่เกิดความรุนแรงนั้น นายไพโรจน์กล่าวว่า ในความเป็นจริงนายกฯ พระราชทานจะลงมาได้อย่างไร เนื่องจากปัจจุบันสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยอยู่สูงมากจะลงมาเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้อย่างไร นอกจากจะมีใครที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงแบบพฤษภาฯ หากเกิดวิกฤตเช่นนั้นจึงจะเกิดความชอบธรรม และพระมาหากษัตริย์จะดำรงความชอบธรรมอย่างถึงที่สุดด้วย

 

ท้ายที่สุดนายไพโรจน์ได้กล่าวว่า ข้อเสนอให้ใช้การเอาชนะด้วยสันติโดยพันธมิตรนั้น ถูกเสนอพร้อมกับคำนี้ด้วยว่า ไม่ชนะไม่เลิก แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไร หากปัจจุบันนี้ฝ่ายพันธมิตรไม่มีกำลังอย่างเพียงพอที่จะโน้มน้าวผู้คนให้ได้มากไปกว่านี้

 

 

เสาวนีย์ จิตรื่น

อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 2533

 

การเมืองวันนี้สะท้อนว่าวุฒิภาวะการเมืองประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้นต่ำ โจทย์วันนี้ไม่ควรจะเป็นมีกฎหมายช่องไหนที่จะเอาหรือไม่เอา นายกฯ จากการเลือกตั้งหรือนายกฯ พระราชทาน สิ่งนี้ไม่ควรเป็นการเมืองที่เราจะคิด แต่คำถามที่ควรเป็นมากกว่าคือ ควรมีหรือไม่ควรมีนายกพระราชทาน

 

ประชาชนไม่ควรสนใจคนที่ชักเข้าชักออก เคยพูดคำหรูๆ แต่อันที่จริงแล้วไม่เข้าใจ ในกลุ่มพันธมิตรไม่ว่าจะชื่อใดก็ตามในสายตาของดิฉันมองว่า มีพื้นฐานจริยธรรมไม่สูงไปกว่าทักษิณ คุณก็อ้างชาวบ้านแต่ไม่เคยไปทำอะไรให้เขา คุณบอกว่าคุณกอบกู้ประชาธิปไตยแต่ในขณะเดียวกันคุณก็เหยียบย่ำประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดจากการพูดประเด็นเรื่องการขอนายกฯ พระราชทาน คุณเหยียบคนที่ตายจากเหตุการณ์ทางการเมืองหลายๆ เหตุการณ์ คุณเหยียบคนที่สู้เพื่อสิทธิของตนเองและเพื่อสิทธิเสรีภาพแล้วก็ตายไป กรณีหลังสุดคือ นายเจริญ วัดอักษร กับทนายความสมชาย คุณกำลังเหยียบคนพวกนี้อย่างเงียบๆ

 

เป็นไปได้ไหมที่เราจะกลับมาตั้งสติกัน ขณะนี้รู้สึกหมั่นไส้การเมืองของชนชั้นนำและโดยเฉพาะการเมืองชนชั้นกลางที่มีความใจร้อน เพื่ออะไรก็ไม่รู้ เพื่อตอบสนองตัญหา หรือความอยากบางอย่างของตัวเอง คุณอดใจรอไม่ได้หรือ การต่อสู้เพื่อให้คนเห็นความไม่ชอบธรรมของนายกฯ ทักษิณ ระยะยาวทำไม่ได้หรือ บนเวทีพูดถึงการเมืองเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านแค่ไหน ไม่เห็นมีการพูดถึง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มพันธมิตรก็ไม่ชอบธรรมพอๆ กับรัฐบาลทักษิณนั่นเอง ใครอยากจะไล่ทักษิษก็อ้างกันเองอย่ามาอ้างชาวบ้าน

 

ถ้าคุณอยากได้ประชาธิปไตยคุณจะต้องรู้จักอดทน อันนี้คือจริยธรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งเหมือนกัน วันหนึ่งคุณออกไปราชดำเนินแล้วบอกว่าต้องการนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง พอได้ทักษิณมา คุณก็หมั่นไส้ไม่อยากเอาแล้ว เป็นการเมืองแบบบ้าๆ การเมืองไทยเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ เป็นเรื่องการนำแบบปัญญาอ่อน นี่กำลังกลับไปหลัง 2475 หรืออย่างไร ?

 

ใครอยากจะพาประชาชนไปก็ไป ไม่อยากไปด้วย หากคุณรักประชาธิปไตยจริง จะต้องผลักดันสังคมให้เดินไปข้างหน้า คือ การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ให้ระบอบการเมืองตอบสนองต่อปัญหาชาวบ้าน ตอบสนองต่อความเจริญของประเทศนี้

 

ขณะนี้เชื่อว่ารัฐบาลไม่ต้องการใช้ความรุนแรง เพราะหากทำเขาจะอยู่ไม่ได้ ทหารก็รู้ทันเขาไม่ยอมถูกใช้เป็นเครื่องมือ แต่ใครบางคนนั้นไม่แน่ที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นเพื่อจะนำไปสู่นายกฯ พระราชทาน เพราะโดยทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ กลุ่มพันธมิตรรู้ว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ชอบธรรม หากเกิดเงื่อนไขให้เกิดภาวะฉุกเฉิน ความชอบธรรมของทักษิณก็จะลดลงไป

 

เสาวนีย์ชี้ว่า ตอนนี้เป็นการทำงานการเมืองแบบทานอาหารสำเร็จรูปเร่งด่วน หากทำการเมืองประชาธิปไตยจะต้องอดทน ถูกต้องชอบธรรม

 

และการด่าชาวบ้านที่สนับสนุนทักษิณนั้น ไปด่าทำไมว่าเขาถูกจ้างมา คุณกำลังด่าประชาชน ประชาชนก็คือประชาชน ไม่ใช่ประชาชนฝ่ายใคร ถ้าไม่ใช่ประชาชนฝ่ายคุณก็ไม่ควรไปด่าชาวบ้าน เพราะเขาเอาทักษิณ คุณต้องให้เขาเข้าใจเหตุผลของคุณ ชาวบ้านเขาเห็นประโยชน์ไม่อย่างนั้นไม่มาหรอก

 

ถ้าเป็นพวกคุณนั้นดี หากเป็นพวกคนอื่นเลวหมด ความคิดแบบนี้ควรเลิกได้แล้ว ไม่อย่างนั้นจะได้นายกฯ พระราชทานแน่ๆ แล้วการเมืองก็จะวนแบบนี้เป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่รู้จักจบ เผลอๆ อาจต้องไปเช็ดเลือดที่ถนนราชดำเนินอีก เพราะมีนักประชาธิปไตยจอมปลอมปากอย่างใจอย่าง วันนี้ก็เปลี่ยนคำพูดไปแล้ว

 

คุณบอกว่าทักษิณพูดจาไม่รักษาคำพูดแล้วพวกคุณไม่เป็นหรือ อย่าลำเอียง ดังนั้น ต้องแยกแยะให้เห็น ทำให้เข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่ต้องทำวันนี้คืออะไรกันแน่ เช่น รณรงค์ให้ไม่เอาทักษิณ รณรงค์ไปกาบัตรไม่เลือกใคร ไปรณรงค์ไม่เอานักการเมืองที่ฉ้อฉล แล้วก็สร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึก สร้างวุฒิภาวะทางการเมืองที่สูงกว่านี้

 

การเมืองแบบขอนายกฯ พระราชทานไม่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าเลย ยกเว้นแต่การสร้างความสะใจ สนองอารมณ์สนองตัณหาของคนไม่กี่คน

 

0 0 0

 

ท้ายที่สุดที่ประชุมโดยรวมเห็นร่วมกันว่า ไม่ควรเร่งเร้าสถานการณ์มากไปกว่านี้ และควรอดทนอดกลั้นให้มากขึ้น เพราะการอดกลั้นคือ จริยธรรมทางการเมืองอย่างหนึ่ง อย่างน้อยในวันที่ 2 เมษายนนี้ โดยระหว่างนั้นควรปรับขบวนเรียกร้องให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยให้กาช่องไม่เลือกใคร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท