Skip to main content
sharethis



เสียงเพลงจังหวะเร่งเร้าหยอกเย้าอารมณ์ ผสมคละเคล้าด้วยภาพของหญิงสาวนักเต้นเท้าไฟในเครื่องแบบหนังสีดำรัดรูปที่กำลังดีดดิ้นด้วยลีลาหฤหรรษ์ ปลุกปั่นความปรารถนาของหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ให้หลงใหลเคลิบเคลิ้มไปกับมนตร์สะกดแห่งเรือนร่างในนามของอิสตรี

 


บนเวที...ดวงตาของพวกเธอดูสุกใส แต่แฝงไว้ซึ่งความลึกลับราวกับจะบอกเป็นนัยยะว่า พวกคุณนั่นแหละที่กำลังตกอยู่ภายใต้วังวนแห่งเล่ห์กลของดวงเนตร


 


ณ สถานที่แห่งนี้.. "โคโยตี้" คือสรรพนามของพวกเธอ


 


"โคโยตี้เกรดบี" ชีวิตนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ?


"ต่อให้มีเงิน ถ้าไม่อยากยุ่งก็ไม่ไป แต่ถ้ารู้สึกว่าคุยกันได้ไม่ต้องมาเลี้ยงหรอก เดี๋ยวไปเอง...เพราะหนูไม่ใช่ของใครทั้งนั้น"  ท่วงถ้อยวจีมุ่งมั่น ถูกสร้างสรรค์ผ่านริมฝีปากเรียวบาง ของนัยตาซุกซนคู่ที่เคยจับจ้องมาจากบนเวที


 


แม้ว่าที่นี่พวกเธอจะถูกขนานนามว่า "โคโยตี้" แต่ในเรื่องรายละเอียดของอาชีพนี้ที่สังคมไทยรู้จัก ก็ดูจะแตกต่างจากที่หลายคนคุ้นเคย เพราะพวกเธอไม่ใช่นักศึกษาสาวจากรั้วมหาวิทยาลัย และก็มิได้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างที่ใครเคยรับรู้กัน เพราะที่นี่เป็นเพียงค่าเฟ่เล็กๆ ที่หวังกำไรจากลูกค้าประจำวัยกลางคนขึ้นไป


 


ฝน หญิงสาววัย 23 ขับขานเรื่องราวชีวิต "งานที่นี่เริ่มตอนสองทุ่ม เลิกตอนตีหนึ่ง คืนหนึ่งหนูก็จะเต้นประมาณ 3 รอบ นอกจากนั้นก็จะสลับขึ้นร้องเพลงกับนักร้อง เรื่องรายได้ประจำก็ประมาณเดือนละ 8,000 กว่าบาท นอกนั้นเป็นรายได้จากพวงมาลัยที่ลูกค้าให้ แล้วก็ค่านั่งดริ๊งค์ อย่างค่าดริ๊งค์ดริ๊งค์ละ 150 บาท เราก็จะได้ 50 บาท"


 


"หลังเลิกงานถ้าลูกค้าชวนไปไหน ถ้าเราอยากไปเราก็ไป ไม่อยากไปเราก็ไม่จำเป็นต้องไป" หญิงสาวพรรณนาถึงความเป็นอิสระในการเลือกตัดสินใจที่จะรับผิดชอบในเรือนร่างของตนเอง แต่ในขณะที่เธอเชื่อว่าเธอมีอิสระในเรือนร่าง แต่เธอกลับถูกพันธนาการไว้ด้วยอำนาจแห่ง "ยา"


 


"ไอซ์...สเก็ตซ์" ซากปรักหักพังแห่งสงครามปราบปรามยาเสพติด


แม้ใครหลายคนจะรู้สึกพึงพอใจกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยความเชื่อมั่นว่า ตั้งแต่การปราบปรามครั้งรุนแรงในครานั้น ฉับพลันยาเสพติดก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับชีวิตของผู้คนซึ่งถูกระบุว่าเป็น "ผู้ค้ายา"


 


แต่ในความเป็นจริงของความลวง ใครบางคนก็รับรู้ว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิดและไม่ได้ห่างจากวิถีชีวิตประจำวัน


 


"หนูชอบเล่นสเก็ตซ์" โคโยตี้สาวคนเดิมบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตประจำวันของเธอ หลังจากที่เรารู้จักมักคุ้นกันมาระยะหนึ่ง


 


คำว่า "สเก็ตซ์" ที่เธอกล่าวถึง มิใช่ภาพของร้องเท้าที่มีล้อ หรือร้องเท้าติดใบมีดอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันหมายถึงเจ้ายาเสพติดที่มีลักษณะคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง ที่รู้จักกันในนาม "ยาไอซ์" ซึ่งระบาดอยู่ในสถานบันเทิงยามราตรี


 


เธอเล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มรู้จักเจ้ายาตัวนี้มาเป็นระยะเวลาปีกว่า ด้วยคำแนะนำจากเพื่อนร่วมอาชีพ จากวันนั้นถึงวันนี้ เธอพัฒนาตนเองจากการเป็นผู้เสพ กลายเป็นผู้จัดหาและแจกจ่ายให้กับเพื่อนในบางครั้ง


 


"หนูนี่แหละที่เป็นคนหาให้กับเพื่อน อย่างเมื่อเช้าเพื่อนก็โทรมาให้หาให้หน่อย" น้ำเสียงของเธอดูมั่นใจ และดูคล้ายกับว่ายาเสพติดที่ใครหลายคนหลงเชื่อว่าลดน้อยลงจากสังคมไทย เป็นเรื่องที่หาได้ง่ายไม่ต่างจากการแวะซื้อขนมริมทาง


 


"หนูก็ไปเอามาจากกิ๊กคนที่หนูเล่าให้พี่ฟัง เขาอายุสามสิบกว่าแล้ว ไม่ได้ทำอาชีพอะไรนอกจากเล่นการพนัน วันไหนอยากได้ของก็โทรไปหาเขา"


 


แม้เราจะรู้จักมักคุ้นกันมากขึ้น แต่เธอก็ไม่ยอมบอกแหล่งที่มาของเจ้ายาตัวนี้ แต่เท่าที่ทราบข้อมูลดูเหมือนว่าสถานที่ซึ่งเจ้ายาตัวนี้กบดานอยู่ มักจะอยู่ทางฝั่งธนบุรี รวมถึงอีกหลายสถานที่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแออัดไปด้วยสถานบันเทิง


 


แรงขับภายในที่จิตใจมิอาจรู้


ค่ำคืนหนึ่งที่มีโอกาสพบกันอีกครั้ง ฝนเข้ามาทักทายในลักษณะมึนเมาจากปฏิกริยาของเจ้ายานามคล้ายน้ำแข็ง เธอบอกเล่าเรื่องราวหลายอย่างที่เก็บเอาไว้ในใจ ทั้งเรื่องลูกสาววัย 3 ขวบ เรื่องรายได้ที่ต้องส่งให้พ่อแม่ และเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตรักอันซับซ้อน


 


จนกระทั่งเมื่อแสงอาทิตย์จับขอบฟ้า น้ำใสๆ ก็รินออกจากสองดวงตา โดยที่เธอมิยอมแพร่งพรายว่าเป็นเพราะเหตุใด


 


"เวลาที่หนูใช้มัน หนูลืมความเจ็บปวด" รอยยิ้มเล็กๆ ปนเปื้อนอยู่บนริมฝีปาก ขณะที่คราบน้ำตายังมิเหือดแห้ง


 


"เวลาที่หนูเมามากๆ หนูจะรู้สึกว่า ตาของหนูมันเคืองๆ หนูชอบส่องกระจกแล้วก็ขยี้มันจากเบาๆ แล้วค่อยๆ แรงขึ้นๆ จนรู้สึกว่ามันเจ็บ แล้วหนูก็จะเล่นยาอีกจนความเจ็บมันหายไป" เธออธิบายอาการย้ำคิดย้ำทำจากอาการมึนเมา


 


เครื่องแบบ และการคงอยู่ของยาเสพติด


หากถามว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ยาเสพติดยังคงอยู่ หลายคนคงรับรู้ว่ามันมีปัจจัยมากมายเกินคณานับ แต่ความบกพร่องในการปราบปราม ไม่ว่าจะด้วยความจงใจ หรือไม่จงใจ ก็คือปัจจัยสำคัญหนึ่งในนั้น


 


"หนูเกลียดตำรวจ... พี่รู้ไหม ตอนนี้ชื่อของเพื่อนหนูหลายๆ คนถูกบันทึกไว้บน สน.(สถานีตำรวจนครบาล)"


 


"มีอยู่วันหนึ่ง ตำรวจขึ้นไปหาเพื่อนหนูที่ห้อง เขาบอกว่ามีคนโทรแจ้งว่าเธอเล่นยา แต่วันนั้นที่ห้องไม่มียา ตำรวจคนนั้นบอกกับเพื่อนหนูว่า เอาอย่างนี้เธอไปเที่ยวกับพี่ แล้วพี่จะให้ 5,000 แต่เพื่อนหนูปฏิเสธ


 


"ตำรวจคนเดิมบอกว่า แต่ตอนนี้ประวัติของเธออยู่บนโรงพักนะ ถ้าไปด้วยกันพี่จะช่วยลบประวัติให้" หญิงสาว กล่าวด้วยอารมณ์หมั่นไส้และชิงชัง


 


แต่หลังจากนั้นไม่นานนักเธอก็มีโอกาสรู้จักกับตำรวจซึ่งทำหน้าที่ดูแลสถานบันเทิงยามราตรีซึ่งนักเที่ยวรู้กันดีว่าสามารถเปิดได้จนถึงรุ่งสาง แม้เธอจะปฏิเสธว่า นายตำรวจชุดดังกล่าวจะไม่มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องยาเสพติด แต่เพื่อนของเธอซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่าเป็น "เด็ก" ของนายตำรวจ ก็เป็นผู้แบ่งยามาให้เธอ


 


คำบอกเล่าจากชีวิตหญิงสาวยามราตรี ช่วยเผยให้เห็นข้อมูลบางด้านที่สังคมอาจเคยรับรู้ แต่แกล้งเมินเฉยด้วยความชาชิน และแม้ว่าพวกเธอเหล่านี้จะเชื่อมั่นว่าเธอมีสิทธิในการบงการร่างกายของตนเอง ไม่ว่าในทางที่ดี หรือทางร้าย แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเธอก็กำลังตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่เรียกว่า "อำนาจ" ไม่ว่าจะในหรือนอกเครื่องแบบ และน่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่ถูกเรียกว่า "ความถูกต้อง" ที่ตราไว้ในกฎหมาย กลับถูกแลกเปลี่ยนมาง่ายๆ ด้วยความปรารถนาใน "เรือนร่าง" อันบอบบางของสตรีผู้บอบช้ำทางอารมณ์


 


ประชาธิปไตย?


ท่ามกลางกระแสการเมืองที่กำลังลุกโชน ผู้เขียนมีโอกาสพบโคโยตี้สาวหน้าเดิมอีกหลายครั้ง พร้อมกับการหยิบยื่นคำถามอินเทรนด์ เกี่ยวกับการเมือง และคำตอบที่น่าสนใจจากเรือนร่างอันบอบบางเกี่ยวกับการเมืองก็บังเกิด "หนูไม่รู้หรอกเรื่องการเมือง หนูรู้แต่ว่ามันไม่ได้ช่วยให้พ่อแม่ และลูกของหนูอิ่ม และหนูก็ยังต้องทำงานอยู่เหมือนเดิม


 


"ทุกอย่างหนูเป็นคนเลือกเอง และไม่ต้องการให้ใครมารับรู้หรือรับผิดชอบ" หญิงสาวปิดเปลือกตาหลับใหลไปพร้อมกับข่าวการเคลื่อนไหวขับไล่รักษาการนายกรัฐมนตรี


 


ไม่ว่าคำตอบจากปากของโคโยตี้สาวจะถูก หรือผิดในความคิดเห็นของใคร แต่ก็น่าสนใจว่าแท้จริงแล้วความหมายของ "ประชาธิปไตย" ที่สังคมไทยกำลังตามหานั้นอยู่ที่ใด ระหว่างการให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจในการปกครอง และกำหนดวิถีชีวิตของเรา หรือความมีอิสระในการควบคุมร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนวิถีชีวิตของเราเอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net