"อัล-จาซีร่า" ปักหลักมาเลย์ หันหน้ามองชายแดนใต้

 

 

วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2006 20:21น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ไม่แพ้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิรัก ปาเลสไตน์ อัฟกานิสถาน หรือในประเทศที่เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา

 

สำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ชื่อดังไม่ว่าจะเป็น BBC ของอังกฤษ สถานีโทรทัศน์ CNNและ ABC ของสหรัฐอเมริกา สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น และสื่อมวลชนจากฟากตะวันตกอีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เคยเดินทางเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดของไทยด้วยกันทั้งสิ้น

 

ล่าสุดสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความสนใจจากสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอาหรับ ที่มาแรงอย่าง "อัล-จาซีร่า" (AL-JASIRAH) สำนักข่าวของโลกอาหรับที่ได้รับการยอมรับทั้งในโลกทั้งตะวันตกและตะวันออก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ อยู่กรุงโดฮาร์ ประเทศกาตาร์

 

อัล-จาซีรา เริ่มแรกมีเพียงภาษาอาหรับเพียงอย่างเดียว และล่าสุดได้เปิดสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษ เมื่อช่วงกลางปี 2548 โดยได้ขยายสำนักงานสาขาไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือแม้แต่ประเทศออสเตรเลีย กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และ ล่าสุดเพิ่งมาเปิดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ที่ดูแลสำนักข่าวของอัล-จาซีร่า ภาคภาษาอังกฤษในภาคพื้นเอเชียและมีความเป็นไปได้ในอนาคต ที่จะเปิดสำนักงานอีกแห่งหนึ่งในกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย

 

ดาวิยา โกโฟร์ลัน โปรดิวเซอร์และผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์อัล-จาซีร่า ระบุว่า เรามีผู้สื่อข่าวของอัล-จาซีร่า ประจำที่สาขาประเทศมาเลเซีย 20 คน และมีแผนที่จะขยายเพิ่มอีก 40 คน โดยจะคัดเลือกผู้มีประสบการณ์ด้านการทำข่าว และมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในขั้นดีเข้ามาร่วมทีม

 

"ปัญหาภาคใต้ของไทย อยู่ในความสนใจของอัล-จาซีร่า โดยเฉพาะหลังจากที่ได้ติดตามการนำเสนอของสื่อมวลชนในมาเลเซีย ทำให้ข่าวอัล-จาซีร่าส่งผู้สื่อข่าวมายังภาคใต้ จำนวน 3 คน เพื่อติดตามประเด็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหาร ในด้านการป้องกัน ปกป้อง ดูแลความสงบสุขของประชาชนและการดูแลความปลอดภัยของครู การลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ทหาร ในหมู่บ้าน นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ พ.ร.ก ฉุกเฉิน" ดาวิยา ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ประกาศข่าวของ สถานีโทรทัศน์ BBC ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นานถึง 8 ปีระบุ

 

โทนี่ เบิร์ดเลย์ ผู้สื่อข่าวของอัล-จาซีร่า ที่เดินทางมาทำข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เราไม่ได้เลือกทำข่าวว่า ใครเป็นมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร แต่สิ่งสำคัญก็ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้นในเรื่องความเป็นธรรม ยุติธรรม เกิดขึ้นหรือไม่ เราไปยังประเทศต่างๆ ที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในประเทศ ไม่ว่าจะประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ไม่ว่าเขาจะเป็นคริสเตียนหรือมุสลิมหรือพุทธหรือฮินดู เราจะนำเสนอเรื่องความยุติธรรมเป็นหลัก

 

สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอัลจาซีร่า ได้รับเงินสนับสนุนในการก่อตั้งดำเนินการจากรัฐบาลกาตาร์ ในลักษณะกู้ยืมวงเงิน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผลงานที่ทำให้อัลจาซีร่าโด่งดังไปทั่วโลกคือ ข่าวสงครามอัฟกานิสถานในช่วงปี 2544 และข่าวสงครามอิรัก ในปี 2546

 

การทำงานของอัลจาซีร่าอยู่ในระดับเทียบเคียงกับสื่อมวลชนในโลกตะวันตก เนื่องจากทีม งานส่วนหนึ่งเคยทำงานในองค์กรข่าวยักษ์ใหญ่อย่างบีบีซี และซีเอ็นเอ็น มาก่อน เพียงแต่จุดต่างในความรู้สึกของผู้ชมก็คือ จุดยืนอัลจาซีร่าซึ่งไม่โน้มเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป อีกทั้งผู้บริหารยังเปิดโอกาสให้กองบรรณาธิการทำงานได้อย่างอิสระ

 

ทั้งนี้วิธีคิดในการนำเสนอภายใต้หลักเสรีภาพสื่อมวลชน และความเป็นอาหรับนิยม ทำให้อัลจาซีราได้รับความนิยมมากในตะวันออกกลาง รวมถึงชาวอาหรับโพ้นทะเลที่กระจายอยู่ทั่วไปในทวีปต่างๆ อาทิ ยุโรป อเมริกาและอัฟริกาเหนือ โดยคาดว่า มีผู้ชมสถานีอัลจาซีร่าถึง 40 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงสมาชิกขององค์การโอไอซี (Organization of Islamic Conference) 57 ประเทศ

 

โดยเฉพาะเมื่ออัลจาซีราเปิดภาคภาษาอังกฤษ (อัลจาซีรา อินเตอร์เนชั่นแนล) ซึ่งเป็นการออกอากาศผ่านสถานีสาขาอาทิ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสมดุลข่าว โดยเน้นลูกค้าในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Ailgned Move ment) หรือชาติกำลังพัฒนาจำนวน 116 ประเทศซึ่งสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากการที่อัลจาซีรา มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศมาเลเซีย

 

ทั้งนี้มีผู้วิเคราะห์ว่า การตั้งสาขาของ "อัลจาซีรา" ในประเทศมาเลเซีย น่าจะส่งผลให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ต้องเข้าไปใกล้ชิดกับปัญหาตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น รวมถึงปัญหาขบวนการก่อการร้ายสากลด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท