Skip to main content
sharethis


 


ช่วงนี้ "หมาเฝ้าบ้าน" หรือสื่อมวลชนดูจะเนื้อหอมและเนื้อเหม็นไปพร้อมๆ กัน เพราะในสถานการณ์การเลือกข้าง ระหว่าง "ทักษิณ ออกไป" กับ "ทักษิณ สู้ๆ" คือการช่วงชิงมวลชนครั้งสำคัญ ซึ่งสื่อไม่ว่าแขนงใดก็ตามเป็นเครื่องมือสำคัญ


 


ดังนั้น ทุกฝ่ายต่างต้องการพื้นที่ข่าวของตนเอง และเมื่อสื่อให้น้ำหนักเอียงไปทางใด ฝ่ายที่เสียพื้นที่จะเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะเป็นการออกอาการน้อยใจ การด่าประณามทั้งตรงๆ และอ้อมๆโดยเฉพาะข้อหาเรื่องความเป็นกลาง หรืออาจรุนแรงไปถึงขั้นรณรงค์บอยคอตการเสพสื่อนั้นๆ ไปเลย เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม นาทีนี้สื่อทุกแขนงดูจะเทน้ำหนักไปทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ ลาออก มากขึ้น การทำงานในพื้นที่ข่าวนี้ก็ทำให้บางสื่อโดนข้อกล่าวหาหนักขึ้นเช่นกัน เช่นกล่าวหาว่านำเสนอข่าวไม่เป็นจริงออกไปจนเหมือนกับเป็นหมาน่ารักอย่างชุสุ หรือชิวาว่า ให้นายกฯลูบหัวได้


 


ในทางกลับกันบางสื่อโดนเรื่องการนำเสนอที่เอียงเข้าข้างหรือกัดมากเกินไปจนดูเป็นหมาพันธุ์ดุอย่างร็อธไวเลอร์หรือบางแก้วที่บางทีเจ้าของมันก็ฟัด ดังนั้นการทบทวนการทำงานของหมาหรือสื่อมวลชนในพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างน้อยผู้เสพสื่อจะได้รับรู้ว่ากำลังรับความจริงแบบใด ภายใต้ข้อจำกัดอะไร


 


เสพสื่อทีวี มุมกว้างที่ได้ทั้งภาพและเสียง


หากเปิดจอโทรทัศน์ก็ไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าอะไรเป็นอะไร เพราะผู้รับสื่อสามารถเห็นสิ่งที่เกิดได้แบบประจักษ์ตา แต่ทว่าเบื้องหลังคือสื่อนั้นๆ ตั้งใจให้เห็นและรับอะไรมากกว่า


 


ในการทำงานในพื้นที่พันธมิตรฯ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกมองในภาพลบมากที่สุดเนื่องจากมีการกล่าวหาว่าให้ข้อมูลบิดเบือนโดยเฉพาะตัวเลขผู้มาชุมนุมที่ผิดจากความเป็นจริงมาก แต่นักข่าวในพื้นที่ยืนยันว่าไม่เคยรายงานผิด และสามารถตรวจสอบการทำงานในฐานะสื่อมวลชนของเขาได้ตลอดเวลา


 


อนุวัติ เฟื่องทองแดง จากไอทีวีภูมิภาคเฉพาะกิจซึ่งได้รับหน้าที่ให้มาเกาะติดพื้นที่นี้ กล่าวว่า ไอทีวีทำงานในพื้นที่ลำบาก เพราะกลุ่มผู้มาชุมนุมบางส่วนค่อนข้างหวั่นไหวกับกระแสข่าวว่าไอทีวีเสนอข่าวบิดเบือน ทั้งๆที่ไม่ได้รายงาน และบางคนก็ไม่ได้ดูโทรทัศน์เลยด้วย


 


เขาเล่าวิธีการแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ว่า ใช้การชี้แจงกับทางแกนนำและแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยยินดีเอาบทให้ตรวจหากมีการแจ้งข้อผิดพลาด ส่วนประชาชนที่มาถาม ก็เอาโทรทัศน์ให้ดู ใช้ความอ่อนน้อม และไม่มีกริยาฉุนเฉียว บรรยากาศก็คลี่คลายขึ้น


 


"แต่บางกลุ่มที่ไม่เชื่อเราก็ต้องสงบสติอารมณ์ให้มาก ถามว่าเขาเดินมาด่าเราทุกวันหรือไม่ มาทุกวันแน่นอน แต่เราไม่อยากมีปัญหาก็คุยกับทางแกนนำ และพยายามเฉยรวมทั้งขอบคุณเขา บางคนระบุว่าไม่ดู เป็นสถานีเทมาเส็ก เราก็ยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย ถ้าไม่ดูก็ไม่เป็นไร"


 


เมื่อถามถึงความมีอิสระของสื่อ เขาตอบว่าทีมข่าวไอทีวีตอนนี้มีอิสระเยอะมาก ส่วนกลางบอกว่าอยากทำอะไรทำไปเลย ในพื้นที่ก็มาแบ่งงานกันต่อ สิ่งที่สำคัญมากสำหรับไอทีวีคือเรื่องประเด็นข่าว


 


"บางคนนั่งจับเวลาปล่อยภาพคนนี้แค่ 5 นาที  คนนั้นได้ 10 นาที เป็นเรื่องของการดูประเด็นมากกว่า เพราะบางทีแค่ 5 วินาที แต่อาจเป็นคำพูดที่เด็ดที่สุดของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ทำให้คนมาฟังมากขึ้นก็ได้ ตรงกันข้ามปล่อยคำพูดของนายกฯไปยี่สิบวินาที คำพูดมีแต่ไอ้เหี้ย ไอ้เห่ ไอ้ห่า เนี่ย ไอ้กุ๊ย ประเด็นคืออะไร ประชาชนก็ไม่เชื่อแล้ว"


 


ส่วนการสร้างสมดุลข่าวจะให้เรื่องของพันธมิตร ฝ่ายค้านและรัฐบาลเป็นแบบรูทีน จากนั้นจะพยายามหาคนเป็นกลางจริงๆ มาพูดเตือนสติว่า สิ่งที่ควรฟังเป็นอย่างนี้ ควรตั้งสติอย่างไร เพราะบางคนก็เชื่อซ้ายก็ซ้ายจัด ขวาก็ขวาจัด ดังนั้นภาพรวมจะออกมาเป็นสล็อตสอดคล้องกัน โดยมีบรรณาธิการประชุมต่อเพื่อเรียงสล็อตให้ดี คนดูจะรู้สึกว่าดูแล้วทั้งทั้งวันมีความเคลื่อนไหวและทิศทางอย่างไร


 


นอกจากนี้เมื่อให้เขามองไอทีวีจากประเด็นที่มีการทวงคืนให้กลับมาเป็นของประชาชน เขาตอบว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาช่วยกันปั้นมากกว่าว่าอยากให้เป็นอย่างไร เพราะถ้าทวงคืนแล้วเป็นระบบเดิมกลุ่มทุนก็กลับมาซื้ออีก กระบวนการคือแก้ไขให้ไอทีวีเป็นองค์กรอิสระไปเลย


 


"ไอทีวี ไม่ใช่ฟุตบอลให้ใครเตะไปมาก็ได้ ต้องเอากลับมา แก้กฎหมายชูเป็นสื่อสาธารณะมีคณะกรรมการดูแล หรือเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่มีอะไรแทรกแซงได้อีก คิดว่าคนในไอทีวีรับตรงนี้ได้ ไม่ยึดติดผู้บริหารถ้าตรวจสอบได้หรือมีค่าแรงที่เหมาะสมเหมือนทุกวันนี้"


 


หลังจากฟังสื่อที่มีภาพการแทรกแซงของรัฐไปแล้ว ก็ลองไปฟังเสียงขั้วตรงข้ามอย่างสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ที่โดนมองว่าเสนอข่าวเพื่อเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลเป็นหลักบ้าง


 


วรรัฐ ภูษาทอง ผู้สื่อข่าวเอเอสทีวี นิวส์วัน กล่าวว่า สิ่งที่เอเอสทีวีกำลังทำคือการตอบคำถามของสังคมที่เคยตั้งคำถามอย่างหนักต่อฟรีทีวีในการเสนอข่าวของรัฐบาลสูงมาก แต่ข่าวของฝ่ายตรงข้ามกลับเป็นไปในทางอคติ


 


"เรื่องใหญ่คือการช่วงชิงพื้นที่ในการนำเสนอข่าว พื้นที่ฟรีทีวีนั้นรัฐบาลมีสิทธิในการนำเสนอประชาชนได้มากกว่าฝ่ายที่คิดต่าง ดังนั้นเอเอสทีวีพยายามทำตัวเป็นคำตอบว่า ฝ่ายที่เสนอต่างสามารถมีพื้นที่บนเอเอสทีวีได้ เพราะเราก็ไม่คิดว่าจะมีแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งที่ควรถูกครอบงำ"


 


ส่วนภาพของเอเอสทีวีที่ดูผูกติดกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้ง ที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรด้วย เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ทางเอเอสทีวีต้องเคลียร์ตัวเองมาก เพราะรูปแบบการนำเสนอข่าวปัจจุบันของเอเอสทีวีก็ปรับเปลี่ยนการเสนอข่าวเป็นไปในลักษณะเหมือนถ่ายทอดสดตลอดเวลา


 


"การทำข่าวของเอเอสทีวีนิวส์วัน และกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ น่าจะใช้หลักเดียวกันว่า เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะส่วนตัว นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ บริษัทในเครือเมนาเจอร์ และเอเอสทีวี แต่ปัจจุบันไม่ได้มีตำแหน่งในด้านการบริหาร นายจินตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชาย ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารอยู่ ดังนั้นในส่วนการทำงานขึ้นกับการตัดสินใจของผู้บริหารไม่ใช่นายสนธิ"


 


นอกจากนี้ เขายืนยันว่าในกองบรรณาธิการจะมีความเป็นวิชาชีพกำกับ แม้จะถ่ายทอดสดส่วนของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ในส่วนของข่าวเบรกต้นชั่วโมง เบรกเที่ยงซึ่งเป็นเบรกใหญ่ก็จะนำเสนอข่าวของทุกฝ่าย รวมทั้งด้านอื่นๆ เช่น บันเทิงหรือกีฬาตามปกติ


 


"ในพื้นที่เราก็โดนมอง เพราะเราเป็นพนักงานของเอเอสทีวี แต่ยังไม่มีคำถามที่แรงๆ ว่าเราไม่เป็นกลาง มีการตั้งคำถามจริง แต่ผมตอบกับเพื่อนนักข่าวด้วยกันได้ว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่


 


"การทำงานตรงนี้มีแรงเสียดทานสูงแต่หวังว่าเรื่องจะจบในแง่ดี ผมก็อยุ่ในรุ่นที่ทันเหตุการณ์พฤษภา เคยร่วมและเห็นความสูญเสียที่เกิด เราภาวนาว่าจะได้ส่งสัญญาณ ข้อมูลข่าวสารที่ดีที่สุดให้ประชาชน เพื่อให้สังคมกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ในเร็ววัน"


 


เนชั่นทีวี เป็นอีกสื่อโทรทัศน์หนึ่งที่เกาะติดสถานการณ์มาโดยตลอด เจษฎา อุปนิ ผู้สื่อข่าว


กล่าวถึงความยากลำบากในการทำข่าวในสถานการณ์แบบนี้ว่า ต้องทำให้ครอบคลุมที่สุดตามหลักของเนชั่น คือกลางที่สุดไม่เสนอฝ่ายเดียวมากเกินไป


 


แต่เขาก็ยอมรับว่าเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่แหล่งข่าวคือคนในพื้นที่ก็หวั่นไหวตามบ้าง แต่ก็ต้องพยายามดึงเนื้อหาให้บาลานซ์ ไม่ใช่เสนอแต่ข่าวพันธมิตรฯจนกลายเป็นพันธมิตรร่วมไป บุคลิกต่างๆ ก็ต้องระวัง เช่นการโพกผ้าต่างๆ ก็อาจทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตได้


 


ส่วนประเด็นที่มองว่ายากคือ ประเด็นสาธารณะที่ออกไปแล้วจะยุยงคน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรง บางภาพที่เสนอเช่น เด็กตะโกนทักษิณออกไปมันสนุก มัน แต่ไม่ได้มีเนื้อหาสาระ ในส่วนตัวเขาจะประสานกับโปรดิวส์เซอร์ว่าจะเอาอะไรบ้าง จนสรุปกันว่า เอารายงานพิเศษของตัวเอง กับเนื้อหาบนเวทีที่เป็นเนื้อหาวิชาการจริงๆ ที่ไม่เน้นสีสัน


 


"เหนื่อยไหมก็คิดว่าเหนื่อย เพราะเรารายงานสดมาหลายวัน ไม่ได้พัก ผมจะรับผิดชอบช่วงกลางคืน ตั้งแต่สี่โมงเย็นถึงเที่ยงคืน บางทีก็ลากยาวถึงเช้า อย่างวันเดินขบวนตั้งแต่สี่โมงเย็น กว่าจะได้กลับไปอาบน้ำก็เที่ยงของอีกวัน ก็พอสมควร "เจษฎา กล่าวอย่างอารมณ์ดีพร้อมกับชวนคุยเรื่องทิศทางของสถานการณ์อีกเล็กน้อยและก่อนจะแยกย้ายกันไปทำงานเขาทิ้งท้ายไว้ว่า


 


"ไม่เคยทำอะไรที่นานขนาดนี้มาก่อน ไม่เคยทำม็อบใหญ่ๆ อย่างตอนพฤษภาทิมฬก็ไม่เคยผ่าน คราวนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่พอใจคือไม่เคยเห็นที่มาชุมนุมกันเยอะขนาดนี้ นานขนาดนี้ และเดินขบวนกันเป็นแสนแต่ไม่มีอะไรรุนแรงเลย แสดงว่าเขาทำการบ้านกันพอสมควร แม้ทิศทางของคนนำที่ตอนแรกก็กลัวกันพอสมควร เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เขาอยากทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ตัวเองหรือไม่ จะทำความรุนแรงหรือไม่ แต่เขาชูเรื่องความสันติ ไม่ใช่การทำลายล้าง เลยพอใจ เป็นภาพที่น่าสนใจติดตาม"


 


สื่อสิ่งพิมพ์ ได้เข้าถึงรายละเอียด


ในการชุมนุมของพันธมิตรฯ สื่อสิ่งพิมพ์แต่ละฉบับแทบจะเรียกได้ว่าไปตั้งกองบรรณาธิการย่อยๆ กันอยู่ที่นั่นเลยทีเดียว โดยทำงานกันแบบปักหลัก 24 ชั่วโมง หากไม่เลิกราข้าก็ไม่ไป


 


คุยกับ ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุวล หรือที่ใครๆ มักเรียกว่า น้าติ๊งค์ จากหนังสือพิมพ์มติชน ผู้มีประสบการณ์กับข่าวแบบนี้พอสมควร ช่วงนี้กำลังจับตาดู พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อย่างใกล้ชิด น้าติ๊งค์ได้อธิบายภาพรวมของการทำข่าวกับสถานการณ์ให้ฟังว่า การชุมนุมครั้งนี้ใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจนหรือเกษตรกรรายย่อยที่ผ่านมาจะไม่ใหญ่ขนาดนี้ แบบนั้นนักข่าวคนเดียวสามารถควบคุมได้ แต่ครั้งนี้มันใหญ่และกระจายรวมทั้งมีแกนนำเยอะ ส่วนเครือข่ายอาจจะมีเป็นร้อย การทำงานในช่วงต้นๆ จึงมีปัญหาพอสมควร


 


"ทำม็อบมาหลายปีก็ไม่เคยประสบกับม็อบแบบนี้ ดังนั้นวันแรกๆ จึงขลุกขลัก และเห็นว่าคนเดียวเก็บไม่ได้ละเอียดก็จะมีการแบ่งกันไปดูเฉพาะเลย"


 


น้าติ้งค์บอกว่า การที่มีคนมาชุมนุมเยอะขนาดนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องภาพลักษณ์ด้วย เพราะตอนแรกๆ เป็นภาพลักษณ์ของนายสนธิ จึงเป็นเพียงม็อบเล็กๆ ในสวนลุมพินี ที่มีลักษณะเป็นปัญหาส่วนตัวระหว่างสนธิกับนายกฯ  แต่ภายหลังรวมตัวเป็นครือข่ายก็ทำให้ภาพลักษณ์สนธิที่ไม่ดี มาดีขึ้น และการชุมนุมก็ใหญ่ขึ้น จากนั้นนักข่าวต้องมองหาคนที่จุดประเด็นสำคัญคนอื่นๆในการชุมนุมด้วย


 


"ตอนนี้ดู พล.ต. จำลอง เพราะเป็นตัวปลุกม็อบให้ใหญ่ขึ้น ถ้าวิเคราะห์แล้ว แม้สนธิจะมีกำลัง แต่ พล.ต. จำลองมีทั้งกำลังและภาพลักษณ์ด้วย"


 


การดูความสำคัญของข่าว ในช่วงแรกๆข่าวมุ่งไปที่การเคลื่อนกระบวน แต่หลังๆ น้าติ๊งค์มองว่า เริ่มจืด สื่อจึงต้องหาตัวอื่นเสริมขึ้น เพราะการทำข่าวรายวันจะมีข่าวเด่นอยู่นานไม่ได้ เพราะเพียงวันเดียวประเด็นก็ตก ประเด็นต่อมาจึงอยู่ที่แอ็คชั่นของพวก 5 แกนนำ


 


"แรกๆ ก็เป๋ไม่มีแอ็คชั่นข่าวก็ดาวน์ แต่เขาก็มีที่ปรึกษาเป็นสื่อ สนธิก็เป็นสื่อ ก็ต้องหาประเด็นให้ข่าวมีต่อเรื่อยๆ คนจะได้มาเยอะๆ เป็นจิตวิทยา เช่น เคลื่อนไปที่โน่นที่นี่ เราก็ต้องไปแม้จะรู้ว่าบางทีประเด็นนี้ปล่อยข่าวก็ต้องเอา แต่ต้องรักษาความเป็นกลางด้วยว่า ถ้าปล่อยแล้วสร้างความเสียหายกับอีกฝ่ายหรือไม่"


 


อย่างไรก็ตาม น้าติ๊งค์บอกว่า นายกฯคงหวังผลแค่ให้ถึงวันที่ 2 เพราะเมื่อเลือกมา 19 ล้านเสียง ยุบสภาแล้วเลือกมาอีกก็ได้ สื่อก็ต้องวัดว่า น้ำหนักเป็นอย่างไรต้องหาประเด็นไปถามเพื่อเปิดประเด็นต่อให้ได้


 


ส่วน วิจักร์พันธุ์ หาญลำยอง นักข่าวหนุ่มจากไทยโพสต์ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่เคยถูก "ชินคอร์ป" ของนายกฯรัฐมนตรีฟ้องหมิ่นประมาทแต่รอดมาได้เพราะเมื่อไม่นานนี้ศาลยกฟ้องไปแล้ว


 


เขากล่าวว่า ไทยโพสต์ถูกมองว่าเอียง คือเสนอว่าเสนอภาพลบรัฐบาลมากเกินไป แต่ตอนนี้นี้มันชัดว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศอยู่แล้ว และมุมมองนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับไทยโพสต์ เท่านั้น หนังสือพิมพ์อื่นๆ อย่างไทยรัฐ เดลินิวส์ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยลงข่าวภาพลบของรัฐบาลมากนัก ตอนนี้ก็มาสนใจตรงนี้ ดังนั้นจึงเป็นการเสนอความจริงตามที่เห็นมากกว่า ไม่ได้เลือกข้าง


 


"ต้องยอมรับว่า คนไม่เอารัฐบาลเยอะขึ้นกระแสทางความคิดถูกจุดขึ้น อย่างเมื่อก่อนคนจะไม่เข้าใจเรื่องหุ้น เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การแปรรูป แต่ตอนนี้ได้ข้อมูลมากขึ้นก็เห็นความไม่ชอบธรรมมากขึ้น"


 


วิจักรพันธุ์ได้รับหน้าที่หน้าที่ดูบรรยากาศทั่วไปทั้งเวที สัมภาษณ์แกนนำ ส่วนคนอื่นๆ ก็แยกไป เพราะไทยโพสต์มีทีมข่าวมาหลายคน เนื่องจากประเด็นมีหลากหลายมาก ทั้งจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ ประชาชน ตำรวจ อยู่ที่จะเอาอะไรมาเล่น จากนั้นนักข่าวในพื้นที่จะคุยกันอีกทีเพื่อวางแผนงาน


 


ส่วนข่าวประเภทสีสันของการชุมนุม จากการพูดคุยกับ ธัญญธร สารสิทธิ์ นักข่าวสาวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เธอบอกว่า ประเด็นพวกนี้มีความสำคัญที่ทำให้เห็นนัยยะอีกด้านหนึ่งที่แฝงมากับการชุมนุม


 


ทั้งนี้ ประเด็นหลักอื่นๆ จะมีนักข่าวที่ติดตามอยู่ หน้าที่ของเธอคือหาประเด็นใหม่ๆ ที่ไม่เน้นไปที่แกนนำ อาจจะเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว ชาวบ้าน เด็ก ที่มีมุมแปลกใหม่ไปกว่าข่าวหลัก


 


"บางครั้งเรามองเห็นคนแจกอาหารฟรี แรกๆ คิดว่าเป็นคนของเครือผู้จัดการ แต่ไม่ใช่ บางคนมาจากจังหวัดอยุธยาเลย คือเราทำให้เห็นว่าชีวิตของคนที่มาชุมนุมในแต่ละวันเป็นอย่างไร ในช่วงแรกๆ จะมีประเด็นเยอะมากและทางทีมก็ให้น้ำหนักเยอะ แต่ตอนนี้ทีมสีสันถอนตัวมาพอสมควร จะไปในช่วงที่มีการนัดเคลื่อนไหวใหญ่ๆ"


 


อย่างไรก็ตามเธอบอกด้วยว่าในการทำงานสีสันก็ต้องรู้ประเด็นหลักและสถานการณ์รายวันเพื่อเป็นการจุดประเด็นใหม่ๆ นอกจากนี้ทีมของเธอจะต้องทำหน้าที่ในการสังเกตการณ์สิ่งผิดปกติในการชุมนุมด้วย ดังนั้นหากมีเหตุอะไรทีมนี้จะรู้ก่อนและส่งข่าวให้กับส่วนกลางและทีมหลักเพื่อประเมินสถานการณ์และปรับทิศทางการทำงาน


 


ภารกิจของหมาหรือสื่อมวลชนคงไม่มีวันเสร็จสิ้น ไม่ว่าจะมีการชุมนุมหรือไม่ พวกเขากำลังเฝ้ามองประเทศไทยท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ  ในแง่ดีก็ทำให้ใจชุ่มชื้นขึ้นมา ในแง่ลบก็มีความหมายถึงการปรับปรุงแก้ไข


 


ดังนั้น หากเห็นพวกปลอกแขนเขียวๆ ที่พิมพ์อักษรสีเหลืองว่า "PRESS"  ในที่ชุมนุมก็ฝากเอ็นดูพวกเขาไว้ในอ้อมใจด้วย แล้วเขาจะกลายเป็น "หมาเฝ้าบ้าน" ที่ซื่อสัตย์และเที่ยงตรงสำหรับคุณ ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net