Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2549 นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดแถลงข่าว ผ่าทางตันสถานการณ์การเมืองก่อนการเลือกตั้งว่า ระบุหลังการเลือกตั้ง ปัญหาจะเปลี่ยนจากวิกฤติผู้นำ เป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่วิกฤติประชาธิปไตยทั้งระบบ เรียกร้องพันธมิตรฯ เปลี่ยนยุทธศาสตร์ชุมนุมยืดเยื้อ เป็นการเลือกชกเป็นครั้งคราว


 


อดีตผู้นำนักศึกษาผู้นี้ ให้เหตุผลถึงข้อเรียกร้องครั้งนี้ว่า


1. เป้าหมายสุดท้ายของการต่อสู้ก็เพื่อการปฏิรูปการเมือง เพื่อสร้างการตรวจสอบให้ระบบการเมืองมีคุณธรรม ความรับผิดชอบ


2. การชุมนุมบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว เพราะได้ทำให้อำนาจทักษิณเสื่อมถอย จึงควรเปลี่ยนยุทธวิธีเป็นการชุมนุมใหญ่เป็นคราวๆตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป


3. นอกจากวิกฤติจริยธรรมผู้นำที่ดำรงอยู่แล้ว ยังจะเพิ่มวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก จากที่จะไม่ได้ ส.ส.ครบ 500 คน จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งถ้าได้ส.ส.ไม่ครบและมีการตีความว่ารัฐสภาเกิดขึ้นแล้ว จะมีปัญหาว่า บางภาคโดยเฉพาะภาคใต้ไม่มีระบบตัวแทนที่เหมาะสมถูกต้อง ภาวะภูมิภาคนิยมและความขัดแย้งเชิงภูมิภาคอาจก่อตัวขึ้น


 


"สิ่งสำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะนายกฯ รักษาการ ยังอาจเอื้อมกราบบังคมทูลขอทรงเปิดรัฐสภาให้ประเทศมีการปกครองแบบสภาพรรคเดียว และหวนกลับมาเป็นนายกฯ อีกหรือ หากมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็ยุบสภา อ้างกติกาเลือกตั้ง หวนกลับมาอีกไม่รู้จบ ขณะเดียวกันยังมีแนวโน้มว่า การเลือกตั้ง 2 เมษา อาจเต็มไปด้วยความสกปรก ดังปรากฏข่าวการจัดฉาก ฉ้อฉลของพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ขององค์กรอิสระ เช่น ปลอมคุณสมบัติผู้สมัคร ซื้อพรรคและผู้สมัครส.ส. นอมินี ซื้อคะแนนเสียงให้ตัวเอง ให้คู่แข่ง การจะให้สภาเปิดประชุมได้ ยังต้องยืมมือกกต. รับรองการเลือกตั้งให้สะอาด และศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความขัดกับคำวินิจฉัยครั้งแรกของตัวเอง"


 


นายธีรยุทธ ยังกล่าวด้วยว่า โทษทัณฑ์ 10 ประการที่ พ.ต.ท.ทักษิณสร้างและย้อนกลับเข้าตัวเองรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้รับคะแนนเสียงเท่าใด การขาดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศในแง่การไร้คุณธรรมและจริยธรรมจะยังคงอยู่ ไม่มีสิ่งใดมาลบล้างได้ จะเพิ่มปัญหาว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ เป็นการโกงกติกา ฉ้อฉลอำนาจองค์กรอิสระ จ้างพรรคเล็ก ฮั้วคะแนนเสียง ฯลฯ


 


นอกจากนี้ โดยธรรมเนียมทุกครั้ง นายธีรยุทธยังให้ฉายา พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็น "แม้ว จ๊กมก" ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสมเพชในสายตาต่างชาติ


 


ต่อข้อเรียกร้องที่มีต่อพันธมิตร นายธีรยุทธ ยังได้เสนอข้อแนะนำว่า พันธมิตรควรเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีให้สอดคล้องคือ โดยเตรียมตัวสำหรับการต่อสู้ที่ยาวนานเป็นหลายๆ เดือน คล้ายการต่อสู้ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก และควรยกระดับจากพันธมิตรเป็นแนวร่วมถาวร โดยขยายตัวร่วมกับกลุ่มวิชาการ วิชาชีพ แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักกฎหมาย ทนายความ ดารานักแสดง ตัวแทนภูมิภาคต่างๆ เพื่อขยายความชอบธรรมของตัวเองมากขึ้นตลอดเวลา


 


ส่วนกรณีมาตรา 7  นายธีรยุทธระบุว่า มาตรา 7 เป็นเพียงประเด็นย่อยที่นำไปสู่การแก้ไขวิกฤต โดยตามประเพณีของไทยในอดีต ชาวบ้านเคยพึ่งบารมีในหลวงโดยใช้การถวายฎีกาเพื่อการร้องทุกข์ต่างๆ จึงมองว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเหมือนชาวบ้านธรรมดา โดยเราต้องแบบปล่อยวาง อย่าคิดว่า ไม่ควรให้สถาบันพระมหากษัตริย์มาแก้ไขความขัดแย้ง แต่ควรมองแบบเสรีนิยม เพราะความจริงพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง และไม่ได้มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในสภา แต่ภายหลังที่ผู้อาวุโสในบ้านเมืองมาไกล่เกลี่ยแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นคนสุดท้ายที่มาลดความขัดแย้ง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ พฤษภาทมิฬ ทั้งนี้ในโลกปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ยังมีความสำคัญ ทรงอยู่ในฐานะผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นผู้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net