Skip to main content
sharethis


ค่อนข้างจะแน่นอนแล้วว่าไม่มีอุบัติเหตุให้ต้องเว้นวรรคประชาธิปไตย เพราะหลังจากวันที่ 30 มีนาคม นี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะสลายตัวชั่วคราวโดยจะมารวมอีกครั้งในวันที่ 7 เมษายน เพื่อให้เวลา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี พิจารณาลาออกหรือเว้นวรรค หากได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาในวันที่ 2 เมษายน

 


ดังนั้น สำหรับผู้ไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ จากไปอย่างไม่มีลมพัดหวน ช่องทางที่ดูจะเป็นไปได้ที่สุด ณ เวลานี้ คือ สนับสนุนแนวคิด Vote for No Vote คือไปเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน แต่ประทับตราในช่อง "ไม่เลือกใคร" ทางหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ แต่อีกทางคือ "ลุ้น" เพื่อทวงสัญญาประชาคมของ พ.ต.ท.ทักษิณที่เคยกล่าวไว้ว่า


 


"ถ้าคนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกพรรคไทยรักไทยไม่ถึงครึ่ง หรืองดออกเสียงหรือเลือกพรรคอื่นเกินครึ่งหนึ่งของผู้ไปออกเสียงทั้งหมด ผมจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี"


 


ล่าสุด จะมีความเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อรณรงค์ให้แสดงสิทธิ์ไม่เลือกใครจะมีขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม นี้ ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.) กลุ่มนักศึกษารักประชาชน เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญและแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง ที่ได้นัดรวมตัวกันที่หน้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม เวลา 11.00 น.


 


ทั้งนี้ นางสาวสาลินี รัตนชัยสิทธิ์ อุปนายกฝ่ายการภายนอก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ออกมารณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิ์โดยกาช่องไม่เลือกใคร หรือ Vote for no vote เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนหลักทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการหยิบกระบวนการมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้คน ๆ เดียว จึงต้องการรณรงค์ให้ประชาชน ตระหนักถึงการออกไปใช้สิทธิ์ โดยการกางดออกเสียง เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ทางการเมือง และยังถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่บอกได้ว่าเราไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้


 


ส่วน นางทิชา ณ นคร แกนนำเครือข่ายผู้หญิงฯ กล่าวว่า หลังจากที่องค์กรผู้หญิงเคยออกมาเคลื่อนไหวให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่มีผลตอบรับ และไม่เคยตอบคำถามอันคาใจของประชาชนหลายเรื่อง เช่น การขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่เสียภาษี การซุกหุ้น แต่กลับดิ้นรนเพื่อจะรักษาอำนาจทางการเมือง โดยผลักดันให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน เพื่อหวังใช้การเลือกตั้งฟอกตัวให้หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดแบบไม่มีการตรวจสอบใดๆ


 


ทางเครือข่ายยังเห็นว่าพรรคไทยรักไทยที่ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการ มีลักษณะการกระทำทับซ้อนในหน้าที่ และทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งหลายกรณี แต่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กลับเพิกเฉยต่อการตรวจสอบ อีกทั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ประเทศชาติสูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งอาจจะมากกว่า 2 พันล้าน เพราะเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งซ้ำซ้อนอีกหลายครั้ง คาดได้ว่าอาจจะสูญเงินภาษีไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเหตุการณ์บังคับให้ไม่สามารถยกเลิกการเลือกตั้ง 2 เมษายนนี้ได้ จึงเชิญชวนให้คนไทยไปรักษาสิทธิ์ ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในช่องไม่ลงคะแนน เพื่อแสดงว่าไม่ยอมรับความชอบธรรมในการเลือกตั้งครั้งนี้


 


 อย่างไรก็ตามการรวมตัวเพื่อรณรงค์ลักษณะดังกล่าวเริ่มมีมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศยุบสภาได้ไม่นาน เพียงแต่ก่อนหน้านี้กลุ่มที่ค่อนข้างชัดเจนในการรณรงค์ Vote for No Vote นั้น คือกลุ่มที่ไม่ร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้แก่ อมธ.ที่ประสานกับกับกลุ่มนิสิตนักศึกษารักประชาชนซึ่งกลุ่มนี้มาจากการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน


 


โดยได้แถลงการณ์ร่วมกันไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา จากนั้นได้ประชาสัมพันธ์พร้อมชูสโลแกน เช่นผ่านโปสการ์ดแบบต่างๆได้แก่ "กาช่องไม่เลือกใคร เพื่อประชาธิปไตยที่ใสสะอาด" "สันติภาพใต้ประชาธิปไตย ทางเลือกใหม่ตามกติกา 2 เม.ย.กาช่องงดออกเสียง VOTE for NO VOTE ถ้าไม่ชอบพรรคไหน ไม่มีคำตอบที่ใช่ เราก็กางดออกเสียงได้นะ" โปสการ์ดทุกแบบ. ด้านหลังจะมีข้อความ "ร่วมสนับสนุนได้ ณ ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ www.tuthaprajan.org 2 เมษา กางดออกเสียง รักษาสิทธิการตรวจสอบ"


 


ในขณะเดียวกัน บางกลุ่มแม้จะร่วมสนับสนุนการชุมนุมของพันธมิตรมาตลอดแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่พันธมิตรฯนำมาตรา 7 มาใช้ นายกฯพระราชทาน จึงได้ชูแนวคิด Vote for No Vote เพื่อรักษาจุดยืนทางประชาธิปไตยของตนไว้


เช่น กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกแถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งมีข้อเสนอข้อหนึ่งว่า "การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน นี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอเนื่องจากบุคคล และกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายไม่ให้การยอมรับ และเราขอเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันแสดงพลังประชาชนเพื่อประกาศตอกย้ำถึงความไม่ชอบธรรมของการเลือกตั้ง ด้วยการไปใช้สิทธิกากบาทในช่องไม่ลงคะแนน (Vote No Vote)"


 


หรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ โดยตรงอย่าง สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่นำโดย กชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการ สนนท. ก็ให้น้ำหนักกับแนวทางเรื่อง Vote for No Vote มากเช่นกัน โดยสหพันธ์ได้จัดทำแผ่นป้ายสีชมพูด้านหน้ามีรูปช่องสี่เหลี่ยมกากบาท และข้อความ "Vote No Vote ไปใช้สิทธิกาช่องไม่เลือกใคร กาเพื่อไม่ไว้วางใจทักษิณเป็นนายกฯ" เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมชุมนุมกับเครือข่ายพันธมิตรในช่วงเวลาตลอดการชุมนุมช่วงที่ผ่านมาจนถึงการชุมนุมที่หน้าสยามพารากอน


 


ส่วนในต่างจังหวัดก็มีการรวมตัวเพื่อรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว เช่นที่ จังหวัดสงขลา มีการตั้งกลุ่มพันธมิตรยุวชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนอกจากการจัดกิจกรรมเพื่อให้มีการรับชมการถ่ายทอดสดการชุมนุมจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ในช่วงที่ผ่านมาผ่านจอโปรเจกเตอร์โดยสัญจรไปตามพื้นที่ต่างๆในจังหวัดสงขลาแล้ว นายจีรวัฒน์ คงหนู หนึ่งในแกนนำพันธมิตรยุวชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ทางกลุ่มก็ได้วางเป้าหมายการรณรงค์เรื่องการไปใช้สิทธิการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนนี้ด้วย แต่ให้ประทับตราลงคะแนนในช่องที่ไม่ประสงค์ที่จะเลือกพรรคใด


 


ส่วนข้อมูลจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 48 ที่ผ่านมา พรรครักไทยได้รับคะแนนเสียง 18,993,073 คิดเป็น ร้อยละ 58 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด หมายความว่ามีจำนวนถึงร้อยละ 42 ที่ไม่เลือกพรรคไทยรักไทย ดังนั้นการ "ลุ้น" คะแนนเสียงจากกลุ่มคนที่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ในสภาวะขาลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ภายใต้การประกาศวางเดิมพันที่วัดกันที่กึ่งหนึ่ง จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net