Skip to main content
sharethis

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเวทีเสวนา "นโยบายความยากจน: มุมมองจากรากหญ้า" ฟังเสียงจากชนบททั้งฝั่งที่ชอบและไม่ชอบนโยบายรัฐบาลทักษิณ ภายใต้บรรยากาศการพูดคุยที่สมานฉันท์บนความแตกต่างทางความคิดในปัญหาเดียวกัน


 


นโยบายรัฐบาล "ทักษิณ" ให้ชีวิต


นายบุญเลิศ ด้วงนิล ประธานกองทุนหมู่บ้านจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า นโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทมีประโยชน์มาก จากเดิมที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงทุนได้เลย รัฐก็วางนโยบายให้ได้กู้และชำระคืนใน 1 ปี ทำให้หมู่บ้านสามารถพัฒนาและขยายตัวได้จาก 120 ครัวเรือนเป็น 162 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามการที่หมู่บ้านขยายตัวก็ทำให้เงินทุนไม่พอในการกระจายไปอย่างทั่วถึง


ตามมา


 


แต่นายบุญเลิศระบุว่า เงินทุนหมู่บ้านจะดีหรือไม่ขึ้นกับการบริหาร เพราะในการออกเงินกู้ในช่วง ปี 2544-2546 การได้เงินคืนมามีลักษณะไม่สม่ำเสมอ แต่ในปี 2547 - 2548 กองทุนได้เงินคืนอย่างต่อเนื่องจนอาจสามารถจดเป็นทะเบียนนิติบุคคลได้ในเวลาอันใกล้นี้


 


นอกจากนี้ การบริหารกองทุนกองหมู่บ้านที่เป็นประธานกรรมการอยู่ ยังทำในลักษณะออมทรัพย์ด้วย คือ ให้สมาชิกฝากเงินกับกองทุนเดือนละ 10 บาทต่อคน โดยห้ามถือหุ้นเกินคนละ 10หุ้น ดอกผลที่ได้ก็จะปันผลกันไป และหลังจากหักค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายต่างๆกับผู้กู้แล้ว ส่วนที่เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์จากดอกผลที่ได้จะเอามาสมทบกองทุน ตรงนี้ทำให้กองทุนมีรายได้เพิ่มประมาณ 20000 บาทต่อปี


 


กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งจากกองทุนหมู่บ้านคือนำดอกเบี้ยสะสมดังกล่าวมาซื้อวัสดุและจัดทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่สูงมากในเวลานี้


 


อย่างไรก็ตามนายบุญเลิศได้ยื่นข้อเสนอล่วงหน้าฝากไปยังรัฐบาลใหม่หลังวันที่ 2 เม.ย. ไว้ด้วยว่า รัฐบาลควรสนับสนุนเรื่องที่ทำกินและให้เอกสารสิทธิ์อย่างทั่วถึง ทำโครงการโคล้านตัวให้เป็นจริง จัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกร ปลดหนี้นอกระบบ เพิ่มทุนในการประกอบอาชีพและทุนหมุนเวียนแก่เกษตรกร เพิ่มเบี้ยที่จัดสรรให้แก่ผู้สูงอายุและผู้พิการจากเดิม 300 บาทเป็น 1000 บาท ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน และหานโยบายป้องกันการกดราคาพืชผลทางการเกษตร


 


นางจัด ศรีวิภา กลุ่มชมรมชาวนา จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ชอบนโยบายของรัฐบาลทักษิณมากโดยเฉพาะโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งถ้าไม่มีคนจนจะลำบากมาก ที่เคยประสบกับตัวคือถ้าไม่มีโครงการนี้พ่อที่เคยป่วยหนักคงเสียชีวิตไปแล้ว


 


ส่วนเรื่องยาที่หลายคนระบุว่าไม่มีคุณภาพและแบ่งเกรดคนในการรักษานั้นยืนยันว่าที่ ต. หนองกี่จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีเรื่องเช่นนั้น โดยเฉพาะเรื่องตาที่จังหวัดบุรีรัมย์รักษาด้วยคุณภาพที่เยี่ยมมาก


 


"ชอบโครงการ 30 บาท ของรัฐบาล คนที่จนจริงๆ ชอบท่านสุดๆ" นางจัดกล่าว


 


นโยบาย "ทักษิณ" ทำลายโครงสร้างแห่งชีวิต


นางสาวบุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวในทิศทางตรงข้ามว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคหรือ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพนั้นแห่งชาตินั้นเกิดจากการที่ภาคประชาชนที่รวมกัน 9 เครือข่ายร่างแนวทางไว้ก่อนเพราะต้องการให้คนไทยมีหลักประกันด้านสุขภาพ และทำกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 แล้ว


 


แต่พรรคไทยรักไทยจับมาเป็นนโยบายอาจเพราะเห็นทั้งประโยชน์ต่อประชาชนและต่อตัวเอง แต่พอผลักดันสำเร็จแล้วหลายเรื่องรัฐบาลก็นิ่งและมีปัญหามาก ภาคประชาชนจึงต้องจับตากันและพยายามผลักดันแนวทางแก้ไขอย่างต่อเนื่องเพราะกฎหมายนี้เกิดจากประชาชน


 


ส่วนเรื่องที่มีการมองว่ากองทุนหมู่บ้านดีนั้น ถ้าสร้างปัญญาให้กับชุมชนก่อนเพื่อให้สามารถจัดการทุนได้ก็เป็นเรื่องที่ดีจริง เพราะจะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งทุนได้ แต่ตอนนี้คือเงินดังกล่าวไปหมุนแบ่งกันอยู่ในหมู่พรรคพวกของกรรมการกองทุน ทำให้กองทุนกลายเป็นฐานของนักการเมืองท้องถิ่นไป


 


เรื่องนโยบายการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรนั้นในทางเฉพาะหน้าก็อาจเป็นเรื่องดี แต่สุดท้ายก็ต้องไปแก้ที่ฐานคิดเรื่องพฤติกรรมของคนจนเองด้วย


 


"ไม่ว่าผลของการเมืองจะเป็นอย่างไร คนจนก็ต้องกลับไปพึ่งตนเองไม่อย่างนั้นก็อดตาย ไม่มีใครช่วยได้ ปัญหาเกิดจากชุมชนชุมชนต้องมีสิทธิ์คิดแก้เอง ไม่ใช่การสั่งการเหมือนปัจจุบันที่พรรคไทยรักไทยกำลังทำ"


 


นายสมเกียรติ พ้นภัย สมัชชาคนจน กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดความยากจนนั้นไม่ใช่แค่การเข้าไม่ถึงทุนอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญกว่าคือการที่รัฐปิดกั้นให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงทุนทางทรัพยากร


 


"นายกฯบอกว่าไม่มีที่ทำไมไม่ไปค้าขายหรือปรับตัว สิ่งที่พบตอนนี้คือลูกหลานเข้าไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯหมด นี่คือการปรับตัว


 


"ที่โขงเจียม เป็นพื้นที่ทำการเกษตรไม่ได้ แต่ทำประมงได้ ชาวบ้านก็อยู่กันมาโดยแปลงทรัพยากรนั้นให้กลายเป็นปัจจัย 4 แต่กลับโดนตันปากน้ำโดยนำเขื่อนมากั้น ชาวบ้านก็ไม่มีที่ทำกิน เป็นปัญหาถึงสามอำเภอที่ร้องเรียนกันมา10ปีแล้ว รัฐบาลก็ไม่ยอมทำอะไร"


 


นายสมเกียรติยังกล่าวถึงปัญหาของเงินกองทุนหมู่บ้านด้วยว่า นอกจากที่เงินไปกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มกรรมการกองทุนแล้ว ยังมีเรื่องของการขู่คนที่จนจริงๆว่าจะหาเงินที่ไหนมาคืน เพราะเป็นเงินกู้ คนที่จนจริงๆก็ไม่สามารถเข้าถึงทุนได้


 


ส่วน นายวีรพล โสภา สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย กล่าวหนุนประเด็นดังกล่าวว่า จากการที่ศึกษาเกี่ยวกับความยากจนมากว่า 20 พบว่า สาเหตุของความยากจนมีหลายอย่างได้แก่ ราคาของผลผลิตตกต่ำต่อเนื่องและยาวนานโดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐเอง เช่น การมีนโยบายกำหนดให้ชาวนาต้องขายข้าวให้กับโรงสีในจังหวัดนั้นๆ ทำให้โรงสีฮั้วกันกำหนดราคา ที่ ต.หนองกี่ พบว่าราคาข้าวหอมมะลิที่ขายให้โรงสีตอนนี้อยู่ที่ 7 บาท จากราคาที่ประกันโดยปกติ 10 บาท


 


นอกจากนี้อีกปัญหาคือทุนการผลิตของชาวบ้านกำลังสูงขึ้น เพราะวิถีการพึ่งตนเองถูกเปลี่ยนให้พึ่งภายนอกมากขึ้น เช่น การเกษตรแผนใหม่ที่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี ส่วนปีนี้ที่กระทบมากๆในด้านต้นทุนคือราคาน้ำมัน ส่วนแรงงานในภาคเกษตรก็กำลังขาดแคลน เพราะเยาวชนเข้าเมืองหมดทำให้ต้องพึ่งเครื่องจักรมากขึ้น ต้องแบกต้นทุนตรงนี้เพิ่มด้วย


 


แต่สิ่งที่ นายวรพล โสภา แสดงความวิตกอย่างมากคือ การออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายของรัฐมีลักษณะเอียงข้าง คือใช้ภาคเกษตรเป็นฐานให้ภาคอุตสาหกรรมหรือบริการเพื่อลดต้นทุนให้ภาคเหล่านั้น


 


"โดยเฉพาะการทำเอฟทีเอ ภาคเกษตรกรรมโดนนำไปใช้ต่อรองให้ภาคผลิตอื่นได้ตลาดเช่น ภาคโทรคมนาคม ดังที่ผ่านมาการทำเอฟทีเอกับจีนภาคโทรคมนาคมได้เครือข่ายในจีนโดยแลกกับชีวิตเกษตรกรภาคเหนือที่ทั้งข้าว กระเทียม ลำไย ลิ้นจี่มีปัญหาหนักมากในตอนนี้"


 


นายวีรพล ยังกล่าวถึงเอฟทีเออีกว่า เรื่องดังกล่าวเป็นระบบการแข่งขันทางการค้าที่ผูกกับระดับโลก แต่เกษตรกรในประเทศยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเอฟทีเอคืออะไร ไม่มีการบอกว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร แล้วจะให้ไปแข่งขันได้อย่างไร ต่อไปเกษตรกรคงจะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์แน่นอน


 


นายวีรพลยังยกตัวอย่างอื่นๆเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่รัฐออกกฎหมายที่ช่วงชิงทรัพยากรของชุมชน ว่า ได้แก่ พรบ.แร่ธาตุที่ผ่านแล้ว ส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่ก็ได้แก่กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการน้ำ และเรื่องพันธุกรรม


 


"กฎหมายเกี่ยวกับพันธุกรรมเช่น กฎหมายข้าวที่รัฐบาลกำลังทำ จะทำให้พันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านรักษาไว้หายไป กรมวิชาการเกษตรจะไม่รับรองพันธุ์ข้าวของชาวบ้านแต่กลับต้องใช้ข้าวที่บรรษัทใหญ่กำลังผลิต ซึงกลุ่มซีพีที่เป็นที่ปรึกษานายกฯด้วยนั้น กำลังทำเรื่องนี้ไปพร้อมๆกับเรื่องไก่ที่อาศัยสถานการณ์ไข้หวัดนก บังคับให้เกษตรกรรายย่อยต้องทำฟาร์มระบบปิดจากการเลี้ยงแค่เพื่อยังชีพ ระบบดังกล่าวต้องใช้ต้นทุนหลายแสนบาท ชาวบ้านอาจต้องเลิกเลี้ยงไก่"


 


นายวีรพลยังระบุด้วยว่า สื่อเองก็มีส่วนในการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับชาวบ้านบริโภคสูงขึ้น เพราะทุนนิยมใหม่คือการผลิตแล้วต้องกระตุ้นให้บริโภค ชาวบ้านที่ฐานของทุนต่ำเมื่อโดนกระตุ้นตรงทำให้ต้องแบกภาระเพิ่ม ส่วนรัฐก็ออกนโยบายต่างๆมาเอื้อเช่น กองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้และตระกูลนโยบายเอื้ออาทรต่างๆ หากพิจารณาตรงนี้จะเห็นว่าไม่เข้ากับปัญหาตามมูลเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเลย


 


อีกทั้งรัฐยังนำระบบทุนนิยมสามานย์มาใช้กับประชาชน โดยเฉพาะวิธีการที่ตั้งกองทุนให้ธนาคารเกษตรและสหกรณ์มีเงินยอดไว้ 5 ล้านบาทให้คณะกรรมการกอทุนหมู่บ้านกู้ วิธีการนี้เป็นการลดความเสี่ยงในการเผชิญหน้าเอง เพราะต่อไปการเผชิญหน้าเรื่องหนี้จะกลายเป็นเรื่องที่ชาวบ้านจะเผชิญหน้ากันเอง


 


อย่างไรก็ตาม นายวีรพลเห็นว่า การแก้ปัญหาความยากจนตามแนวทางต่างๆดังกล่าวขอรัฐไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสามารถตอบความจำเป็นในเฉพาะหน้าได้ แต่ที่สำคัญคือไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาพื้นฐานที่แท้จริงได้ อีกทั้งหลายเรื่องยังมีการปกปิดไม่บอกผลกระทบทางนโยบาย ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่แท้จริง


 


.............................................


 


หมายเหตุ :การเสวนานี้มีผู้ร่วมอภิปรายทั้งหมดได้แก่ นายสมเกียรติ พ้นภัย จากสมัชชาคนจน นายวีรพล โสภา จากสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย นายกิจ ผ่องศักดิ์ ผู้แทนในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพชรบุรี นางจัด ศรีวิภา จากกลุ่มชมรมชาวนาจังหวัดบุรีรัมย์ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม จากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม นายบุญเลิศ ด้วงนิล ประธานกองทุนหมู่บ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินรายการโดย รศ.สุริชัย หวันแก้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net