Skip to main content
sharethis

โดย สามสอ


 


ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องศาสนาและการเมืองมิใช่เรื่องที่อยู่กันคนละขั้ว และโดยความเป็นจริงแล้ว ในสังคมทุกๆ สังคม  การเคลื่อนไปของสังคมต้องขึ้นอยู่กับการเมือง อันเป็นปัจจัยที่สำคัญ ทั้งนี้ การเมือง มิใช่เรื่องของปรากฏการณ์ที่เรารับทราบกันอยู่ในปัจจุบัน จากการเลือกตั้ง การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือการสาดโคลนใส่กันระหว่างนักการเมือง โดยที่สื่อต่างๆ เป็นตัวกลางนำเสนอภาพความขัดแย้งนั้น ซึ่งหลายๆ ครั้งทำให้ภาพลักษณ์ของการเมืองเป็นเรื่องที่สกปรกและไม่น่าเข้าไปเกี่ยวข้อง


 


แท้ที่จริงแล้ว การเมืองเป็นสายสัมพันธ์ตามธรรมชาติที่จำเป็นเพื่อประสานส่วนต่างๆ ของสังคมเข้าด้วยกัน และมีเป้าหมายเพื่อการสรรค์สร้างและส่งเสริมให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม การเมืองที่แท้จริงต้องนำไปสู่การเคารพอิสรภาพของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความผาสุก และเป็นเงื่อนไขที่จะช่วยให้บุคคลมนุษย์ไปสู่การเป็นคนดีที่แท้จริง การเมืองเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งที่ชาวคริสต์จะใช้เพื่อชี้ให้เห็นพันธะของตนในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ ซึ่งพันธะดังกล่าวนี้คือ นัยแห่งคุณค่าทางศาสนาหรือศีลธรรมที่ทุกคนพึงมี และนี่คือความสัมพันธ์ที่แยกกันออกไม่ได้ระหว่างศาสนา หรือจริยธรรมและการเมือง


 


พระเยซูเจ้ากับการเมือง


เราสามารถเรียนรู้ ความรับผิดชอบซึ่งกันและกันระหว่างศาสนจักร (คริสตชน) กับการเมือง จากพระวรสารของนักบุญมัทธิว (มธ.) และนักบุญลูกา (ลก.) ซึ่งถือได้ว่าท่านเป็นนักการเมืองนิยม และพระวรสารของท่านถือได้ว่าเป็นพระวรสารทางสังคม  จากงานเขียนของนักบุญทั้งสอง แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงสนับสนุนคริสตชนให้ยึดถือจริยธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง


 


เรื่องแรก พระเยซูเจ้า เป็นประจักษ์พยานว่า ในสังคมของชาวยิวนั้น อำนาจทางโลกและทางธรรมต้องสอดคล้องและหนุนเสริมกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง จริยธรรมทางศาสนาต้องเป็นตัวถ่วงดุลความถูกต้องชอบธรรม ให้เกิดขึ้นในมิติด้านการเมือง (รวมไปถึงด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย) ดังบทพระวรสาร ที่กล่าวถึงการเสียภาษีของชาวยิว ในสมัยที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวโรมัน  พระเยซูเจ้าทรงกล่าวว่า "หากเป็นของของซีซาร์ จงคืนให้กับซีซาร์ และของของพระเจ้า จงคืนให้กับพระเจ้า" (ลก. 20: 19-26) นั่นหมายความว่า พระเยซูเจ้า ทรงต้องการบอกแก่ชาวยิวว่า เมื่อเราอยู่ในสังคม จำเป็นต้องมีการกำหนดกฎระเบียบ หรือกติกา และประชาชนต้องยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อให้สังคมโดยรวมมีความสงบ ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎของบ้านเมือง ในขณะเดียวกันก็ต้องประพฤติปฏิบัติตนในฐานะที่เป็นคริสตชน และการเป็นคริสตชนที่ดีนั้น มิใช่เฉพาะการเอาตัวรอดเฉพาะตนเองตามบทบัญญัติของศาสนาเท่านั้น แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้มโนธรรมในฐานะผู้มีความเชื่อ เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมรอบข้าง หรือ เหตุการณ์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน


 


เรื่องที่สอง การเป็นคริสตชนที่ดี ไม่เพียงแต่ประพฤติปฏิบัติตนไปตามกฎระเบียบของบ้านเมืองอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องทำหน้าที่เป็นประกาศก ประกาศออกไปถึงสิ่งไม่ถูกต้อง เรื่องไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา อาทิ  การปฏิบัติงานขององค์กรการเมืองระดับท้องถิ่น  หรือโครงการพัฒนาของรัฐบาล ที่ทำให้ชุมชนต้องสูญเสียผลประโยชน์ของชุมชน ไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตนของนักการเมือง กองทุนช่วยเหลือหมู่บ้านในเรื่องต่างๆ  ที่ค่อยๆ กัดเซาะคุณธรรมที่ยึดความเป็นชุมชนคาทอลิกไป สิ่งที่น่าเสียดายที่สุด คือ ปัจจุบัน ศาสนจักรหรือวัด ไม่สามารถติดตามคริสตชนที่ต้องถูกกีดกันออกไปอยู่ที่อื่น ได้เหมือนกับอดีตที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนคริสตชน ด้วยเหตุนี้ การที่คริสตชนไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองที่จะต้องช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมในโครงสร้างทางบ้านเมืองแล้ว คริสตชนกำลังละเลยที่จะยืนยันความเป็นคริสตชนของตนเอง ในการทำหน้าที่บอกกล่าวร้องเรียนถึงสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลที่แฝงมากับภารกิจการเมืองต่อเรื่องนี้ ในพระวรสารของนักบุญมัทธิว ได้แสดงถึงความกล้าหาญของท่านยอห์น บัปติสต์ ที่ได้เตือนประชาชนผู้กระทำในสิ่งที่ฉ้อฉล ผิดศีลธรรมด้วยวิธีต่างๆ นานา โดยเฉพาะในกรณีที่กษัตริย์เฮโรด ได้กระทำผิดประเพณี โดยไปแต่งงานกับนางเฮโรเดียส ซึ่งเป็นภรรยาของน้องชายของพระองค์เอง ท่านยอห์น ได้ตำหนิการกระทำของเฮโรดว่าเป็นเรื่องที่ชั่วช้า ซึ่งต่อมาเฮโรดก็สั่งขังคุกท่านยอห์น และที่สุดท่านยอห์นก็ถูกตัดศรีษะ โดยภรรยาของเฮโรดคนนี้ (มธ.14: 1-12)


 


เรื่องที่สาม พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่า อำนวจทางศาสนาคือ อำนาจทางการเมืองด้วย (ลก.20:1-8) โดยนัยนี้ คงต้องทำความเข้าใจว่า ทั้งศาสนาและการเมืองเป็นเรื่องที่ชาวยิวในสมัยนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ศาสนามีบทบาทเอกที่จะชี้นำให้ระบอบการปกครองเป็นไปตามครรลองของสังคม และเมื่อสังคมมีสันติจากโครงสร้างการเมืองที่ยุติธรรมและชอบธรรมแล้ว ศาสนาก็ดำเนินบทบาทในการดูแลด้านชีวิตฝ่ายวิญญาณของคริสตชน ในที่นี้ หากอ่านพระคัมภีร์ตอนนี้จากสถานการณ์ปัจจุบัน อำนาจทางศาสนา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงบุคคลที่อยู่ในสถานะที่ชอบธรรมต่อการใช้อำนาจนี้ให้เป็นประโยชน์ อาทิ บรรดาพระสงฆ์ นักบวช เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมให้คำแนะนำต่อคริสตชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง หรือทำหน้าที่เตือน หากมีปรากฏการณ์บางอย่างที่กำลังบิดเบือนการใช้อำนาจทางการเมือง นั่นคือ ผู้ที่อยู่ในสถานะของผู้นำ จะนิ่งเฉยไม่ได้กับสถานการณ์ความเป็นจริงทางสังคม เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การดำรงอยู่ของสังคมต้องมาจากกระบวนการทางการเมือง เพื่อการเข้าใจง่ายที่สุด คือ ทุกๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมต้องมาจากการตัดสินใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการเมือง


 


คำสอนด้านสังคมกับการเมือง


ในสมณสาสน์ Octogesima Adveniens ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเอกสารคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร หลังสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 พระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้เสนอความคิดใหม่ต่อเรื่องการเมืองว่า "ชาวคริสต์มีหน้าที่ที่จะร่วมขบวนการแสวงหา... ร่วมจัดการระเบียบของสังคมและร่วมชีวิตทางการเมืองของสังคม" (24) นอกจากนี้ ในเอกสารฉบับเดียวกัน พระสันตะปาปาทรงย้ำว่า เรา (คริสตชน) ต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง  และพยายามช่วยให้นักการเมือง และผู้ปกครองบ้านเมืองนำหลักการที่มีพื้นฐานด้านคุณค่าทางศาสนา (จริยธรรม) ไปใช้อย่างเหมาะสม พระองค์เตือนว่า บ่อยครั้งที่ผู้ที่ปฏิบัติตนเคร่งครัดตามข้อบังคับทางศาสนา ละเลยที่จะเชื่อมโยงความเชื่อของตนเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เราคริสตชนไม่ค่อยให้ความใส่ใจต่อความเคลื่อนไหวทางบ้านเมือง  นอกจากนี้ ยังใช้อคติของตนในการตัดสินคริสตชนคนอื่น ในยามที่เขากำลังทำหน้าที่เป็นมโนธรรมทางสังคม  แต่กลับมืดบอดมองไม่เห็นคริสตชนจำนวนไม่น้อย ที่เข้าไปสู่ระบบดังกล่าว ได้สูญเสียเอกลักษณ์แห่งความเป็นคริสตชนไปกับโครงสร้างและอำนาจที่จอมปลอม


 


พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย เมื่อยิ่งเป็นพระศาสนจักรของคริสตชนกลุ่มเล็กๆ ก็ต้องทำให้ความหมายของพลังเล็กๆ นี้สมบูรณ์   เราต้องเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม อ่านเนื้อหาและจับใจความของบทเรียนการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ ใจกว้าง จำเป็นที่จะเข้าถึงสาเหตุแห่งอคติของฝ่ายต่างๆ  เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะผู้รักษาแสงสว่างทางจิตใจ และเป็นดั่งเกลือรักษาความเค็ม แห่งศีลธรรม คุณธรรม และจิตวิญญาณ อันสูญสลายไม่ได้ แม้ว่าระบอบการเมืองจะหยุดทบทวนตัวเองเป็นช่วงๆ ก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net