Skip to main content
sharethis

 



ธีรมล บัวงาม


สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี


มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


 


ราวกลางเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้เฉลิมฉลองก้าวปีที่ 4 วันครบรอบสถาปนากระทรวง ด้วยการประกาศเน้นดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล 3 ด้าน คือ หนึ่งขจัดความยากจน ส่งเสริมการมีงานทำ และขยายการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการประกันสังคมไปถึงแรงงานในภาคเกษตรและแรงงานนอกระบบ  สองพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และสามปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สมดุลและสร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ


 


เป้าหมายทั้ง 3 ด้าน อยู่ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ 1.การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง 2.เพิ่มโอกาสการมีอาชีพมีรายได้เพื่อขจัดความยากจน 3. เพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน 4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแนวประชารัฐ และ 5.เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าเพื่อเสริมจุดยืนที่ชัดเจนในเวทีการค้าโลก


 


ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่าทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นประเทศทุนนิยมสมัยใหม่ ด้วยการเร่งพัฒนากำลังการผลิต เร่งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ  เร่งเจรจาและเปิดเขตการค้าเสรี ชักชวนบรรษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในด้านต่างๆ  เร่งจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตส่งเสริมการส่งออก แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ฯลฯ ได้เข้ามากระทบ และกุมชะตากรรมของแรงงานไทยในทุกๆ ด้านเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ และต้องแบกรับผลกระทบทั้งร้ายและดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!


 


ฉันทนาสุดทนหลงคารม-ถูกละเมิดสิทธิ์


 


น.ส.อรุณี ศรีโต รองประธานกลุ่มบูรณาการสตรี กล่าวในงานสัมมนา "5 ปีรัฐบาลกับการแก้ปัญหาแรงงานหญิง" ซึ่งจัดร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทเนื่องในวันครบรอบสตรีสากล 8 มี.ค.ว่า นโยบายรัฐบาลทักษิณด้านแรงงานทั้งหมดที่ผ่านมา สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ใส่ใจที่จะแก้ปัญหาแรงงานอย่างจริงจัง แต่กลับให้ความสำคัญกับนักลงทุนและนายจ้างมากกว่าคุณภาพชีวิตและการเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน


 


"ดังจะเห็นได้จากเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง อาทิ การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กตั้งภายในโรงงาน ซึ่งนายกฯได้ให้สัญญาตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือในเรื่อง พ.ร.บ. สถาบันความความปลอดภัย ที่เคยรับปากไว้ แต่ในฉบับที่มีการยกร่างกลับไม่มีสิ่งที่แรงงานเคยเรียกร้องหรือต้องการเลย มันจึงแค่เป็นเหมือนการหลอกกันให้หลงดีใจ"


 


"ที่น่าเสียใจมากที่สุด คือ 5 ปีรัฐบาลไม่มีนโยบายปรับการจ้างงานแบบเหมาช่วง  แต่กลับส่งเสริมเพราะคิดว่าถ้าจ้างงานแบบเหมาช่วงจะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการจ้างงานแบบนี้เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด   การจ้างงานแบบนี้ทำให้ลูกจ้างไม่มีความมั่นคงในชีวิตสวัสดิการต่างๆ ก็ไม่ได้รับ   ทั้งยังโดนเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างมากมาย  แถมยังต่อรองอะไรก็ไม่ได้ แล้วอย่างนี้คนไทยจะหายจนได้อย่างไร   รวมถึงการบริหารงานของกระทรวงไม่มีความต่อเนื่อง เพราะปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง จนแทบจะเรียกว่าเป็นกระทรวงทดลองงาน"


 


เสียงสะท้อนนี้สอดคล้องกับความเห็นของคุณสุนี ไชยรส  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ระบุว่า ในยุคสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯมา 5 ปีมีอำนาจเต็มที่เอื้ออำนวยต่อการแก้กฎหมายและสามารถแก้กฎหมายมากมายหลายฉบับ   แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายแรงงานไม่เคยออกมาแม้ฉบับเดียว   สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจถึงการพัฒนาด้านแรงงานเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งแนวคิดของนายกฯ  คนนี้เริ่มต้นด้วยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม   ให้น้ำหนักไปที่การลงทุนมากกว่า คุณภาพชีวิตของลูกจ้าง   ทั้งนี้ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิที่จะรวมตัวและเรียกร้องอะไรจากได้เลย เพราะรัฐบาลเกรงว่านายจ้างจะเลิกจ้างและไปเปิดโรงงานที่ต่างประเทศทำให้ประเทศขาดทุน


 


"ปัจจุบันกฎหมายของไทยก็ยังเปิดช่องให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบคนงานอยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างชาติ   ซึ่งถ้าหากว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ทำตามคำสั่งของนายจ้างก็จะถูกเลิกจ้าง ต้องกลายเป็นคนผิดกฎหมายและจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทางต่อไปโดยไม่มีหลักประกันแต่อย่างใด   ปล่อยให้นายจ้างขูดรีด ข่มขู่ ทารุณ แรงงานเหล่านี้ต่อไป ประกอบกับนโยบายประกันตัวแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.จะส่งผลให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น ทำให้ดำดินมากขึ้น   ไม่มีนายจ้างมาขึ้นทะเบียนในราคาที่สูง   แม้จะนำมาขึ้นก็เกิดการกดขี่เพราะคิดว่าประกันตัวมาจะทำอย่างไรก็ได้ เลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ เกิดการรับเงินใต้โต๊ะ   อีกทั้งปัญหาคนติดตามใครจะเป็นผู้ประกัน ตัว เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังเอากฎหมายเข้าไปจัดการโดยไม่คำนึงถึงสิทธิ ความเป็นมนุษย์ของแรงงานเหล่านี้เลย"


 


นี่คือภาพสะท้อนในอดีตแต่เมื่อพิจารณาตัวนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาลทักษิณที่จะส่งผลต่อเนื่องไปในอนาคต ก็จะพบว่าสิ่งที่แรงงานและประชาชนทั่วไป มีความกังขา มีข้อกังวล และต้องการตรวจสอบมากที่สุด นั่นคือข้อตกลง และเดินหน้าเปิดเจรจาการค้าเสรีกับนานาชาติ เพราะในขณะที่รัฐบาลพยายามชักแม่น้ำทั้งห้าพร่ำบอกว่าตลาดเสรีจะเปิดทางให้ทุนไทยและเทศ เข้ามากระตุ้นให้เกิดการพัฒนา   สามารถเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้นั้น    ก็มีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ นักพัฒนา รวมถึงตัวแรงงาน ที่สอดผสานจนแจ่มชัดขึ้นว่าเอฟทีเอและทิศทางการพัฒนาประเทศแบบทุนเสรีอาจไม่ใช่โอกาสเสมอ และทางเลือกเสมอไป   เพราะมันมีความเสี่ยง เปรียบเหมือนการปิดตาเดินบนหนทางที่เต็มไปด้วยหลุมพรางและกับระเบิด! แล้วเราจะปล่อยให้รัฐบาลเลือกเดินบนทางสายนี้อีกหรือ


 


ทาสเลือดใหม่ในตลาดเสรี


 


รายงานชิ้นหนึ่งจากสถาบันสิ่งทอ คาดการณ์ว่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2549 จะมียอดขยายตัวร้อยละ 12 จากที่ปี 2548 ส่งออกได้ 270,000 ล้านบาท เนื่องจากไทยได้รับอานิสงส์ต่อเนื่อง จากการที่ทุกประเทศยกเลิกโควตานำเข้าตั้งแต่ปี 2548   ทำให้สินค้าไทยที่มีคุณภาพที่ดีมีโอกาสส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในตลาดเก่า เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ประกอบกับตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง อาฟริกา รัสเซีย ได้ให้การตอบรับสินค้าไทย   นอกจากนี้ จากที่คาดว่าไทยจะลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับจีนและญี่ปุ่น รวมกับการที่สหรัฐฯ ยังใช้มาตรการเซฟการ์ด (มาตรการปกป้องผลกระทบการนำเข้าสินค้า) กับจีน   จึงทำให้คาดว่ายอดส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย


 


ทั้งนี้ยังมีการระบุถึงผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานว่า ขณะนี้มีแรงงานในระบบประมาณ 1 ล้านคน ยังขาดแคลนอีกประมาณ 60,000 คน ซึ่งเบื้องต้นจะมีการประสานงานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้  อย่างไรก็ตาม ก็อาจไม่เพียงพอ แนวทางที่จะทำได้อย่างรวดเร็วคือโรงงานต่างๆ น่าจะย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม เพื่อใช้แรงงานของประเทศเหล่านี้   ในขณะที่ไทยยังใช้วัตถุดิบของไทย ได้รายได้เช่นเดิม และจะไม่เกิดปัญหาการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ


 


นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานฯ นำเสนองานศึกษาเรื่อง รูปแบบการจ้างงานกับผลกระทบต่อกฎหมายแรงงานและสิทธิมนุษยชน โดยสรุปความได้ว่า รูปแบบการจ้างงานในกระแสโลกาภิวัตน์ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อน หลากหลายมากขึ้น บรรษัทข้ามชาติ หรือบริษัทเอกชนจำนวนมากได้ใช้รูปแบบการจ้างเหมา การกระจายงานออกไปนอกสถานประกอบการด้วยวิธีต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ตัดตอนภาระความรับผิดชอบตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคม  การจ้างเหมาค่าแรงและจ้างเหมาช่วง ได้กระจายไปทั่วทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการ และงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต และกระจายไปยังชุมชน เกิดการจ้างงานหรือการรับจ้างผลิตในระดับครัวเรือน ที่สำคัญบริษัทและบุคคลที่ประกอบการจ้างเหมางานจำนวนมาก มักเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกับสถานประกอบการหรือเป็นกลุ่มทุนเดียวกัน และมีการกระจายงานข้ามจังหวัดไปสู่ชายแดน จ้างแรงงานข้ามชาติเพื่อเอาเปรียบแรงงานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า


 


ส่วนประเด็นที่กระทบต่อการคุ้มครองแรงงานและสิทธิมนุษยชน สรุปได้ดังนี้


หนึ่ง การทำสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาสั้นๆ เช่น คราวละ 1 เดือน 3 เดือน ทำให้ลูกจ้างไร้ความมั่นคงไปตลอด


 


สอง สัญญาจ้างเหมาค่าแรงให้อำนาจผู้ประกอบการเปลี่ยนตัวลูกจ้างได้ทันทีเมื่อไรก็ได้ กลายเป็นลูกจ้างไร้ที่ทำงานแน่นอนตลอด กระทบต่อความมั่นคงในงานและการพัฒนาความรู้ทักษะในการทำงาน


 


สาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5(3) ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงด้วย ปัญหาคือ ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงต้องถูกควบคุมโดยข้อบังคับในการทำงาน 2 ฉบับ คือ นายจ้างผู้รับเหมาค่าแรง และผู้ประกอบกิจการที่ตนไปทำงานอยู่ ในขณะที่สภาพการจ้าง สวัสดิการต่างๆ กลับถูกแบ่งแยก ไม่ได้รับการคุ้มครองโดยเท่าเทียมกัน


 


สี่ กรณีมีคณะกรรมการสวัสดิการ และคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบการ เช่น มีลูกจ้างของ 4 บริษัทรับเหมาในสถานประกอบการเดียวกัน จะตั้งคณะกรรมการเหล่านี้อย่างไร ต้องมีคณะกรรมการสวัสดิการฯ หรือคณะกรรมการความปลอดภัยฯ 4 ชุด หรือไม่ สร้างปัญหาการคุ้มครองแรงงานและการมีส่วนรวมของแรงงานอย่างชัดเจน


 


ห้า พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่มีคำนิยามเรื่องการจ้างเหมา ผลคือ ลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ไม่มีสิทธิยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ประกอบกิจการได้ ลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการกับลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงจะรวมตัวกับสหภาพแรงงานเดียวกันได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ได้ตีความแล้วว่า รวมตัวกันไม่ได้ เพราะเป็นคนละประเภทกิจการ ลูกจ้างรับเหมาค่าแรง เป็นประเภทบริการ


 


และหก ลูกจ้างจ้างเหมาค่าแรงไร้อำนาจต่อรอง ไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย เพราะไร้ความมั่นคงในงาน ไม่สามารถรวมตัวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการเดียวกันได้


 


ด้วยภาพสะท้อนทั้งนั้นจึงสรุปได้อย่างได้อย่างหนึ่งว่า ชะตากรรมของแรงงานยังคงมืดมน แต่ไม่ถึงขั้นมืดบอดไปเสียทีเดียว ดังนั้นสังคมไทยต้องตื่นขึ้นจากการหลับใหล ในวันนี้คนจำนวนมากถูกปลุกให้ลุกขึ้นจากความปวดร้าวจากพิษบาดแผลที่ได้รับแล้ว คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจะช่วยกันปลุกให้รัฐบาลตื่นขึ้นมายอมรับความจริง แล้วร่วมแก้ปัญหาทั้งหมดอย่างมีส่วนร่วมพร้อมกับผู้ใช้แรงงานได้อย่างไร เพราะเมื่อแรงงานเป็นผู้สร้างชาติ ย่อมต้องเป็นผู้สร้างและกำหนดชีวิตตนเองเช่นกัน.


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net