Skip to main content
sharethis


 



 


 


การเมืองยิ่งร้อนระอุ ยิ่งเพิ่มแรงปะทะให้กับความคิดเห็นที่แตกต่าง ท่ามกลางสังคมแบ่งแยก 2 ขั้วเช่นนี้  สื่อมวลชนควรดำรงตนอยู่เช่นไร ขั้วความคิดที่ 3,4,5,… จะมีพื้นที่ได้หรือไม่ การวิพากษ์พันธมิตรฯ คือการยอมสยบต่อทักษิณหรือเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ ?


 


ประชาไท ชวน บก.ฟ้าเดียวกัน-ธนาพล อิ๋วสกุล อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-รุจน์ โกมลบุตร นักข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น-สุภัตรา ภูมิประภาส มาพูดคุยกัน โดยมีนักข่าวจากสำนักเดอะ เนชั่น อีก 2 คนมาร่วมแจม-ประวิตร โรจนพฤกษ์  และ เพ็ญนภา หงษ์ทอง


 


0 0 0


 


ประชาไท


การคุยครั้งนี้เกิดขึ้นจากความงงๆ ในสถานการณ์ด้านสื่อ ขณะที่ด้านพันธมิตรฯออกมาอัดสื่อรัฐ อันนั้นทุกคนเข้าใจดี แต่ก็มีเสียงสะท้อนอยู่เหมือนกันว่าคนในแวดวงสื่อเองก็มองว่าสื่อขาดการวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯในประเด็นที่ควรวิจารณ์ด้วยเหมือนกัน  กระแสข่าวถูกครอบงำด้วยขบวนพันธมิตรฯ จึงอยากเปิด Forum สนทนา


 


อาจจะเริ่มต้นที่ว่าทุกคนมองสื่อในสถาการณ์การเมืองตอนนี้อย่างไร


 


เพ็ญนภา


เนชั่น ไม่แม้กระทั่งจะอ่าน แค่บอกประเด็นไปก็บอกว่าเราเลือกข้างแล้ว ท่ามกลางการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้น สื่อเองก็รู้สึกว่าทักษิณ ไม่ชอบธรรมที่จะอยู่ ดังนั้น อะไรก็ได้สื่อก็คว้าไว้หมด และบังเอิญมันมีกลุ่มพันธมิตรฯขึ้นมา สื่อจึงเดินตามแนวทางนี้ไป พอไล่ทักษิณมากๆ แล้วมันลืมเรื่องจรรยาบรรณ


 


อันนี้ไม่ได้พูดเรื่องความเป็นกลางนะ เพราะประวัติศาสตร์สื่อไทยไม่เคยมีเรื่องของความเป็นกลาง แต่ปัญหาคือว่า เมื่อคุณเลือกข้างประชาชนแล้วจะคงความเป็นวิชาชีพไว้ได้อย่างไรมากกว่า ทำอย่างไรจะไม่ตกเป็นเครื่องมือชวนเชื่อ แม้แต่ของฝ่ายประชาชนเองก็ตาม เพราะมันมีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือทั้ง 2 ฝ่าย


 


สุภัตรา


ถ้าตามข่าวไม่ว่าทั้งภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ เราแทบจะแยกไม่ออกว่านี่คือข่าว นี่คือวิเคราะห์ข่าว การพาดหัวข่าวก็เต็มไปด้วยอารมณ์ ทุกอย่างมันไปหมด


 


กระแสการเมืองที่จะไล่ใครซักคน มันทำให้ฝ่ายต่างๆ ในสังคมทำลายหลักการหมดเลย สื่อบางอันเหมือนเป็นจดหมายข่าวของฝ่ายพันธมิตรฯ ไปเลย นี่ยังไม่นับรวมผู้จัดการ หรือเอเอสทีวีที่ไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เลยตลอดเวลาที่ผ่านมา


 


ประชาไท


แต่ก็มีคนพูดเหมือนกันว่า ผู้จัดการ เอเอสทีวี เขาชัดเจนว่าเป็นกระบอกเสียงของใคร จนเราไม่ต้องการจะดึงให้เขากลับมาเป็นสื่อตามนิยามเดิมๆ แล้ว ทำอย่างนั้นมันชัดเจนดีนะ และดูง่ายกว่าสื่อทั่วๆ ไปเสียอีก


 


เพ็ญนภา


อย่างนั้นควรประกาศตัวไปเลยว่าตัวเองไม่ได้เป็นสื่อมวลชนแล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงนี้หรือระยะยาวก็ตาม แต่ว่าเคยคุยกับ บก.เขาเอง เขาก็ยืนยันว่ายังเป็นสื่อมวลชนอยู่ ถ้าอย่างนี้มันเหมือนแยกบทบาทตัวเองไม่ชัดเจน


 


เวลานักวิชาการด้านสื่อพูดว่าไม่เป็นกลาง โดยอ้างว่าสื่อของรัฐใช้ทรัพยากรของรัฐ เข้าข้างรัฐ ถามว่าสื่อหนังสือพิมพ์ ใช้ทรัพยากรของสนธิ เข้าข้างสนธิ ต่างกันยังไง ถ้านักวิชาการวิจารณ์สื่อทีวีของรัฐได้ นี่ก็ไม่ต่างกัน


 


ธนาพล


อ้าว ก็เงินสนธินี่ เงินรัฐมันเงินประชาชน ถ้าบอกว่าเงินของใครใครกำหนดไม่ได้นั้นมันไม่เป็นจริง ไทยรัฐเคยด่าป๊ะกำพลเหรอ


 


ผมว่าสื่อกำลังล้างบาปให้ตัวเอง หลังจากในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาลงแต่ข่าวทักษิณ มติชนยังบอกเลยว่า ช่วงทักษิณกำลังฮอตน่ะ ในหน้าเดียวกันเวลาเขียนต้องบอกว่า ทักษิณพูด แม้วพูด  นายกฯพูด เพราะในวันอาทิตย์มีแต่ข่าวทักษิณ


 


สุภัตรา


แต่เดอะเนชั่นด่าตลอด


 


ธนาพล


อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเสนอทฤษฎีอันหนึ่งว่า สื่อเมืองไทยแทงหวยไม่ค่อยผิด ถ้ารู้สึกว่าใกล้ล้มแล้วสื่อจะช่วยรุมกระทืบ  อันนี้ไม่รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติรึเปล่านะ เรื่องมาตรฐานผมไม่ค่อยแคร์ เพราะผมเองก็ไม่แน่ใจมาตรฐานตัวเองว่าจะใช้ได้กับคนอื่นหรือเปล่า ทำไปเถอะอยากทำอะไร เพราะเชื่อว่าคนอ่านมีวิจารณญาณ


 


เพ็ญนภา


แล้วทำไมคนดูทีวีจะไม่มีวิจารณญาณ ชอบบอกกันว่าคนดูทีวีไม่ค่อยได้เห็นการชุมนุมของฝ่ายเชียร์ทักษิณ มีการวิพากษ์สื่อทีวีกันมากว่ามันอันตรายที่สื่อทีวีที่คนรับเยอะๆ แล้วไม่ให้ข้อมูลที่เพียงพอกับการตัดสินใจ กรณีของผู้จัดการเรากลับมีตรรกะอีกชุดหนึ่งที่บอกว่า คนอ่านผู้จัดการไม่โง่หรอก ก็รู้ว่าสนธิเป็นเจ้าของ แล้วคนก็จะใช้วิจารณาญาณได้ว่าควรเชื่อสื่อในเครือผู้จัดการได้แค่ไหน ต้องถามกลับไปว่า แล้วทำไมไม่คิดว่าคนดูจะใช้วิจารณาญาณได้ว่าจะเชื่อสื่อทีวีได้แค่ไหน ประวัติศาสตร์ก็บอกมาทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้วว่า สื่อทีวีถูกผูกขาดโดยรัฐ ดังนั้น มันไม่ใช่ที่จะเอามาเถียงกันว่า คนอ่านฉลาดหรือไม่ฉลาด


 


ธนาพล


ผมไม่ได้ว่าใครโง่กว่าใคร ผมจำได้ว่ามีงานวิจัยของ สกว. ที่ทำเรื่องโครงการวิจัยสื่อ มีชุดหนึ่งทำเรื่องความเป็นกลางของสื่อทีวี ตอนนั้นสนธิยังเชียร์รัฐบาลอยู่ แล้วก็บอกว่าวิธีของเราคือ จะให้นักวิชาการที่เชื่อถือได้ 10 คนมานั่งดู แล้วก็ให้จัดอันดับว่า ทีวีเชียร์หรือเปล่า แล้วก็ได้ข้อสรุปว่าเชียร์รัฐบาล เราทำได้แค่นี้เหรอ แค่มานั่งดูแล้วติ๊กว่า สรยุทธเชียร์รัฐบาล สุทธิชัยด่ารัฐบาล


 


ประชาไท


ถาม อ.รุจน์ มันไม่มีหลักที่แน่นอนหรือในทางวิชาการว่า สื่อสารมวลชนต้องรับผิดชอบต่อมวลชน หรือรับผิดชอบต่อเจ้าของ


 


รุจน์


มี ก็สอนๆ กันนะ ในแง่บริหารจัดการ เจ้าของก็แยกไปฝั่งหนึ่ง และ กองบก. จะอยู่อีกฝั่งหนึ่งตลอด จะไม่มีการข้ามกันไปข้ามกันมา ปีหนึ่งเจอกันหนเดียว วันเซ็นสัญญาว่าจะต่อให้คุณหรือเปล่า แต่มันไม่จริงแน่ๆ 


 


เพ็ญนภา


หนังสือพิมพ์ไม่ใช่นะ ดูขรรค์ชัย ดูสนธิ เป็นทั้งเจ้าของเป็นทั้งกอง บก.


 


ธนาพล


แล้วกลัวอะไร ก็ดีแล้วนี่  หรือให้คนไม่มีหัวนอนปลายเท้า ตามสำนวนคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์มาเป็น บก.


 


เพ็ญนภา


ไม่ใช่ ต่อจากที่อาจารย์รุจน์พูดว่าต้องแยกกัน แต่มันแค่ในทางทฤษฎีไง


 


(ประวิตรเข้ามาในห้องประชุม)


 


เพ็ญนภา


แล้วในทางวิชาชีพ สื่อต้องรับผิดชอบกับผลของการรายงานข่าวของตัวเองไหม หรือว่าเจออะไรมาที่รู้สึกว่ามีคุณสบัติความเป็นข่าวก็เขียนได้ สมมติว่าเรื่องคุกลับในเกาะแห่งหนึ่งที่ทหารอเมริกัน หรือทหารอังกฤษ ทำร้ายนักโทษชาวอิรัก เรารู้ว่าถ้ารายงานแล้วสงครามต้องบานปลายแน่นอน  แต่เป็นเรื่องจริงที่สื่อได้มา ต้องแคร์ถึงผลที่จะเกิดไหม


 


รุจน์


ในหนังสือมีนะ บอกว่าประมาณอย่างนี้ต้องกลั่นกรองอย่างมาก ถึงขนาดว่าอาจต้องเว้นไว้ด้วยซ้ำ


 


เพ็ญนภา


แล้วมันแตกต่างกับการเซ็นเซอร์ตัวเองยังไง


 


รุจน์


แต่ว่ากระบวนการหรือผลประโยชน์ที่เรามองไปข้างหน้าเพื่ออะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครรู้หรอก ขึ้นอยู่กับความเป็นวิชาชีพของแต่ละคน


 


ธนาพล


ปัญหาคือ ถ้าบอกว่ากลัวมุสลิมจะโกรธ จะเกลียดเพิ่มขึ้น อ้าว แล้วคุณไม่รับผิดชอบต่อชีวิตนักโทษหรือ คุณเป็นนักข่าวแล้วไม่รับผิดชอบต่อพวกเขาโดยไปอ้างอะไรได้อีก สำหรับผมความจริงก็คือความจริง


 


ประชาไท


กรณีนักโทษมันชัดเจนเกินไป อย่างกรณีภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดาที่เป็นเรื่องกันเมื่อไม่นานนี้อาจหาเส้นแบ่งได้ยากขึ้น


 


ธนาพล


ผมลง เอามาสิ ถ้ามีคำอธิบายที่ดีพอประกอบ


 


รุจน์


มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วยมั้ง กรณีการ์ตูนมันชัดว่าไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบในวัฒนธรรมแบบหนึ่ง เพราะนี่คือความเห็นของฉันที่มีต่อเรื่องนั้น ขอให้แก้ก็ไม่ได้ แต่คนที่ได้รับผลกระทบในเชิงความรู้สึกจะมาเรียกร้องว่าคุณต้องรับผิดชอบ เพราะว่าอันนี้ในสังคมมุสลิมบอกว่าต้องแก้ เส้นอยู่ไหนผมว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม


 


ประชาไท


ฉะนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว วิชาชีพของสื่อ หลักการ ไม่มี


 


รุจน์


ผมบอกว่ามันถูกสอน ถามว่าผมเชื่อหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง


 


ประชาไท


แล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราควรจะไปทางไหน


 


รุจน์


สถานการณ์ปัจจุบันที่เราเห็นๆ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องโคตรปกติเลย ดีไม่ดีไม่เกี่ยวนะ แต่ผมเห็นว่ามันมีลักษณะนี้มานานแล้ว คือ การปัดไปปัดมา เป๋ซ้ายเป๋ขวา  ก็ไม่เป็นไร อยากทำแบบเนชั่นก็ทำ  จะเชียร์ฝั่งนี้มากกว่าอีกฝั่งหนึ่งก็รับได้นะ แต่ว่าประกาศมาให้ชัด แต่ที่รับไม่ได้ตอนนี้คือ การไม่ประกาศตัวและอยู่ในคราบของวิชาชีพสื่อ


 


ประวิตร


เราจะประกาศหรือไม่ประกาศก็เถียงกันได้ แต่ประเด็นคือ ในแต่ละองค์กรมีด้วยเหรอที่คนในองค์กรโดนล้างสมองแล้วเห็นเหมือนกันหมด


 


ตอนนี้เวลาหนังสือพิมพ์จะเอารัฐบาลหรือไม่ อย่างไร มันก็บังคับคนให้เป็นอย่างนั้นหมด เนชั่นมีจดหมายเขียนถึงบรรณาธิการ 2 ฉบับในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา บอกว่าคุณเขียนบทวิเคราะห์เหมือนเป็นบทวิจารณ์ หรือการเขียนรายงานข่าวโดยตรงมันเหมือนเป็นบทบรรณาธิการไปแล้ว เราไม่ว่าถ้าจะฟันธง เลือกข้าง ในบทบรรณาธิการ หรือบทความ บทแสดงความความคิดเห็น แต่ตราบใดที่กีดดันไม่ให้การรายงานข่าวโดยตรงสามารถรายงานให้เห็นหลายด้าน ให้เห็นความเห็นต่างว่าคนจน อาจจะเห็นด้วยกับทักษิณ อันนั้นแหละเป็นปัญหา ตราบใดที่แยกตรงนี้ไม่ออก ฉิบหายแล้ว


 


นี่ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องเจ้า ยังดีที่วันนี้มีบทความอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ลงในเดอะเนชั่น แล้วแปลลงกรุงเทพธุรกิจ แกบอกว่าก็ยังดีใจแม้แกนนำพันธมิตรฯซึ่งเรียกตัวเองว่ามาจากภาคประชาชน จะไม่ยอมฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่อย่างน้อยเรื่องมาตรา 7 ก็ถูกพูดออกมาในสังคมอย่างเปิดเผยระดับหนึ่งแล้ว


 


รุจน์


ผมว่าอันนี้เป็นความยากในการบริหารจัดการนะ ในขณะที่สื่อพยายามจะมีจุดยืนอะไรบางอย่าง ข้างในเราจะจัดการยังไงเพื่อทำให้คนเชื่อถือ ทำยังไงจะอนุญาตให้ทุกเสียงขึ้นมา โดยที่ยังมีจุดยืนที่ชัดเจน เช่น ช่อง 9 เข้าข้างรัฐบาล ทำยังไงให้คนดูแล้วรู้สึกว่า นั่นแหละคือจุดยืนของคุณ ฉันไม่ชอบ แต่ฉันดูคุณได้


 


ประวิตร


แม้จะอยากให้เกิดอย่างนั้น มันก็ไม่เกิด เพราะโครงสร้างในองค์กรสื่อมันไม่เป็นประชาธิปไตย พอถึงจุดหนึ่งมันอยู่ที่คนที่มีอำนาจในองค์กรว่าอยากจะให้ออกมาเป็นยังไง มันต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยในองค์กรสื่อเลย  


 


ประชาไท


จำเป็นไหมที่สื่อจะต้องหลากหลายความเห็น และสื่อจะต้องเป็นประชาธิปไตยขนาดนั้น


 


ประวิตร


จำเป็นสิ ไม่งั้นสังคมจะเป็นประชาธิปไตยได้ไง สื่อยังไม่เป็นประชาธิปไตยเลย


 


ประชาไท


เมื่อวานมีเพื่อนคนหนึ่งเสนอว่า ให้ประกาศจุดยืนให้ชัดเจนให้ได้


 


ประวิตร


ขอโทษนะครับ การไม่ประกาศจุดยืน ก็เป็นการประกาศจุดยืนชนิดหนึ่ง อาจเป็นจุดยืนแบบขี้เกียจก็ได้


 


ธนาพล


ขอเสนอต่อประชาไทมี 2 ประเด็น


 


ประชาไท


ไม่ใช่สิ ประเด็นไม่ใช่เรื่องประชาไท


 


ธนาพล


แต่ผมเสนอประชาไท 2 ประเด็น คือ ต้องประกาศจุดยืนว่าไม่เอานายกพระราชทาน มันเป็นผลประโยชน์ของประชาไทเองในการเรียกเรทติ้ง เพราะไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนกล้าประกาศว่าไม่เอานายกฯ พระราชทาน และในเชิงหลักการก็เป็นหลักการของประชาธิปไตย  แต่การลงบทความประเวศ วะสี ทั้งห่วย ทั้งแอนตี้ประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่อื่นๆ ก็ลงอยู่แล้วไม่ทราบว่าปล่อยมาได้อย่างไร


 


สุภัตรา


มันเป็นความหลากหลายนะ


 


ประวิตร


เรื่องความหลากหลาย จะบอกให้ว่าบทความของอาจารย์หมอประเวศลงหนังสือพิมพ์ภาษาไทย 3 ฉบับ และลงภาษาอังกฤษในไทยเดย์อีก ฉะนั้นวันเดียวกัน 4 ฉบับ นี่คือเรื่องปกติของสังคมที่ผูกขาดทางความคิด


 


สุภัตรา


เราว่ามันก็ไม่ต่างกัน แบบนี้ก็เหมือนกับแคมเปญชนิดหนึ่งที่จัดแถลงข่าว เชิญสื่อทุกฉบับแล้วก็แล้วแต่ว่าใครจะเอาไปลงหรือไม่ หรือเวลาใครเขียนอะไรบางทีก็ส่งให้สื่อทุกฉบับ


 


ประวิตร


ผมไม่ได้ต่อต้านโดยตรง แต่จะบอกว่านี่คือตัวอย่างหนึ่งของสังคมอุปถัมภ์ นี่คือการอุปถัมภ์ทางปัญญา


 


ประชาไท


ถ้าพูดถึงความเป็นประชาธิปไตยในองค์กร ขอยกตัวอย่างที่องค์กรประชาไทเองนี่ก็ได้ ว่ามันมีความเห็นที่แตกต่างกัน ทางรูปธรรมแล้วความหลากหลาย มันจะออกมายังไงภายใต้การมีจุดยืนที่ชัดเจน


 


ประวิตร


เรื่องความเป็นประชาธิปไตย ไม่เฉพาะองค์กรสื่อ แม้กระทั่งแนวร่วมพันธมิตรฯประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ตาม กระบวนการของการจัดการทุกอย่าง ไม่ว่าการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ตอนนี้มีปัญหาหมดเลย องค์กรอย่างครป. อาจต้องเรียกตัวเองใหม่ จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อขับไล่เผด็จการ แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับเผด็จการ บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป มันอาจเป็นเผด็จการอีกรูปแบบก็ได้


 


กลับไปที่ประชาไท ก็คุยกันสิ และถ้าหาฉันทามติไม่ได้ว่าความเห็นส่วนร่วมจะเอาหรือไม่เอามาตรา 7 อย่างไรก็เสนอออกมาเลยว่ามีความเห็นต่างๆ แล้วโต้แย้งกันได้ว่าที่เห็นต่างนั้นต่างอย่างไร มันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม   แต่อย่างเนชั่น เขาไม่มานั่งโหวตกันหรอก มีบก.อาวุโสคุยกันอยู่ไม่กี่คนแล้วก็ประกาศว่าหนังสือพิมพ์เนชั่นจุดยืนเป็นอย่างนี้ ซึ่งตอนนี้จุดยืนในเรื่องมาตรา 7 เนชั่นก็ยังไม่ทำ ป่านนี้ยังไม่ประกาศเลยว่าจะเอายังไง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอายมาก


 


แต่เรื่อง take a stance เป็นเรื่องที่เราบังคับใครไม่ได้ ไอ้ที่บอกว่าพวกที่ไม่เอามาตรา 7 พวกนี้หลงไปสนับสนุนทักษิณทางอ้อม ขอโทษ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเชียร์ทักษิณมาตลอด 4 ปีแรก จนเพิ่งมา take a stance ต่างไป ถามว่าวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจเส้นแบ่งว่าอะไรถูกอะไรผิด จะอยู่ข้างใคร แต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน เพราะมันมีพื้นฐานต่างกัน คุณอาจจะบอกได้ว่าถ้าไม่เลือกจุดยืนชัดเจนปัญหาคืออะไร แต่จะไปบังคับเขาเหรอ ผมไม่แน่ใจ


 


สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์เป็นพ่อเป็นลูกกันหมดทุกวงการจริงๆ เราเพิ่งไปอ่าน Out Look สัมภาษณ์สุริยะใส กตะศิลา เขาบอกว่าเห็นพี่พิภพ ธงไชย เหมือนพ่อ แม้กระทั่งแม้กระทั่งอ.สุลักษณ์ ก็ยังมีคนบอกว่าผมเป็นลูกของแก มันต้องแก้เรื่องสังคมอุปถัมภ์ 


 


เพ็ญนภา


มันสำคัญที่ว่าเมื่อคุณเลือกข้างแล้ว จะทำยังไงให้คงความเป็นมืออาชีพไว้ได้ เพราะความเป็นมืออาชีพคือความน่าเชื่อถือ เราเห็นด้วยกับการประกาศจุดยืนของเนชั่น 2 ครั้งผ่าน page one comment ว่าทักษิณหมดความชอบธรรมเพราะอะไร ซึ่งไม่ได้บอกว่าทักษิณต้องออกไป หรือยืนข้างพันธมิตรฯ นี่คือการประกาศจุดยืนอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เนชั่นไม่ได้ทำอะไรในนามของมืออาชีพเลย เนชั่นเอาข่าวลือมาเล่นเป็นข่าว lead นี่ยังไม่นับว่าเนชั่นใส่ comment ในข่าวด้วยก็มี พอเห็นว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม คุณก็รู้สึกว่าต้องล้มมัน แล้วก็ยอมเอาหลักการทุกอย่าง ต้นทุนทุกอย่างมาแลกเพื่อที่จะล้มมัน


 


ประชาไท


ตอนนี้มันกลายเป็นอุปทานรวมหมู่ กลายเป็นตั้งฐานของการไล่ทักษิณแล้วแน่นอน ในขณะที่ดูเหมือนวงตรงนี้ยังไม่ใช่ตรงนั้น มันก็เลยเป็นปัญหาหรือเปล่า


 


ประวิตร


ไม่ ผมไม่เอาทักษิณ แต่ผมก็มีวิธีการอื่น ทำไมเราเข้าใจไม่ได้เหรอว่าความรุนแรงก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการขับไล่ สังคมไทยก็ถูกตีกันโดย discourse แบบหนึ่ง ผมไม่ได้เห็นด้วยกับความรุนแรง เห็นการจลาจลที่ฝรั่งเศสเร็วๆ นี้ไหม  จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ว่าไป เราถกเถียงกันได้ แต่หมายความว่าสังคมมันหลากหลาย


 


ฉะนั้นการจะล้มทักษิณมันก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียว และระหว่างความรุนแรงกับความไม่รุนแรงก็ไม่ใช่ 2 วิธี มันมีวิธีอื่นๆ อีก และบางทีก็อาจจะผิดกฎหมาย เช่น เปลี่ยนป้ายหาเสียงจากพรรคไทยรักไทย เป็น ไทยลักไทย นี่คือ subversion สู้แบบ anarchist  


 


การต่อสู้มันมีหลายรูปแบบ และมันแล้วแต่แต่ละคนว่าคุณค่าที่ใช้ตัดสินใจว่าอะไรถูกผิด อะไรเหมาะหรือไม่เหมาะนั้นมันคืออะไร การเคารพความเป็นมนุษย์ก็เป็นคุณค่าแบบหนึ่ง 


 


สุภัตรา


แต่มันต้องมีกติกานะประวิตร


 


ประวิตร


ใช่ไงละ นี่คือสิ่งที่คนจนพยายามจะพูดว่าพวกคุณที่ออกมาม็อบไม่มีกติกา แล้วพวกคุณก็บอกว่ากติกามันไม่เวิร์ค แล้วก็ต้อง over right กติกาโดยใช้วิธีอื่น ผมที่พยายามบอกคือ คุณค่าต่างๆ แม้กระทั่งสิทธิมนุษยชน มันไม่มีมาแต่กำเนิด ส่วนเราจะเห็นด้วยแล้วอยากจะสร้างหรือเปล่ามันอีกเรื่องหนึ่ง


 


สุภัตรา


สิทธิมุนษยชนเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ทุกคนเท่ากันมาตั้งแต่กำเนิด


 


ประวิตร


โอ นั่นมันโคตรนิยายเลย  ผมมองว่านั่นคือ social construct เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา (มีการพยายามพูดแทรกจากหลายคน) โอเค ให้ผมพูดก่อนทีละคน


 


สุภัตรา


เธอต้องพูดน้อยๆ ให้คนอื่นเขาพูดบ้าง


 


ประวิตร


ความเชื่อว่ามนุษย์เท่ากันนั้น ผมเห็นด้วย แต่ผมจะต้องหูหนวกตาบอดเชื่อว่ามันมีมาตั้งแต่กำเนิดมนุษย์หรือเปล่า ไม่ เพราะสิ่งนี้มันเพิ่งสร้าง ฉะนั้นเส้นแบ่งในการจัดการกับทักษิณมันคืออะไร ผมกำลังจะบอกว่ามันมีหลายเส้นแบ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณค่าของแต่ละคนในการตัดสิน ใครเห็นอย่างไรก็จัดการไป


 


เหมือนกับวันนี้ที่มีคนเขียนมาด่าว่า หนังสือพิมพ์ไทยเขียนแต่ข่าวพระพรหมถูกทำลาย แต่ไม่เห็นเขียนเลยว่าคนที่ถูกฆ่าตายน่าสงสาร เพราะคุณค่ามันชนกัน สังคมไทยและคนที่ด่าก็ใช้คุณค่าที่ต่างกัน ผมเองก็ช็อค สิ่งที่มันไร้สติที่สุด ป่าเถื่อนที่สุดไม่ใช่คนที่ทำลายพระพรหม แต่เป็นคนที่ฆ่าคนที่ทำลายพระพรหม


 


สุภัตรา


สื่อไม่ได้สะท้อนสังคมไทย เราได้ยินเรื่องคนพูดถึงคนถูกฆ่าเยอะมาก และสื่อบางฉบับก็พูดถึงมาก ฉะนั้นจะบอกว่าที่สื่อเล่นเรื่องประวัติศาสตร์พระพรหมมากมาย โดยไม่ให้ค่ากับความตาย นี่ไม่ได้


 


ประชาไท


กลับมาที่ประเด็นทักษิณ มันไม่มีสื่อที่จะเอียงข้างทักษิณ เชียร์ทักษิณได้เลยเหรอ


 


สุภัตรา


ต้องถามว่าเชียร์หมายความว่ายังไง ตอนนี้กลายเป็นว่า ถ้าใครให้พื้นที่ข่าวกับทักษิณก็กลายเป็นเชียร์ไปแล้ว เท่าที่เรารู้สึกนะ


 


ธนาพล


เขาก็ลงข่าวทักษิณกันเยอะแยะ  แล้วทำไมต้องเรียกร้องหามันล่ะ


 


ประวิตร


ปัญหาของคุณคืออะไรที่ถามคำถามนี้


 


ประชาไท


คำถามนี้มาจากที่ว่า กระแสทั้งหมดและสื่อทั้งหมดมันไม่เห็นหัวคน 19 ล้านคน มันไม่ได้อธิบายว่าทำไมคน 19 ล้านคนถึงไร้จริยธรรมขนาดนั้น


 


ประวิตร


ฟันธงหมดก็ไม่ได้ วันเสาร์ที่ผ่านมาผมเขียนบทสนทนาระหว่างคนเมืองเขียนจดหมายถึงคนจน คนเมืองบอกว่านายทักษิณให้นโยบายอุปถัมภ์สารพัด อย่าหลงไปเป็นเหยื่อ ทักษิณก็เป็นองค์อุปถัมภ์ใหม่ คนจนก็บอกว่า คุณพูดแบบนี้ผมก็อึ้ง เพราะเวลาดูทีวีก็เห็นพวกคุณชูธงเหลืองเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน ในขณะที่ไม่ยอมมาเลือกตั้ง ปัญหาก็กลับไปเรื่องเดิมว่า เมื่อถึงวิกฤตเมื่อไหร่ สื่อก็จะเลือกข้างแล้วก็ over rights minority voice ภายในองค์กรสื่อ เพราะทุกวันนี้ฉบับใหญ่ทั้งหมดไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย


 


สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านี้ก็คือ สื่อมีลักษณะค่อนข้างเฮโล 5 ปีที่แล้วเชียร์ทักษิณตอนที่ซุกหุ้นน่ะ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด เพราะผมอยู่อังกฤษ


 


ธนาพล


ก็บอกแล้วไงว่าสื่อไถ่บาปอยู่ตอนนี้


 


สุภัตรา


โน โน เราไม่รู้สึกว่าเชียร์นะ เชียร์แบบไหน


 


ประชาไท


ไม่เชียร์เลย


 


ธนาพล


ไปลงข่าวหมอเสม  พริ้งพวงแก้ว ไปลงข่าวล่าชื่อเชียรทักษิณ ไม่เชียร์ได้ไง


 


สุภัตรา


นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมและคุณต้องรายงาน ทำไมถึงบอกว่าเชียร์


 


ธนาพล


แล้วทำไมตอนนั้นคนถึงบอกว่าสื่อลงแต่ข่าวทักษิณล่ะ


 


ประชาไท


ประเด็นมันไม่ใช่เรื่องพื้นที่สื่อหารสองนะ แต่ประเด็นมันคือไม่มีการเข้าถึงความจริงบางอย่างว่าทำไมคนถึงเชียร์ทักษิณ


 


ธนาพล


เราจะบอกได้ไหมล่ะว่า 5 ปีของทักษิณ สื่อไม่เคยเชียร์ทักษิณเลย กล้าพูดอย่างนี้ได้รึเปล่า


 


ประวิตร


โอเค ผมจะตอบคุณ เพราะว่าสื่อหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ represent ชนชั้นนำและคนชั้นกลาง และสังคมไทยเส้นแบ่งตอนนี้ก็คือ ชนชั้น การศึกษา และโอกาส และที่จะคลาสสิคมากนะ แต่ต้องกลับไปที่คำให้สัมภาษณ์ของ บก.ไทยโพสต์-เปลว สีเงิน ถามแกว่าสื่อมีบทบาทจำกัดหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง แกบอกแกไม่ห่วงหรอก เพราะสังคมไทยเวลาเปลี่ยนแปลงมันคนชั้นกลางทั้งนั้น ถ้าเราทำความเข้าใจกับชนชั้นกลางได้ก็ไปรอดเอง ผมก็เคารพแกในหลายเรื่อง แล้วก็เป็นจุดยืนที่ชัดเจนของแก แต่เป็นจุดยืนที่ดูถูกและมองว่าคนไม่มีการศึกษาในสังคมไทย ซึ่งคือคนส่วนใหญ่ สองในสาม ไม่สามารถตามเกมการเมืองได้ทัน


 


ประชาไท


ผมเห็นด้วยว่าจะมีคน สองคน สามคน สี่คน สิบคนโง่ แต่คนยี่สิบล้านคนโง่พร้อมๆ กัน ผมไม่เชื่อ แต่ทำไมไม่มีสื่อพยายามหาความจริง ค้นความจริงว่าอะไรคือสาเหตุให้คนรักทักษิณ


 


เพ็ญนภา


เพราะว่าสื่อไม่ได้ทำการบ้าน ไม่ได้มีความพยายามในเรื่องแนวคิดเพียงพอ ไปเปิดหนังสือพิมพ์ดูว่ามีใครทำ ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนดีๆ ซักเท่าไหร่ สื่อไทยทำงานแบบง่าย


 


ประวิตร


โอเค ขอแทรก อีกคำตอบก็คือ สื่อไทยก็ตัดสินใจแทนคนอื่นแล้วว่าถ้านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง เป็นทางออกสำหรับสังคมไทยเราก็ยัดเยียดให้คุณไปเลย จบ นี่เป็นอาการอย่างหนึ่งของสังคมที่ยังไม่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ยังมองว่ากูเองก็เป็นองค์อุปถัมภ์ด้วยในแง่หนึ่ง


 


ประชาไท


โดยส่วนตัวเลย ไม่ได้ซีเรียสว่าสื่อเอียงข้างทักษิณ หรือพันธมิตรฯ แต่สื่อทั้งหมดทุกแขนงมีความเป็นเอกภาพมากในการอธิบายว่า ชาวบ้าน หนึ่ง ไม่รู้ความจริง สอง รับจ้าง ซึ่งนักวิชาการด้านสื่อเองก็ตามก็ออกมาเรียกร้องบนสมมติฐานนี้ทั้งสิ้น 


 


สุภัตรา


ชาวบ้านเขาก็อยากดูละคร ดิฉันว่าเขาคงรำคาญที่จะมาเจาะภาพการชุมนุมอะไรเข้ามาด้วยซ้ำ


 


ประวิตร


นี่คือสิ่งที่ผมกำลังจะเขียน คุยกับน้องสาวคุณรสนา โตสิตระกูล ซึ่งทำงานกับชาวบ้านมา 20 ปี ไปๆ มาๆ ถามเขาว่าทำไม ถ้าไม่มองภาพขาว-ดำ  ก็จะเห็นว่า บางทีชาวบ้านก็ไม่ได้เอาทักษิณนะ แต่เขาก็แค่ผูกพันอยู่กับ ส.ส. ท้องถิ่น แล้ว ส.ส.นั้นย้ายไปอยู่พรรคไหน เขาก็ย้ายตาม ถึงเห็นปรากฏการณ์ที่สระแก้ว ที่ชาวบ้านปาขวดน้ำใส่ทักษิณ ซึ่งถ้าเชื่อคำอธิบายนี้ก็เท่ากับเห็นว่าสังคมชนบทยังเป็นระบบอุปถัมภ์


 


อันที่สอง เรื่องการเข้าถึง เพราะส่วนใหญ่เขายังพึ่งสื่อทีวีและวิทยุ ซึ่งก็คุมโดยรัฐ ไปทำข่าวอาจสามารถ ขึ้นรถวันที่ทักษิณกลับ วิทยุท้องถิ่นของ อสมท.เปิดเพลงลูกทุ่งที่แต่งโดยเฉพาะเพื่อเทิดทูนนายกฯ มันมีอย่างนั้นได้ยังไง มันถูกมอมเมาหมด


 


อันที่สาม agenda เขาต่างจากเรา ถ้าคุณอยู่อีกสังคมหนึ่งมันต่างกันมากในเรื่องโอกาส มีอะไรคุณก็รับ ประเด็นก็คือ ในจดหมายระหว่างคนเมืองกับคนชนบท คนชนบทบอกว่า แล้วคุณมาเขียนจดหมายหาผมทำไม ทั้งๆ ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจผมเลย มาสนใจพวกผมในวันนี้เพียงเพราะว่าผมเลือกทักษิณ ซึ่งพวกคุณไม่ต้องการแล้ว แต่ปกติเคยใส่ใจคนอื่นๆ หรือไม่ แล้วถามว่าหนังสือพิมพ์แคร์คนชั้นล่างจริงหรือ ถ้าไทยรัฐ เดลินิวส์ ไม่แน่


 


สุภัตรา


เราคิดว่าตอนนี้คนชั้นกลาง นักวิชาการที่ต่อสู้อยู่นี้ สร้างภาพมายาให้กับสังคมอยู่หรือเปล่าว่านี่คือการต่อสู้ของสังคม ขณะที่คุณผลักชาวบ้านออกไปว่าถ้าเขาไม่เข้ามาร่วม ก็แสดงว่าเขาโง่ เข้าไม่ถึงข้อมูล แต่ทำไมไม่คิดบ้างว่าวิถีชีวิตเขาไม่จำเป็นต้องมาเห็นด้วยอะไรกับพวกคุณเลย แล้วก็ยังเยอะมากที่ยังเอนจอยกับนโยบายทักษิณ


 


ธนาพล


แล้วจะอธิบายชาวบ้านที่อยู่ภาคใต้ได้ยังไง ที่ไม่เอาทักษิณ


 


สุภัตรา


เยอะเลย ภาคใต้เป็นเรื่องเข้าใจได้เลย


 


ธนาพล


ทำไมเข้าใจได้ อันนี้ไม่ได้หมายถึง 3 จังหวัดนะ


 


ประชาไท


เป็นท้องถิ่นนิยม


 


ธนาพล


ง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ นี่เมื่อกี๊เรากำลังบอกว่าชาวบ้านไม่โง่นะที่เอาทักษิณ แล้วถามถึงชาวบ้านที่ภาคใต้ เขาเป็นสปีชี่ส์อะไรแตกต่างจากคนอื่นหรือ


 


สุภัตรา


มันเป็นความหลากหลายนะ


 


ธนาพล


ประเด็นก็คือ การบอกว่าคนชนบทเอาทักษิณ แล้วทำไมคนภาคใต้ไม่เอาทักษิณ


 


ประวิตร


คำตอบผมอาจจะหยาบเกินไปนะ ผมว่าไม่ต่าง เพราะภาคใต้ก็มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นองค์อุปถัมภ์


 


ธนาพล


นโยบายประชานิยม กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทนี่ทำทั่วประเทศนี่ไม่ช่วยเลยหรือ


 


ประวิตร


ก็มีบ้างที่กินไปได้บางเขต


 


สุภัตรา


เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้สังคมมีคำตอบชุดเดียว


 


ธนาพล


ไม่ใช่ เมื่อกี๊เรากำลังอธิบายใช่ไหมว่าชาวบ้านที่เลือกทักษิณไม่โง่


 


เพ็ญนภา


แล้วเลือกทักษิณมันโง่หรือไม่โง่ยังไง


 


ประวิตร


มันไม่ใช่โง่ แต่แค่มี priority (การจัดอันดับความสำคัญ) ในชีวิตต่างจากเราเท่านั้นเอง แล้วเราก็ไปมองว่าโง่


 


ธนาพล


กำลังถามว่า คนที่ 19 ล้านเสียงไม่โง่ เขามีเหตุผล แล้วคนที่ไม่เลือกทักษิณก็ไม่โง่เหมือนกันใช่ไหม ดังนั้น ก็เลยไม่มีมาตรฐานอะไรเลย


 


เพ็ญนภา


มันไม่มีความสัมพันธ์กัน


 


ธนาพล


นั่นไง ก็เลยอธิบายกันไม่ได้ไง ถ้าบอกว่ามันไม่สัมพันธ์กัน


 


ประชาไท


อธิบายก็ได้ แต่ถ้าอย่างนั้นไปถามนักวิชาการดีกว่า ไม่มานั่งถามกันเองหรอก


 


ประวิตร


มันมีคำว่า ถ้าไม่รบนาย ไม่หายจน มันเป็นวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจงแต่ละพื้นที่นะ


 


รุจน์


ผมยังเชื่อเรื่องการเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงสื่อว่าเป็นเรื่องใหญ่อยู่นะ คนในหัวเมืองภูธรกับคนในชนบทก็คิดต่างกัน คนในเมืองที่อ่านหนังสือพิมพ์หรือได้ดูเคเบิลอะไรบ้างก็เอียงมาทางพันธมิตรฯ ขณะที่คนในชนบทก็ยังอยู่ที่ทักษิณ


 


สุภัตรา


มันเป็นเรื่องเข้าถึงสื่อ และเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องด้วย


 


ธนาพล


เข้าถึงสื่อแล้วทำให้ฉลาดขึ้นหรือ


 


ประวิตร


ไม่จำเป็น ไม่เสมอไป


 


ธนาพล


เอาง่ายๆ นะ คน 60 ล้านคน เข้าถึงสื่อเท่ากันหมดไม่ว่าสื่อไหน คิดว่าทักษิณยังจะได้ 19 ล้านเสียงรึเปล่า


 


ประวิตร


น่าจะน้อยลง แต่มันคงจะคาดเดาลำบาก การฟรีบอร์ดคลาสมีเดียนี่เป็นอันดับแรก ต้องปลดชนักให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และต้องทำก่อนเลย


 


ธนาพล


อ้าว อย่างนั้นเราก็บอกได้สิว่าชาวบ้านโง่


 


ประวิตร


เราไม่ได้บอกว่าชาวบ้านโง่


 


รุจน์


เข้าไม่ถึงมากกว่า


 


ธนาพล


ก็นั่นไง


 


ประวิตร


สอง มันมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันในโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง


 


ธนาพล


คือ ผมไม่ได้บอกว่าโง่ในที่นี้คือโง่โดยสันดาน หรือโง่แต่กำเนิด แต่คือการเข้าไม่ถึงข้อมูล


 


สุภัตรา


จริงๆ ข้อมูลทำให้คนฉลาดขึ้นขนาดไหนล่ะ


 


ประวิตร


ขอฟันธงสองประเด็นว่า หนึ่งเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่ต่างกัน สอง การเข้าถึงสื่อที่มีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง ซึ่งทีวีวิทยุแทบจะไม่มีเลย ยกเว้นแต่วิทยุชุมชน


 


ธนาพล


คุณจะหมันไส้ชนชั้นกลางหรืออะไรก็แล้วแต่นะ แต่เอาง่ายๆ ว่า ถ้าเกษตรกรภาคเหนือได้รับข่าวเท่าเทียมกันเรื่องเอฟทีเอไทย-จีน ที่ทำราคาพืชผลตกต่ำหนัก เขายังจะเลือกทักษิณอยู่ไหม


 


รุจน์


ผมว่าเป็นเรื่องประสบการณ์ตรงด้วยนะ ผมไปอุบลฯ ไปปากมูล ก็ชาวบ้านธรรมดา แต่ไม่เอาทักษิณเพราะชีวิตเขาผูกพันกับปากมูล แล้วทักษิณสั่งสร้างเขื่อน


 


ธนาพล


ประเด็นก็คือ เราพยายาม defend ว่าชาวบ้านไม่โง่นะ ชาวบ้านมีเหตุผล แต่ขณะเดียวกันเราก็ติดกับว่าชาวบ้านเข้าไม่ถึงข้อมูลด้วย


 


ประชาไท


ถ้ามองอย่างนี้ก็อาจจะมองได้ว่า ถ้าคนชั้นกลางได้เจอข้อมูลอีกระดับหนึ่ง คุณก็อาจจะเลือกทักษิณก็ได้ 


 


ประวิตร


ชนชั้นกลางก็ยังเอาทักษิณอยู่เยอะนะ


 


รุจน์


คุณค่าในการมองข้อมูลอาจจะต่างกัน


 


ธนาพล


ก็โอเค ถ้าจะอธิบายอย่างนี้ แต่จุดยืนผมคือ ผมไม่เอาทักษิณไง


 


ประวิตร


ก็เหมือนกัน มีใครเอาทักษิณบ้างในนี้


 


ธนาพล


แต่ปัญหาคือเราพยายามให้เหตุผลกับ 19 ล้านเสียง มากจนเกินไป และถ้าไปวิจารณ์เท่ากับไม่เห็นหัวคนจน บางทีมันก็สุดขั้วอีกด้านหนึ่งหรือเปล่า ในขณะที่เราพูดกันถึงเรื่องสื่อยังไม่เสรี ยังไม่ทำหน้าที่ดีพอ จากที่ผมฟังนะ บางทีอาจจะฟังผิดฟังถูก


 


ประวิตร


ผมมองว่าปัญหาการเสนอข่าวชาวบ้าน โดยส่วนตัวเห็นว่าข่าวของชาวบ้านไม่ค่อยได้ถูกนำเสนอ


 


ธนาพล


ก็แน่ละ เพราะชาวบ้านไม่ได้เขียนคอลัมน์


 


ประวิตร


ใช่ และนอกจากชาวบ้านไม่ได้เขียนคอลัมน์แล้ว การให้ความสำคัญกับชาวบ้าน การพูดถึงอย่างมีความลึกซึ้งก็ไม่มีเท่าการพูดถึงปัญญาชน พ่อค้า นักธุรกิจ เนชั่นเองเวลาถามชาวบ้านในม็อบเชียร์ทักษิณก็เป็นคำถามเดียวว่า รับเงินมารึเปล่า เข้าใจเรื่องขายหุ้นหรือเปล่า


 


คนที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ มองชาวบ้านมีอยู่ 2 ขั้ว ไม่โง่ โกง เชื่อถือไม่ได้ ก็มองว่าดี ภูมิปัญญาชาวบ้าน แล้วที่ออกมาแบบเป็นจริงว่า มีดีบ้างชั่วบ้าง มันแทบไม่มีที่เลย


 


ประชาไท


เอาเข้าจริงต่อให้มีพื้นที่ให้ แล้วคนอ่านจะสนใจไหม


 


ประวิตร


โอเค อาจจะอ่าน 20% แต่ดีกว่าไม่อ่านเลยใช่ไหม อย่างนั้นมันก็กลับว่าอย่างนั้นคุณก็ขายแต่สิ่งที่เลวที่สุด หรือละครน้ำเน่าสิ มันก็เถียงกันต่อไปได้ ต้องถามว่าเราจะเอาเส้นแบ่งตรงไหน


 


ประชาไท


ผมมองอย่างนี้ ขอพูดยาวๆ หน่อยนะ ความหมายคือห้ามแทรก (ทุกคนหัวเราะ) เวลาให้นักข่าวไปทำข่าวม็อบที่จตุจักร คุณจะได้แค่ความโง่ของม็อบมา ไม่ว่าคุณจะพยายามเชียร์ม็อบตรงนั้นอย่างไรก็ตาม เพราะบนเวทีมันพูดแค่นั้น กรอบการมองมันมีแค่นั้น


 


การเข้าถึงความจริงของม็อบมันไม่สามารถเอาหูไปฟังที่จตุจักร มันอาจจะมีความซับซ้อนกว่านั้น ต้องเข้าใจนโยบายประชานิยม อะไรต่อมิอะไรอีกมาก และชาวบ้านอาจไม่ได้สนใจหรอกเรื่องอุปถัมภ์ หรือว่าเขาได้อะไรขึ้นมา แต่มันอาจอยู่ที่ว่าเขาได้ "ความหวัง" ที่จะทำให้ชีวิตได้กระตือรือร้น ความเข้าใจแบบนี้เวลาให้น้องไปทำข่าวม็อบที่จตุจักรมันกลายเป็นประจานเขา มันมีกรอบบางอย่างที่ทำให้มันไม่มีทางเกิดความเป็นกลางขึ้นในแง่ของการเข้าถึงความจริง


 


ประวิตร


กรอบที่ว่ามันคือของนักข่าวหรือของชาวบ้าน ดีไม่ดีมันเป็นอคติของนักข่าวที่คุณส่งไปนะ มันเป็นปัญหาของนักข่าวที่ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ของชาวบ้านได้ว่าทำไมเขาถึงชอบทักษิณ


 


รุจน์


ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกเหตุการณ์ในสังคมด้วย ไม่เฉพาะม็อบที่จตุจักร ม็อบที่ราชดำเนินก็เป็น เพราะคนทำงานก็ทำงานโดยรับใช้อคติของตัวเอง


 


เพ็ญนภา


คนที่เข้าไปก็มีฐานมีความเข้าใจทางการเมืองของตัวเอง แต่เวลาคุณเอามันมาเขียน คุณไม่สามารถแยกแยะมันได้ว่าคุณคือนักข่าว กรอบการเมืองต้องไม่ถูกใส่ในงานข่าว


 


ประวิตร


ไอ้การไม่ใส่กรอบการเมืองลงไปในงานนี่ เราไม่เห็นด้วยว่ามันเป็นไปได้ด้วยซ้ำนะ แต่ว่ามันต้องตระหนักว่ากรอบเราคืออะไรแล้วระวัง เท่านั้นเอง ทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงแต่คุณตระหนักหรือเปล่า


 


รุจน์


ประชาชน หรือแม้แต่นักข่าวเอง ถูกบอกให้เชื่อว่า ฉันเป็นกลาง ซึ่งอันนี้โคตตอันตรายเลย


 


เพ็ญนภา


สิ่งหนึ่งที่ 4 ปีในมหาวิทยาลัยไม่เคยสอนเลย คือ ความเป็นมืออาชีพ แม้แต่ในองค์กรสื่อก็ไม่มี


 


สุภัตรา


แต่มันเป็นหน้าที่ที่ต้องหาความจริงนะ ถ้าเราไปค้นความจริงตรงนั้นไม่ได้ก็หยุดเหรอ


 


ธนาพล


คุณไปม็อบจตุจัร คุณเห็นคำตา แคนบุญจันทร์ ไหม ชื่อนี้ก็บอกแล้วว่า เป็นม็อบการเมืองตั้งแต่สมัยชวน หลีกภัยแล้ว อะไรอย่างนี้ แล้วจะมีทัศนคติที่ดีหรือ


 


ประชาไท


เราไม่เชื่อตรงนั้นไง มันไม่ใช่ความจริง


 


ธนาพล


คำตา ก็คือ มือม็อบรับจ้าง ไม่จริงได้ยังไง อยู่ตรงนั้น


 


ประชาไท


มันก็มีจ้างมา แต่ยังไงก็ไม่เชื่อว่า 19 ล้านเสียงถูกจ้างมา


 


ธนาพล


อย่างนั้นก็ไปหาที่อื่นที่ไม่ใช่สวนจตุจักร มายันว่ามีคนรักทักษิณสิ แต่ถ้าถามผม มันคือกระบวนการเกทับที่สวนมิสกวัน อีกประเด็นหนึ่งสำหรับผม คือการเกทับพวกเรียกร้องพระราชอำนาจจากในหลวง มวลชนที่สวนจตุจักรคือการมาบอกว่า เราก็เป็นพสกนิกรเหมือนกัน พวกเขามาเพื่อจะบอกว่าในหลวงต้องเป็นกลาง 


 


สุภัตรา


แล้วทำไมไม่คิดว่าที่สวนมิสกวันก็มีหัวคะแนนพรรคฝ่ายค้านมาเยอะ มีรถบัสมาจอดรับส่ง แต่สื่อเองก็โฟกัสด้วยว่าชนชั้นกลางๆ


 


รุจน์


ในความเป็นจริงก็ไม่มีนักข่าวคนไหนเข้าถึงความจริง เพราะมีกรอบในการตีความเหตุการณ์ตลอดเวลา ดังนั้น กลับไปเรื่องมืออาชีพ ผมก็ยังคันๆ ว่าจริงหรือเปล่า มันแปลว่าอะไรวะ มันอาจต้องลดฐานันดรที่สี่ลงมาติดดินจริงๆ ให้คนรู้สึกว่าข้อมูลข่าวสารไม่ใช่อะไรที่คาดหวังได้มากๆ


 


สุภัตรา


เราว่าสื่อมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารก็ให้ไป แต่ที่เราพูดกันตอนต้นคือว่า มันแยกไม่ออกแล้ว


 


ธนาพล


แล้วไทยโพสต์เป็นหนังสือพิมพ์ไหม ตามมาตรฐาน


 


สุภัตรา


เป็น


 


ธนาพล


ไทยโพสต์มันพาดหัวมันมากนะ ไม่เห็นถูกต้องตามหลักวิชาหนังสือพิมพ์เลย


 


รุจน์


ประมาณว่า บัดซบ ถ่อย ทรยศ


 


สุภัตรา


เรารู้สึกว่าไทยโพสต์เป็น และเป็นมืออาชีพด้วย เพราะเขาชัดเจน แล้วข่าวที่เขารายงานมันก็เป็นข่าวที่โอเค แต่พาดหัวก็วิจารณ์กันไป


 


ธนาพล


ที่ถามเพราะเห็นว่าเหมือนจะรังเกียจการใส่ทัศนะในข่าวไง ไทยโพสต์นี่โคตรใส่ทัศนะเลยนะ หรือว่าพาดหัวไม่ใช่ข่าวจึงสามารถทำได้


 


รุจน์


ใช่สิ


 


ธนาพล


แล้วเราทำไมยังรู้สึกรับได้ เรามีธงอะไร ผู้จัดการกับไทยโพสต์ก็ไม่ต่างกัน ทำไมถึงมีทัศนะที่ต่างกัน


 


สุภัตรา


ผู้จัดการในเว็บ เรายังชอบส่วนอื่นๆ นะ อินโดจีน หรือคอลัมน์อื่นๆ มีข่าวหลากหลายยังน่าอ่าน แต่ว่าตัวข่าวเรื่องการเมืองที่เอามารับใช้การต่อสู้ของสนธิและพันธมิตรฯทั้งหมดนี้ เรารับไม่ได้


 


ธนาพล


ผมก็รู้สึกว่ามันเหมือนกันทั้งไทยโพสต์ ทั้งผู้จัดการ มันก็รับใช้เหมือนกัน ทำไมรู้สึกว่ามีปัญหากับผู้จัดการ


 


สุภัตรา


ไทยโพสต์เขาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม เราให้เครดิตเขานะ


 


ประชาไท


ไทยโพสต์มันมีลักษณะที่เนื้อหาข้างในมันมีเหตุผลสอดรับ มีที่มาที่ไป มันตอบได้หมด แต่ผู้จัดการอาจจะไม่มี


 


ธนาพล


ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าไม่ได้อ่านสกู๊ปข่าวเจาะอย่างเรื่องกล้ายาง สปก.  เรื่องอะไรต่อมิอะไรของผู้จัดการน่ะสิ


 


ประชาไท


บางข่าวมี แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นประเด็นการเมืองในสถานการณ์นี้ มัน propaganda


 


ประวิตร


เห็นด้วย


 


ประชาไท


อย่างกรณีทุบพระพรหม ก็รับไม่ได้นะ ถ้าวิเคราะห์ว่าในวัฒนธรรมสังคมไทยจะก่อให้เกิดผลในแง่ขวัญกำลังใจของคนอย่างไร ก็ว่าไป มีเหตุผลสอดรับ นี่บอก แม้แต่พระพรหมยังไม่เอา มันไม่ได้


 


รู้สึกเวลาจะหมดแล้ว มีอะไรเพิ่มเติมไหม


 


ประวิตร


ตรงไหนที่เซ็นเซอร์ช่วยบอกด้วยนะว่า เซนเซอร์ เขียนเลยว่าตอนนี้เซนเซอร์เพราะมันเกี่ยวกับสถาบัน เขาจะได้รู้ว่าทำไมเส้นทางความคิดมันหายๆ


 


รุจน์


ผมยังรู้สึกว่าการเข้าถึงความจริงสุดท้ายมันไม่มี ก็ยังพยายามเข้าใจวงนี้ว่า มันน่าจะจริงกว่านี้ให้ได้ ฉะนั้น เราคงต้องยอมเขียนอะไรยาวๆ มีหลายแหล่งข่าว มีรายละเอียด แต่ยุคสมัยนี้มันไม่ค่อยอนุญาตให้เราทำแบบนี้ใช่มั้ย


 


ประวิตร


นี่ก็เป็นโอกาสดี วิกฤตการเมืองก็ทำให้เห็นหน้าที่ ข้อจำกัด และปัญหาของสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ว่า สุดท้ายเรื่องของชนชั้นแยกกับสื่อสิ่งพิมพ์จนแยกไม่ออก สื่อสิ่งพิมพ์ผูกกับคนชั้นกลาง และ elite และสะท้อนปัญหาการขาดประชาธิปไตยในองค์กรสื่อ และวัฒนธรรมการถกเถียงไม่เพียงแต่ของสื่อ แต่ของสังคมไทยด้วย


 


อย่างมาตรา 7 ก็ยังถกเถียงกันไม่มากพอ หรือการถกเถียงภายในแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯฯ ที่อ้างตนว่ามาจากภาคประชาชน 3 คน ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งวัฒนธรรมอุปถัมภ์ทั้งในชนบทและในเมือง สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่เปลี่ยน สังคมไทยคงเป็นประชาธิปไตยกว่านี้ลำบาก น่าจะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้เลยเกี่ยวกับบทบาทสื่อในสถานการณ์ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เอาเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ไม่กี่ฉบับก็ได้


 


สุภัตรา


แต่อย่างในเดอะเนชั่น มีการเถียงกันตลอดในห้องข่าว แสดงความเห็นกันได้ มันอาจจะเป็นเฉพาะคน ข้างนอกก็จะเห็นว่ามีการถกเถียงกันไม่น้อย แล้วคนก็เข้าร่วมถกเถียงในประเด็นเหล่านี้กันมากพอสมควร ฉะนั้นการถกเถียงมันมีอยู่ เพียงแต่นักข่าวรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้เข้ามาตรงนี้


 


เพ็ญนภา


สื่อเองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงนี้ แต่มองต่างจากธนาพลนิดหนึ่งตรงที่บอกว่านี่เป็นการไถ่บาปของสื่อ ก่อนหน้านี้ทักษิณมีอำนาจนำอยู่ในมือ สื่อก็เข้าข้างใครก็ตามที่มีอำนาจนำ ตอนนี้อำนาจตกก็เล่นมันหนักๆ หน่อย หรือบางสื่อก็ยังสวิงขึ้นๆ ลงๆ เอาเข้าจริงสื่อไม่ได้มีจรรยาบรรณ ความเป็นมืออาชีพอะไรเลย


 


มีอยู่วันหนึ่งที่มีการปะทะกันระหว่างการ์ดของฝ่ายพันธมิตรฯฯ กับนักข่าว เหตุการณ์ก็คือนักข่าวที่ไปทำข่าวม็อบกลุ่มนี้ จริงๆ มันไม่ควรใช้คำว่า "ม็อบ" นะแต่ในเซ้นส์คนไทยก็พออนุโลมแล้วกัน เข้าหลังเวทีต้องใส่ปลอกแขน กลุ่มการ์ดแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของพื้นที่มาก ทั้งๆ ที่ที่อื่นนั้นบัตรนักข่าวกับหน้าตรงกันก็ใช้ได้ เพราะมันคือการสกรีนว่า นักข่าวคนนี้มีสังกัด แต่ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พันธมิตรฯใช้วิธีนี้เข้มงวดต้องถ่ายรูป ใส่ปลอกแขนมาตลอด จนมาถึงวันที่ 15 มีนาคมที่มีเรื่องกันจนต้องทำหนังสือ เพราะพวกการ์ดไม่ยอม เอาบัตรให้ดูก็ไม่ได้ ต้องมีปลอกแขน นักข่าวทีวีมีปัญหามาก เพราะเวลาเปลี่ยนเวรมันไม่ได้นัดกันเพื่อเปลี่ยนปลอกแขน ทีวีกะดึกก็เข้าไม่ได้


 


ประชาไท


มันปัญหาเทคนิค


 


เพ็ญนภา


ปัญหาคือ เราก็ถามสนธิว่าทำไมนักข่าวผู้จัดการเข้าได้ นักข่าวอื่นเข้าไม่ได้ สนธิตอบว่า คุณต้องเข้าใจนะว่าผู้จัดการกับเอเอสทีวีเขาทำม็อบนี้มาก่อน เหมือนกับการจัดคอนเสิร์ตสื่อไหนจัด สื่อนั้นก็เข้าหลังเวทีได้จริงหรือไม่ เราก็ถามเขาต่อไปว่า แต่ไอ้สิ่งที่คุณทำอยู่นี่มันเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ใช่เหรอคะ เขาตอบว่า มันไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่คุณเข้าใจ ขอโทษ  โอ อันนี้จำแม่นมาก ฝังอยู่ในหัวเลย


 


ประวิตร (หัวเราะ)


 


เพ็ญนภา


ขึ้นเวทีไปสนธิยังไปพูดอีกว่า จะจัดให้มีการลงทะเบียนใหม่ แต่สื่อพวกไฟกลางคืน แปลก มายาบันเทิง ผมไม่ให้เข้า สนธิเป็นใคร เขาไม่มีสิทธิห้ามสื่อเข้ามา เรื่องนี้ไม่มีใครพูดถึงเลยว่าทำไมเรายอมให้คนจัด public forum มาเป็นคนแจกใบอนุญาต


 


รุจน์


อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ ทำยังไงให้นักข่าวได้เขียนตามความเชื่อ ซึ่งมันเป็นปัญหาประชาธิปไตยในองค์กร แต่ตราบใดที่ได้เขียนตามความเชื่อ และแบไต๋ความเชื่อออกมา ไม่ใช่แบบมีเบื้องหลังนะ อันนี้เป็นจุดที่ต้องแก้กัน อีกอันคือต้องพยายามลดความคาดหวังซึ่งกันและกันลง ทั้งผู้บริโภค ทั้งตัวสื่อเอง มันต้องลงมาเจอกันบนพื้นโลก มันล้วนเป็นมนุษย์ขี้เหม็นกันทุกคน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net