Skip to main content
sharethis

โดย ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา


 


เราผ่านอะไรต่างๆกันมามากเหลือเกินแล้ว จึงควรตระหนักว่าการต่อต้านผู้นำที่ทุจริตนั้นไม่ใช่ด้วยการทำลายกลไกและหลักการประชาธิปไตย


 


ในความเป็นจริง นี่เป็นภาระและความรับผิดชอบสองชั้น คือ หนึ่ง ต่อสู้กับผู้นำทุจริตและ สอง ต่อสู้ในวิถีทางที่ถูกต้องด้วย เราต้องไม่ใช้เส้นทางที่ผิด สร้างแบบอย่างที่เลวสำหรับอนาคต การร้องขอให้มีการใช้พระราชอำนาจแทรกแซง [Royal Intervention] ทางการเมืองเป็นเส้นทางที่ผิดและเป็นแบบอย่างที่เลวสำหรับอนาคตของประชาธิปไตย


 


ความจริงแล้ว นี่เป็นความผิดชัดเจนและเป็นทางออกที่เลวร้ายซึ่งไม่ได้แก้ไขอะไรเลยแต่กลับสร้างปัญหาอื่นๆที่เลวร้ายมากขึ้นไปอีก


 


เงื่อนไขที่ทำให้เกิดการใช้พระราชอำนาจในอดีตนั้น คือความรุนแรงทางการเมืองที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของสาธารณชน แต่ตราบเท่าที่ทุกฝ่ายที่ฟาดฟันกันอยู่ตอนนี้ไม่ได้ใช้ความรุนแรงและผมหวังว่าพวกเขาไม่ทำ จึงไม่ควรมีข้ออ้างสำหรับการร้องขอให้มีการใช้พระราชอำนาจ


 


โดยทางเทคนิค เงื่อนไขทางกฎหมายที่จะเปิดช่องให้มีการใช้พระราชอำนาจแทรกแซงทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา การใช้พระราชอำนาจแทรกแซงทางการเมืองบนเงื่อนไขเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันกษัตริย์ในระยะยาว ด้วยเหตุที่ การใช้พระราชอำนาจสามารถเกิดขึ้นได้บนเงื่อนไขที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น ผมเข้าใจว่า ในภาวะที่ยังมีรัฐบาลและรัฐสภาอยู่ (ซึ่งรวมถึงรัฐบาลรักษาการผู้ยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญด้วย) พระมหากษัตรย์ไม่ทรงสามารถที่จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ด้วยการใช้พระราชอำนาจโดยไม่มีผู้ใดกราบทูลฯ พระมหากษัตริย์มิได้ทรงมีพระราชอำนาจที่จะกระทำการใดในทางการเมืองตามพระราชประสงค์ พระองค์สามารถกระทำการใดตามที่รัฐสภาหรือรัฐบาลกราบทูลฯเท่านั้น


 


พระองค์สามารถจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่บนเงื่อนไขเดียวเมื่อรัฐธรรมนูญถูกทำลายหรือถูกยกเลิกชั่วคราว เพราะฉะนั้น การเรียกร้องให้มีการใช้พระราชอำนาจเป็นแนวคิดที่แย่มาก ด้วยเหตุที่มีนัยยะของการเชิญชวนให้มีการทำลายหรือการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยอำนาจที่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย และยังเป็นการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย


 


ดังนั้น การเรียกร้องให้มีการใช้พระราชอำนาจแทรกแซงทางการเมืองเป็นทางเลือกที่แพ้-แพ้-แพ้ของทุกฝ่าย ความสำเร็จอย่างเดียวที่จะได้จากการเรียกร้องนี้คือการไล่ทักษิณในฐานะปักเจกออกจากตำแหน่ง ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมากอย่างที่คิดกัน ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรที่หนักหน่วงเลยสักอย่างเดียว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่อาจได้รับชัยชนะจากการเลือกหนทางนี้จะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นขบวนการที่ต่อต้านประชาธิปไตย


 


ในแง่ประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าการเรียกร้องให้มีการใช้พระราชอำนาจแทรกแซงทางการเมืองเท่ากับเป็นการโยนพัฒนาการ 14 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2535 ลงในถังขยะแห่งประวัติศาสตร์ สำหรับคนที่คิดว่าเราไม่ควรยอมให้ทักษิณอยู่ในอำนาจต่อไปอีกแม้แต่วันเดียว ผมอยากจะถามว่าความเสียหายอันไหนมากกว่ากัน ระหว่างความเสียหายที่จะเกิดจากสิ่งที่ทักษิณอาจจะทำหากเขายังคงอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างรัฐบาลง่อยเปลี้ย กับความเสียหายของประวัติศาสตร์การต่อสู้ 14 ปีที่ผ่านมาและอีกมากกว่า 70 ชีวิตที่สูญเสียไปในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535


 


ผมเห็นด้วยกับผู้ที่ต่อสู้ว่าทักษิณหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศแล้ว เรามีสิทธิที่จะบอกว่าทักษิณควรต้องลาออกไป (สำหรับผม ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรม ไม่ใช่แม้แต่ข้อกล่าวหาแบบชาตินิยมหรือคลั่งชาติ แต่เป็นเรื่องการลุแก่อำนาจของเขาในหลายเรื่องหลายประเด็นในระหว่างห้าปีที่ผ่านมา) แต่เราจะต้องไล่เขาไปด้วยวิธีที่ถูกต้อง ประชาชนมีสิทธิที่จะกดดันเขานานตราบเท่าที่การกดดันนั้นยังเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงการชุมนุมประท้วง แต่การร้องขอให้มีการใช้พระราชอำนาจแทรกแซงทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องผิด


 


หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อเรื่อง "Royal Intervention denies our history" ในหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น [The Nation] ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ..2549 โดยผู้เขียนขอปรับแก้ชื่อบทความให้เหมาะสมในภาษาไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net